02 149 5555 ถึง 60

 

อัศจรรย์เกินคาด พ่อแม่ใบ้สอนลูกพูดได้เก่ง เรียนดี เคล็ดลับวันละ 15 นาที

อัศจรรย์เกินคาด พ่อแม่ใบ้สอนลูกพูดได้เก่ง เรียนดี เคล็ดลับวันละ 15 นาที

การอ่านเป็นเรื่องที่ดีและเป็นวิธีหนึ่งของการเรียนรู้ และส่งเสริมพัฒนาศักยภาพของลูก แต่โดยมาก พ่อ แม่ ผู้ปกครอง หากจะหยิบหนังสือมาอ่านให้ลูกฟัง มักมีเหตุผลต่างๆ นานา อาทิ เหนื่อยเพราะต้องทำงาน ไม่มีเวลา ไม่มั่นใจทักษะการอ่านของตัวเอง หรือเข้าใจว่าปล่อยให้เป็นหน้าที่ของครูเมื่อลูกอายุ 3 ขวบ และเข้าโรงเรียนอนุบาล

หารู้ไม่ว่าการคิดเช่นนั้นสายไปเสียแล้ว หากรู้เรื่องราวมหัศจรรย์และพลังแห่งการอ่านของน้องแพนเค้กแล้ว เชื่อว่าข้ออ้างต่างๆ จะไม่มีอิทธิพลใดๆ และพ่อแม่หลายคนคงไม่รีรอและหันมาสบตากันแล้วพูดว่า "หาหนังสือมาอ่านให้ลูกฟังกันเถอะ"

พ่อแม่ใบ้ ไม่เป็นอุปสรรค กลับสอนลูกให้พูดเก่ง เป็นหนอนหนังสือ

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ ได้พูดคุยกับ นางสุดใจ พรหมเกิด ผู้จัดการแผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน สนับสนุนโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เล่าถึงผลลัพธ์อันน่าอัศจรรย์เกินคาดเดาของ การอ่านหนังสือให้ลูกฟัง โดยยกตัวอย่างกรณีของ “น้องแพนเค้ก” ใน จ.ยโสธร ที่เกิดจากพ่อแม่เป็นใบ้ พออายุราว 3 เดือน เด็กมีอาการร้องไห้ตอนกลางคืน ไม่ยอมหลับยอมนอน แม่จึงอุ้มมาหาเพื่อนบ้านและส่งภาษามือบอกให้ช่วยอ่านหนังสือให้ลูกฟังจนเด็กหลับ แล้วจึงอุ้มกลับบ้าน

มหัศจรรย์การอ่านเพื่อเด็กปฐมวัย เพื่อรณรงค์ให้ทุกภาคส่วนเห็นความสำคัญของการพัฒนาเด็กเล็กด้วยหนังสือ

เหตุการณ์ลักษณะนี้เกิดขึ้นเป็นประจำ นับเป็นความโชคดีที่นอกจากเพื่อนบ้านสงสารและมีน้ำใจ เทียวมาอ่านหนังสือให้ฟังเป็นนิจแล้ว ยังมียายและหลานซึ่งอยู่คนละบ้านคอยหมั่นมาอ่านหนังสือให้ฟังบ่อยๆ และผู้เป็นแม่ก็เปิดหนังสือทีละหน้า ชี้ตามภาพ แล้วใช้ภาษามือสื่อสารกับลูกทีละภาพ โดยทุกคนแอบหวังลึก ๆ ว่า น้องแพนเค้กอาจจะไม่เป็นใบ้เหมือนพ่อแม่ของเธอ

กระทั่งเวลาผ่านไป 2 ปีกว่า ทุกคนเริ่มมีความหวัง เมื่อน้องแพนเค้กเริ่มมีเสียงอ้อแอ้ จากนั้นอายุ 3 ขวบกว่า ก็พูดได้เหมือนเด็กปกติทั่วไป เป็นผลลัพธ์ที่อัศจรรย์เกินคาดเดา และเป็นข้อพิสูจน์ว่า ถึงพ่อแม่จะเป็นใบ้ แต่ลูกไม่จำเป็นต้องเป็นใบ้เสมอไปปัจจุบันน้องแพนเค้ก เรียนอยู่ชั้น ป.6 นอกจากพูดได้แล้ว ยังพูดเก่ง ใช้ภาษามือสื่อสารเรื่องราวต่างๆ กับพ่อแม่อย่างคล่องแคล่ว อีกทั้งยังฉลาด เรียนดี และชอบอ่านหนังสืออีกด้วย

