02 149 5555 ถึง 60

 

รับมือสุขภาพจิตช่วงน้ำท่วม ลูกหลานต้องเข้าใจ-ให้เวลา

รับมือสุขภาพจิตช่วงน้ำท่วม ลูกหลานต้องเข้าใจ-ให้เวลา

(ทิ้งเวลาระยะหนึ่งเพื่อผู้สูงอายุรับมือกับน้ำท่วมขัง ตามกลไกทางจิตวิทยาทั้ง 4 ด้าน กระทั่งยอมเคลื่อนย้ายออกจากบ้านเรือน เนื่องจากผู้สูงวัยอาศัยอยู่ในพื้นที่ดังกล่าวมานานหลายสิบปี)

“ปัญหาสุขภาพจิต” ที่เกิดขึ้นกับผู้สูงวัยที่อยู่ในพื้นที่น้ำท่วม ทั้งภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคตะวันออก โดยเฉพาะภาคอีสานที่มีการคาดการณ์ว่ามวลน้ำอาจจะใช้เวลาร่วมเดือนกว่าจะลดระดับลงเข้าสู่ภาวะปกติ ทว่าหลายพื้นที่ประสบปัญหาน้ำเริ่มส่งสัญญาณดีขึ้น แต่ยังมีอีกหลายพื้นที่ซึ่งต้องอาศัยอยู่ในน้ำแช่ขังอีกนับสัปดาห์ ตลอดจนพื้นที่ไร่นาที่เสียหายจากพิษของน้ำท่วมหลาก ล้วนแล้วแต่เป็นเรื่องที่บั่นทอนสุขภาพจิตใจของคนวัยเก๋าได้ไม่น้อย โดยเฉพาะโรคซึมเศร้า นพ.สุกรีย์ สมานไทย นายกสมาคมผู้ดูแลผู้สูงอายุและผู้มีภาวะพึ่งพิง มาให้คำแนะนำในการรับมือผู้สูงวัยที่อยู่ในพื้นที่น้ำท่วมขัง หรือได้รับความเสียหายจากปัญหาอุทกภัยดังกล่าวไว้น่าสนใจ

นพ.สุกรีย์ นายกสมาคมผู้ดูแลผู้สูงอายุและผู้มีภาวะพึ่งพิง ให้คำแนะนำว่า “วิธีรับมือกับปัญหาสุขภาพจิตของผู้สูงวัยที่ต้องอาศัยอยู่ในพื้นที่น้ำท่วมขังนั้น หลักการอันดับแรกสำหรับ “กลุ่มผู้สูงอายุที่ยึดติด” คือลูกหลานจะต้องไม่ให้พ่อแม่ ปู่ย่าตายาย เห็นความเจ็บปวดหรือความสูญเสีย เพราะการที่เราปล่อยให้ท่านได้เห็นหรือเดินไปมองภาพของความสูญเสียบ่อยๆ นั้น ก็จะยิ่งตอกย้ำให้ท่านคิดมาก เมื่อนั้นก็จะเกิดปฏิกิริยารีแอคชั่นต่างๆ ตามมา เช่น การคิดมาก นอนไม่หลับ ไม่อยากออกจากบ้าน เป็นห่วงทรัพย์สินหรือไร่นาที่เสียหาย ฯลฯ ประการแรก ผู้สูงอายุไม่ควรหมั่นเดินไปมองรอบๆ บ้านที่มีน้ำท่วมขัง อีกทั้งลูกหลานเองก็ต้อง “ไม่เล่าข่าวที่เป็นเรื่องทุกข์ของผู้อื่นให้ปู่ย่าตายายฟัง” เช่น ลูกของคนข้างบ้านจมน้ำเสียชีวิต หรือไร่นาของเพื่อนบ้านเสียหาย เพราะตรงนี้จะยิ่งเป็นการตอกย้ำเรื่องความสูญเสียให้ท่านฟังและคิดมาก

(ผู้สูงอายุที่เครียดจากปัญหาน้ำท่วมขังสามารถรับมือกับปัญหาสุขภาพจิตดังกล่าว โดยการที่ลูกหลานชวนท่านออกมาทำงานจิตอาสาเพื่อช่วยเหลือผู้อื่น อย่างการแพ็กของและช่วยแจกของ ก็จะทำให้มีความสุขและคลายทุกข์ลงได้)

“วิธีของการรับมือเพื่อป้องกันไม่ให้ผู้สูงอายุเห็นความเสียหายจากปัญหาน้ำท่วมขังซ้ำนั้น คือการ “ดึงท่านออกมาทำกิจกรรมช่วยเหลือผู้อื่น” เช่น การเป็นจิตอาสาช่วยแพ็กปลากระป๋อง หรือแพ็กอาหารสำเร็จรูปให้เพื่อนบ้านที่ได้รับความเสียหายจากน้ำท่วม ตรงนี้จะเป็นการช่วยทำให้ท่านมีความสุขจากการที่ได้ช่วยเหลือผู้อื่น นอกจากนี้หากลูกหลานประเมินแล้วว่าพ่อแม่ ปู่ย่าตายาย มีอาการของโรคซึมเศร้า เช่น ไม่กินข้าว ไม่พูดคุย หรือมีอาการนอนไม่หลับ ตรงนี้อาจต้อง “รีบพามาพบจิตแพทย์ หรือนักจิตวิทยา” เพื่อรักษาอาการดังกล่าวไม่ให้ลุกลาม ซึ่งขั้นตอนอาจต้องได้รับความร่วมมือจากคน 3 ฝ่าย คือลูกหลาน ผู้สูงอายุ และจิตแพทย์

