02 149 5555 ถึง 60

 

ระวัง! อย่าปล่อยให้คนใกล้ตัวจมอยู่กับความผิดปกติทางบุคลิกภาพแบบก้ำกึ่ง

ระวัง! อย่าปล่อยให้คนใกล้ตัวจมอยู่กับความผิดปกติทางบุคลิกภาพแบบก้ำกึ่ง

หลายคนอาจเคยมีประสบการณ์ที่สังเกตเห็นว่าคนใกล้ตัวมีพฤติกรรมบางอย่างที่ผิดแปลกไปจากเดิม ไม่ว่าจะเป็นอารมณ์ที่แปรปรวนขึ้นๆลงๆหาความแน่นอนไม่เจอ ใครทำอะไรก็มีแต่เรื่องให้โกรธ รู้สึกฉุนเฉียวและคอยต่อว่าแสดงความไม่พอใจอย่างไม่มีเหตุผล จนทำให้ความสัมพันธ์กับคนรอบตัวดูแย่ไปหมด หากเป็นเช่นนี้ก็ไม่ควรนิ่งนอนใจ เพราะเค้าอาจกำลังจมอยู่กับความผิดปกติทางบุคลิกภาพแบบก้ำกึ่งก็เป็นได้

“ความผิดปกติทางบุคลิกภาพแบบก้ำกึ่ง” (Borderline Personality Disorder) ถือเป็นหนึ่งในกลุ่มอาการของความผิดปกติทางบุคลิกภาพ (Personality Disorder) โดยจัดอยู่ในประเภท Cluster B หรือประเภทที่มีการแสดงออกทางอารมณ์ผิดปกติ (Dramatic-Emotional) เป็นหลัก ซึ่งมีแนวโน้มที่จะพบได้มากกว่าในกลุ่มที่มักแสดงพฤติกรรมแปลกประหลาด (Eccentric) และกลุ่มที่มีความวิตกกังวลสูง (Anxious)

ผู้ที่มีความผิดปกติทางบุคลิกภาพแบบก้ำกึ่งมักไม่สามารถควบคุมอารมณ์และความรู้สึกที่มีต่อตัวเองและผู้อื่นให้มั่นคงได้ ขาดความแน่นอนและเปลี่ยนแปลงไปมาอย่างรวดเร็ว ไม่สามารถสร้างบุคลิกลักษณะที่เหมาะสมและชัดเจนให้กับตัวเองได้ จึงมักแสดงอารมณ์และพฤติกรรมผิดไปจากที่ควรเป็น ทำให้ผู้อื่นคาดเดาได้ยาก ซึ่งส่งผลต่อการพัฒนาความสัมพันธ์กับบุคคลรอบตัวเป็นอย่างมาก โดยสาเหตุของความผิดปกติทางบุคลิกภาพแบบก้ำกึ่งยังไม่สามารถพิสูจน์ได้อย่างแน่ชัด แต่มีการให้น้ำหนักกับปัจจัยสำคัญ 2 ประการ คือ

1.ปัจจัยทางชีวภาพ ซึ่งในด้านหนึ่งเป็นผลมาจากปัจจัยทางพันธุกรรมที่ทำให้คนที่สมาชิกครอบครัวมีประวัติเกี่ยวข้องนั้นมีแนวโน้มที่จะมีความผิดปกติทางบุคลิกภาพได้มากกว่า หรือความผิดปกติของร่างกายโดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงของสารเคมีในสมองที่ขาดความสมดุลและทำให้เกิดความบกพร่องในการควบคุมอารมณ์

