02 149 5555 ถึง 60

 

ดูแลร่างกาย-จิตใจคน60+ถูกวิธี ช่วยอายุยืนยาวแบบมีสุขภาพดี

ดูแลร่างกาย-จิตใจคน60+ถูกวิธี ช่วยอายุยืนยาวแบบมีสุขภาพดี

“วัยรุ่น วัยเรียน” หรือช่วงอายุซึ่งกำลังเติบโต ที่ว่าต้องดูแลสุขภาพแล้ว แต่คนหลัก 5 หลัก 6 ยิ่งต้องใส่ใจเรื่องนี้เป็นพิเศษ เพราะฮอร์โมนที่เสริมสร้างกล้ามเนื้อและอวัยวะส่วนต่างๆ เริ่มทำงานลดน้อยลง นั่นจะเห็นได้ว่าผู้สูงวัยกลุ่มนี้มีปัญหากระดูกบางและเสี่ยงต่อการหกล้มได้ค่อนข้างง่าย หรือแม้ช่วงวัยเกษียณที่คนหลัก 6 จะต้องอยู่กับบ้าน จากที่เคยออกไปทำงานทุกวัน ซึ่งเสี่ยงต่อการโรคซึมเศร้า พญ.สร้อยเพชร วีระไวทยะ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพและสูตินรีเวช จาก “ศูนย์สุขภาพครบวงจร บีดีเอ็มเอส เวลเนส คลินิก” มาให้คำแนะนำเกี่ยวการดูแลสุขภาพของคนหลัก 5 หลัก 6 ซึ่งเป็นช่วงวัยทองที่มักพบโรคต่างๆ ตลอดจนวิธีรับมือไว้น่าสนใจ

(คนหลัก 5 ขึ้นไปควรตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปี เพื่อตรวจหาโรคมะเร็งต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นกับคนวัยนี้ได้)

พญ.สร้อยเพชร แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพและสูตินรีเวช บอกว่า “พอผู้สูงวัยอายุเกิน 50-60 ปี เป็นช่วงที่ฮอร์โมนเพศหญิงลดลง หรือเรียกกันว่ากำลัง “เข้าสู่วัยทอง” ซึ่งวัยนี้เป็นช่วงที่ฮอร์โมนในรังไข่ลดลง ทั้งฮอร์โมนเอสโตรเจนในเพศหญิง และฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนลดลง และสิ่งที่เห็นชัดเจนคือเรื่องของกระดูกที่บางลงตามฮอร์โมนที่ลดลงทั้งคู่ อันที่สองคือ “โรคเรื้อรังต่างๆ” เช่น โรคหัวใจ โรคสมอง โรคความจำที่เกิดขึ้นกับคนวัยนี้ ส่วนหนึ่งก็เกี่ยวกับการลดลงของฮอร์โมนเอสโตรเจนด้วย นอกจากนี้ยังพบผู้สูงวัยเป็น “โรคอ้วน” เพราะฮอร์โมนเพศหญิง หรือฮอร์โมนเอสโตรเจน จะเป็นตัวที่ช่วยเรื่องของการเผาผลาญด้วย พอฮอร์โมนดังกล่าวลดลงก็ทำให้กล้ามเนื้อลดลง และไขมันเพิ่มขึ้น

ทั้งนี้ วิธีแก้ไขคือ เลือกกินอาหารที่มีประโยชน์ เช่น ไข่ นม ถั่วและธัญพืช เนื้อสัตว์ไม่ติดมัน ผักผลไม้ปลอดสารพิษ เลี่ยงอาหารหวาน อาหารมัน อาหารเค็มและเผ็ดจัด นอกจากนี้ การออกกำลังกายก็จะช่วยช่วยเรื่องความแข็งแรงของกระดูก และช่วยเติมความสดชื่น ส่วนการออกกำลังกายที่เหมาะกับผู้สูงอายุนั้น มีตั้งแต่การเล่นโยคะ ว่ายน้ำ หรือเดินเร็ว ที่สำคัญหมอแนะนำว่าต้องไปตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปี พออายุ 50 ปี ขึ้นไป แพทย์จะตรวจเป็นพิเศษคือ “โรคมะเร็ง” เนื่องจากพบได้ในคนวัยเลข 5 มากขึ้น นอกจากตรวจสุขภาพทั่วไป อาจต้องมีการตรวจมะเร็งเต้านมและมะเร็งปากมดลูก มีการตรวจอัลตราซาวด์ช่องท้อง และตรวจระดับมวลกระดูกด้วย ทั้งหมดทั้งมวลเป็นความเสื่อมตามช่วงอายุ

รวมถึงโรคสุดท้ายอย่าง “ภาวะซึมเศร้า” ดังนั้นการดูแลจิตใจคนหลัก 5 หลัก 6 เพื่อป้องกันปัญหาดังกล่าวนั้น อันดับแรกนั้นเราต้องหากิจกรรมที่เราสนใจทำ เพราะอายุในช่วงนี้เราอาจเริ่มว่าง เนื่องจากเราเกษียณแล้ว ถ้าว่างมากๆ เราก็จะอาจกังวลหรือเครียด ดังนั้นควรหากิจกรรมหรืองานที่เราสนใจทำ หรืออยู่ท่ามกลางครอบครัว หมายความว่าใช้เวลากับครอบครัวให้มากขึ้น อีกทั้งต้องพยายามแอคทีฟ เช่น ออกไปเที่ยว หรือออกกำลังกาย โดยทำกิจกรรมเหล่านี้ให้เหมือนกับอายุน้อยๆ เพราะยิ่งอายุมากก็ต้องแอคทีฟตัวอย่างอย่างสม่ำเสมอ เมื่อนั้นโรคซึมเศร้าก็จะไม่ถามหา ที่สำคัญจะทำให้คนวัยนี้มีเพื่อน มีสังคม จากการได้ออกไปทำกิจกรรมนอกบ้านที่ตัวเองชื่นชอบ.

16 September 2562

ที่มา ไทยโพสต์

Posted By Nitayaporn/Thongpet/Kanchana

Views, 990

 

Preset Colors