สิ่งสำคัญมากที่สุดนั้น “ลูกหลานต้องทำความเข้าใจผู้สูงอายุ” ด้วย เพราะคนวัยนี้อาศัยอยู่ในพื้นที่ก่อนน้ำท่วมมามากกว่า 50-70 ปี ดังนั้นหากลูกหลานไม่ควรพูดตรงๆ ว่า “ไม่ต้องเสียใจ หรือไม่ต้องกังวลกับปัญหาน้ำท่วม” แต่ทางที่ดีควรดึงท่านออกจากความเสียใจดังกล่าวให้เร็วที่สุด ด้วยการหากิจกรรมต่างๆ ทำเพื่อช่วยคนอื่น หรือพาท่านออกมาอยู่พร้อมหน้าลูกหลาน และกินข้าวด้วยกัน ตรงนี้จะดีที่สุด เป็นการใช้โซเชียลเข้ามาซัพพอร์ต หรือการอยู่พร้อมหน้าพร้อมตาลูกหลาน ซึ่งเป็นสังคมของผู้สูงอายุนั่นเอง”

ส่วนพื้นที่ใดที่น้ำท่วมสูง ประกอบกับผู้สูงอายุไม่อยากออกจากบ้าน เพราะเป็นห่วงทรัพย์สินต่างๆ นั้น นพ.สุกรีย์ บอกว่า อาจจำเป็นต้องใช้หลักจิตวิทยา 4 ขั้นตอน เพื่อให้ยอมออกจากพื้นที่เสี่ยงภัยดังกล่าว อันเนื่องจากการยอมรับและเข้าใจโดยตัวผู้สูงอายุเอง ดังนั้นลูกหลานจึงจำเป็นต้องเข้าใจและให้เวลาท่านในการยอมรับเหตุการณ์อุทกภัยที่เกิดขึ้น

“ถ้ามีคนมาบอกว่าให้ผู้สูงอายุออกจากบ้านที่มีน้ำแช่ขัง ท่านจะไม่เชื่อและไม่ยอมทำตาม เพราะเป็นห่วงทรัพย์สิน แต่ทั้งนี้การใช้กลไกทางจิตวิทยาเพื่อให้เกิดการยอมรับเป็นสิ่งที่สำคัญ เริ่มจากขั้นตอนที่ 1 เมื่อผู้สูงวัยเจอเหตุการณ์ฝนตกและน้ำท่วมขังบ้านเรือน ก็จะทำให้ท่านปฏิเสธว่าสิ่งที่เกิดขึ้นนั้นไม่จริง ตรงนี้จึงต้องให้ท่านได้เห็นด้วยตัวเอง จากนั้นเข้าสู่ขั้นตอนที่ 2 ผู้สูงอายุจะรู้สึกโมโหและโกรธภัยธรรมชาติ ขั้นตอนที่ 3 ซึ่งระยะนี้เป็นระยะที่ต้องรอให้ท่านเห็นเองว่า ถ้าหากระดับน้ำท่วมสูงขึ้นเรื่อยๆ จะกระทบต่อตัวเองอย่างไร ส่วนขั้นตอนที่ 4 คือผู้สูงวัยจะค่อยๆ เริ่มมีอาการซึมเศร้า พร้อมๆ กับการยอมรับความจริง ในการที่จะเตรียมตัวเคลื่อนย้ายออกจากบ้าน ซึ่งระยะลูกหลานจะต้องรีบเข้ามาพูดคุยและตะล่อมให้ออกจากบ้าน เพราะอย่างไรเสียก็ต้องยอมตัดใจ เมื่อนั้นผู้สูงอายุก็จะค่อยๆ เข้าใจและยอมออกจากบ้านโดยดี ดังนั้นหมอจึงบอกว่า บางครั้งลูกหลานเองก็ต้องเข้าใจและให้เวลาพ่อแม่ เพื่อให้ท่านได้ผ่านกลไกทางจิตวิทยาทั้ง 4 ขั้นตอนดังกล่าว ซึ่งอาจจะต้องรอเวลาสักพักหนึ่งครับ เพราะถ้าลูกหลานไปบอกกับท่านตั้งแต่แรกว่าให้รีบย้ายออกจากบ้านโดยทันที แน่นอนว่าผู้สูงอายุจะไม่ยอมปฏิบัติตามอย่างแน่นอนครับ”.

19 September 2562

ที่มา ไทยโพสต์

Posted By NitayapornThongpet/Kanchana

Views, 867

 

Preset Colors