02 149 5555 ถึง 60

 

ห่วงวัยทำงานใน4จว.อีสานล่างเครียด แนะหลัก4 ส.-1มสร้างสุขในออฟฟิศ

ห่วงวัยทำงานใน4จว.อีสานล่างเครียด แนะหลัก4 ส.-1มสร้างสุขในออฟฟิศ

สร้างสุขในออฟฟิศ – ความเครียด (stress) จากการทำงานเป็นปัญหาสำคัญของวัยทำงาน ซึ่งข้อมูลในพื้นที่ 4 จังหวัดอีสานตอนล่างหรือเขต นครชัยบุรินทร์ ประกอบด้วยนครราชสีมา ชัยภูมิ บุรีรัมย์ และสุรินทร์

ล่าสุดในปี 2560 มีประชากรอายุ 15 ปีขึ้นไปที่มีงานทำอยู่ในภาครัฐและเอกชนรวม 2.8 ล้านกว่าคน โดยสาเหตุของความ เครียดนั้นเกิดมาจากปัจจัยหลายประการ ทั้งจากสังคม การแข่งขันทางเศรษฐกิจรุนแรงขึ้น ลักษณะงานที่ยุ่งยากซับซ้อน บทบาทความรับผิดชอบ ความกดดัน บรรยากาศของหน่วยงาน สัมพันธภาพระหว่างบุคคลภายในหน่วยงาน เป็นต้น

นอกจากความเครียดจะมีผลกระทบต่อจิตใจและกระทบทางกายของผู้ที่มีอาการเองแล้ว ยังสามารถติดต่อคนอื่นๆ ทั้งผู้ร่วมงานรวมไปถึงคนในครอบครัวได้ทางบรรยากาศ หรือเรียกว่าโรคระบาดทางอารมณ์ และยังส่งผลกระทบต่อประสิทธิภาพของการทำงานด้วย โดยมีผลการวิจัยจากต่างประเทศพบว่า การทำงานส่งผลให้เกิดความเครียดได้ถึงร้อยละ 28 และขาดงานร้อยละ 23

นพ.กิตต์กวี โพธิ์โน ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจิตเวชนครราชสีมาราชนครินทร์ จ.นครราชสีมา กล่าวว่า ในการป้องกันความเครียดจากการทำงาน และส่งเสริมการสร้างความสุขในการทำงานและในที่ทำงาน มีข้อแนะนำให้ยึดหลัก 4 ส. 1 ม. เป็นแนวปฏิบัติ โดยหลัก 4 ส. ประกอบด้วย 1.สมดุลและยืดหยุ่น แบ่งความสมดุลระหว่างการทำงานและการใช้ชีวิตส่วนตัวอย่างลงตัว อาจใช้สูตร 8:8:8 คือทำงาน 8 ชั่วโมง พักผ่อน 8 ชั่วโมง ทำกิจวัตรหรือกิจกรรมอื่นๆ 8 ชั่วโมง

เป็นการจัดสรรชีวิตของแต่ละคนเพื่อให้มีความสุขทั้งการทำงานและใช้ชีวิต ประจำวัน 2.มีความสัตย์ซื่อ คือมีจริยธรรม ความซื่อสัตย์ในการทำงาน แม้เผชิญกับภาวะวิกฤตบ้างก็ตาม 3.มีสมาธิจดจ่อในการทำงาน โดยเฉพาะโลกยุคดิจิตอลในปัจจุบัน ซึ่งมักมีสิ่งต่างๆ เช่น ไลน์ เฟซบุ๊ก ก่อกวนระหว่างทำงาน และส่งผลให้คุณภาพงานออกมาไม่ดีพอ และ 4.สื่อสารกับผู้ร่วมงานอย่างเปิดใจ

สำหรับหลัก 1 ม. คือ การใช้ความเมตตา เห็นอกเห็นใจต่อความเป็นมนุษย์ด้วยกันทั้งตัวเราเองและคนอื่น และรู้จักการคิดถึงใจคนอื่น คือเอาใจเขามาใส่ใจเรา ทำให้เกิดการระมัดระวังทั้งพฤติกรรมและคำพูดมากขึ้น

ทั้งนี้ โดยทั่วไปความเครียดแบ่งเป็น 4 ระดับ คือ ระดับต่ำ เป็นความเครียดที่ไม่คุกคามต่อการ ดําเนินชีวิต อาจมีความรู้สึกเพียงแค่เบื่อหน่าย มีพฤติกรรมที่เชื่องช้าลง ระดับปานกลาง ไม่ก่ออันตราย ส่วนใหญ่ปรับตัวกลับสู่ภาวะปกติได้เองจากการได้ทํากิจกรรมที่ชื่นชอบ

ส่วนความเครียดระดับสูง เกิดจากเหตุการณ์รุนแรง หากปรับตัวไม่ได้ จะทําให้เกิดความผิดปกติตามมาทั้งร่างกาย อารมณ์ ความคิด และพฤติกรรม เช่น ปวดศีรษะ ปวดท้อง อารมณ์ฉุนเฉียวง่าย หงุดหงิด พฤติกรรมการนอนและการรับประทานอาหารเปลี่ยนไป จนมีผลต่อการ ดําเนินชีวิตประจำวัน

ขณะที่ความเครียดระดับรุนแรง เป็นความเครียดระดับสูงและเรื้อรังต่อเนื่องจนทําให้คนคนนั้นมีความล้มเหลว ในการปรับตัว ก่อให้เกิดความผิดปกติและเกิดโรคต่างๆ ที่รุนแรงขึ้นมาได้ เช่น อารมณ์แปรปรวน มีอาการทางจิต มีความบกพร่องในการดําเนินชีวิตประจําวัน ซึ่งอาจมีอาการนานเป็นสัปดาห์ เดือน หรือเป็นปี ควรปรึกษาแพทย์หรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุขที่สถานพยาบาลใกล้บ้าน หรือโทร.ปรึกษาสายด่วนสุขภาพจิต 1323 ฟรีตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อให้ได้รับการดูแลอย่างถูกต้อง

6 November 2562

ที่มา ข่าวสด

Posted By Nitayaporn/thongpet/kanchana/Maneewan

Views, 1334

 

Preset Colors