02 149 5555 ถึง 60

 

เมื่อ “ลูก” ติดยา-ก้าวร้าว!

เมื่อ “ลูก” ติดยา-ก้าวร้าว!

อะไรจะทุกข์ใจที่สุดสำหรับคนเป็นพ่อแม่ ย่อมไม่พ้นเรื่อง “ลูก”

โดยเฉพาะเมื่อ “ลูก” ติดยาด้วยแล้ว ยิ่งเพิ่มความทุกข์เป็นทวีคูณ...

นพ.ภาสกร ชัยวานิชศิริ รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวถึงหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้เด็กติดยาว่า จากเดิมที่ครอบครัวเป็นสถาบันแรกที่อยู่ใกล้ชิดกับเด็ก แต่สังคมปัจจุบันพบมีเด็กและเยาวชนจำนวนหนึ่งที่ขาดการดูแลเอาใจใส่ ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งที่ผลักดันให้ออกไปแสวงหาสิ่งทดแทนมาเติมเต็มในสิ่งที่รู้สึกว่าขาดหาย เช่น จับกลุ่มกับเพื่อนชักชวนกันทำสิ่งที่ล่อแหลมและเสี่ยงอันตราย เที่ยวกลางคืน สูบบุหรี่ ดื่มสุราและเสพยาเสพติด ด้วยความเยาว์วัย ขาดประสบการณ์ กระทั่งทำให้หมดอนาคตขาดโอกาสที่ดีในชีวิต

ทั้งนี้ ไม่ว่าใครก็คงต้องช็อกแน่เมื่อรู้ว่าลูกหลานติดยาเสพติด คุณหมอภาสกรแนะว่า สิ่งแรกที่ควรทำ คือ ตั้งสติและควบคุมอารมณ์ เพราะถ้าพ่อแม่ ซึ่งเป็นคนที่ลูกหลานเห็นเป็นที่พึ่งแต่กลับไม่สามารถพึ่งได้ อาจไปปรึกษาหรือพึ่งพาคนอื่น และจะกลายเป็นการเพิ่มปัญหาหรือทำให้เกิดปัญหาใหญ่ตามมา โดยต้องพูดคุยกันด้วยความใจเย็น พร้อมจะเป็นที่ปรึกษาและให้ความช่วยเหลือ พูดคุยถึงสาเหตุ วิธีการใช้ จำนวนและความถี่ ตลอดจนพร้อมช่วยกันคิดและหาทางออกร่วมกัน

ขณะที่ นพ.สรายุทธ์ บุญชัยพานิชวัฒนา ผู้อำนวยการสถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี เสริมว่า เมื่อบุตรหลานติดยาและมีอาการก้าวร้าว พ่อแม่บางคนอาจใช้ความรุนแรง ซึ่งผลที่ตามมาคือเกิดความแตกหักร้าวฉานในครอบครัว

“เมื่อพบว่าเด็กมีความก้าวร้าว ต้องตั้งสติ อย่าตื่นเต้นตกใจกับพฤติกรรม ควรประเมินสถานการณ์ หากก้าวร้าวไม่มากให้พูดคุยด้วยเหตุผล เปิดใจรับฟังปัญหาที่เกิด เพราะบางครั้งการที่เด็กก้าวร้าวอาจมีสาเหตุจากปัญหาในครอบครัว การเลี้ยงดู สภาพจิตใจ สภาพแวดล้อมและสังคม รวมถึงผลจากการใช้ยาเสพติด ซึ่งการยอมรับฟังความคิดเห็นซึ่งกันและกันเพื่อหาสาเหตุจะช่วยให้แก้ปัญหาได้ตรงจุดที่สุด”

แต่หากมีพฤติกรรมก้าวร้าวอย่างรุนแรงหรือคลุ้มคลั่ง หูแว่ว เห็นภาพหลอน ต้องรีบพาไปปรึกษาแพทย์หรือนำส่งสถานบำบัดรักษายาเสพติด เพื่อควบคุมสถานการณ์ และเมื่อจัดการปัญหาดังกล่าวได้แล้ว ควรพยายามเข้าใจและให้กำลังใจ

เมื่อบุตรหลานกลับมาเป็นคนเดิม ควรให้เวลาอย่างสม่ำเสมอ เช่น พูดคุยกันในตอนเย็นระหว่างทานอาหารค่ำ เล่นกีฬาด้วยกัน หรือไปเที่ยวต่างจังหวัดร่วมกันในวันหยุด สิ่งเหล่านี้จะช่วยสร้างสัมพันธภาพในครอบครัวให้กลับมาอีกครั้ง

ทั้งนี้ หากประสบปัญหาด้านยาและสารเสพติดขอรับคำปรึกษาได้ที่ สายด่วนยาเสพติด 1165 สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม www.pmnidat.go.th หรือเข้ารับการบำบัดรักษายาเสพติดได้ที่สถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี กรมการแพทย์ จังหวัดปทุมธานี และโรงพยาบาลธัญญารักษ์ในส่วนภูมิภาคทั้ง 6 แห่ง ได้แก่ โรงพยาบาลธัญญารักษ์เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ขอนแก่น อุดรธานี สงขลา และปัตตานี

29 August 2562

ที่มา สยามรัฐ

Posted By ์์Nitayaporn/Bungon/Thongpet/Kanchana

Views, 5796

 

Preset Colors