02 149 5555 ถึง 60

 

ชวนพ่อแม่ "เพิ่ม" สัมพันธภาพที่ดีในครอบครัวรับปีใหม่/ดร.สรวงมณฑ์ สิทธิสมาน

ชวนพ่อแม่ "เพิ่ม" สัมพันธภาพที่ดีในครอบครัวรับปีใหม่/ดร.สรวงมณฑ์ สิทธิสมาน

เริ่มต้นปีใหม่ก้าวเข้าสู่ปีชวดกันแล้ว หลายครอบครัวได้ไปพักผ่อนชาร์ตแบตฯชีวิตสนุกสนานเบิกบานใจกับครอบครัวร่วมกันหลายวัน มีช่วงเวลาดี ๆ ร่วมกันในวันหยุดช่วงเทศกาล อยากชวนสะกิดใจเพื่อนพ่อแม่คิดถึงเรื่องการทบทวนชีวิต ทบทวนบทบาทของการเป็นพ่อแม่ในช่วงปีที่ผ่านมาว่า เราเป็นพ่อแม่แบบไหน มีสถานการณ์ไหนที่เราเป็นพ่อแม่ที่ดีและไม่ดีบ้าง รวมไปถึงสัมพันธภาพระหว่างกันในครอบครัวเป็นอย่างไร ?

เพราะสัมพันธภาพที่ดีในครอบครัวคือจุดเริ่มต้นของการวางรากฐานการเติบโตของเด็กคนหนึ่งที่จะเติบโตขึ้นไปเป็นผู้ใหญ่แบบไหน มีคุณภาพหรือไม่ และที่สำคัญสัมพันธภาพที่ดีจะช่วยทำให้มองเห็นการแก้ปัญหาร่วมกันของครอบครัวด้วย

ว่าแล้วก็น่าจะถือโอกาสช่วงเทศกาลปีใหม่ทบทวนสัมพันธภาพในครอบครัว ไม่ว่าจะน้อยหรือมาก พ่อแม่ก็ควรถือโอกาสใคร่ครวญ "เพิ่ม" และ "เติม" สัมพันธภาพในครอบครัวให้แน่นแฟ้นขึ้น

หนึ่ง - เพิ่มเวลาคุณภาพ

เวลาคือสิ่งที่ทุกคนมีเท่ากัน ต่างกันตรงที่จะบริหารจัดการเวลาอย่างไร เพื่ออะไร และสำหรับคนเป็นพ่อแม่ เรื่องเวลากับการดูแลลูกเป็นเรื่องสำคัญ เพราะนั่นหมายถึงการมีเวลาคุณภาพ ถ้าคุณเป็นพ่อแม่ที่ชอบพูดว่าไม่มีเวลา ต้องหันมาสำรวจตัวเองแล้วว่าทำงานหนักไปเพื่ออะไร ถ้าคำตอบเพื่อหาเงินมาดูแลลูก ลองถามลูกดูว่าลูกต้องการสิ่งของหรือสิ่งอำนวยความสะดวก หรือต้องการอยู่กับพ่อแม่มากกว่ากัน เวลาคุณภาพเป็นสิ่งสำคัญที่สุดสำหรับลูก ถ้าในวัยที่ลูกต้องการเวลาคุณภาพจากพ่อแม่ แต่พ่อแม่ไม่มีเวลาอยู่กับเขา เมื่อเขาเติบโตขึ้นมีชีวิตของตัวเองและเริ่มติดเพื่อน เมื่อถึงเวลานั้นต่อให้พ่อแม่มีเวลามากแค่ไหน ลูกต่างหากที่ไม่อยากใช้เวลาร่วมกับเรา

รวมไปถึงเรื่องการติดเครื่องมือสื่อสารต่างๆ ด้วย ช่วงปีที่ผ่านมา คุณเป็นพ่อแม่ก็ติดมือถืองอมแงมหรือไม่ มีงานวิจัยหลายชิ้นที่สะท้อนให้เห็นว่าพ่อแม่มัวแต่เล่นสมาร์ทโฟน จนปล่อยปละละเลยลูก ในเมื่อไม่อยากให้ลูกมีพฤติกรรมติดสมาร์ทโฟนหรือติดเกม พ่อแม่ก็ต้องเป็นแบบอย่างที่ดี มีกฎกติกาการอยู่ร่วมกันในครอบครัวแบบมีปฏิสัมพันธ์ต่อกัน มิใช่อยู่ด้วยกันแต่ต่างคนต่างอยู่กับสมาร์ทโฟนของใครของมัน แล้วก็มาบ่นในภายหลังว่าไม่มีเวลา แท้จริงแล้วก็เอาเวลาไปอยู่กับสมาร์ทโฟนนั่นเอง

