02 149 5555 ถึง 60

 

จิตแพทย์ วอนอย่าด่วนสรุป "ฆ่าหั่นศพแม่" เกิดจากโรคจิตเวช ชี้ "โรคซึมเศร้า" ทำร้ายคนอื่นน้อยมาก

จิตแพทย์ วอนอย่าด่วนสรุป "ฆ่าหั่นศพแม่" เกิดจากโรคจิตเวช ชี้ "โรคซึมเศร้า" ทำร้ายคนอื่นน้อยมาก

จิตแพทย์ ชี้คดีฆ่าหั่นศพแม่ยัดตู้เย็น อย่าเพิ่งด่วนสรุป "โรคทางจิต" เป็นเหตุ ต้องรอ ตร.สอบสวนเพิ่มเติม หวั่นสร้างตราบาปผู้ป่วยที่กำลังรักษา ส่วนลูกที่ต้องสงสัยว่าลงมือ เคยมารักษาที่ รพ.จิตเวช 2 ครั้ง แต่ยังไม่ได้ตรวจละเอียดว่าป่วยโรคใด แต่พบมีอาการซึมเศร้า พร้อมจ่ายยาให้ไป ย้ำโรคซึมเศร้ามีแนวโน้มทำร้ายตัวเองมากกว่าไปทำร้ายคนรอบข้าง ส่วนใหญ่มักเป็นกลุ่มหูแว่ว ประสาทหลอน

วันนี้ (26 พ.ย.) นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่าถึงกรณีการฆ่าหั่นศพ ซึ่งมีการตั้งข้อสงสัยว่า ลูกชายเป็นผู้ลงมือฆ่าแม่ตัวเอง และมีอาการทางจิต ว่า เนื่องจากคดีมีความซับซ้อนและยังอยู่ระหว่างการสืบสวนของตำรวจ จึงควรรอข้อมูลอื่นๆ ประกอบเพื่อความชัดเจนก่อน อย่างไรก็ตาม สถิติจากงานวิจัยในต่างประเทศที่มีการศึกษาคดีทำร้ายผู้อื่นจนถึงแก่ชีวิตต่างๆ พบว่า มีเพียงร้อยละ 10-15 ของคดีเท่านั้นที่เกิดจากผู้ป่วยทีมีปัญหาด้านสุขภาพจิตระดับรุนแรง ได้แก่ โรคทางจิตที่มีอาการหูแว่ว ภาพหลอน หวาดระแวง อย่างรุนแรง โรคทางจิตเวชที่ซับซ้อนหลายโรคร่วมกัน รวมไปถึงภาวะการใช้สารเสพติดร่วมด้วย ซึ่งโดยส่วนมากแล้วผู้ที่มีปัญหาด้านสุขภาพจิตทั่วไประดับที่ไม่รุนแรง เช่น โรคซึมเศร้า โรควิตกกังวล แม้มีความเสี่ยงในการทำร้ายตัวเองที่สูงกว่าคนทั่วไปก็ตาม แต่ความเสี่ยงในการทำร้ายผู้อื่นไม่ได้ต่างจากสถิติของคนทั่วไป

"การด่วนสรุปว่า คดีสะเทือนขวัญต่างๆ เกิดจากปัญหาสุขภาพจิตทั่วไปเพียงอย่างเดียวนั้น อาจทำให้เกิดความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน และอาจสร้างตราบาปต่อผู้ที่กำลังบำบัดรักษาด้านสุขภาพจิตอยู่ในสังคม ทั้งนี้ การที่สังคมให้ความสนใจต่อเรื่องปัญหาด้านสุขภาพจิตนับเป็นเรื่องที่ดี แต่ไม่ควรตื่นตระหนกหรือวิตกกังวลมากจนเกินไป เนื่องจากเหตุโศกนาฏกรรมที่เชื่อมโยงกับผู้ป่วยจิตเวชเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้น้อยมาก สำหรับผู้ที่กำลังรับการบำบัดรักษาด้านสุขภาพจิต ควรดูแลตัวเองให้มีสุขภาพกายและใจที่เข้มแข็งอยู่เสมอ รับประทานยาต่อเนื่อง ไม่ขาดยา ติดตามการรักษากับแพทย์อย่างต่อเนื่อง หากพบว่ามีอาการเปลี่ยนแปลงไป รุนแรงมากขึ้น หรือมีความคิดอยากทำร้ายตัวเองหรือทำร้ายผู้อื่น สามารถเข้ารับการตรวจรักษาที่โรงพยาบาลต่างๆได้ทันที" นพ.เกียรติภูมิ กล่าว

