02 149 5555 ถึง 60

 

"โรคซึมเศร้า" ทำใจพัง เช็กลิสต์สาเหตุและอาการ

"โรคซึมเศร้า" ทำใจพัง เช็กลิสต์สาเหตุและอาการ

- "โรคซึมเศร้า" คือโรคที่เกิดจากความผิดปกติของสมอง ในส่วนที่มีผลกระทบต่อความคิด อารมณ์ ความรู้สึก พฤติกรรม รวมถึงสุขภาพทางกาย ทั้งนี้คนส่วนใหญ่รับรู้ว่า...โรคซึมเศร้าเป็นเพียงอาการหรือสภาพจิตใจ

- อาการของโรคซึมเศร้า ได้แก่ เศร้า หดหู่ ซึม เบื่อหน่าย หงุดหงิด ฉุนเฉียว อ่อนไหวง่าย ขัดแย้งกับคนอื่นง่าย รู้สึกสิ้นหวัง ดูถูกตนเอง อาจมีอาการวิตกกังวล เครียด นั่งไม่ติด สมาธิลดลง ไม่อยากทำอะไร ไม่อยากอาหาร นอนไม่หลับ เหนื่อยล้า อ่อนเพลีย หมดแรง ขาดความมั่นใจในตัวเอง การตัดสินใจแย่ลง รู้สึกหมดหวัง และมีความคิดอยากตายหรืออยากฆ่าตัวตาย

- การรักษาโรคซึมเศร้า แพทย์จะประเมินอาการร่วมกับบุคลิกภาพที่สังเกตได้ และให้ทำแบบทดสอบทางจิตวิทยา ก่อนจะนำผลมาประเมินว่า ผู้ป่วยควรได้รับการรักษาในแนวทางใด เช่น การรักษาด้วยยา หรือการใช้จิตบำบัด

"โรคซึมเศร้า" ที่เราได้ยินบ่อยๆ เป็นหนึ่งในโรคที่ทำให้คนไทยฆ่าตัวตายได้สำเร็จมากขึ้น โดยเฉพาะในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา โรคซึมเศร้านั้นปรากฏเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตตามหน้าข่าวรายวัน ซึ่งหลายคนอาจรู้จักโรคเหล่านี้ดี แต่ก็คงจะมีอีกหลายคนที่ยังไม่รู้จักโรคซึมเศร้าเลย วันนี้ MIRROR จึงมีสาระความรู้ตั้งแต่อาการ สาเหตุ แนวทางการรักษา รวมถึงเช็กลิสต์ว่าคุณเป็นโรคซึมเศร้าหรือไม่? มาฝากกัน อย่างน้อยคุณจะได้รู้และเข้าใจอย่างถ่องแท้ ถ้าเกิดคนใกล้ตัวเป็น "โรคซึมเศร้า" ขึ้นมา

สถิติโรคซึมเศร้า

Lady MIRROR เชื่อหรือไม่? กรมสุขภาพจิตได้เปิดเผยข้อมูลสถิติขององค์การอนามัยโลก ในปี ค.ศ.2017 ระบุว่ามีผู้ป่วยโรคซึมเศร้า ทั่วโลกประมาณ 322 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 4.4 ของประชากรโลก และในประเทศไทย มีข้อมูลการสำรวจความชุกของโรคซึมเศร้า พ.ศ.2551 พบว่า มีคนไทยป่วยซึมเศร้า 1.5 ล้านคน หากพิจารณาตามเพศและอายุของผู้ป่วยโรคซึมเศร้า พบว่า ผู้หญิงเสี่ยงป่วยมากกว่าผู้ชาย 1.7 เท่า โดยผู้ป่วยส่วนใหญ่อยู่ในวัยทำงานอายุ 25-59 ปี ร้อยละ 62 รองลงมาเป็นวัยสูงอายุ 60 ปีขึ้นไป ร้อยละ 26.5 และเป็นเยาวชนอายุ 15-24 ปี ร้อยละ 11.5 ทั้งนี้แม้ในกลุ่มเยาวชนจะมีสัดส่วนของผู้ป่วยโรคซึมเศร้าน้อยกว่าในกลุ่มวัยทำงานและวัยผู้สูงอายุ แต่นับเป็นปัญหาที่ต้องให้ความสำคัญ และต้องเร่งแก้ไขเนื่องจากวัยรุ่นเป็นทรัพยากรที่มีค่าในการพัฒนาประเทศในอนาคต ซึ่งมีแนวโน้มการฆ่าตัวตายเพิ่มขึ้น โดยมีข้อมูลพบว่า ในปี 2560 กลุ่มเยาวชนอายุ 20-24 ปี มีอัตราการฆ่าตัวตายที่ 4.94 ต่อประชากรแสนคน ในปี 2561 เพิ่มขึ้นเป็น 5.33 ต่อประชากรแสนคน ฟังแล้วช่างน่าตกใจจริงๆ

