02 149 5555 ถึง 60

 

สธ.ชี้ "สารกัญชา" ช่วยคุมอาการชัก ลดเจ็บปวด เร่งศึกษาอัตราส่วน หลังพบทั้งกำจัดและเพิ่มเซลล์มะเร็ง

สธ.ชี้ "สารกัญชา" ช่วยคุมอาการชัก ลดเจ็บปวด เร่งศึกษาอัตราส่วน หลังพบทั้งกำจัดและเพิ่มเซลล์มะเร็ง

สธ.เผยใช้สารสกัด "กัญชา" ช่วยคุมอาการลมชัก เจ็บปวดในผู้ป่วยมะเร็งระยะท้ายได้ดี ศึกษาพบสารสกัดกัญชา มีทั้งกำจัดเซลล์มะเร็งในหลอดทดลองได้ และเพิ่มเซลล์มะเร็งในบางอัตราส่วน

วันนี้ (31 ธ.ค.) นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า การนำสารสกัดกัญชามาใช้กับผู้ป่วย และศึกษาวิจัยทางการแพทย์แผนปัจจุบัน โดยกรมการแพทย์รับ ขณะนี้ได้รับรายงานว่า สารสกัดกัญชาชนิด CBD เด่น สามารถควบคุมอาการชักในผู้ป่วยเด็กโรคลมชักส่วนใหญ่ได้ดี และสารสกัดกัญชาชนิด 1:1 ที่ใช้กับผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้ายมีประสิทธิผลในการลดอาการปวด ช่วยให้นอนหลับ และเพิ่มความอยากอาหารได้ ในส่วนของโรคสมองเสื่อม ขั้นตอนอยู่ระหว่างการจัดสรรสารสกัดกัญชาชนิด 1:1 ให้กับผู้ป่วย คาดว่าจะได้รับสารสกัดกัญชาใน ม.ค. 2563 กรณีผู้ป่วยโรคพาร์กินสันซึ่งจำเป็นต้องใช้สารสกัดกัญชาชนิด CBD เด่น ซึ่งมีปริมาณจำกัดในระยะแรก คงต้องรอการผลิตที่จะได้รับในระยะต่อไป ส่วนผลวิจัยเซลล์มะเร็งในหลอดทดลอง มีความเป็นไปได้สูงที่จะพัฒนาสารสกัดกัญชาเป็นยารักษามะเร็งบางชนิดได้ในอนาคต โดยต้องมีการศึกษาวิจัยในขั้นตอนของสัตว์ทดลองต่อไป หากได้ผลดี จึงไปนำสู่การศึกษาวิจัยในคนและนำมาใช้กับผู้ป่วย

"วันที่ 15 ม.ค. สธ.จะเดินทางไปเยี่ยมศึกษาและติดตามความก้าวหน้าการเก็บช่อดอกกัญชาปลอดสารเคมี ที่มหาวิทยาลัยแม่โจ้ จังหวัดเชียงใหม่ ที่ได้ดำเนินการตามแนวปฏิบัติการปลูกที่ดี ซึ่งจะเป็นวัตถุดิบที่นำมาผลิตเป็นสารสกัดกัญชาที่มีคุณภาพสำหรับผู้ป่วย ทั้งนี้ สธ.ยินดีรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนเพื่อการดำเนินการให้ผู้ป่วยได้รับประโยชน์จากการรักษาด้วยสารสกัดกัญชาอย่างแท้จริง" นายอนุทิน กล่าว

นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า สถาบันประสาทวิทยา สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี และสถาบันมะเร็งแห่งชาติ ได้นำสารสกัดกัญชาไปใช้เพื่อการรักษา บรรเทาอาการของผู้ป่วย พบว่าเมื่อใช้สารสกัดกัญชาชนิด CBD เด่นกับผู้ป่วยเด็กโรคลมชัก จำนวน 13 คน คุมอาการชักได้ดี 2 คน มีอาการชักลดลง 10 คน และ 1 คนที่ไม่สามารถคุมอาการชักได้ ในส่วนของสารสกัดกัญชาชนิด 1:1 ที่ใช้กับผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้ายแบบคนไข้ใน เพื่อความปลอดภัยของผู้ป่วย จำนวน 13 คน พบว่า ผู้ป่วยมีอาการปวดลดลง 7 คน จาก 10 คน นอนหลับได้ดีขึ้น 10 คน จาก 12 คน ผู้ป่วยที่เบื่ออาหาร 5 คนมีความอยากอาหารเพิ่มขึ้นทุกคน อย่างไรก็ตาม พบอาการไม่พึงประสงค์ ได้แก่ หูแว่วและเห็นภาพหลอน 1 คน การเคลื่อนไหวและการทรงตัวผิดปกติ 3 คน ความคิดช้าลง 1 คน ผู้ป่วยทุกคนมีอาการดีขึ้นเมื่อหยุด ลดขนาดยาลง และปรับเปลี่ยนวิธีการให้ยา

นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า ประเด็นการศึกษาวิจัยในหลอดทดลอง พบว่าสาร THC และ CBD ในอัตราส่วนต่างๆ เมื่อพิจารณาจากการใช้ปริมาณน้อยแต่มีฤทธิ์ยับยั้งเซลล์มะเร็งในหลอดทดลองลงได้ครึ่งหนึ่ง และไม่ส่งผลต่อเซลล์ปกติ พบว่ามีจำนวน 8 ชนิดมะเร็ง ได้แก่ มะเร็งตับ มะเร็งลำไส้ใหญ่ มะเร็งกระเพาะอาหาร มะเร็งเต้านมที่มีตัวรับสัญญาณฮอร์โมนเอสโตรเจน (ER+) มะเร็งตับอ่อน มะเร็งท่อน้ำดี มะเร็งปอดบางชนิด และมะเร็งรังไข่ อย่างไรก็ตาม มีสารสกัดกัญชาบางอัตราส่วนเมื่อใช้ปริมาณน้อยกลับส่งผลให้เซลล์มะเร็งบางชนิดในหลอดทดลองเจริญเติบโตเร็วขึ้น

2 January 2563

ที่มา ผู้จัดการ ออนไลน์

Posted By Nitayaporn/thongpet/kanchana/Maneewan

Views, 1153

 

Preset Colors