02 149 5555 ถึง 60

 

โรคยอดฮิตนักศึกษา-ซึมเศร้า (พ่อแม่ที่มีลูกอายุ 0-7 ขวบ ควรอ่าน)

โรคยอดฮิตนักศึกษา-ซึมเศร้า (พ่อแม่ที่มีลูกอายุ 0-7 ขวบ ควรอ่าน)

ตอนที่แล้วเขียนถึงโรคยอดฮิตของนักศึกษา คือ การนอนไม่หลับ วันนี้ขอคุยเรื่องโรคยอดฮิตอีกหนึ่งโรค คือ โรคซึมเศร้า ซึ่งพบมากขึ้นๆ จนน่าเป็นห่วงในกลุ่มนักเรียนนักศึกษาสมัยนี้ และเมื่อเกิดอาการซึมเศร้าขึ้นแล้ว เรามักจะพบสาเหตุ (ซึ่งไม่ใช่สาเหตุที่แท้จริง แต่เป็นเพียงปัจจัยกระตุ้นอาการเท่านั้น) ที่อาจฟังดูว่าไร้สาระ เช่น อกหักรักคุด เกรดตก เพื่อนไม่คบ ฯลฯ ดังนั้น เมื่อมีคนเกิดอาการซึมเศร้า คนทั่วไปจึงไม่ค่อยจะเชื่อว่าเขาเป็นจริงๆ และมักคิดว่าเขากำลังเรียกร้องความสนใจ

สาเหตุของโรคซึมเศร้า ความจริงแล้วมีความเชื่อมโยงกับการเลี้ยงดูในวัยเด็ก รวมทั้งเป็นปัญหาทางกาย คือ ความผิดปกติของสมอง ในการผลิตสารเคมีต่างๆที่ส่งผลต่ออารมณ์ มีงานวิจัยทางการแพทย์ที่ระบุว่า มีความเชื่อมโยงระหว่างโรคซึมเศร้ากับการเลี้ยงดูเด็กตั้งแต่ 0-7 ขวบ เพราะเด็กเล็กมีความซับซ้อนในการรับรู้และทางอารมณ์สูงมากกว่าที่เราคิด ผู้ใหญ่ชอบคิดว่าเด็กเล็กคิดอะไรไม่เป็น แต่ในความเป็นจริง เด็กเล็กมีความไวต่อสภาวะอารมณ์ของพ่อแม่และผู้เลี้ยงดูสูงมาก เด็กที่ได้รับพลังงานลบจากผู้ใหญ่บ่อยๆ ก็มีแนวโน้มจะเป็นซึมเศร้า เมื่อโตขึ้น

จากการให้คำปรึกษากับนักศึกษาที่เป็นโรคซึมเศร้าจำนวนหนึ่ง ครูเคท พบว่าคนรุ่นใหม่สมัยนี้มีปัญหาที่เรียกว่า เบื่อเรื้อรัง (chronic boredom) อันเนื่องจากการไม่เข้าใจความสุขคืออะไร (ไม่ใช่เข้าใจความหมายเชิงภาษา แต่เป็นการเข้าใจเชิงกายภาพทั้งกายและใจ) การที่เด็กเล็กขาดการกอดสัมผัสด้วยความรัก อบอุ่น ทะนุถนอม จากพ่อแม่ หรือผู้เลี้ยงดูที่มีความเมตตา (พ่อแม่ยุคนี้เต็มไปด้วยความวิตกกังวลใจ มากกว่าความเมตตา) ทำให้เด็กไม่เข้าใจความรักในเชิงลึก เด็กที่ไม่มีโอกาสได้ซึมซับความสุข เพราะถูกพ่อแม่ชี้นำและเร่งรัด ทำให้ความสุขเกิดขึ้นแค่ช่วงสั้นๆ เช่น เด็กกำลังมีความสุขในการระบายสี แต่พ่อแม่กลับดุ หรือไม่ก็บอกว่าอย่าทำเลอะเทอะนะ ทำให้ช่วงเวลาที่เด็กจะซึมซับความสุขถูกปิดกั้น หรือขัดขวางให้สั้นลง กลไลการผลิตสารแห่งความสุขจึงบกพร่อง

นอกจากนี้ เด็กที่มีแนวโน้มเป็นโรคซึมเศร้า มีความเชื่อมโยงกับความเหงาหรือเดียวดาย ซึ่งเกิดขึ้นได้กับทุกครอบครัว บางครอบครัวไม่ค่อยมีการสื่อสารพูดคุยกัน แต่บางครอบครัวยุ่งวุ่นวายทะเลาะเบาะแว้ง ไม่มีใครฟังเด็ก หรือครอบครัวมือถือ ที่ต่างคนต่างอยู่ในโลกส่วนตัวบนมือถือ ทำให้เด็กเกิดความเดียวดาย

ดังนั้น เมื่อเด็กนักศึกษาเป็นโรคซึมเศร้า จึงไม่ควรมองข้าม และอย่าต่อว่าเด็ก ขอให้รู้ว่าเป็นโรคทางกายและใจที่ต้องได้รับการรักษา เมื่อเกิดอาการ ควรรีบพบจิตแพทย์เพื่อสาเหตุ และทำการรักษาได้อย่างถูกต้อง เมื่ออาการดีขึ้นแล้ว ควรพบนักจิตวิทยาเพื่อปรับเปลี่ยนความคิด และฝึกทักษะการรับมือกับปัญหาต่างๆ รวมทั้งทักษะในการสร้างความสุขและคลายเครียด โรคซึมเศร้า ไม่ใช่เรื่องน่าอาย แต่เป็นโรคที่ต้องได้รับการรักษาค่ะ

30 August 2562

ที่มา ไทยรัฐ

Posted By Nitayaporn/Bungon/Thongpet/Kanchana

Views, 1063

 

Preset Colors