02 149 5555 ถึง 60

 

“หมอตี๋” ยัน “ดื่มฉี่รักษาโรค” ไร้ผลวิจัย เสี่ยงเกิดโรคแทรกซ้อน

“หมอตี๋” ยัน “ดื่มฉี่รักษาโรค” ไร้ผลวิจัย เสี่ยงเกิดโรคแทรกซ้อน

เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม นายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงกรณีมีกลุ่มบุคคลเปิดเผยตนเองว่า ดื่มน้ำปัสสาวะเป็นประจำแล้วรู้สึกว่าสุขภาพดีขึ้น จึงเกิดกระแสตื่นตัวทางโลกออนไลน์ดื่มน้ำปัสสาวะ เสมือนยาอายุวัฒนะ บำบัดโรคร้ายได้ ว่า การใช้น้ำปัสสาวะบำบัดไม่มีงานวิจัยทางการแพทย์และคลินิกที่น่าเชื่อถือรองรับ ซึ่งหากนำมาใช้โดยไม่ระวังอาจเกิดอันตรายต่อร่างกาย ซึ่งปัจจุบันวิทยาการและเทคโนโลยีทางการแพทย์ก้าวหน้าอย่างต่อเนื่อง ประชาชนจึงมีทางเลือกในการรักษาโรคหลากหลายช่องทาง ทั้งแพทย์แผนปัจจุบันและการแพทย์ทางเลือก ดังนั้น จึงควรตัดสินใจอย่างรอบคอบ โดยคำนึงถึงความปลอดภัยและประสิทธิภาพการรักษาเป็นสำคัญ ซึ่ง สธ.มีเป้าหมายมุ่งเน้นทางด้านการส่งเสริม ป้องกัน รักษาและฟื้นฟูภาวะความเจ็บป่วย โดยมีโรงพยาบาลที่ให้บริการรักษาโรคทั่วไปและโรคเฉพาะทางแก่ประชาชนอยู่ทั่วประเทศ จึงอยากให้ประชาชนเข้ารับการรักษาอาการเจ็บป่วย หรือปรึกษาปัญหาสุขภาพกับแพทย์ หรือแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางในโรงพยาบาลในพื้นที่ เพราะการรักษาทางการแพทย์แผนปัจจุบันเป็นวิธีการรักษาโรคที่ได้มาตรฐานและมีประสิทธิภาพมากกว่าทางเลือกอื่น

“สำหรับวิธีรักษาโรคที่ดีที่สุดคือการดูแลสุขภาพตนเองให้แข็งแรงอยู่เสมอ คือ กินอาหารให้ครบ 5 หมู่ หลีกเลี่ยงอาหารที่มีรสเค็มจัด ไขมันสูง กินผักและผลไม้ให้มาก ออกกำลังกายสม่ำเสมอ หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และบุหรี่ ตรวจสุขภาพประจำปี ในกรณีหากพบความผิดปกติของร่างกาย ต้องรีบพบแพทย์ใกล้บ้านและรักษาและปฏิบัติตัวภายใต้คำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด” นายสาธิต กล่าว

ด้านนพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า เนื่องจากน้ำปัสสาวะเป็นของเสีย

หรือสารที่เป็นส่วนเกินของร่างกายที่ไตขับออกมา แม้ว่าจะมีสารต่างๆ อยู่มาก ทั้งยูเรีย เกลือแร่ แคลเซียม และโซเดียมคลอไรด์ รวมถึงสารอื่นๆ แต่สารเหล่านี้เป็นสิ่งที่เกินความต้องการของร่างกาย หากสะสมไว้มากเกินไปกลับจะเป็นอันตรายต่อร่างกาย เช่น เกิดภาวะความดันโลหิตสูง น้ำท่วมปอด หัวใจวาย หัวใจเต้นผิดจังหวะ เป็นต้น ร่างกายจึงขับทิ้งตามระบบ

“ดังนั้น หากดื่มกลับเข้าไปซ้ำอีก จะไม่ก่อให้เกิดประโยชน์เพิ่มขึ้น แต่ในทางกลับกันอาจส่งผลเสียต่อร่างกาย นอกจากนี้น้ำปัสสาวะที่ขับออกมายังอาจปนเปื้อน อุจจาระ ทำให้มีเชื้อโรคปนเปื้อนอยู่ เช่น เชื้อบิด อาจติดต่อไปยังผู้อื่นที่นำน้ำปัสสาวะนั้นมาดื่ม นอกจากนี้ ไตซึ่งทำหน้าที่กลั่นกรองของเสียออกจากร่างกาย ต้องทำงานหนักมากขึ้น เพราะต้องขับของเสียออกซ้ำ และอาจเกิดการคั่งค้างของสารต่างๆในร่างกาย ก่อให้เกิดโรคอื่นๆ ตามมา โดยเฉพาะผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับโรคไต โรคตับ โรคหัวใจ หรือโรคที่ต้องควบคุมปริมาณน้ำ แร่ธาตุ และสารอาหารให้เหมาะสม อาจเกิดอันตรายต่อร่างกายได้” นพ.สมศักดิ์ กล่าว

28 August 2562

ที่มา มติชนรายวัน

Posted By ์์Nitayaporn/Bungon/Thongpet/Kanchana

Views, 1551

 

Preset Colors