02 149 5555 ถึง 60

 

โลกผวา!“อีโบลา”คืนชีพ WHO ประกาศภาวะฉุกเฉินโลก สธ.ไทยเกาะติดสถานการณ์เข้มข้น

โลกผวา!“อีโบลา”คืนชีพ WHO ประกาศภาวะฉุกเฉินโลก สธ.ไทยเกาะติดสถานการณ์เข้มข้น

หลังพบการระบาดในคองโกอย่างต่อเนื่องและยังลามไปพื้นที่ใหม่ กรมควบคุมโรคเผยโรคนี้สธ.ไทยติดตามสถานการณ์ต่างประเทศมาอย่างต่อเนืองตั้งแต่ส.ค.ปีที่แล้วมีพบมีผู้ป่วย ยืนยันขณะนี้ในไทยไม่มีใครป่วยและไม่มีใครติดเชื้อ พร้อมจัดระบบเฝ้าระวังและป้องกันโรคเต็มกำลังอย่างเข้มข้นและต่อเนื่อง ระบุอนามัยโลกยังไม่ถึงขั้นจำกัดการเดินทางไปประเทศที่ระบาด แต่ให้ยึดคำแนะนำปฏิบัติตัวอย่างเคร่งครัด และเมื่อกลับมาแล้ว มีไข้ ปวดหัว ท้องเสีย อาเจียน ปวดกล้ามเนื้อ เจ็บคอ ให้รีบพบแพทย์ทันทีและแจ้งประวัติการเดินทาง

นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงกรณีที่มีรายงานข่าวว่าองค์การอนามัยโลก (WHO) ประกาศให้การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสอีโบลาเป็นสถานการณ์ฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศ หลังพบการระบาดในประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก ภายหลังจากที่ผู้เชี่ยวชาญขององค์การอนามัยโลก และองค์การสหประชาชาติ ได้เข้าไปช่วยเหลือในการป้องกันและควบคุมโรค แต่การระบาดยังคงมีอย่างต่อเนื่อง ตลอดจนพบการระบาดในพื้นที่ใหม่ จึงออกประกาศดังกล่าว เพื่อระดมความช่วยเหลือจากนานาประเทศ นั้น

กรมควบคุมโรค ขอให้ข้อมูลว่า ตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558 ก.สาธารณสุข ได้ประกาศกำหนดให้โรคติดเชื้อไวรัสอีโบลาเป็นโรคติดต่ออันตรายที่จะต้องเฝ้าระวังและดำเนินการอย่างเข้มข้น โดยได้ติดตามสถานการณ์ในต่างประเทศมาอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่มีรายงานผู้ป่วยในช่วงเดือนส.ค.61 และได้เตรียมพร้อมทั้งการเฝ้าระวังและป้องกันโรคอย่างต่อเนื่อง ซึ่งขณะนี้ในไทย ไม่มีรายงานผู้ป่วย โรคติดเชื้อไวรัสอีโบลาแต่อย่างใด

อย่างไรก็ตาม ก.สาธารณสุขได้จัดระบบเฝ้าระวังและป้องกันโรค ด้วยมาตรการหลัก ซึ่งดำเนินการมาอย่างเข้มข้นและต่อเนื่องคือ ติดตามสถานการณ์ความคืบหน้าจากองค์การอนามัยโลก เฝ้าระวังผู้ป่วยโดยเฉพาะกลุ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติ หรือคนไทยที่เดินทางมาจากพื้นที่ที่มีการระบาดของโรค ทั้งด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศ ในโรงพยาบาลรัฐและเอกชน และในชุมชน คัดกรองผู้ที่เดินทางมาจากประเทศที่มีการระบาดทั้งที่ด่านควบคุมโรคที่สนามบิน ด่านทางน้ำและด่านพรมแดนทางบก, เตรียมความพร้อมตรวจหาเชื้อทางห้องปฏิบัติการ ซึ่งไทยได้รับความร่วมมือจากสหรัฐฯ ตรวจวิเคราะห์เชื้อ, มาตรการดูแลรักษา หากมีผู้ป่วยที่มีอาการในข่ายสงสัย จะใช้มาตรฐานเดียวกับการดูแลผู้ป่วยโรคติดต่อที่มีอันตราย เช่น ไข้หวัดนก ซาร์ส ซึ่งโรงพยาบาลในสังกัดทั่วประเทศมีความพร้อมอยู่แล้ว

