02 149 5555 ถึง 60

 

คนไทยฆ่าตัวตายวันละ 12 ราย กรมสุขภาพจิต แนะหลัก 3 ส. ปฐมพยาบาลทางใจ

คนไทยฆ่าตัวตายวันละ 12 ราย กรมสุขภาพจิต แนะหลัก 3 ส. ปฐมพยาบาลทางใจ

การฆ่าตัวตายเป็นหนึ่งปัญหาสำคัญที่ทั่วโลกเผชิญกันอยู่ ไม่ว่าจะเป็นการฆ่าตัวตายเนื่องจากมีปัญหาสุขภาพจิต หรือฆ่าตัวตายเพราะมีปัญหาชีวิต ในเมืองไทยช่วง 2-3 สัปดาห์ที่ผ่านมามีเหตุฆ่าตัวตายเกิดขึ้นหลายเคส ทำให้กรมสุขภาพจิตแสดงความห่วงใยประชาชน เกรงว่าจะเกิดพฤติกรรมเลียนแบบขึ้นได้

นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวถึงสถานการณ์ล่าสุดในประเทศไทย โดยมีข้อมูลตัวเลขสถิติพบว่า ภาพรวมอัตราการฆ่าตัวตายของทั้งประเทศอยู่ที่ 6.34 ต่อประชากร 1 แสนคน ในปี 2561 มีคนไทยฆ่าตัวตายสำเร็จ จำนวน 4,137 คน เป็นเพศชาย 3,327 คน คิดเป็นร้อยละ 80 และเพศหญิง 810 คน คิดเป็นร้อยละ 20 ซึ่งเป็นผู้ชายมากกว่าผู้หญิงประมาณ 4 เท่า

และพบว่าวัยแรงงานช่วงอายุ 25-59 ปี เป็นวัยที่ฆ่าตัวตายสำเร็จสูงสุด ร้อยละ 74.7 รองลงมาเป็นวัยสูงอายุ อายุ 60 ปีขึ้นไป ร้อยละ 22.1 และวัยเด็กอายุ 10-24 ปี ร้อยละ 3.2 ตามลำดับ

นอกจากนี้ พบจำนวนผู้ที่ทำร้ายตนเองจนเสียชีวิตเฉลี่ยอยู่ที่ 345 รายต่อเดือน และมีผู้ฆ่าตัวตายสำเร็จเฉลี่ยวันละประมาณ 11-12 ราย สำหรับสาเหตุปัจจัยของการฆ่าตัวตายสำเร็จ ได้แก่ ปัญหาด้านความสัมพันธ์ซึ่งเป็นสาเหตุส่วนใหญ่ ได้แก่ ความน้อยใจ ถูกดุด่าตำหนิ การทะเลาะกับคนใกล้ชิด พบร้อยละ 48.7 ความรัก หึงหวง ร้อยละ 22.9 ต้องการคนใส่ใจ ดูแล ร้อยละ 8.36 ส่วนปัญหาด้านการใช้สุราและยาเสพติด พบว่า มีปัญหาการดื่มสุรา ร้อยละ 19.6 มีอาการมึนเมาระหว่างทำร้ายตนเอง ร้อยละ 6 และปัญหาด้านการเจ็บป่วยทางจิต พบภาวะโรคจิต ร้อยละ 7.45 โรคซึมเศร้า ร้อยละ 6.54 และมีประวัติการทำร้ายตนเองซ้ำ ร้อยละ 12

อธิบดีกรมสุขภาพจิตกล่าวอีกว่า จากสถานการณ์ข่าวในช่วงที่ผ่านมานี้ สื่อมวลชนได้มีการนำเสนอข่าวการฆ่าตัวตายค่อนข้างถี่ โดยเฉพาะข่าวการฆ่าตัวตายแบบรมควัน กรมสุขภาพจิตมีความห่วงใยประชาชนในการติดตามข้อมูลข่าวสารสถานการณ์ความเคลื่อนไหวดังกล่าวจากสื่อมวลชน อาจจะทำให้เกิดพฤติกรรมเลียนแบบ (copycat suicide) ขึ้นมาได้ กรมสุขภาพจิตจึงขอให้ทุกฝ่ายร่วมมือเพื่อป้องกันการเกิดพฤติกรรมเลียนแบบ

สำหรับวิธีป้องกันการฆ่าตัวตาย นพ.เกียรติภูมิแนะนำให้บุคคลรอบข้าง ครอบครัว หรือคนใกล้ชิด คอยสังเกตสัญญาณเตือน โดยให้ระลึกไว้เสมอว่า การส่งสัญญาณเตือนเท่ากับการส่งสัญญาณ

ขอความช่วยเหลือของผู้ที่มีความเสี่ยง หากพบว่ามีอาการเศร้า เบื่อ เซ็ง แยกตัว คิดวนเวียน นอนไม่หลับ มองโลกในแง่ลบ หรือโพสต์ข้อความเชิงสั่งเสีย ไม่อยากมีชีวิตอยู่ หมดหวังในชีวิต ซึ่งเป็นอาการบ่งบอกของโรคซึมเศร้าและเป็นสัญญาณเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตาย ให้รีบเข้าไปพูดคุยช่วยเหลือพร้อมรับฟัง

กรมสุขภาพจิตแนะนำว่า คนรอบข้างสามารถช่วยป้องกันปัญหาการฆ่าตัวตายได้โดยใช้หลักวิธีการปฐมพยาบาลทางจิตใจ 3 ส. คือ 1.สอดส่อง มองหา ผู้ที่มีความคิดทำร้ายตัวเอง หรือผู้ที่มีการส่งสัญญาณเตือนในการฆ่าตัวตาย เช่น พฤติกรรมเปลี่ยนไปจากเดิม แยกตนเองออกจากสังคม 2.ใส่ใจรับฟัง ด้วยความเข้าใจ ชวนพูดคุย ให้ระบายความรู้สึก

ไม่ตำหนิหรือวิจารณ์ โดยการรับฟังอย่างใส่ใจนั้นเป็นวิธีการสำคัญที่มีประสิทธิภาพมาก 3.ส่งต่อเชื่อมโยง เช่น การแนะนำให้ โทร.ปรึกษาสายด่วนสุขภาพจิต 1323 ตลอด 24 ชั่วโมง หรือ โทร.ปรึกษาสมาคมสะมาริตันส์แห่งประเทศไทย ที่เบอร์ 0-2713-6793 เวลา 12.00-22.00 น. รวมถึงแอปพลิเคชั่นสบายใจ (Sabaijai) ตลอดจนแนะนำให้ไปพบบุคลากรสาธารณสุขหรือช่วยเหลือพาส่งโรงพยาบาลใกล้บ้าน

3 September 2562

ที่มา ประชาชาติธุรกิจ

Posted By Nitayaporn/Thongpet/Kanchana

Views, 1622

 

Preset Colors