“หนังสือทำหน้าที่สื่อสัมพันธภาพระหว่างผู้ใหญ่กับเด็ก ซึ่งการอ่านควรเริ่มปลูกฝังตั้งแต่แรกเกิดจนถึงอายุ 6 ปี หรือที่เรียกกันว่า “ช่วงปฐมวัย” เด็กก็จะมีนิสัยรักการอ่านไปตลอดชีวิต และอ่านหนังสือได้ก่อนเด็กจะขึ้น ป.1 ป.2 ครอบครัวน้องแพนเค้ก ชี้ให้เห็นชัดมากว่า แค่มีคนอ่านหนังสือให้ฟังวันละ 10-15 นาที สร้างความเปลี่ยนแปลงให้เด็กได้ เคสนี้ทำให้คนทั้งตำบลหันมาอ่านหนังสือให้เด็กฟัง” นางสุดใจกล่าวถึงพลังของหนังสือ

วิกฤติเด็กไทย 3 ขวบ พูดไม่ได้ หนังสือ "สวัสดิการ" จำเป็น

อย่างไรก็ตามตลอดการทำงานกว่า 20 ปีในแวดวงพัฒนาเด็กและเยาวชน และงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่านเพื่อพัฒนาเด็กปฐมวัย เกือบ 10 ปี นางสุดใจ เผยข้อมูลประเด็นปัญหาที่น่าห่วงให้รัฐบาลขบคิดถึงพัฒนาการด้านภาษาของเด็กไทยล่าช้ามาตลอด 10 กว่าปี ปัจจุบันพบเด็กวัย 3 ขวบ แต่พูดไม่ได้มีจำนวนมากขึ้น สาเหตุจากการเลี้ยงดูที่ไม่เป็นของพ่อแม่ เมื่อเด็กอายุขวบกว่าๆ เริมเลื่อนนิ้วได้ พ่อ แม่ หรือปู่ ย่า ตา ยาย มักหยิบยื่นมือถือ หรือแท็บเล็ต แทนการเลี้ยงดูด้วยการ โอบ กอด พูด คุย หรืออ่านหนังสือ

นางสุดใจ พรหมเกิด ผู้จัดการแผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน

ปัญหาพัฒนาการด้านภาษาล่าช้าของเด็กนั้นเป็นจุดเชื่อมโยงที่นำไปสู่ปัญหาอื่นๆ ของเด็ก อาทิ อารมณ์ จิตใจ และสุขภาพ ดังนั้น พ่อแม่ไม่ควรฝากความหวังกับคุณครู และควรต้องปรับพฤติกรรมเพื่อลูก ด้วยวิธีง่ายๆ แค่ใช้หนังสือ และมีกิจกรรมต่อเนื่องหลังอ่านให้ฟังจบแล้ว พาเด็กไปเห็นของจริง เช่น ดอกไม้ สวนผัก

เด็กก็จะมีนิสัยแจ่มใส ร่าเริง คุยรู้เรื่อง และอ่านออกได้ก่อนอายุ 5 ขวบ ซึ่งรัฐฯ ควรช่วยส่งเสริมครอบครัวที่มีเด็กปฐมวัยให้มีหนังสือที่ดี 2-3 เล่ม อ่านให้ลูกฟัง ซึ่งสามารถทำได้ตั้งแต่แรกเกิด โดยมอบหนังสือเป็นของขวัญ และให้กลุ่มบุคคลในชุมชนท้องถิ่นเข้าร่วมแก้ไขวิกฤติพัฒนาการเด็กปฐมวัย

