02 149 5555 ถึง 60

 

จน-เครียด-ฆ่าตัวตาย วาระสังคมสำคัญที่ต้องพูดถึง...

จน-เครียด-ฆ่าตัวตาย วาระสังคมสำคัญที่ต้องพูดถึง...

สัปดาห์นี้ไปดูปัญหาการฆ่าตัว ปัจจัยจากความยากจน เครียด จนเป็นพฤติกรรมเลียนแบบ ทางออกสำคัญที่ช่วยลดปัญหา เห็นใจ เอาใจเขาใส่ใจเรา รับฟัง ชี้แนะ

ท่ามกลางข่าวความขัดแย้งทางการเมืองแบบวันต่อวัน ข่าวภัยแล้ง มันมีข่าวลักษณะหนึ่งที่โผล่ขึ้นมาให้เราเห็นเรื่อยๆ และเป็นเรื่องที่น่าห่วงใยอย่างยิ่ง คือข่าวการฆ่าตัวตาย ที่แทบจะออกมาเป็นรายวันอยู่แล้ว น่าห่วงใยเพราะมันคือข่าวของความสูญเสียทรัพยากรบุคคล และจุดที่น่าสังเกตคือ เมื่อมีข่าวลักษณะนี้ออกมา จะเกิด “พฤติกรรมเลียนแบบ” ที่มีการกระทำตามแบบในข่าวที่เกิดขึ้นมาก่อนหน้านี้อย่างดูมีนัยยะประหลาด

ในช่วงก่อนหน้านี้ มีข่าวเด็กนักศึกษาที่เครียดกับการเรียน ใช้วิธีปลิดชีวิตตัวเองโดยการกระโดดตึกตาย และก็เกิดกรณีเช่นเดียวกันตามมา จนกระทั่งต้องมีการหามาตรการล้อมคอกไม่ให้เกิดขึ้นอีก แต่ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมานี้ การฆ่าตัวตายกลายเป็นลักษณะที่เรียกว่า “รมควันฆ่าตัวตาย” คือเข้าไปอยู่ในสถานที่แคบปิดอับ จุดเตาถ่านสูดเอาคาร์บอนไดออกไซด์จนเสียชีวิต ซึ่งอาจมีการกินยานอนหลับควบคู่หรือไม่ก็แล้วแต่ แต่ข่าวเช่นนี้ออกมาเยอะจนน่าขนลุก

เราได้เห็นข่าวเมื่อเดือนก่อน มีครูสาวทางภาคเหนือ รมควันฆ่าตัวตาย เพราะเครียดกับปัญหาส่วนตัวประกอบกับโรคซึมเศร้า หรือเมื่อไม่กี่วันก่อน ก็มีครอบครัว 3 พ่อแม่ลูก รมควันฆ่าตัวตาย กระทั่งเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา ก็มีชายวัย 60 ปีรมควันฆ่าตัวตายในห้องพัก ซึ่งถ้าเปิด google ไล่เรียงดูกันดีๆ ก็จะพบอีกหลายข่าว มีคนตั้งข้อสังเกตว่า เพราะวิธีนี้ดูจะไม่ทรมาน เมื่อออกซิเจนน้อยลงเรื่อยๆ ก็จะเหมือนสลบไปเลย แล้วคาร์บอนไดออกไซด์ก็ทำให้เสียชีวิต

ข่าวออกมามากจนมีความปริวิตกว่า “สื่อจะทำให้เกิดพฤติกรรมเลียนแบบ” ซึ่งเรื่องนี้มันเป็นเรื่องสองคนยลตามช่อง พฤติกรรมเลียนแบบก็อาจเป็นส่วนหนึ่ง แต่ที่ควรจะพิจารณากันมากขึ้นคือ “อะไรคือต้นเหตุของปัญหาสังคมนี้ที่ทำให้คนไทยฆ่าตัวตายเยอะมากขึ้น” คนที่อยากปลิดชีวิตตัวเองยังไงก็หาทางให้ทำให้สำเร็จให้ได้ แต่ต้นตอของปัญหาล่ะที่เราควรจะมาคุยกันและหาทางแก้ไขเสียจะดีกว่า เพราะการฆ่าตัวตายมันมีผลต่อเนื่องหลายอย่าง

