02 149 5555 ถึง 60

 

อาหารบำรุงสมองคนสูงวัย ตัวช่วยคนวัยเก๋าสุขภาพดี

อาหารบำรุงสมองคนสูงวัย ตัวช่วยคนวัยเก๋าสุขภาพดี

เมื่ออายุมากขึ้น คนสูงวัยจำนวนไม่น้อยที่มีความต้องการสารอาหารบำรุงสมอง เนื่องจากมีหลายปัจจัยที่อาจทำให้การบริโภคอาหารของคนหลัก 5 หลัก 6 ทำได้น้อยลง ทำให้ขาดสารอาหารโดยปริยาย โดยเฉพาะปัญหาเรื่องการบดเคี้ยวเนื่องจากใส่ฟันปลอม ดังนั้นการดูแลสุขภาพด้วยการเลือกรับประทานอาหารที่มีสารช่วยบำรุงสมองอย่างเหมาะสม และการปรับไลฟ์สไตล์ที่เอื้อต่อการมีสุขภาพที่ดี จึงเป็นเรื่องที่ต้องทำควบคู่กัน แม้ว่าผู้สูงวัยจะมีความต้องการพลังงานที่ลดลง เนื่องจากมีการเคลื่อนไหวที่น้อยลง แต่สารอาหารบำรุงสมอง ก็ย่อมเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับคนวัยนี้

พี่เปา-เอื้อชัชญา กาลสัมฤทธิ์ นักกำหนดอาหาร คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล บอกว่า “เนื่องจากผู้สูงอายุมีความต้องการพลังงานลดน้อยลงกว่าปกติ เพราะมีกิจกรรมลดน้อยลง แต่ในกลุ่มของผู้สูงอายุที่มีแอคทีฟร่างกายเป็นปกติ หรือมีการเล่นกีฬาและออกกำลังกายเป็นประจำ ก็จำเป็นต้องรับประทานอาหารที่เพียงพอ โดยเฉพาะอาหารในกลุ่มของโปรตีนและเกลือแร่ นอกจากนี้ยังพบว่าผู้สูงอายุได้รับสารอาหารที่ไม่เพียงพอ ซึ่งเกิดจากปัจจัยด้านร่างกาย เช่น การใส่ฟันปลอมที่ทำให้บดเคี้ยวอาหารได้ไม่ดี ดังนั้นการปรุงอาหารให้ผู้สูงอายุรับประทานอาจต้องทำให้อ่อนนุ่ม เคี้ยวง่าย เพราะบางครั้งการที่ให้ผู้สูงวัยรับประทานข้าวต้มและผัก ก็อาจทำให้ได้รับสารอาหารที่ไม่เพียงพอเช่นกัน ดังนั้นการดูแลสุขภาพผู้สูงอายุต้องเป็นไปแบบองค์รวมและควบคู่กัน ทั้งเรื่องของอาหาร อารมณ์และออกกำลังกาย จึงจะทำให้มีสุขภาพกายที่ดี จิตใจที่แข็งแรง และสมองที่จดจำสิ่งต่างๆได้ดีเช่นกัน

“การดูแลรักษาสุขภาพฟันและช่องปากเป็นเรื่องที่สำคัญไม่แพ้กัน เพราะถ้าสุขภาพช่องปากของผู้สูงอายุดี ก็จะทำให้ฟันสามารบดเคี้ยวอาหารได้เป็นอย่างดี ทำให้ร่างกายได้รับสารอาหารที่เพียงพอ หรือแม้แต่การที่ผู้สูงอายุมีโรคประจำตัว ก็จำเป็นต้องไปพบแพทย์อย่างสม่ำเสมอ อีกทั้งต้องรับประทานอาหารให้ครบทั้ง 5 หมู่ ส่วนปัจจัยด้านอื่นๆ เช่น “สุขภาพของอารมณ์” ก็จำเป็นต้องให้ความสำคัญ เพราะการที่ผู้สูงอายุอยู่บ้านเพียงลำพังอาจทำให้ไม่เจอเพื่อน

