02 149 5555 ถึง 60

 

ลูกวัยรุ่นเกิดจากต้นทุนการถูกเลี้ยงดูในวัยเด็ก

ลูกวัยรุ่นเกิดจากต้นทุนการถูกเลี้ยงดูในวัยเด็ก

เมื่อต้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมาไปเป็นวิทยากรในงานเสวนา “พ่อแม่ยุคใหม่ สื่อสารดี ลูกมีEF” ร่วมกับผศ.ดร.ปนัดดา ธนเศรษฐกร และคุณเมษ์ ศรีพัฒนาสกุล จัดโดย หล้กสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาจิตวิทยาเด็ก วัยรุ่น และครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล

มีประเด็นน่าสนใจที่อยากจะสรุปนำมาแบ่งปันในคอลัมน์นี้ โดยจะขอเน้นเรื่องวัยรุ่นวันนี้มีต้นทุนเดิมมาจากการถูกเลี้ยงดูในวัยเด็ก

ปัญหาใหญ่ของวัยรุ่นยุคนี้คือ เรื่องการสื่อสาร

โดยเฉพาะอย่างยิ่งการมีปฎิสัมพันธ์ในครอบครัว หรือการพูดคุยในครอบครัวลดน้อยลง จากหลายสาเหตุทั้งเรื่องเวลา และสภาพครอบครัวที่นับวันยิ่งเปราะบาง หนำซ้ำยังประสบปัญหาเรื่องเทคโนโลยีที่อยู่รายล้อมรอบตัว ยิ่งทำให้เด็กยุคนี้เติบโตขึ้นมาแบบสังคมก้มหน้า

ดังนั้นพ่อแม่ ผู้ปกครองต้องเตรียมรับมือด้วยการสร้างรากฐานของลูกให้ทันโลกดิจิทัล โดยพ่อแม่ก็ควรรู้เท่าทันโลกดิจิทัล และเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับลูกด้วย

เพราะยุคนี้เราสร้างทักษะชีวิตปกติให้ลูกยังไม่เพียงพอ เนื่องจากปัจจุบันโลกดิจิทัลมีความหลากหลายทั้งด้านดีและไม่ดี มีทั้งคำพูดที่แสดงความเกลียดชัง (Hate Speech) , การข่มเหงรังแกในสื่อสังคมออนไลน์( Cyber Bullying) , ข่าวปลอมหรือหลอกลวง (Fake News) ฯลฯ

ดังนั้น การสื่อสารจึงมีส่วนสำคัญในการสร้างภูมิคุ้มกันชีวิตและสมดุลของครอบครัว

แล้ว EF เกี่ยวกับการสื่อสารอย่างไร?

EF (Executive Functions) เป็นกระบวนการทางความคิด (Mental Process) ในสมองส่วนหน้า ที่เกี่ยวข้องกับการคิด ความรู้สึก และการกระทำ เช่น การยับยั้งชั่งใจ คิดไตร่ตรอง การควบคุมอารมณ์ การยืดหยุ่นทางความคิด การตั้งเป้าหมาย วางแผน ความมุ่งมั่น การจดจำ และเรียกใช้ข้อมูลอย่างมีประสิทธิภาพ การจัดลำดับความสำคัญของเรื่องต่างๆ ซึ่งจะทำงานซับซ้อนกว่าแค่การเอาตัวรอด

เวลาที่ EF ทำงาน มนุษย์จะต้องดึงประสบการณ์ในอดีตหรือประสบการณ์เดิม เพื่อประมวลกับสถานการณ์ปัจจุบัน ก่อนที่จะคิดตัดสินใจ แก้ไขปัญหา ควบคุมอารมณ์ เพื่อไปให้ถึงเป้าหมาย

ฉะนั้น ประสบการณ์เดิมจะต้องมีคุณภาพเพียงพอ เพื่อดึงมาใช้ประมวลเพื่อประกอบการตัดสินใจ

การสื่อสารเพื่อให้เกิด EF ในเด็ก หมายถึง พ่อแม่จะพูดกับลูกอย่างไรให้สื่อสารตรงกันและยังรักษาความรู้สึกนึกคิด หรือความเป็นตัวตนของลูก ให้ลูกรู้จักคิด คิดเป็นเหตุเป็นผล ซึ่งความสัมพันธ์ของพ่อแม่จะมีผลต่อสมองและจิตใจ ส่งผลถึงการแสดงพฤติกรรมของลูก