สาเหตุโรคซึมเศร้า

"โรคซึมเศร้า" คือโรคที่เกิดจากความผิดปกติของสมอง ในส่วนที่มีผลกระทบต่อความคิด อารมณ์ ความรู้สึก พฤติกรรม รวมถึงสุขภาพทางกาย ทั้งนี้คนส่วนใหญ่รับรู้ว่า...โรคซึมเศร้าเป็นเพียงอาการหรือสภาพจิตใจที่เปลี่ยนไป จึงคิดว่าโรคซึมเศร้าเกิดจากความผิดหวัง หรือการได้รับความกระทบกระเทือนทางจิตใจ เช่น ภาวะเศรษฐกิจการเงิน ความผิดหวัง ความสัมพันธ์ ความรัก ความสูญเสีย ฯลฯ และจะสามารถรักษาหรือแก้ไขได้ด้วยการให้กำลังใจ แต่อย่างไรก็ตามหากไม่สามารถจัดการกับปัญหาต่างๆ ได้ จะกลายเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดความเครียด วิตกกังวล จนพัฒนาไปสู่ภาวะซึมเศร้า และคิดทำร้ายตัวเองหรือฆ่าตัวตายได้ ทั้งนี้ทางการแพทย์ระบุว่า โรคซึมเศร้าเป็นโรคที่เกิดจากความไม่สมดุลของสารสื่อประสาท 3 ชนิด คือ ซีโรโตนิน นอร์เอปิเนฟริน และโดปามีน จึงจำเป็นที่ต้องได้รับการรักษาจากจิตแพทย์ เพราะนอกจากจะต้องบำบัดอย่างถูกวิธีแล้ว ยังอาจจะต้องใช้ยาในการรักษาร่วมด้วย

อาการของโรคซึมเศร้า

อาการของโรคซึมเศร้า ได้แก่ เศร้า หดหู่ ซึม เบื่อหน่าย หงุดหงิด ฉุนเฉียว อ่อนไหวง่าย ขัดแย้งกับคนอื่นง่าย รู้สึกสิ้นหวัง ดูถูกตนเอง อาจมีอาการวิตกกังวล เครียด นั่งไม่ติด สมาธิลดลง ไม่อยากทำอะไร ไม่อยากอาหาร นอนไม่หลับ เหนื่อยล้า อ่อนเพลีย หมดแรง ขาดความมั่นใจในตัวเอง การตัดสินใจแย่ลง รู้สึกหมดหวัง และมีความคิดอยากตายหรืออยากฆ่าตัวตาย

สำรวจตัวเองเป็น "โรคซึมเศร้า" หรือไม่?

การสังเกตตัวเองหรือคนรอบข้างว่าเข้าข่ายโรคซึมเศร้าหรือไม่ สามารถตรวจจากข้อสำรวจง่ายๆ 9 ข้อ ด้วยเกณฑ์ที่แพทย์ใช้ในการวินิจฉัยโรคซึมเศร้า หากมีอาการ 5 ข้อขึ้นไป โดยต้องมีข้อ 1 และ/หรือข้อ 2 รวมอยู่ด้วย ทั้งนี้หากอาการ 5 ใน 9 ข้อดังกล่าวเป็นยาวนานติดต่อกันเกินกว่า 2 สัปดาห์ ก็เข้าข่ายเสี่ยง แนะนำให้ควรปรึกษาจิตแพทย์ เพื่อวิเคราะห์และหาแนวทางแก้ไขหรือรักษาต่อไป

เช็กลิสต์ 9 ข้อเข้าข่าย "โรคซึมเศร้า"