นอกจากนี้ กรมควบคุมโรค จะให้ข้อมูลข่าวสารกับเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในพื้นที่ ตลอดจนสื่อสารไปยังอาสาสมัครสาธารณสุข กรณีพบความผิดปกติ เช่น พบเห็นผู้ที่มาจากประเทศที่มีการระบาดของโรค แล้วไม่สบาย เป็นไข้ให้รีบแจ้งมาที่กรมควบคุมโรค หรือสายด่วนกรมควบคุมโรค 1422

ทั้งนี้ องค์การอนามัยโลก ยังไม่แนะนำให้จำกัดการเดินทางหรือการค้าระหว่างประเทศสำหรับผู้ที่จะเดินทางไปยังประเทศที่มีการระบาดของโรคนี้ โดยประเมินว่านักเดินทางระหว่างประเทศยังมีความเสี่ยงในระดับที่ ต่ำมาก เนื่องจากผู้ที่ติดเชื้อส่วนใหญ่จะติดเชื้อโดยตรงจากการสัมผัสกับของเหลวในร่างกาย หรือสารคัดหลั่งของผู้ป่วย โดยเฉพาะในโรงพยาบาล จากการใช้อุปกรณ์การแพทย์ (เข็มและหลอดฉีดยา) ที่ปนเปื้อนเชื้อ รวมถึงไม่มีการป้องกันเมื่อมีการสัมผัสกับสารคัดหลั่งที่ติดเชื้อ

สำหรับ คำแนะนำสำหรับผู้ที่จะเดินทางจากไทยไปยังประเทศที่มีการระบาดของโรคอีโบลา ซึ่งองค์การอนามัยโลก ยังไม่มีประกาศห้ามเดินทางไปยังพื้นที่ที่มีการระบาด แต่ต้องปฏิบัติตามคำแนะนำ ดังนี้ 1.หลีกเลี่ยงสัมผัสสัตว์ป่า ทั้งที่ป่วยหรือไม่ป่วย 2.หลีกเลี่ยงรับประทานสัตว์ป่าที่ป่วยตายโดยไม่ทราบสาเหตุ โดยเฉพาะลิง หรือค้างคาว หรืออาหารเมนูพิสดารที่ใช้สัตว์ป่าหรือสัตว์แปลกๆ 3.หลีกเลี่ยงสัมผัสกับสารคัดหลั่ง เช่น เลือดจากผู้ป่วย สิ่งของเครื่องใช้ของผู้ป่วยที่อาจปนเปื้อนกับสารคัดหลั่งผู้ป่วย หรือศพ 4.หลีกเลี่ยงสัมผัสโดยตรงกับผู้ป่วย หากจำเป็นให้สวมอุปกรณ์ป้องกันร่างกายและล้างมือบ่อยๆ 5.หากมีอาการเริ่มป่วย เช่น มีไข้สูง อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ เจ็บคอ อาเจียน ท้องเสีย หลังกลับจากประเทศที่มีการระบาด ให้รีบพบแพทย์ทันที

(อนึ่ง โรคติดเชื้อไวรัสอีโบลา พบครั้งแรกเมื่อปี 2519 ซึ่งเกิดระบาดพร้อมกัน 2 จุดคือเมืองนราซา ประเทศซูดาน และหมู่บ้านริมแม่น้ำอีโบลา ในประเทศคองโก และได้กลายเป็นชื่อโรคนี้ต่อมา โรคนี้จะมีอาการรุนแรงเฉียบพลัน จะเป็นไข้ อ่อนเพลียมาก ปวดกล้ามเนื้อ ปวดศีรษะ เจ็บคอ อาเจียน ท้องเสีย มีผื่นผิวหนัง ไต ตับทำงานบกพร่อง บางรายมีการตกเลือดทั้งภายในและภายนอกร่างกาย จากหลอดเลือดฝอยที่แตกทั่วร่างกาย ตาขาวเปลี่ยนเป็นสีแดง อาเจียนเป็นเลือด เลือดออกจากเหงือก เลือดออกจากผื่นผิวหนัง มีเลือดโป่งพองอยู่ใต้ผิวหนัง ซึ่งเป็นระยะรุนแรงสุดของการติดเชื้อโรคนี้ และเป็นระยะแพร่เชื้อ โดยเลือดจะออกมากจนกระทั่งทำให้เสียชีวิตในที่สุด ที่ผ่านมาฮอลลีวูดเคยนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์ อาทิ Outbreak (1995) ชื่อภาษาไทย “วิกฤตไวรัสสูบนรก, Ebola Syndrome (1996) - มฤตยูเงียบล้างโลก ซึ่งสร้างความน่าสะพรึงกลัวให้กับผู้ที่ได้ชมอย่างมาก )

19 July 2562

ที่มา สยามรัฐ

Posted By ์์Nitayaporn/Bungon/Thongpet/Kanchana

Views, 285

 

Preset Colors