ในวัยเด็กพ่อแม่เป็น EF ให้กับลูก ในการช่วยลูกได้บริหารจัดการ ตัดสินใจและลงมือปฏิบัติเอง ถ้าตัดสินใจผิดพ่อแม่ก็จะทำหน้าที่ประคอง ลูกจะได้เก็บสะสมประสบการณ์เดิมที่มีคุณภาพ เพื่อใช้ในวันหน้า เช่น การเล่านิทานให้ลูกฟัง เด็กจะมีคลังคำศัพท์มากขึ้นในสมอง สะสมและนำไปใช้เมื่อถึงเวลาที่เหมาะสม การเล่านิทานได้ใช้กระบวนการฟัง พูด อ่าน และนำไปสู่การถ่ายทอดคือ เขียน การเขียนจะต้องผ่านกระบวนการคิดวิเคราะห์จึงจะสามารถเขียนออกมาได้

จริงอยูว่าช่วงวัยที่เหมาะสมสำหรับการพัฒนา EF คือ อายุระหว่าง 3-6 ขวบ แต่นั่นไม่ได้หมายความว่า หลังผ่านพ้นช่วงวัยนั้นจะพัฒนาไม่ได้อีกแล้ว

วัยรุ่นก็เป็นช่วงวัยสำคัญที่จะพัฒนาทักษะสมองส่วนหน้า หรือที่เรียกกันว่า EF เช่นกัน

เพราะวัยรุ่นจะจดจำ เก็บเกี่ยวประสบการณ์ด้วยตัวเอง ในขณะที่เขากำลังมีศักยภาพในการทำสิ่งต่างๆ ด้วยตนเองสูงมาก สิ่งนั้นจะฝังอยู่ในสมองเพื่อให้เขานำไปใช้ต่อไปเมื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่

สิ่งที่พ่อแม่สามารถทำได้ทันทีและเริ่มต้นได้ง่ายๆ ในการพัฒนา EF ให้กับวัยรุ่นคือ การให้ ‘โอกาส’

ประสบการณ์เดิมที่มีคุณภาพสามารถเกิดได้จาก 2 รูปแบบคือ

หนึ่ง - ความรัก ความอบอุ่น มั่นคง ปลอดภัย ไว้ใจได้

สอง - การให้โอกาสได้ใช้ EF ด้วยตัวเองจะนำไปสู่การตัดสินใจเอง

ทั้งสองสิ่งนี้จะทำให้เกิดประสบการณ์เดิมที่มีคุณภาพ ยกตัวอย่าง การให้ลูกได้เรียนรู้การตัดสินใจถึงแม้จะเกิดการผิดพลาด และเมื่อเด็กตัดสินใจผิดพลาด พ่อแม่จะทำหน้าที่เป็นผู้ประคอง เพื่อให้เกิดประสบการณ์ที่มีคุณภาพ จะไม่ใช่เป็นผู้ปกครองอีกต่อไป พ่อแม่ไม่ควรลงโทษ แต่ควรปล่อยให้เด็กได้เรียนรู้ผลลัพธ์ของการตัดสินใจแต่ละครั้ง มีการสะท้อนอารมณ์ และอยู่เคียงข้างเวลาที่ลูกทำผิดพลาด และนำข้อผิดพลาดมาเรียนรู้ในการเพิ่มทักษะการตัดสินใจในครั้งต่อไป

การสื่อสารไม่ใช่แค่การพูดให้ลูกฟัง แต่เป็นการ “ฟัง” ในสิ่งที่ลูกพูด ฟังที่ความรู้สึก การนึกคิด และ “ต่อยอด” จากสิ่งที่ลูกพูด ให้โอกาสให้ลูกเรียนรู้ภายใต้ข้อจำกัดและมีเป้าหมายที่ชัดเจน เพื่อให้ได้เรียนรู้ และเก็บเกี่ยวประสบการณ์ต่างๆ สะสมความรู้ที่จะทำให้ลูกได้รู้จักตัวตนของตัวเองมากขึ้น

พ่อแม่จะต้องเคารพการตัดสินใจของลูก ยืดหยุ่นและรับฟัง การฟังอย่างตั้งใจ จะทำให้พ่อแม่มีเวลามากขึ้นเพื่อจะคุยเรื่องอื่นๆกับลูก นอกจากจะทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างกันดีแล้วยังเป็นประสบการณ์ที่มีคุณภาพ