1. รู้สึกเศร้า เบื่อ ท้อแท้ หรือหงุดหงิดง่ายอย่างต่อเนื่อง

2. เลิกสนใจสิ่งที่เคยชอบมากๆ หรือไม่อยากทำสิ่งที่เคยชอบทำ

3. พฤติกรรมการกินเปลี่ยนไป กินมากไป กินน้อยไป จนทำให้น้ำหนักขึ้นหรือลงผิดปกติ

4. จากที่เคยหลับง่ายก็หลับยากขึ้น หรือไม่ก็นอนมากเกินไป

5. มีอาการกระวนกระวายหรือเฉื่อยชาที่แสดงออกให้เห็นชัด

6. รู้สึกหมดเรี่ยวแรง ไม่มีพลัง ไม่อยากลุกขึ้นมาทำอะไรเลย

7. รู้สึกไร้ค่าหรือรู้สึกผิด โทษตัวเองในทุกๆ เรื่อง

8. ไม่มีสมาธิในการทำสิ่งต่างๆ มีปัญหาเรื่องการคิดหรือตัดสินใจ

9. คิดถึงความตายหรืออยากตาย หรืออยากฆ่าตัวตายบ่อยๆ

วิธีการรักษาโรคซึมเศร้า

เมื่อเราไปพบแพทย์ แพทย์จะทำการตรวจวินิจฉัยว่าเข้าข่ายเป็นผู้ป่วย "โรคซึมเศร้า" หรือไม่ โดยจะเริ่มต้นจากการสอบถามอาการ ผลกระทบที่เกิดขึ้น และระดับความรุนแรง ลักษณะการใช้ชีวิตประจำวัน โรคประจำตัว ยาที่กินอยู่ รวมถึงประวัติครอบครัว ทั้งนี้แพทย์จะประเมินอาการร่วมกับบุคลิกภาพที่สังเกตได้ และให้ทำแบบทดสอบทางจิตวิทยา ก่อนจะนำผลมาประเมินว่า ผู้ป่วยควรได้รับการรักษาในแนวทางใด เช่น การรักษาด้วยยา หรือการใช้จิตบำบัด

7 ประการห่างไกลโรคซึมเศร้า

ทั้งนี้ กรมสุขภาพจิต ได้ทำคู่มือสำหรับวิธีรับมือความเศร้า เพื่อป้องกัน "โรคซึมเศร้า" โดยแนะนำไว้ดังนี้

1. หัดยอมรับตัวเอง

ฝึกสำรวจตัวเอง เรียนรู้ รู้จักตัวเองมากขึ้น และฝึกยอมรับในสิ่งที่ตนเองเป็น ทั้งข้อดีและข้อเสีย เพื่อที่จะช่วยให้คุณรับมือกับสถานการณ์ที่ทำให้ผิดหวังเสียใจได้

2. หัวเราะเยอะๆ

เมื่อรู้สึกทุกข์ ควรพาตัวเองอยู่กับสิ่งที่ทำให้รู้สึกเพลิดเพลิน เช่น ดูภาพยนตร์ตลก หรืออ่านเรื่องขำขัน หรือพูดคุยกับเพื่อนๆ ในเรื่องขบขันสนุกสนาน เพื่อช่วยคลายเครียด ช่วยคลายความทุกข์ในใจได้ดีทีเดียว

3. ระบายความรู้สึก

ควรเรียนรู้ที่จะหาวิธีปลดปล่อยความรู้สึกเศร้า โกรธ ผิดหวัง หรือเสียใจออกมา เพราะอาการซึมเศร้ามักเกิดจากการเก็บกดอารมณ์ความรู้สึกไว้ เราทำได้โดยการพูดคุยกับคนที่ไว้ใจได้ ตะโกน หรือร้องไห้ออกมาดังๆ หรือเขียนความรู้สึกลงในสมุดบันทึก

4. ออกกำลังกาย

การออกกำลังกายช่วยต้าน "โรคซึมเศร้า" ได้ เนื่องจากการออกกำลังกายช่วยเพิ่มระดับสารเคมี "เซโรโทนิน" ในสมอง รวมถึงเพิ่มการหลั่งสารเอนดอร์ฟินที่ช่วยทำให้ผ่อนคลายและอารมณ์ดีขึ้น แถมยังช่วยให้สุขภาพด้านอื่นๆ ดีขึ้นด้วย

5. ออกไปเที่ยวบ้าง

การเดินทางท่องเที่ยวถือเป็น "ยาดี" สำหรับคนที่มีภาวะซึมเศร้า เพราะเป็นการหนีห่างจากสิ่งแวดล้อมเดิมๆ ที่ทำให้รู้สึกเหนื่อยหน่าย เศร้า เบื่อ ฯลฯ เปลี่ยนไปสู่สิ่งแวดล้อมใหม่ๆ ที่สดใส มีพลังมากขึ้น ได้พบเห็นสิ่งใหม่ๆ วัฒนธรรมใหม่ๆ ผู้คนใหม่ๆ สิ่งเหล่านี้จะช่วยให้ผ่อนคลายความเครียด และคลายความเศร้าได้ดี