ผลต่อเนื่องแรกอย่างที่กล่าวมา คือความสูญเสียในเชิงทรัพยากรบุคคล ยิ่งหากผู้ฆ่าตัวตายเป็นกลุ่มวัยทำงานหรือกำลังเข้าสู่วัยทำงาน ยังมีโอกาสทำอะไรเพื่อตัวเองและเพื่อประเทศชาติได้ก็สูญเปล่าไป และผลต่อเนื่องคือ “คนที่อยู่ข้างหลัง” พวกญาติ เพื่อน ก็ต้องอยู่กับความทุกข์ใจในความสูญเสีย อยู่กับคำถามว่า “ทำไมเราช่วยเขาไม่ได้” บางคนอาจกลายเป็นตราบาปที่ทำให้ตัวเองซึมเศร้าไปด้วยเลยก็ได้ เช่น พ่อแม่ที่ลูกฆ่าตัวตาย ที่ชีวิตไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป

ปัจจัยสำคัญที่ดูเหมือนมีการพูดถึงกันบ่อยเกี่ยวกับการฆ่าตัวตายคือ “ภาวะซึมเศร้า” ซึ่งเมื่อเป็นข่าวใครฆ่าตัวตายเพราะโรคซึมเศร้าขึ้นมาทีนึง ก็หยิบยกขึ้นมาพูดกันทีนึง แล้วผ่านไปไม่นานเรื่องนี้ก็ลอยหายไปกับสายลม คือคนรับรู้ว่ามันมี แต่ไม่ได้ให้ความสำคัญกับมันเท่าช่วงที่เป็นกระแสอีก บางครั้งก็กลายเป็นความใจร้ายไปเสียด้วยซ้ำที่มีหลายคนรำคาญผู้ป่วยซึมเศร้า ยิ่งไปตอกย้ำให้เขาเห็นว่า การที่เขายังมีชีวิตอยู่ทำให้คนอื่นเป็นทุกข์หรือเดือดร้อน

ภาวะซึมเศร้าได้รับการรับรองว่าเป็นโรคทางจิตอย่างหนึ่งเกี่ยวกับการหลั่งสารในสมองที่ผิดปกติ ซึ่งจำเป็นต้องพบจิตแพทย์เพื่อรับคำปรึกษาและรับยาต้านเศร้า แต่ปัญหาคือจิตแพทย์เมืองไทยยังเป็นสายที่ขาดแคลน เนื่องจากมันไม่ค่อยทำเงิน คนส่วนหนึ่งยังมีความคิดอยู่ว่าการไปหาจิตแพทย์คือถูกมองว่าผิดปกติ หรือไม่ก็ยังมีความอับอายที่จะเปิดเผยเรื่องส่วนตัวลึกๆ อันเป็นที่มาของความเครียด แบบที่เขาถือว่า “ไฟในอย่านำออก ไฟนอกอย่านำเข้า”

ต้นเหตุของปัญหาอีกอย่างที่กล่าวถึงกันมากในยุคนี้คือเรื่องปัญหาทางเศรษฐกิจ หลายคนผิดหวังจากการลงทุนลงแรงทำกิจการแล้วขาดทุน เป็นหนี้สินล้นพ้นตัว การจ้างงานอะไรเดี๋ยวนี้ก็หาได้ยากขึ้นเพราะมีการนำเทคโนโลยีมาใช้แทนแรงงานมนุษย์เพิ่มขึ้น ชีวิตมันก็ดูไม่มีอนาคตที่ดีรออยู่ข้างหน้า หมดแรงจูงใจในการอยู่ ก็ใช้วิธีแก้ปัญหาแบบตัดช่องน้อยแต่พอตัว ซึ่งถ้าเป็นเรื่องเศรษฐกิจเข้ามาเกี่ยวข้องนี่ภาครัฐจำเป็นต้องหันมาดูปัญหาจริงจังแล้ว

คนไทยมีความเครียดเรื่องหนี้สินและเงินไม่พอใช้สูง หลายๆ คนก็ไม่ใช่ว่าเขาไม่พยายามอยู่อย่างพอเพียง แต่เมื่อเศรษฐกิจไม่ดี ช่องทางหารายได้อะไรมันก็ตีบตันลงไปอีก มีบางคนเขาเสนอไว้เป็นเรื่องน่าคิดว่า ภาครัฐเนี่ยให้ความช่วยเหลือเกษตรกรเยอะ เช่นในเรื่องการประกันราคาสินค้าเกษตร แต่ในรายพนักงานบริษัท หรือผู้ประกอบกิจการขนาดเล็กหรือกลางนี่ ให้ความช่วยเหลือได้แค่ไหนให้เขารู้สึกไม่เคร่งเครียดกับภาวะเศรษฐกิจ