นพ.เกียรติภูมิ กล่าวว่า สำหรับคนรอบข้างสามารถสังเกตอาการที่เป็นสัญญานเตือนของการก่อความรุนแรงในผู้ป่วยจิตเวชได้ ดังนี้ 1. มีอาการสับสน ไม่สามารถแยกแยะความเป็นจริงได้ 2. มีอาการหวาดระแวง ตอบสนองต่อเสียงแว่วและภาพหลอน 3. มีท่าทีกระสับกระส่ายหรือหุนหันพลันแล่น 4. มีอารมณ์โกรธฉุนเฉียวอย่างรุนแรงทางสีหน้าและท่าทาง 5. เริ่มพูดจาก้าวร้าวข่มขู่ หรือเริ่มแสดงพฤติกรรมรุนแรงต่อตนเอง ผู้อื่น และสิ่งของรอบตัว ทั้งนี้ ญาติ คนใกล้ชิด และคนในชุมชนของผู้ป่วยจิตเวช มีบทบาทสำคัญอย่างมากในการช่วยเหลือ คือ 1. ช่วยกันสอดส่องดูแล ติดตามให้ผู้ป่วยกินยาอย่างต่อเนื่อง 2. ใส่ใจรับฟัง พูดคุยสม่ำเสมอเพื่อให้กำลังใจ ติดตามอาการ และสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจ 3. หากผิดปกติหรือมีอาการกำเริบให้รีบแจ้งต่อเจ้าหน้าที่หรือโทรขอคำปรึกษาที่สายด่วนสุขภาพจิต 1323 หากมีแนวโน้มความรุนแรงมาก สามารถติดต่อสายด่วนการแพทย์ฉุกเฉิน 1669 หรือโทรแจ้งเหตุสายด่วนตำรวจ 191

ด้าน นพ.ธรณินทร์ กองสุข ผอ.สถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยา กล่าวว่า ผู้ต้องสงสัยเคยเข้ามารับการรักษาที่สถาบัน 2 ครั้ง ครั้งแรกมากับแม่ ครั้งที่ 2 มาด้วยตัวเอง ในเดือน พ.ย.นี้เอง แต่ยังไม่สามารถระบุว่า ป่วยเป็นโรคจิตเวชประเภทใดอย่างชัดเจน เนื่องจากคนไข้เราเยอะ ครั้งแรกที่มาจึงมีการประเมินเพียงคร่าวๆ ครั้งต่อๆ ไปถึงจะมีการตรวจรายละเอียด ประเมินสุขภาพจิต ตรวจทางด้านจิตวิทยา แต่รายนี้เกิดเหตุก่อนที่จะได้ตรวจประเมินอย่างละเอียด เลยยังไม่สามารถระบุรายละเอียดของตัวโรคได้ แต่ก็ได้มีการจ่ายยาซึมเศร้าให้ไปก่อน เพราะเท่าที่ดูจากอาการเบื้องต้นในวันที่มาพบแพทย์ครั้งที่ 2 มีอาการเครียดและมีภาวะซึมเศร้าอยู่ แต่อาการนี้ถือว่าเป็นอาการทั่วไปเหมือนการเจ็บป่วย มีไข้ ปวดศีรษะ จึงต้องรักษาตามอาการ ซึ่งโดยทั่วไปผู้ป่วยโรคซึมเศร้าจะทำร้ายตัวเองมากกว่า เพราะมีอาการมองตัวเองในแง่ลบ หดหู่ มีน้อยที่จะทำร้ายผู้อื่น อย่างไรก็ตาม การป่วยทางจิตเวชไม่จำเป็นว่า จะต้องป่วยเพียงโรคเดียว อาจจะมีหลายโรคร่วมด้วยได้ ซึ่งเราไม่ทราบ แต่ข้อสรุป คือ ตัวโรคซึมเศร้าน้อยมากที่จะไปทำร้ายผู้อื่น ส่วนโรคทางจิตเวชที่มีการทำร้ายผู้อื่น ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มจิตเวชรุนแรงที่ควบคุมอาการตัวเองไม่ได้ อาทิ หูแว่ว ประสาทหลอน มีเสียงสั่ง หรือร่วมกับการดื่มสุรา มีการใช้สารเสพติด ทำให้ควบคุมตัวเองไม่ได้ หรือยับยั้งชั่งใจไม่ได้ หรืออีกกลุ่มคือกลุ่มบุคลิกต่อต้านสังคม เป็นต้น