บรมแกนนำครู อสม.เพื่อเป็นนักส่งเสริมการอ่านพัฒนาเด็กปฐมวัย

“การปลูกฝังเด็กให้รักการอ่านไปตลอดชีวิต ต้องทำให้เกิดนิสัยรักการอ่าน แล้วความสุขจากการอ่านจะบ่มเพาะชีวิตเด็กไปเรื่อยๆ เราพบว่า 1.1 ล้านครัวเรือน ในบ้านไม่มีหนังสืออ่านให้ลูกฟังเลย หนังสือแค่ 2-3 เล่มก็ช่วยปูพื้นฐานสำคัญๆ สำหรับเด็กได้ รัฐควรสร้างการอ่านให้เป็นวิถีวัฒนธรรม หากไม่มีงบประมาณจัดสรรควรเอื้อประโยชน์ให้ท้องถิ่นจัดการซื้อเพื่อส่งเสิรมพัฒนาการเด็ก หรืออย่างน้อยสมุดสีชมพู (สมุดบันทึกสุขภาพแม่และเด็ก) ที่คุณแม่ทุกท่านได้รับ ควรเปลี่ยนจากนิทานอีสป เป็นนิทานที่เหมาะสมสำหรับเด็กแรกเกิด หรือมีหนังสือให้หลังพาลูกมาฉีดวัคซีนได้” นางสุดใจแนะวิธีช่วยส่งเสริมการอ่าน

คู่มือดูแลลูกยุคไซเบอร์ พ่อแม่หลงทาง ให้ความสำคัญผิดสื่อ

การอ่านหนังสือ คือหนึ่งในเครื่องมือทรงพลังที่สุดที่จะช่วยพัฒนาสมองในเด็ก โดยเฉพาะ 6 ปีแรกของชีวิต “หนังสือนิทาน” ลักษณะไหนเหมาะกับวัยของลูก ทีมข่าวฯ สอบถามจาก อาจารย์ปรีดา ปัญญาจันทร์ นักแต่งและนักวาดภาพประกอบนิทานสำหรับเด็ก นักวิชาการอิสระ และครูอนุบาล แนะว่า การอ่านหนังสือนิทานให้ลูกฟัง เริ่มได้ตั้งแต่อยู่ในท้อง ทุกวัน วันละ 10-15 นาที แต่ปัจจุบันพ่อแม่อ่านหนังสือนิทานให้ลูกน้อยลง เลี้ยงลูกด้วยมือถือมากขึ้น เพราะมองว่าการเลี้ยงลูกด้วยหนังสือเป็นภาระ ต้องคอยอ่านให้ลูกฟัง

“ไม่มีเด็กคนไหนไม่ชอบฟังนิทาน มีแต่พ่อแม่และครูต่างหากที่ไม่ชอบเล่านิทานให้เด็กฟัง ยังมีผู้ใหญ่หลายคนเข้าใจผิดว่ามือถือกำลังเข้ามาทำหน้าที่นี้แทน อยากให้พ่อแม่หันมาสนใจอ่านหนังสือนิทานกับลูก จริงๆ แล้วเด็กไม่ปฏิเสธหนังสือนิทานเลย เพราะนิทานคือโลกของเขา เขาจะสนใจ จะสนุก ในหนังสือมีอะไรให้เรียนรู้เยอะ เพียงแต่พ่อแม่บางคนอาจจะเอาความสบายของตัวเองเป็นที่ตั้ง” อ.ปรีดา กล่าว

6 “ข้อดี” ลึกซึ้ง หนังสือนิทาน

จากประสบการณ์ครูอนุบาลมา 20 กว่าปี อาจารย์ปรีดา มักเล่านิทานให้เด็กอนุบาลฟังเป็นประจำ ชี้ข้อดีของ “การอ่านหนังสือนิทาน” ดังนี้

อาจารย์ปรีดา ปัญญาจันทร์ นักแต่งและนักวาดภาพประกอบนิทานสำหรับเด็ก นักวิชาการอิสระ และครูอนุบาล

1. สร้างสัมพันธ์ ความผูกพันระหว่างพ่อ แม่ ลูก เกิดการใกล้ชิด ความอบอุ่น เพราะการที่ลูกได้ยินเสียงพ่อแม่เป็นการสร้างความสุขให้ลูก เมื่อลูกมีความอบอุ่น มีความรักจากพ่อแม่ ลูกก็จะเป็นคนที่มีอารมณ์มั่นคง

2. พัฒนาการทางภาษา เพราะระหว่างอ่านหนังสือนิทานให้ลูกๆ ลูกได้ยินเสียงพูด มองจ้องที่ปาก และขยับปากตาม และช่วยฝึกการฟัง จนลูกพูดคำออกมาได้ จากนั้นก็จะเข้าใจความหมายของประโยค ความหมายของเนื้อเรื่อง แล้วเด็กจะสามารถเรียบเรียงเรื่องไปเล่าสื่อสารต่อได้ ยิ่งในกรณีที่พ่อแม่อ่านนิทานให้ลูกฟังอย่างชัดถ้อยชัดคำ ลูกจะเป็นนักพูดที่ออกเสียงอักขระตัว ร ล ชัดเจน