ในเรื่องการแก้ปัญหาฆ่าตัวตาย สิ่งสำคัญคือกำลังใจจากคนรอบข้าง ที่ต้องรับฟังคนมีความทุกข์อย่างเข้าอกเข้าใจ พยายามชี้ให้เห็นว่า การที่เขามีชีวิตอยู่ เขาสามารถทำอะไรได้อีกหลายอย่าง แล้ววันข้างหน้าชีวิตเขาอาจดีขึ้น ทำให้คนที่มีความทุกข์รู้สึกว่าตัวเองไม่ถูกทอดทิ้ง ให้เขารู้ว่ามีคนห่วงใยเขามาก หรืออาจกล่อมให้ไปพบจิตแพทย์ อย่าผลักให้เขาคิดว่าอยู่ไปก็เป็นภาระของคนอื่น หรือรู้สึกแปลกแยกและคิดว่า “ถึงตายไปก็ไม่มีใครสนใจอยู่แล้ว”

นพ.ณัฐกร จำปาทอง ผอ.รพ.จิตเวชขอนแก่นราชนครินทร์ ได้แนะนำถึงเรื่องนี้ว่า ผู้มีความทุกข์ มีช่องทางการปรึกษา เช่น การพบจิตแพทย์หรือการปรึกษาสายด่วนสุขภาพจิต 1323 ซึ่งอัตราการฆ่าตัวตายสำเร็จของคนไทยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ยังอยู่ที่ 6 – 6.5 ต่อประชากร 1 แสนคน หรือคิดเป็นจำนวนคนคือราวๆ 4,000 คนต่อปี และในระยะที่ผ่านมา พบว่าสาเหตุส่วนใหญ่ คือ ปัญหาเรื่องความสัมพันธ์ สัมพันธ์ภาพของคนใกล้ชิด

ความสัมพันธ์ที่ไม่ดี เช่น การทะเลาะ ดุ ด่า ติเตียน โดยเฉพาะกับคนในครอบครัวเป็นปัจจัยที่นำมาอันดับต้นๆ สาเหตุถัดมาขึ้นอยู่กับช่วงวัย หากเป็นผู้สูงอายุ สาเหตุมาจากการเจ็บป่วยโรคเรื้อรังที่รักษาไม่หาย หากเป็นวัยทำงาน จะเกิดจากโรคจิตเวช เช่น ซึมเศร้า จิตเภท เป็นต้น นอกจากนั้นจะเป็นปัจจัยด้านอื่นๆ เช่น ปัญหาเศรษฐกิจ สังคม แต่ก็นับว่าน้อยกว่าปัจจัยด้านความสัมพันธ์อยู่มาก และที่น่าสนใจคือ 30% ของผู้ฆ่าตัวตาย มีการใช้แอลกอฮอล์หรือสารเสพติดอื่นช่วย

กรณีการฆ่าตัวตายยกครัว ที่ผ่านมามีการบูรณาการความร่วมมือกับภาคีเครือข่ายอยู่บ้าง ซึ่งมีหลายประเด็นทางด้านสุขภาพจิต แต่ก็ต้องคิดเรื่องการทำงานร่วมกันมากขึ้น อย่างต้นปี 2562 ที่มีนักเรียนฆ่าตัวตายติดต่อกันหลายกรณี ทางกรมสุขภาพจิต ก็ได้ร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการทำเรื่องการป้องกันการฆ่าตัวตาย อย่างไรก็ตาม ประเด็นครอบครัวค่อนข้างสลับซับซ้อนอ่อนไหว ครอบครัวไทยอาจขาดอะไรบางอย่างเช่นการรับฟังกันเวลามีความเครียด

สัญญาณเตือนที่บ่งชี้ว่ามีความเสี่ยงในการฆ่าตัวตายคือ เก็บตัว แยกตัว ซึมลง เศร้าลง อารมณ์เปลี่ยนแปลง ในวันนี้ก็พบสัญญาณจากการโพสต์ในโซเชี่ยลมีเดียทั้งโพสต์ตรงๆ ว่าอยากตาย หรือโพสต์อ้อมๆ เช่น ชีวิตหาทางออกไม่ได้ ทนไม่ไหว เมื่อเห็นเช่นนี้ไม่ควรเลือกปล่อยผ่าน ควรถาม แสดงตัวว่าตรงนี้ยังมีเราอยู่ และพร้อมรับฟัง เรื่องนี้ต้องอาศัยภาคประชาชน อาศัยคนรอบข้างเข้ามาช่วย รัฐเองอาจต้องมีการทำความเข้าใจเรื่องการพูดคุยกับคนจะฆ่าตัวตายเพิ่มขึ้น

เห็นใจ เอาใจเขาใส่ใจเรา รับฟัง ชี้แนะ คือทางออกสำคัญที่ช่วยลดปัญหาฆ่าตัวตายได้

22 August 2562

ที่มา เดลินิวส์

Posted By Nitayaporn/Bungon/Thongpet/Kanchana

Views, 973

 

Preset Colors