02 149 5555 ถึง 60

 

โรคซึมเศร้า ความผิดปกติทางอารมณ์ที่รักษาให้หายได้

โรคซึมเศร้า ความผิดปกติทางอารมณ์ที่รักษาให้หายได้

"โรคซึมเศร้า" ภัยเงียบยุค 4G ที่คร่าชีวิตคนไทยไปไม่น้อย กรมสุขภาพจิต เผยสถิติปี 2561 พบคนไทยป่วยโรคซึมเศร้า 1.5 ล้านคน ขณะที่ทั่วโลกมีผู้ป่วยกว่า 300 ล้านคน

เป็นที่รู้กันดีว่าโรคซึมเศร้ามีผู้คนในสังคมที่ป่วย หรืออยู่ใกล้ชิดกับผู้ป่วยโรคนี้ โดยจากข้อมูลกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข ปี 2561 พบคนไทยป่วยโรคซึมเศร้า 1.5 ล้านคน ขณะที่ทั่วโลกพบว่ามีผู้ป่วยโรคซึมเศร้ากว่า 300 ล้านคน ตามความเข้าใจในโรคซึมเศร้า บ่อยครั้งที่บุคคลอื่นซึ่งไม่ได้ป่วยเข้าใจว่าโรคดังกล่าวเป็นความอ่อนแอที่เกิดขึ้นกับตัวบุคคล แต่แท้จริงแล้วโรคซึมเศร้ามีปัจจัยหลายอย่างที่ไม่ใช่ความอ่อนแอท้อแท้ในตัวเอง ที่สำคัญคือทุกคนช่วยกันรักษาโรคร้ายนี้ให้หายได้

นายแพทย์ กันตพัฒน์ ราชไชยา แพทย์โรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์ สำนักการแพทย์ กทม. อธิบายถึงภัยร้ายคร่าชีวิตใกล้ตัวคนเราอย่าง “โรคซึมเศร้า” (Major depressive disorder) ว่า เป็นโรคทางจิตเวชที่พบได้บ่อย โดยผู้ป่วยจะมีความผิดปกติทางอารมณ์ ทำให้มีอารมณ์ซึมเศร้าที่เกิดจากความผิดปกติของสารเคมีในสมอง เซโรโทนิน ที่มีบทบาทสำคัญต่อการทำงานในหลายๆ ส่วนของร่างกาย ทั้งด้านการควบคุมอารมณ์ มีปริมาณลดลงส่งผลทำให้มีอาการป่วยทั้งร่างกาย จิตใจ ตลอดจนความรู้สึกนึกคิดที่มีอันตรายกระทบต่อฟังก์ชันชีวิต กระทั่งนำความคิดสู่การทำร้ายตนเองหรือฆ่าตัวตาย

สาเหตุของโรค สามารถปะทุจากสภาวะซึมเศร้าสู่โรคซึมเศร้าได้จาก 1.กรรมพันธุ์ 2.พัฒนาการของจิตใจและสิ่งแวดล้อมมีแต่ความเครียดหนัก เช่น การเรียน การสอบ การพบเจอมรสุมชีวิต 3.เจ็บป่วยเรื้อรังจนหมดกำลังใจหรือพบกับความสูญเสียคนรัก ครอบครัว 4.ปัญหาเรื่องการเงิน ตกงาน 5.ความสัมพันธ์กับคนใกล้ชิดไม่ราบรื่น ทั้งหมดทั้งมวลยิ่งบ่อยยิ่งเพิ่มโอกาสที่เป็นปัจจัยทางชีวภาพเกิดการเปลี่ยนแปลงของระดับสารเคมีในสมองบางตัวส่งผลให้เกิดโรคซึมเศร้า