สอง - เพิ่มกิจกรรมครอบครัว

ถ้าพ่อแม่มีเวลาคุณภาพเพิ่มขึ้น ก็จะทำให้มีการเพิ่มกิจกรรมครอบครัวไปด้วย เพราะการทำกิจกรรมร่วมกันในครอบครัว ก็คือการสร้างสัมพันธภาพที่ดีในครอบครัว เป็นจุดเริ่มต้นในการเรียนรู้พฤติกรรมซึ่งกันและกัน ถ้ามีกิจกรรมครอบครัวที่ดีอย่างสม่ำเสมอ พ่อแม่ก็สามารถเสริมสร้างทักษะชีวิตในด้านต่างๆ ให้ลูกได้ด้วย อาจเพิ่มกิจกรรมสร้างสรรค์ที่เหมาะกับลูก เริ่มจากกิจกรรมที่ลูกชอบ และกิจกรรมที่สามารถเพิ่มทักษะชีวิตให้ลูกนอกห้องเรียนได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งทักษะชีวิตที่ไปเสริมศักยภาพบางด้านของลูก

สาม - เพิ่มวิธีคิดบวก

ในท่ามกลางสภาพปัญหาความขัดแย้งในสังคม รวมถึงสารพัดปัญหาเรื่องการใช้วิธีแก้ปัญหาที่มักมีเรื่องความรุนแรงเข้ามาเกี่ยวข้องในยุคปัจจุบัน วิธีคิดบวกเป็นเรื่องจำเป็นสำหรับพ่อแม่ที่ต้องมีต่อลูก เพราะการคิดบวกจะส่งผลต่อวิธีคิดไปสู่ลูกด้วย ยกตัวอย่าง ถ้าสถานการณ์ที่ลูกเผชิญและมีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม หรือทะเลาะกับเพื่อน แทนที่พ่อแม่จะใช้วิธีดุด่าว่ากล่าว อาจเปลี่ยนไปใช้วิธีพูดเพื่อให้กำลังใจที่เชื่อว่าลูกสามารถแก้ไขและปรับปรุงได้ เรียกว่ามีเป้าหมายเหมือนกันอยากให้ลูกมีพฤติกรรมที่เหมาะสม แต่วิธีการที่ใช้อยู่ที่ว่าจะใช้แรงบวกเสริมพฤติกรรม หรือใช้วิธีตำหนิเพื่อให้ลูกทำ เพราะสุดท้ายผลที่ได้ก็ต่างกัน และได้รับความร่วมมือต่างกัน

สี่ - เพิ่มการรับฟัง

สัมพันธภาพที่ดีต้องเริ่มจากการรับฟังอย่างตั้งใจ ถ้าปีที่ผ่านมา คุณไม่ค่อยได้รับฟังลูกเท่าใดนัก หรือรับฟังแบบไม่ได้เปิดใจ ก็จงถือโอกาสปีใหม่นี้ในการเปิดใจและรับฟังลูกให้มากขึ้น การรับฟังจะนำไปสู่ความเข้าใจ และการสร้างสัมพันธภาพที่ดีต่อกัน พ่อแม่จะได้เข้าใจวิธีคิดของลูกว่าลูกคิดอย่างไรต่อเรื่องนั้นๆ และจะทำให้เราสามารถสอดแทรกบางเรื่องที่ต้องการให้ลูกเรียนรู้ได้ด้วย

ห้า - เพิ่มความไว้วางใจ

ความไว้วางใจไม่ใช่เคล็ดลับสำหรับชีวิตคู่เท่านั้น พ่อแม่ก็ควรไว้วางใจลูกด้วย ต้องแสดงให้ลูกเห็นว่าพ่อแม่ไว้ใจลูกเสมอ เปิดโอกาสให้เขาได้ทำอะไรด้วยตัวเอง อย่าเล็งผลเลิศว่าต้องสำเร็จทุกเรื่อง แต่สิ่งสำคัญคือให้เขาได้กล้าแสดงออก ให้เขาได้รับรู้ว่าพ่อแม่ไว้วางใจเขาเสมอ จะทำให้ลูกเกิดความภาคภูมิใจในตัวเอง และเขาจะเติบโตขึ้นไปด้วยความไว้วางใจผู้อื่นต่อไปด้วย

