02 149 5555 ถึง 60

 

รู้ทัน “ไซเบอร์บูลลี่” รับมือได้ด้วยสติและสตรอง

รู้ทัน “ไซเบอร์บูลลี่” รับมือได้ด้วยสติและสตรอง

22 February 2019, Thuringia, Erfurt: Students of the Schillerschule work with a tablet. The pupils of two sixth grades take part in the media competence course of the Thuringian State Media Authority and the police on the topic "Tatort Internet. "Make a mark against cyberbullying! Photo: Martin Schutt/dpa-Zentralbild/dpa (Photo by Martin Schutt/picture alliance via Getty Images)

การกลั่นแกล้ง (bullying) หรือที่เรียกกันสั้น ๆ ว่า “บูลลี่” เป็นคำที่ได้ยินถี่ขึ้นในสังคมไทย หากมองในแง่ดีนั่นคงเป็นเพราะสังคมของเราตระหนักที่จะป้องกันและแก้ปัญหาเรื่องนี้มากขึ้น แต่หากมองในอีกแง่หนึ่ง นั่นก็เป็นเพราะในสังคมเรามีปัญหานี้มากเช่นกัน

การล้ออ้วน เตี้ย ดำ การล้อชื่อพ่อชื่อแม่ ที่หลายคนเคยล้อเล่นสนุกกันตั้งแต่เด็ก ๆ ล้วนเป็นส่วนหนึ่งของการกลั่นแกล้ง (บูลลี่) ที่สั่งสมนิสัยชอบแกล้งคนอื่นโดยไม่รู้ตัว และสั่งสมความกลัว ความไม่มั่นใจในตัวเองสำหรับผู้ที่ถูกแกล้งบ่อย ๆ

ยิ่งในปัจจุบันที่เราอยู่ในยุคที่โซเชียลมีเดียมีอิทธิพลอย่างมากต่อชีวิตของผู้คน สิ่งที่แฝงมาคือการเปิดช่องทางให้เกิดไซเบอร์บูลลี่ (cyberbully) หรือการกลั่นแกล้งผ่านสื่อสังคมออนไลน์ มีตั้งแต่การวิพากษ์วิจารณ์ กล่าวหา ข่มขู่ คุกคาม การเผยแพร่ภาพ เสียง หรือเนื้อหาที่มีความรุนแรง ซึ่งทำได้ง่ายขึ้นกว่าแต่ก่อน เพราะสิ่งที่อยู่ในออนไลน์สามารถส่งต่อแพร่กระจายได้อย่างรวดเร็วและเป็นวงกว้าง อีกทั้งในโลกออนไลน์ผู้กระทำไม่ต้องเปิดเผยตัวตนจริง จึงทำให้สถานการณ์การกระทำความรุนแรงในสังคมออนไลน์ทวีจำนวนและความรุนแรงมากขึ้น นี่จึงเป็นอีกปัญหาที่สำคัญที่สังคมเราต้องร่วมกันป้องกันและแก้ไข

ภัยของ Cyberbully

ไซเบอร์บูลลี่ได้สร้างผลกระทบมากมายต่อผู้ถูกกระทำ ทั้งผลกระทบทางความรู้สึก จนเกิดเป็นแผลทางใจ หลายกรณีฝังลึกจนยากเยียวยา ลุกลามไปจนเกิดการปะทะจริง เกิดบาดแผลทางกายหรือบางรายเลือกทำร้ายตัวเอง เช่นกรณีการเสียชีวิตของดารานักร้องชาวเกาหลีเมื่อไม่กี่เดือนที่ผ่านมานี้ การถูกบูลลี่จากโลกโซเชียลมีเดียก็ถูกระบุเป็นสาเหตุหนึ่งของการทำร้ายตัวเองจนเสียชีวิต

เด็กไทยเสี่ยงภัยกลั่นแกล้งออนไลน์

จากผลการสำรวจสถานการณ์เด็กไทยกับภัยออนไลน์ปี 2561 ที่สำรวจในกลุ่มเด็กอายุ 6-18 ปีทั่วประเทศจำนวน 15,318 คน โดยศูนย์ประสานงานขับเคลื่อนการส่งเสริมและปกป้อง คุ้มครองเด็กและเยาวชนในการใช้สื่อออนไลน์ ร่วมกับมูลนิธิอินเทอร์เน็ตร่วมพัฒนาไทย พบว่า เด็กร้อยละ 51.7 เคยพูดคุยกับคนที่ไม่รู้จักผ่านสื่อออนไลน์ ร้อยละ 33.6 ให้ข้อมูลส่วนตัว ร้อยละ 25.5 เปิดอ่านอีเมล์ที่ส่งมาจากคนที่ไม่รู้จักหรือคลิกลิงก์ที่ไม่รู้จัก ร้อยละ 3 เคยเล่นพนันทายผลฟุตบอลออนไลน์ และร้อยละ 1.8 เคยถ่ายภาพหรือวิดีโอลามกของตนเองส่งให้คนอื่น ๆ ทางออนไลน์