อาการโรคซึมเศร้าของผู้ป่วย สิ่งแรกคืออาการอารมณ์เศร้าหมอง ท้อแท้ เบื่อหน่าย หดหู่ ขาดความสนใจความสนุกสนาน ผู้ป่วยจะมีอารมณ์หงุดหงิด วิตกกังวล ต่อมาร่างกายจะโต้ตอบช้า เคลื่อนไหวเชื่องช้า ปวดหัว ปวดตามกล้ามเนื้อหรือปวดท้อง สีหน้าเศร้าหมอง สะเทือนใจง่าย นอนได้น้อย ไม่อยากอาหาร ความต้องการทางเพศลดลง ขณะที่การเปลี่ยนแปลงทางด้านความรู้สึกนึกคิดสมาธิและความจำลดลง สูญเสียความมั่นใจตัวเอง คิดวนเวียนแต่เรื่องในแง่ร้าย หมดหวังในอนาคต มีความคิดหรือการกระทำที่จะทำร้ายตนเองหรือฆ่าตัวตาย

ทั้งนี้ ความรุนแรงจะยิ่งเพิ่มแนวโน้มของตัวโรคสูงขึ้นในกรณีโรคเกิดขึ้นกับคนอายุน้อย คนที่มีนิสัยชอบแยกตัวอยู่คนเดียว คนที่ขาดคนที่เข้าใจและใส่ใจดูแล มีปัญหาการใช้สารเสพติด มีกรรมพันธุ์ที่เป็นโรคทางจิตเวชร่วมหรือผู้ที่ป่วยด้วยโรคทางจิตเวช โรคทางสมอง และโรคทางกายที่รุนแรงอื่นๆ ร่วมด้วย ผู้ที่เคยมีประวัติซึมเศร้าอยู่เดิมแต่ไม่ได้รับการรักษา ผู้ป่วยที่มีอาการ ‘ดิ่ง’ อาการเรียกของผู้ป่วยโรคซึมเศร้าที่อยู่ในช่วงควบคุมอารมณ์ได้ลำบากและมีความคิดอยากทำร้ายตัวเอง อาจทำให้มีความเสี่ยงในการฆ่าตัวตายสูงขึ้นอีกด้วย

แนวทางการรักษาโรคซึมเศร้า ในปัจจุบันนิยมรักษาโดยการทำจิตบำบัดรายบุคคล และการทำจิตบำบัดร่วมกับรับประทานยาแก้โรคซึมเศร้า (Antidepressant drugs) เพื่อลดความกังวลและทำให้อารมณ์หายซึมเศร้า โดยตัวยาจะช่วยไปปรับสมดุลของเซโรโทนิน ทำให้อารมณ์ค่อยๆ แจ่มใสขึ้นใน 2-3 สัปดาห์แรก และต้องใช้เวลา 30-90 วัน เพื่อให้ยาออกฤทธิ์เต็มที่

ผลข้างเคียงจากยา ที่พบบ่อยคือความว่องไวจะลดลงและมีอาการคลื่นไส้อาเจียน ง่วงซึม มึนงง แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ยาแก้โรคซึมเศร้าในปัจจุบันเพื่อให้เหมาะสมกับแนวทางการรักษา จึงมีรูปแบบที่แก้อาการง่วงซึมดังกล่าวให้ผู้ป่วยเลือกใช้และหายจากอาการซึมเศร้าที่ไม่ก่อให้เกิดการเสพติดยาของผู้ป่วย เมื่อหยุดยาหลังการรักษาต่อเนื่องประมาณ 2 ปี ผู้ป่วยที่ปฏิบัติรักษาก็จะหายขาดและกลับมีชีวิตที่เต็มไปด้วยความสุข

ดังนั้น หากทุกคนเข้าใจเกี่ยวกับโรคซึมเศร้าว่ามีปัจจัยหลายอย่างที่ก่อให้เกิดอาการป่วย ไม่ใช่ความอ่อนแอของตัวบุคคล ก็จะช่วยกันรักษาโรคร้ายนี้ให้หายไปจากประเทศไทยได้

23 August 2562

ที่มา โพสต์ทูเดย์

Posted By Nitayaporn/Bungon/Thongpet/Kanchana

Views, 3749

 

Preset Colors