02 149 5555 ถึง 60

 

2 เคล็ดลับ "หายใจแบบพิเศษ" ช่วยลดเครียด ใจเย็นขึ้น สมองแจ่มใส

2 เคล็ดลับ "หายใจแบบพิเศษ" ช่วยลดเครียด ใจเย็นขึ้น สมองแจ่มใส

จิตแพทย์ แนะ 2 วิธีหายใจแบบพิเศษ หายใจสลับรูจมูก และหายใจเข้าทางจมูกออกทางปาก ช่วยลดเครียด ใจเย็นขึ้น สมองแจ่มใส กระฉับกระเฉง แก้ง่วง

วันนี้ (16 ก.ย.) นพ.กิตต์กวี โพธิ์โน ผอ.รพ.จิตเวชนครราชสีมาราชนครินทร์ กล่าวว่า วิธีการสังเกตว่า ตนเองหรือคนรอบข้างเครียดหรือไม่ คือ การแสดงออกของอารมณ์ ผู้ที่มีความเครียดมักจะมีอารมณ์หงุดหงิด ฉุนเฉียวง่าย โมโหง่าย เนื่องจากความอดทนต่ำลง เมื่อเกิดความเครียดมักจะควบคุมตัวเองได้น้อยลง โดยขณะที่เกิดความเครียดร่างกายจะหลั่งฮอร์โมนที่เป็นสารแห่งความทุกข์ออกมา จะมีผลให้การทำงานของอวัยวะภายใน เช่น หัวใจเปลี่ยนแปลง หัวใจเต้นแรงและเร็วกว่าปกติ คือ จากนาทีละ 60-80 ครั้ง จะเพิ่มเป็น 100-120 ครั้ง มีอาการใจสั่น ถอนหายใจบ่อย และมีผลให้กล้ามเนื้อหดเกร็ง เกิดอาการปวดหลัง ปวดไหล่ คิ้วขมวดหรือที่เรียกว่าคิ้วผูกโบว์ ซึ่งเห็นกันได้บ่อย บางคนหากเครียดมากอาจทำให้ท้องเสียได้เช่นกัน

นพ.กิตต์กวีกล่าวว่า การแก้เครียดทำได้หลายวิธี เช่น ออกกำลังกาย ทำงานอดิเรกที่ชอบ ดูหนัง ฟังเพลง รวมถึงการหายใจแบบพิเศษ 2 แบบ คือ 1.การหายใจแบบสลับรูจมูก คือ ใช้นิ้วกดรูจมูกข้างขวา หายใจเข้าออกทางรูจมูกซ้าย แล้วทำสลับข้างไปเรื่อยๆ จะช่วยให้โพรงจมูกทั้ง 2 ข้างทำงานสมดุลกันแล้วจะช่วยให้มีสติจดจ่อที่ลมหายใจมากขึ้น และจับความรู้สึกในการหายใจง่ายขึ้น

และ 2.การหายใจเข้าทางจมูกและหายใจออกทางปาก โดยสูดลมหายใจเข้าทางจมูกเข้าอย่างช้าๆลึกๆ แล้วกลั้นไว้สักครู่ จากนั้นให้เป่าลมหายใจออกทางปากแรงๆ ทำซ้ำแบบนี้ไปเรื่อยๆ การหายใจแบบนี้จะเป็นการฝึกการทำงานของปอด การหายใจเข้าอย่างช้าๆลึกๆจะทำให้ลมหายใจเข้าไปเต็มปอด การกลั้นลมหายใจจะได้ประโยชน์จะเป็นการเพิ่มเวลาการแลกเปลี่ยนออกซิเจนที่อยู่ในเลือดที่ปอดได้นานขึ้น ส่วนการพ่นลมหายใจออกมาทางปากแรงๆจะเป็นการช่วยฝึกความดันของปอดด้วย ผลดีของการหายใจแบบนี้จะทำให้เรารู้สึกตื่นตัว กระฉับกระเฉง ใช้แก้อาการง่วงได้อีกด้วย

“ขณะที่เราฝึกการคลายเครียด จะมีผลให้อัตราการเผาผลาญอาหารในร่างกายลดลง หัวใจจะเต้นช้าลง อัตราการหายใจลดลง ระดับความดันโลหิตลดลง ความตึงตัวหรือการหดเกร็งกล้ามเนื้อคลายตัวลง หลังจากที่เราฝึกแล้ว จะรู้สึกว่าใจเย็นขึ้น ความกังวลใจน้อยลง สบายใจมากขึ้น สมาธิดีขึ้น ความจำดีขึ้น สมองแจ่มใส ความคิดโลดแล่น” นพ.กิตต์กวีกล่าว และว่า การฝึกการหายใจให้ได้ผล ควรทำติดต่อกันประมาณ 4-5 ครั้ง ควรฝึกทุกครั้งที่รู้สึกเครียด หรือรู้สึกโกรธ ไม่สบายใจหรือฝึกทุกครั้งที่นึกได้ จะให้ประโยชน์ทั้งการคลายเครียดและการป้องกันการเกิดโรคทางกายที่เป็นผลกระทบจากจิตใจ เช่น โรคมะเร็ง โรคความดันโลหิตสูงได้

17 September 2562

ที่มา ผู้จัดการ ออนไลน์

Posted By Nitayaporn/Thongpet/Kanchana

Views, 7855

 

Preset Colors