2.ปัจจัยสภาพแวดล้อม โดยเฉพาะพื้นฐานทางครอบครัวและวิธีการเลี้ยงดูถือเป็นปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการกำหนดบุคลิกภาพเป็นอย่างมาก การเติบโตมาในสภาพแวดล้อมที่มีปัญหาครอบครัว ทั้งการหย่าร้าง การมีปากเสียงทะเลาะกัน การถูกทอดทิ้ง ไม่ได้รับความรัก ความเอาใจใส่ ตลอดจนถูกทำร้ายหรือถูกล่วงละเมิดทางเพศ จนจมอยู่กับความเครียดมายาวนานนั้นมีความเสี่ยงที่จะมีความผิดปกติทางบุคลิกภาพแบบก้ำกึ่งได้มากกว่า

สิ่งที่บ่งบอกถึงการมีความผิดปกติทางบุคลิกภาพแบบก้ำกึ่งซึ่งอยู่ในข่ายของอาการป่วยทางจิต สังเกตได้จากบุคลิกภาพที่เปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ควบคุมได้ยากหรืออยู่เหนือการควบคุม โดยผู้ประสบปัญหามักไม่รู้ตัวหรือนึกไม่ถึงว่าเป็นปัญหา สามารถพิจารณาได้จากการลักษณะพฤติกรรมการแสดงออกที่สำคัญดังต่อไปนี้

1.อารมณ์แปรปรวนไม่คงที่ ทำให้ความรู้สึกที่มีต่อตัวเองและผู้อื่นกลับไปกลับมาและเปลี่ยนแปลงไปได้อย่างรวดเร็ว เป็นอุปสรรคสำคัญต่อการสร้างและรักษาความสัมพันธ์กับคนที่รักและคนรอบตัวให้มีความยั่งยืน

2.กลัวการถูกทอดทิ้ง จึงทำให้มีความรู้สึกอ้างว้างและโดดเดี่ยวมากเป็นพิเศษ ขณะเดียวกันก็รู้สึกขาดความไว้วางใจต่อผู้อื่น มองเห็นตัวเองเป็นส่วนเกิน ทั้งที่โดยแท้จริงแล้วไม่มีอะไรเป็นอย่างที่ตัวเองคิด

3.อารมณ์รุนแรงและไม่สามารถควบคุมตัวเองได้ ทำให้หุนหันพลันแล่นและขาดการยับยั้งชั่งใจในการปฏิบัติตัวต่อผู้อื่น เมื่อรู้สึกโกรธจึงใช้คำพูดที่รุนแรงและหยาบคาย หรืออาจใช้กำลังทำร้ายทำร้ายผู้อื่นเป็นประจำ

4.หลุดจากโลกความเป็นจริง มักยึดถือเอาตามความรู้สึกนึกคิดของตัวเองเป็นหลัก จึงทำให้ขาดความรอบคอบและความระมัดระวังในการแสดงออก รวมทั้งมีแนวโน้มที่จะมีพฤติกรรมตรงข้ามกับบรรทัดฐานทางสังคม

5.สิ่งที่รุนแรงมากที่สุดคือ หาโอกาสทำร้ายตัวเองหรือคิดสั้นและพยายามฆ่าตัวตายอยู่บ่อยครั้ง ซึ่งเป็นได้ทั้งเพื่อเรียกร้องความสนใจจากคนรัก หรือเกิดความรู้สึกโดดเดี่ยวและว่างเปล่า มองตัวเองเป็นคนไร้ค่า

อย่างไรก็ตาม ความผิดปกติดังกล่าวอาจแสดงออกมากน้อยแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล ทำให้หลายคนไม่รู้ตัวเลยแม้แต่น้อยว่าตัวเองมีพฤติกรรมที่แสดงถึงความผิดปกติทางบุคลิกภาพแบบก้ำกึ่งนี้จนกว่าจะส่งผลต่อความสามารถในการใช้ชีวิตตามปกติอย่างหนักหน่วงและมีความรุนแรงไปจนถึงมีความรู้สึกว่างเปล่าจนอยากฆ่าตัวตาย บุคคลใกล้ชิดจึงจำเป็นต้องเข้ามาเป็นส่วนสำคัญในการหมั่นสังเกตและพิจารณาความเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมการแสดงออก รวมทั้งอาการเจ็บป่วยทางร่างกายและจิตใจของคนที่เรารักอยู่เสมอ