3. เรียนรู้ภาษาที่สวยงาม เพราะในหนังสือนิทานเป็นภาษาวรรณกรรม เป็นภาษาสวยงาม เด็กก็จะได้เรียนรู้สื่อสารภาษาสวยงาม เพราะฉะนั้นเด็กที่พ่อแม่อ่านหนังสือจากหนังสือนิทานทีดีๆ เด็กก็จะสื่อสารด้วยภาษาที่สวยงาม

4. เรียนรู้สังคมและวัฒนธรรมต่างๆ เพราะนิทานหลายเรื่อง หากนำจากของต่างประเทศมาแปล เช่น เรื่องเกี่ยวกับหิมะ การฉลองเทศกาลสำคัญๆ ของต่างประเทศ เด็กไทยก็รู้จักหิมะ ทั้งๆ ที่ไม่เคยเห็นหิมะ แต่เขาเห็นจากนิทาน หนังสือการ์ตูน หนังการ์ตูน

5. ปลูกฝังให้เด็กรักการอ่าน จากการได้ฟังบ่อยๆ เสริมปัญญา ทำให้เด็กช่างคิด ช่างถาม ช่างสังเกต ช่วยฝึกจับประเด็น จากการเล่าช้า เด็กก็จะจำได้ทั้งเรื่อง มองภาพรวม เข้าใจเรื่องได้เร็ว ฝึกสมาธิ เพราะตั้งใจฟังนิทาน

6. เด็กมีจินตนาการ เกิดความคิดสร้างสรรค์ ได้คติเตือนใจ กระตุ้นพัฒนาการที่สมวัยของลูก จากความสวยงามของภาพประกอบซึ่งวาดด้วยศิลปินชั้นดี ก็จะมีภาพสวยให้เด็กซึมซับ เด็กจะมีสุนทรีย มีรสนิยมทางศิลปะในชีวิต ยิ่งถ้าหนังสือนิทานเสริมการสัมผัส มีภาพประกอบ เมื่อลูกได้จับรูปภาพ ก็จะกระตุ้นพัฒนากล้ามเนื้อ กระตุ้นการมองสี แยกแยะสี

“อย่ามองว่าหนังสือนิทานคือภาพสนุกๆ สำหรับเด็กเท่านั้น ในนั้นมีอะไรลึกซึ้ง หลายเล่มมีจริยธรรม คุณธรรม ข้อคิดให้เด็ก มีวิทยาศาสตร์แทรกในนั้น หนังสือนิทาน เด็กฟังครั้งแรกอาจจับประเด็นได้เรื่องเดียว ฟังครั้งที่สองก็เพิ่มอีกประเด็น ฟังเพิ่มเรื่อยๆ ก็จะเข้าใจประเด็นเพิ่มขึ้นๆ” อาจารย์ปรีดาชี้ข้อดี

เทคนิคเลือกหนังสือนิทาน สะพานสู่โลกจินตนาการลูก

นอกจากนี้ขณะเด็กฟังนิทาน อาจารย์ปรีดา ระบุว่า เซลล์สมองจะมีการแขนงของเส้นใยประสาท ยิ่งเส้นใยสมองเพิ่มขึ้นมาก เด็กจะยิ่งฉลาดมาก รอบรู้ รู้จักคิด รู้จักจินตนาการ ส่งผลเมื่อโตขึ้นจะคิดอะไรเองเป็น เวลาที่เหมาะสมในการอ่านนิทานให้ลูกฟัง สามารถทำได้ทุกเวลา หรืออาจแบ่งเวลาเป็นหลังกินข้าว ก่อนนอนตอนกลางวัน แต่โดยมากจะอ่านให้ฟังก่อนนอน เพราะเป็นช่วงผ่อนคลายที่สุดทั้งแม่และลูก แต่ถ้าลูกไม่อยากฟัง หรืออารมณ์ไม่ดี ไม่ควรบังคับ ดุ ว่า จะทำให้ลูกมีทัศนคติไม่ดีกับการฟังนิทาน

