02 149 5555 ถึง 60

 

ร้อยละ 10 ของชาวอาเซียน มีความผิดปกติทางจิตประสาท

ร้อยละ 10 ของชาวอาเซียน มีความผิดปกติทางจิตประสาท

ในประชุมวิชาการนานาชาติกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หัวข้อเรื่อง “Working Together, Delivering a Better Future for Mental Health Patients” จัดโดยกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข สมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย และบริษัท จอห์นสัน แอนด์ จอนห์นสัน (ไทย) มีการเปิดเผยข้อมูลว่า สภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วส่งผลให้ผู้ที่ไม่สามารถปรับตัวได้ประสบปัญหาด้านจิตประสาทและอารมณ์ โดยเฉพาะโรคจิตเภท (schizo-phrenia) ปัจจุบันประชากรของประเทศในกลุ่มอาเซียนกว่า 1 ล้านคน จาก 650 ล้านคนป่วยเป็นโรคจิตเภท ขณะที่คนไทยอย่างน้อย 400,000 คน ป่วยโรคดังกล่าวเช่นกัน

นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า ประเทศไทยสามารถนำผู้ป่วยจิตเภทเข้ามารับการรักษา 83% ปัจจุบันระบบสาธารณสุขได้รับการพัฒนาให้สามารถเข้าถึงได้ง่าย มีระบบค้นหา ติดตามการรักษา พัฒนาระบบบริการไม่ให้ผู้ป่วยมีความรู้สึกแปลกแยก โดยผู้ป่วยสามารถใช้สิทธิการรักษาทุกสิทธิในโรงพยาบาลของกรมสุขภาพจิตที่ให้บริการ 20 โรง คนไข้ที่ได้รับการรักษาส่วนใหญ่จะหายและมีอาการดีขึ้น แต่เมื่อกลับไปบ้านหรือชุมชนอาจขาดยาเป็นส่วนใหญ่ และสังคมขาดความเข้าใจในการดูแลผู้ป่วย ดังนั้น การเตรียมชุมชนเพื่อช่วยฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ป่วยนั้นสำคัญมาก เพื่อไม่ให้ผู้ป่วยกลับมาเป็นซ้ำและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

รศ.นพ.ชวนันท์ ชาญศิลป์ นายกสมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย ให้ข้อมูลลงรายละเอียดว่า ปัจจุบันพิสูจน์แล้วว่าปัจจัยทางชีวภาพการเปลี่ยนแปลงของเคมีในสมองเกี่ยวข้องกับการป่วยโรคจิตเภท จึงจำเป็นต้องรักษาด้วยยาเพื่อให้อาการทุเลาและเพื่อป้องกันอาการกำเริบ ปัจจุบันการรักษาโรคจิตเภทก้าวหน้าไปมาก มียาหลายตัวซึ่งผู้ป่วยส่วนมากตอบสนองดีกับยา ปัญหาหลัก ๆ คือ ผู้ป่วยไม่รับการรักษาให้ต่อเนื่อง (รวมถึงการกินยาไม่สม่ำเสมอ) และความลำบากในการกลับคืนสู่สังคม

ผู้ป่วยจิตเภทจำเป็นต้องรับการรักษาต่อเนื่อง บางคนเข้าใจว่าอาการดีแล้วไม่จำเป็นต้องกินยา กังวลเรื่องผลข้างเคียงของยา และรู้สึกอายที่จะเข้ารับการรักษา การไม่รับการรักษาอย่างต่อเนื่องทำให้อาการกำเริบและรักษายากยิ่งขึ้นเนื่องจากการตอบสนองต่อยาอาจไม่ดีเหมือนเดิม ปัจจุบันมียาฉีดที่ช่วยให้มียาอยู่ในร่างกายนานเป็นเดือนคล้าย ๆ ยาคุมกำเนิด ก็ช่วยลดปัญหาการกินยาไม่ต่อเนื่องหรือลืมกินยาบางมื้อ

ในด้านสังคมแม้ว่าผู้ป่วยจะมีอาการทุเลาแล้ว แต่สังคมยังมีความรู้สึกลบต่อโรคจิตเภททำให้ผู้ป่วยจำนวนหนึ่งกลับเข้าสู่สังคมได้ยาก ผู้ป่วยจิตเภทที่ป่วยเป็นเวลานานอาจจะมีทักษะทางสังคม และความสามารถในการคิดลดลงได้

ส่งผลต่อการกลับไปใช้ชีวิต แต่สามารถฟื้นฟูได้ด้วยความช่วยเหลือจากบุคลากรทางการแพทย์ ปัญหานี้ต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายฝ่ายในการทำความเข้าใจกับสังคมถึงตัวโรคว่าปัจจุบันมีการรักษาที่ดีขึ้น สามารถทำให้ผู้ป่วยอาการดีได้ ในขณะเดียวกันผู้ป่วยและญาติก็ต้องร่วมมือในการรักษา

“ขอให้สังคมเข้าใจว่าปัจจุบัน คนไทย 70 ล้านคนป่วยเป็นโรคจิตเภทแล้วอย่างน้อย 400,000 คน เราไม่สามารถกันคนเหล่านี้ออกจากสังคม วิธีที่ดีคือความเข้าใจและเห็นใจเพื่ออยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข ผู้ป่วยเมื่อรับการรักษาต่อเนื่องอาการก็จะอยู่ร่วมกันได้ และบางรายสามารถทำงานได้ ส่วนคนที่อาการไม่ดีก็ให้ช่วยกันพามารักษาแต่เนิ่น ๆ จะได้คนที่อาการดีกลับไป” นายกสมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทยกล่าวเพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องต่อการรักษาและดูแลผู้ป่วย สมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทยร่วมกับบริษัทจอห์นสัน แอนด์ จอนห์นสัน (ไทย) จํากัด จัดทำหนังสือให้ความรู้แก่ผู้ป่วย ญาติหรือบุคคลทั่วไป สามารถดาวน์โหลดไปอ่านได้ฟรีที่เฟซบุ๊ก สมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย

7 October 2562

ที่มา ประชาชาติธุรกิจ

Posted By Nitayaporn/Thongpet/Kanchana

Views, 1061

 

Preset Colors