หก - เพิ่มโอกาส

การเปิดโอกาสเป็นอีกเรื่องที่จำเป็น การให้ลูกได้คิด ได้พูด ได้แสดงออก จะทำให้พ่อแม่ได้สะท้อนตัวตนและวิธีคิดของลูกด้วย ควรเปิดโอกาสให้ลูกได้ทดลองสิ่งใหม่ๆ ได้ทำในสิ่งที่ชอบหรือสิ่งที่ถนัด จะทำให้ลูกได้รู้จักตัวเอง รวมไปถึงการเปิดโอกาสให้วิพากษ์วิจารณ์เรื่องต่างๆ หรือลูกอาจไม่ชอบการกระทำบางอย่างของพ่อแม่บ้างก็ได้ แต่เมื่อพ่อแม่เปิดโอกาสและรับฟังเขา พร้อมทั้งยอมที่จะปรับปรุงพฤติกรรมบางอย่างที่ลูกร้องขอ ก็จะทำให้ลูกรู้สึกดี และเรียนรู้ว่าพ่อแม่รักเขา และยินดีที่จะรับฟังและแก้ไขตัวเองเช่นกัน

เจ็ด - เพิ่มความใจเย็น

คุณเป็นพ่อแม่ที่ใจร้อนหรืออารมณ์เสียบ่อยหรือไม่ ถ้าใช่แล้วคงต้องสำรวจดูว่าเป็นเพราะหน้าที่การงานหรือเพราะสาเหตุใด แล้วอารมณ์เหล่านั้นได้ส่งผลกระทบมาที่ตัวลูกหรือไม่ ประเภทกลับมาบ้าน แล้วเห็นลูกมีพฤติกรรมที่ไม่ได้ดั่งใจ ก็อารมณ์เสียใส่ลูกทันทีหรือเปล่า ถ้าเป็นเช่นนั้นแล้ว ก็เท่ากับลูกต้องมาคอยรับอารมณ์ของพ่อแม่ที่พกมาจากนอกบ้าน แล้วนำติดเข้ามาในบ้าน จนลูกๆ เข้าหน้าไม่ติด ลองปรับเปลี่ยนที่ตัวเองก่อน พยายามหาทางเติมความใจเย็นให้กับตัวเองเสมอๆ มีสิ่งใดที่ทำแล้วทำให้อารมณ์นิ่งลง ก็หาทางปรับเปลี่ยนตัวเอง เพราะไม่ว่าอย่างไรพ่อแม่ก็เป็นแบบอย่างให้กับลูก อยากให้ลูกไม่ใจร้อน พ่อแม่ก็ต้องไม่ใจร้อนด้วย

แปด - เพิ่มความเป็นเพื่อน

บทบาทของความเป็นพ่อแม่ทุกคนมักจะเรียนรู้เมื่อถึงวันต้องมีลูก และต้องดูแลลูก แต่อีกบทบาทหนึ่งที่มีความสำคัญสำหรับพ่อแม่ด้วยก็คือ ใส่ความเป็นเพื่อนกับลูกด้วย ยิ่งลูกโตมากขึ้นเรื่อยๆ พ่อแม่ยิ่งต้องพัฒนาความเป็นเพื่อนกับลูกให้เหมาะสมในแต่ละวัย อย่าถือดีว่าเป็นพ่อแม่แล้วลูกต้องเชื่อฟังเท่านั้น แต่การเป็นเพื่อนคือความเข้าใจในตัวลูก พร้อมจะยืนเคียงข้างกับลูกในทุกสถานการณ์

เริ่มปีใหม่อยากชวนเพิ่มสัมพันธภาพที่ดีในครอบครัวค่ะ เพราะสัมพันธภาพที่ดีคือภูมิคุ้มกันชีวิตของลูก และของพ่อแม่ด้วยเช่นกัน

สังคมยิ่งวิกฤติ สัมพันธภาพที่ดีในครอบครัวยิ่งจำเป็น

3 January 2563

ที่มา ผู้จัดการ ออนไลน์

Posted By Nitayaporn/thongpet/kanchana/Maneewan

Views, 1256

 

Preset Colors