การเลือกหนังสือนิทานให้เหมาะสมกับวัยเป็นสิ่งสำคัญต่อพัฒนาการของลูก ขอบหนังสือต้องมน ไม่เป็นเหลี่ยมคม เพราะอาจเป็นอันตรายกับลูกได้ เนื้อหาควรมีตัวละครและเหตุการณ์ไม่เยอะ จะเป็นหนังสือมีเพลงประกอบ หรือเป็นหนังสือที่มีพื้นผิวนูนเพื่อกระตุ้นประสาทสัมผัส

“หนังสือนิทานเปรียบเหมือนสะพานเข้าไปสู่โลกของลูก ถ้าพ่อแม่ใช้อ่านหนังสือนิทานให้ลูกฟังบ่อยๆ รับรองลูกไม่ไปไหน นั่งอยู่ในอ้อมกอดของพ่อแม่แน่นอน เพราะรู้สึกอบอุ่นกว่าให้ลูกนั่งคนเดียวแล้วให้เล่นมือถือ เด็กหลายคนเป็นสมาธิสั้นเพราะมือถือก็มี หนังสือนิทานมีภาพที่สื่อสารถึงเด็กได้ เด็กเห็นก็จะปรี่เข้าหา” อาจารย์ปรีดาอธิบายเหตุผล

7 หลักการอ่าน "หนังสือนิทาน" ให้ลูกสนใจ

หลักการอ่านหนังสือนิทานให้ลูกฟัง อ.ปรีดา ชี้นำว่า เริ่มแรกต้องเลือกหนังสือเหมาะกับวัย และความชอบของลูก โดยพาลูกไปซื้อหนังสือเอง ถ้าลูกเลือกเล่มไหนก็ต้องตามใจ จากนั้นในการอ่านหนังสือนิทานให้ลูกฟังมี 2 แบบ ดังนี้ 1.ดัดเสียงทำเสียงเล็ก เสียงใหญ่ เสียงเด็ก เหมือนนักพากย์หนังทั่วไป 2.อ่านสบายๆ ตาม 7 หลักการออกเสียง คือ 1.ดัง 2.เบา 3.เร็ว 4.ช้า 5.สูง 6.ต่ำ 7.เงียบ

“กรณีพ่อแม่ดัดเสียงแบบนักพากย์ไม่เป็น อย่ากังวลว่าลูกจะชอบไหม เพราะนั่นไม่ใช่ประเด็นสำคัญ สิ่งสำคัญคือลูกต้องการฟังเสียงแม่มากกว่า 7 หลักอ่านออกเสียง 1.ดัง แต่ไม่ใช่เสียงตะโกน เสียงดังนำไปสู่การออกเสียงตัว ร ตัว ล ชัดเจน 2.เบา ใช้เสียงเบาในบางเหตุการณ์ เช่น เสียงกระซิบกระซาบ 3.เร็ว คือ อ่านเร็วในช่วงเป็นเหตุการณ์ตื่นเต้น

4.ช้า อ่านสบายๆ ช้าๆ 5.สูง ในตัวละครบางตัว 6.เสียงต่ำ 7.เงียบ คือการหยุดเว้นวรรคให้เด็กได้คิด เสียงดัง เร็ว สูง มักใช้กับตัวละครที่เป็นเด็ก เพราะมีพลังเยอะ พอตัวละครเป็นผู้ใหญ่ก็จะพูดเสียงเบา ช้าลง โทนต่ำ ยิ่งตัวละครอายุมากก็ยิ่งจะพูดช้า พูดแผ่วๆ หลักการมีแค่นี้ เด็กก็จะสนุก คุณพ่อ คุณแม่จะได้ไม่รู้สึกว่าการอ่านหนังสือนิทานให้ลูกเป็นภาระ” อ.ปรีดา กล่าวทิ้งท้าย

“หนังสือ” คือเครื่องมือที่ดีที่สุด ทำให้เด็กพัฒนาทั้ง ความฉลาดทางสติปัญญา (IQ) อารมณ์ (EQ) เป็นคนเก่งและเอาตัวรอดได้ ถ้าหากพ่อแม่ไม่หยิบยื่นหนังสือให้ นั่นถือเป็นการพลาดโอกาสสำคัญในช่วง 6 ปีแรกของชีวิตลูก ที่ไม่มีโอกาสได้กลับไปแก้ไขได้อีกเลย.

18 October 2562

ที่มา ไทยรัฐ

Posted By Nitayaporn/Thongpet/Kanchana

Views, 1542

 

Preset Colors