ดังนั้นหากว่าผู้สูงอายุท่านใดที่อยู่ร่วมกับครอบครัว หรือมีลูกหลาน บางครั้งการให้ความสำคัญกับคนสูงวัย โดยการพาท่านไปรับประทานอาหารนอกบ้าน ก็จะช่วยทำให้ท่านรับประทานอาหารได้เยอะ และรู้สึกอร่อยกับอาหารมากขึ้น ซึ่งตรงนี้ไม่เพียงทำให้ผู้สูงวัยรู้สึกสดชื่นสดใส แต่ยังทำให้ได้รับสารอาหารที่เพียงพอ และช่วยบำรุงสมองได้ทางหนึ่ง หรือแม้แต่การดูแลเรื่องอารมณ์ด้วยการสวดมนต์ตามศาสนา หรือสวดมนต์ก่อนนอน กระทั่งการนั่งสมาธิ ก็ทำให้ผู้สูงอายุมีสมาธิมากขึ้น ซึ่งนั่นก็จะทำให้อารมณ์แจ่มใสเช่นกัน ประการสุดท้ายคือการ “ออกกำลังกาย” โดยการเดินตามลักษณะกายภาพที่ผู้สูงอายุทำได้ รวมถึงการพักผ่อนให้เพียงพอ ซึ่งทั้งหมดที่กล่าวมาเป็นการดูแลสุขภาพของผู้สูงวัย ที่ต้องทำควบคู่กันเพื่อสุขภาพที่ดีค่ะ”

ด้าน ดร.วนะพร ทองโฉม นักวิชาการโภชนาการ กลุ่มสาขาวิชาโภชนศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี ม.มหิดล ให้ข้อมูลว่า “สำหรับกลุ่มสารอาหารบำรุงสมองสำหรับผู้สูงอายุ 3 กลุ่มหลักๆ ได้แก่ 1.“กลุ่มวิตามิน B” โดยเฉพาะวิตามิน B12 ที่พบได้ในเนื้อสัตว์ นมและผลิตภัณฑ์ และวิตามิน B 9 (โฟเลต) ที่มักจะพบในธัญพืช ถั่วเมล็ดแห้งและผลิตภัณฑ์จากถั่วเหลือง เช่น นมถั่วเหลือง เต้าหู้ 2.“กลุ่มอาหารโอเมกา 3” ที่พบได้ในทั้งปลาทะเลน้ำลึก อย่างปลาแซลมอน หรือที่หาง่ายกว่านั้นคือปลาทะเลไทยทั่วไป เช่น ปลาจะละเม็ดขาว ปลาสำลี ปลากะพงขาว ปลาอินทรีย์ หรือปลาทู และ 3.“อาหารกลุ่มต้านอนุมูลอิสระ” เช่น ผักและผลไม้หลากสี โดยเฉพาะผลไม้ตระกูลเบอร์รีที่อุดมไปด้วยสารโพลิฟีนอล และสารฟลาโวนอยด์ ซึ่งเป็นกลุ่มสารต้านอนุมูลอิสระ ที่ช่วยป้องกันความเสื่อมในร่างกาย

ขณะที่กลุ่มอาหารที่ผู้สูงอายุควรหลีกเลี่ยง ได้แก่ “กลุ่มอาหารที่มีไขมันอิ่มตัว” เช่น ถ้าเป็นอาหารกลุ่มไขมันอิ่มตัวจากสัตว์ ได้แก่ มันหมู มันไก่ เนย ชีส ส่วนอาหารกลุ่มไขมันอิ่มตัวจากพืช ได้แก่ กะทิ, น้ำมันปาล์ม, น้ำมันมะพร้าว และ “กลุ่มอาหารที่มีน้ำตาลสูง” อาทิ ขนมหวาน หรือเครื่องดื่มต่างๆ เพราะความหวานจะทำให้ร่างกายเกิดการอักเสบ ทำให้เซลล์ประสาทที่เชื่อมต่อไปสมองเกิดความเสียหาย หรือทำงานได้ไม่ดี ซึ่งอาจส่งผลต่อสมองในที่สุด”.

6 August 2562

ที่มา ไทยโพสต์

Posted By ์์Nitayaporn/Bungon/Thongpet/Kanchana

Views, 1979

 

Preset Colors