นพ.ธรณินทร์ กล่าวว่า โรคจิตเวชมีหลายกลุ่มโรค โรคซึมเศร้าเป็นโรคที่รักษาได้ รักษาหาย มีการรักษาที่ดีทั้งยากิน และทำจิตบำบัด เช่นเดียวกับโรคอื่นๆ และอาจจะมีการรักษาด้วยไฟฟ้า อย่างไรก็ตาม โรคจิตเวชเกิดจากสารในสมองผิดปกติไป ต้องได้รับยาอย่างสม่ำเสมอ กว่ายาจะออกฤทธิ์ก็ต้องใช้เวลาอาจนาน 1-2 สัปดาห์ ถึงจะออกฤทธิ์ ดังนั้นญาติๆ ต้องดูการรักษาด้วยยา เฝ้าระวังเรื่องการทำร้ายตัวเอง ความเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตาย หรือเฝ้าระวังเรื่องอารมณ์ การควบคุมตัวเองไม่ได้ การก้าวร้าว หากมีอาการเหล่านี้ให้รีบปรึกษาจิตแพทย์

"การเจ็บป่วยด้วยโรคจิตเวชมีน้อยมากที่จะทำร้ายผู้อื่น หลายรายมีอาการกลัวผู้อื่นด้วยซ้ำ หากได้รับการดูแลสม่ำเสมอมีโอกาสเกิดเรื่องพวกนี้น้อยมาก จากสถิติเราพบว่า ผู้ป่วยที่ทำร้ายผู้อื่นนั้นเป็นเพราะขาดยา จนมีอาการกำเริบ ได้ยาไม่ครบ อย่างไรก็ตาม เราก็ควรให้โอกาสผู้ป่วยจิตเวช ถ้าว่ากันตามสถิติ คนไทย 5 คน มี 1 คนที่ป่วยจิตเวช ส่วนคนปกติอีก 4 คน ต้องช่วยกัน หากปล่อยให้คนป่วย 1 คนไม่ได้รับการดูแล สุดท้ายก็จะไปกระทบกับอีกหลายๆ คน ดังนั้นขอให้ช่วยกันดูดีกว่า เพราะการรักษาค่อนข้างมีประสิทธิภาพ และในอนาคตอันใกล้มียาฉีดที่สามารถออกฤทธิ์นานถึง 2-3 เดือน ขอเพียงมีญาติ หรือใครสามารถนำผู้ป่วยเข้ารับการรักษาเร็ว ครบถ้วนตามกระบวนการรักษาก็จะลดปัญหาได้ ซึ่งปัจจุบันมีผู้ป่วยรู้ตัวและเข้ารับการรักษามากขึ้นอย่างมาก เช่น โรคซึมเศร้า เมื่อก่อนเข้ารับการรักษาเพียง 3- 4 คน แต่ปัจจุบันเข้ารับการรักษาร้อยละ 70 เช่นเดียวกับผู้ป่วยจิตเวชรุนแรง อย่างหูแว่ว ประสาทหลอนก็เข้าถึงการรักษามากถึงร้อยละ 70 แล้ว ส่วนโรคที่เข้าถึงการรักษาน้อยคือกลุ่มที่ติดสุรา สารเสพติดมากกว่า" นพ.ธรณินทร์ กล่าว

27 November 2562

ที่มา ผู้จัดการ ออนไลน์

Posted By Nitayaporn/thongpet/kanchana/Maneewan

Views, 1911

 

Preset Colors