นอกจากนี้ ผลการสำรวจยังพบว่า เด็กร้อยละ 25 เคยนัดพบกับเพื่อนออนไลน์อย่างน้อย 1 ครั้ง ในจำนวนนี้ ร้อยละ 5.1 ถูกพูดจาล้อเลียน ดูถูก ทำให้เสียใจ ร้อยละ 2.1 ถูกหลอกให้เสียเงินหรือเสียทรัพย์สิน ร้อยละ 1.9 ถูกละเมิดทางเพศ ร้อยละ 1.7 ถูกทุบตีทำร้ายร่างกาย และร้อยละ 1.3 ถูกถ่ายภาพหรือคลิปวิดีโอแล้วนำไปประจาน บางกรณีข่มขู่เรียกเงิน ทั้งหมดเป็นข้อมูลสะท้อนพฤติกรรมเสี่ยงของเยาวชนไทยต่อภัยออนไลน์ที่มากับโซเชียลมีเดีย เปราะบางต่อการเกิดไซเบอร์บูลลี่ได้ง่าย

เสริมความฉลาดทางดิจิทัล ป้องกันการบูลลี่

หลายภาคส่วนเล็งเห็นความสำคัญและผลเสียที่เกิดจากการกลั่นแกล้งผ่านสื่อสังคมออนไลน์ จึงมีการเผยแพร่ความรู้ ความเข้าใจ ไม่ให้ผู้ใช้สื่อเข้าไปอยู่ในวงจรการบูลลี่ ทั้งในฐานะผู้กระทำและผู้ถูกกระทำ ตัวอย่างหนึ่งของความพยายามในเรื่องนี้คือ กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ที่ได้มอบหมายให้บริษัท เจ เอส แอล โกลบอล มีเดีย จำกัด จัดทำซีรีส์ “รู้นะ รู้ยัง รู้ทันสื่อ” เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการเสริมความฉลาดทางดิจิทัลให้กับคนในสังคม โดยเฉพาะเด็กและเยาวชนให้รู้จักวิเคราะห์ และเลือกใช้สื่อในทางที่สร้างสรรค์ เป็นประโยชน์ พร้อมเผชิญหน้ากับโลกยุคดิจิทัลโดยไม่บั่นทอนพัฒนาการทางด้านร่างกาย อารมณ์ และสติปัญญา

ทักษะสำคัญของการดูแลเด็กให้มีความฉลาดทางดิจิทัล ประกอบด้วย 1.สอนให้รู้จักจัดการตัวตนทั้งความคิด ความรู้สึก การกระทำ อย่างมีความรับผิดชอบ 2.สอนให้รู้จักคิดวิเคราะห์สามารถแยกแยะข้อมูล ไม่เชื่อทุกอย่างที่เห็นหรือรับมา 3.สอนให้รู้จักรักษาความปลอดภัยของตนเอง 4.สอนให้รักษาความเป็นส่วนตัว ไม่บอกข้อมูลส่วนตัวกับคนอื่น 5.สอนให้ใช้เวลาบนโลกออนไลน์อย่างเหมาะสม

6.สอนให้เข้าใจว่าทุกสิ่งที่อยู่บนโลกดิจิทัลจะทิ้งร่องรอยข้อมูลไว้เสมอ 7.สอนให้รู้จักรับมือการกลั่นแกล้งบนโลกออนไลน์ และต้องแจ้งให้ผู้ปกครองทราบ 8.สอนให้มีความเห็นอกเห็นใจและสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้อื่นบนโลกออนไลน์ ไม่ด่วนตัดสินผู้อื่นจากข้อมูลออนไลน์เพียงอย่างเดียว เพื่อป้องกันการเกิดวงจรไซเบอร์บูลลี่

รับมือไซเบอร์บูลลี่อย่างมีสติ

กรมสุขภาพจิต แนะวิธีจัดการกับไซเบอร์บูลลี่ไว้ 5 แนวทางคือ 1.อย่าตอบสนองข้อความกลั่นแกล้ง ไม่ว่าข้อความนั้นจะรุนแรงต่อเราขนาดไหน เพราะจะทำให้สถานการณ์แย่ลง 2.ไม่แก้แค้นหรือตอบโต้ด้วยวิธีเดียวกัน เพราะอาจทำให้เรากระทำความผิดและเป็นจำเลยสังคมแทน 3.เก็บหลักฐาน บันทึกภาพและข้อความที่ถูกทำร้ายเพื่อรายงานต่อผู้ปกครองหรือผู้บังคับใช้กฎหมาย 4.รายงานความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับโซเชียลมีเดียต้นทาง 5.ตัดช่องทางการติดต่อ โดยลบ แบน บล็อกการเชื่อมต่อกับคนที่มาระราน พร้อมระมัดระวังการติดต่อกับคนกลุ่มนี้ในอนาคต

ไซเบอร์บูลลี่เป็นภัยใกล้ตัวที่เกิดขึ้นได้กับทุกคน การจะแก้ปัญหาคงต้องแก้กันระยะยาว โดยการเปลี่ยนจิตสำนึกคนรุ่นปัจจุบัน และปลูกจิตสำนึกเด็ก ๆ ไม่ให้มีนิสัยชอบกลั่นแกล้ง ไม่สนุกบนความเดือดร้อนของคนอื่น แต่วิธีแก้ปัญหาระยะสั้นที่เริ่มทำและเห็นผลได้เลยคือ คนที่โดนกลั่นแกล้งต้องทำตัวให้สตรอง เฉยชาต่อการกลั่นแกล้ง ไม่ให้ผู้กระทำรู้สึกว่าเขากลั่นแกล้งเราได้ แค่นั้นเขาก็หมดสนุกและไม่อยากแกล้งเราแล้วล่ะ

15 January 2563

ที่มา ประชาชาติธุรกิจ

Posted By Nitayaporn/thongpet/kanchana/Maneewan

Views, 1481

 

Preset Colors