เนื่องจากเป็นเรื่องที่ค่อนข้างยากลำบากในการชี้ชัดว่าผู้ใดมีความผิดปกติทางบุคลิกภาพแบบก้ำกึ่ง จึงต้องอาศัยจิตแพทย์และผู้เชี่ยวชาญในการวินิจฉัยอาการเสมอ หากพบว่ามีสาเหตุมาจากปัจจัยสภาพแวดล้อมก็จะใช้วิธีการจิตบำบัดเป็นหลักในการฟื้นฟู ขณะที่บุคคลใกล้ชิดจะมีบทบาทสำคัญในการแจ้งเตือนความผิดปกติ รวมถึงช่วยป้องกันและดูแลให้ผู้ประสบปัญหาได้รับการฟื้นฟูได้ดียิ่งขึ้น โดยมีข้อแนะนำที่น่าสนใจดังต่อไปนี้

1.บุคคลใกล้ชิดมีความสำคัญมากต่อผู้ที่มีความผิดปกติทางบุคลิกภาพแบบก้ำกึ่ง การมอบความรักและความเข้าใจ รวมทั้งแสดงออกให้รับรู้ว่าพร้อมจะอยู่เคียงข้างและไม่ทอดทิ้งกันจะช่วยสร้างกำลังใจในการฟื้นฟูได้ดีขึ้น

2.มุ่งเน้นไปที่วิธีการพูดคุยเพื่อสร้างความเข้าใจซึ่งกันและกัน ประกอบกับการเรียนรู้วิธีการจัดการอารมณ์และความรู้สึกอย่างค่อยเป็นค่อยไป รวมถึงการฝึกวางใจยอมรับกับการไม่สมหวังในบางเรื่อง

3.แนะนำการฝึกฝนสำรวจตรวจสอบตัวเองและการเอาใจเขามาใส่ใจเราอยู่เสมอ ซึ่งจะช่วยให้เกิดการทบทวนและทอดเวลาให้มีความยั้งคิดด้วยความรอบคอบก่อนที่แสดงพฤติกรรมใดๆต่อผู้อื่น

4.นอกจากการพูดคุยกับผู้อื่นแล้ว ยังสามารถแนะนำผู้ที่มีปัญหาให้ใช้เวลาพูดคุยในใจกับตัวเองบ้างในบางครั้ง โดยมุ่งเตือนสติก่อนลงมือทำสิ่งต่างๆ รวมถึงรู้จักปลอบโยนจิตใจตัวเองโดยพยายามนึกถึงแต่สิ่งที่ดี

5.ช่วยตั้งเป้าหมายที่เป็นไปได้ในการดำเนินชีวิตด้านต่างๆ เพื่อให้ผู้ที่มีปัญหาบุคลิกภาพได้มีสมาธิและความตั้งใจจดจ่ออยู่กับสิ่งที่ทำจนบรรลุเป้าหมายในแต่ละขั้นตอน ซึ่งจะช่วยเสริมสร้างความรู้สึกที่มั่นคงให้เพิ่มขึ้นได้

พฤติกรรมการแสดงออกที่ไม่เหมาะสมของผู้ที่มีความผิดปกติทางบุคลิกภาพแบบก้ำกึ่งโดยมากเกิดจากจิตใจที่ไม่มั่นคงในความคาดหวังที่มีต่อบุคคลรอบตัว บุคคลรอบตัวจึงเป็นจุดเปลี่ยนที่จะช่วยยื่นมือไปดึงผู้ที่มีปัญหาเหล่านี้ขึ้นมา โดยอาศัยความรัก ความเข้าใจและความปรารถนาดีต่อกันเป็นสำคัญ

30 September 2562

ที่มา ผู้จัดการ ออนไลน์

Posted By Nitayaporn/Thongpet/Kanchana

Views, 20659

 

Preset Colors