6. ทำงานอดิเรก

หากมีเรื่องเครียดๆ หรือเรื่องที่ทำให้เศร้าอยู่นาน ต้องพยายามสะบัดความรู้สึกเหล่านั้นออกไป แล้วไปหาอะไรทำที่สร้างสรรค์ ฝึกสมาธิ อย่างการทำงานอดิเรกก็ช่วยได้นะ เช่น ปลูกต้นไม้ วาดรูป ระบายสี ทำอาหาร เย็บปักถักร้อย ฯลฯ

7. Positive Thinking

การมองโลกในแง่ดี ช่วยลดความวิตกกังวลได้จริง โดยอาจจะเริ่มจากฝึกคิดในมุมบวก ฝึกมองเรื่องต่างๆ รอบตัวในมุมบวก ฝึกมองผู้อื่นในแง่ดี และรู้จักชื่นชมคนอื่น หากทำได้จะเป็นการเติมเต็มความสุขให้กับชีวิตของคุณได้มากขึ้นแน่นอน

4 "สมุนไพร" รักษา "โรคซึมเศร้า"

นอกจากนี้เรายังมีข้อมูลจาก ภญ.อาสาฬา เชาวน์เจริญ เภสัชกร รพ.เจ้าพระยาอภัยภูเบศร ที่ระบุไว้ว่า โรคซึมเศร้ากำลังเป็นปัญหาสำคัญ การป้องกันเป็นหนึ่งทางเลือก ที่สามารถบรรเทาด้วย 4 "สมุนไพร" ดังนี้

1. ขมิ้นชัน มีการศึกษาการใช้ขมิ้นชัน 500 มก. หลังอาหารเช้าและเย็น และยาต้านซึมเศร้า (Fluoxetine 20 mg) 6 สัปดาห์ เปอร์เซ็นต์การตอบสนองผลการรักษา Fluoxetine 64.7% ขมิ้นชัน 62.5% และเมื่อใช้ร่วมกันทั้ง Fluoxetine และขมิ้นชัน ให้ผล 77.8% ขนาดการรับประทาน

2. บัวบก บรรเทาอาการโรควิตกกังวลได้ จากการศึกษาการใช้บัวบก 500 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง หลังอาหาร ในผู้ป่วยโรควิตกกังวล 33 คน พบว่าเริ่มเห็นผลการรักษาที่ 1 เดือน และเห็นผลชัดเจนขึ้นที่ 2 เดือน

3. น้ำมันรำข้าวและจมูกข้าว มีสารช่วยทำให้นอนหลับ ผ่อนคลาย คลายกังวล

4. ฟักทอง ช่วยบรรเทาอาการซึมเศร้าได้ โดยสังเกตพฤติกรรมถูกบังคับให้ว่ายน้ำในหนูทดลอง ที่ถูกเหนี่ยวนำให้เกิดภาวะซึมเศร้า ซึ่งจะลอยตัวนิ่งเสมือนว่าอยากตาย แต่การให้ฟักทองอบและสารเบต้าแคโรทีน มีผลทำให้ระยะเวลาลอยตัวนิ่งลดลง และเพิ่มระดับเซโรโทนิน (serotonin) และนอร์อิพิเนฟริน (norepinephrine : NE) ซึ่งเป็นสารสื่อประสาทในสมองลดลง เนื่องจากภาวะซึมเศร้าให้กลับสู่ระดับปกติ

จากข้อมูลข้างต้น MIRROR หวังจะช่วยให้หลายคนได้เข้าใจและรู้จัก "โรคซึมเศร้า" ดีขึ้น ทั้งนี้หากสาวๆ ไม่แน่ใจว่าตนเองเข้าข่ายหรือไม่? เราขอแนะนำให้ไปพบแพทย์ ทั้งนี้เป็นการดูแลตัวเองและรักษาโรคอย่างถูกวิธี แต่สำหรับบางคนที่มีคนใกล้ชิดเป็นโรคซึมเศร้าอยู่แล้ว ก็ขอให้คุณอยู่เคียงข้างเค้า คอยดูแลและเป็นกำลังใจให้กันและกัน แล้วทุกอย่างก็จะดีขึ้นเอง อย่าลืม...ใช้ใจรักษาใจนะคะ

18 December 2562

ที่มา ไทยรัฐ

Posted By Nitayaporn/thongpet/kanchana/Maneewan

Views, 13233

 

Preset Colors