อีกประการที่สำคัญของการสื่อสารซึ่งต้องตระหนัก ก็คือ พ่อแม่ ผู้ปกครองควร “รู้จักพัฒนาการแต่ละวัย” ของมนุษย์ด้วย ลูกเล็กพ่อแม่ควรพูดคุยกับลูกให้มาก แต่เมื่อลูกโตขึ้นเรื่อยๆ พ่อแม่ต้องพูดน้อยลง และฟังให้มากขึ้น

"ตอนลูกเล็กพ่อแม่ควรจะพูดให้มาก ลูกถามมาพ่อแม่ควรตอบกลับโดยไม่รำคาญ แต่ส่วนใหญ่กลายกลับตรงกันข้ามเป็นลักษณะกลับหัวกลับหาง เมื่อลูกวัยรุ่นพ่อแม่ควรพูดน้อย แต่ในความเป็นจริงพูดมากเกินไป

สิ่งที่พ่อแม่ควรทำคือ การสะท้อนอารมณ์และแนะนำผ่านการตั้งคำถาม เพราะ "ลูกวัยรุ่นเกิดจากต้นทุนในวัยเด็ก" โดยมีพ่อแม่เป็นผู้ประคอง ไม่ใช่เป็นผู้ปกครอง

ในแต่ละครอบครัวจะต้องมีเทคนิคหรือกฎของครอบครัว อาจเหมือนหรือแตกต่างกันไป เทคนิคที่พ่อแม่สามารถนำไปปรับใช้ในครอบครัวของตนเองได้คือ

หนึ่ง - ปรับทัศนคติของตนเอง ว่าพ่อแม่จะต้องมีความรักและความรู้ รวมถึงการทุ่มเท หรืออาจเรียกว่า “เอาตัวเข้าแลก” เพราะอยากให้ลูกเป็นอย่างไร พ่อแม่ต้องเป็นแบบอย่างที่ดีเสียก่อน

สอง - เปลี่ยนเวลาคุณภาพให้เหมาะกับลูกในแต่ละวัย เช่น การจัดสรรเวลาเล่านิทานให้ลูกฟังก่อนนอนทุกวัน หรือทำกิจกรรมร่วมกันสม่ำเสมอ ฯลฯ เป็นเวลาแห่งความสุขที่เกิดการสื่อสารและเรียนรู้ร่วมกัน

สาม - สร้างกฎกติการ่วมกันในครอบครัว โดยให้ลูกมีส่วนต่อการกำหนดด้วย ซึ่งกฎกติกาของการอยู่ร่วมกันควรถูกออกแบบให้เหมาะกับช่วงอายุ และกิจกรรมต่างๆ เช่น ถ้าลูกจะใช้โทรศัพท์มือถือเล่นเกม ก็ควรให้เขาได้มีส่วนกำหนดเวลาในการใช้ หรือต่อเมื่อทำภารกิจที่ได้รับผิดชอบเสร็จสิ้น

นอกจากนี้ การสื่อสารด้วยช่วงเวลาคุณภาพจะทำให้ลูกได้มีการสร้างตัวตน ผ่านความรู้สึกนึกคิดของแต่ละคนในครอบครัว เช่น การมองหน้า การตั้งใจฟัง การสื่อสารผ่านภาษาทั้งทางภาษาพูด และภาษาท่าทาง น้ำเสียงที่เป็นมิตร จะเป็นการให้คุณค่าและสร้างตัวตนของลูก

การที่พ่อแม่หยอดความรักให้กับลูก หรือรู้วิธีการจัดการกับอารมณ์ และปัญหาอย่างถูกต้อง วันหนึ่งเมื่อลูกโตขึ้น จะเก็บเอาประสบการณ์เดิมมาใช้ได้เป็นอย่างดี และเป็นผู้หยอดความรักต่อให้กับผู้อื่น และไม่ไปยื่นมือขอความรักจากใคร

ถ้าลูกเป็นผลผลิต ผลผลิตจะดีแค่ไหนอย่างไรมีกำไรหรือไม่ ก็ล้วนขึ้นอยู่กับการลงทุนเข้าไปในชีวิตของเขาตั้งแต่เด็ก

และสัดส่วนการลงทุนที่จะมีผลมากที่สุดก็คือการลงทุนเวลาคุณภาพจากพ่อแม่

24 October 2562

ที่มา ผู้จัดการ ออนไลน์

Posted By Nitayaporn/Thongpet/Kanchana

Views, 804

 

Preset Colors