02 149 5555 ถึง 60

 

ยัดเยียด เรียนอนุบาลก่อนเกณฑ์ รักแท้พ่อแม่พ่นพิษ ผลักลูกเสี่ยง “โรคซึมเศร้า”

ยัดเยียด เรียนอนุบาลก่อนเกณฑ์ รักแท้พ่อแม่พ่นพิษ ผลักลูกเสี่ยง “โรค

รักแท้ของพ่อแม่เคลือบพิษ ยัดเยียด เรียนอนุบาลก่อนเกณฑ์ จากลูกไม่กินข้าว ผลักดันลูกป่วย "โรคซึมเศร้า" มรดกกรรมพันธุ์ จิตแพทย์เด็กชี้อย่าชะล่าใจ ปวดหัว ปวดท้องก็เป็นอาการหนึ่ง

รู้หรือไม่ ความรัก ความหวังดี รวมถึงการกระทำบางอย่างของพ่อแม่ที่รักลูกเสมอ นอกจากส่งไม่ถึงลูกแล้ว ยิ่งไปกว่านั้น ยังกลายเป็นการรังแกและผลักให้ลูกเป็น "โรคซึมเศร้า" (depression) โดยไม่รู้ตัวได้ง่ายๆ และมีโอกาสรุนแรง เรื้อรัง ถึงขั้นทำร้ายตัวเอง และคิด "ฆ่าตัวตาย" ได้

รักจากพ่อแม่กลายเป็นหอกทิ่มแทงให้ลูกป่วยเป็น “โรคซึมเศร้า” ได้อย่างไร ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ มีคำตอบจาก พญ.อัญชุลี ธีระวงศ์ไพศาล หรือ หมอแอร์ จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่นว่า “โรคซึมเศร้า” เป็นภัยเงียบที่น่ากลัว พ่อแม่อย่านิ่งนอนใจ อย่าคิดว่าเด็กไม่มีทางเป็น “โรคซึมเศร้า” ปวดหัว ปวดท้องก็เป็นอาการหนึ่ง

เด็กป่วยเป็นโรคซึมเศร้าได้ในทุกช่วงอายุ ตั้งแต่แบเบาะ หัดเดิน ก่อนเข้าโรงเรียนอนุบาล เรียนประถมฯ มัธยม จากประสบการณ์ให้คำแนะนำ ช่วยเหลือ รักษาเด็กป่วยโรคซึมเศร้า พบว่าส่วนมากเด็กเรียนในระดับอนุบาล ประถมศึกษา ป่วยเป็นโรคซึมเศร้าเป็นจำนวนมาก โดยอาการส่วนใหญ่อยู่ในช่วงแรกเร่ิมที่จะเป็น ยังไม่ถึงขั้นซึมเศร้ารุนแรง แต่สิ่งที่น่ากังวล คือ พ่อแม่ไม่รู้ว่าลูกป่วย และไม่ได้พามารักษา เนื่องจากเด็กเองก็ไม่รู้ ไม่สามารถบอกได้ว่าเป็นโรคซึมเศร้า

10 สัญญาณ “โรคซึมเศร้า” กรรมพันธุ์จากพ่อแม่

เด็ก คือวัยแห่งความบริสุทธิ์สดใส สนุก สนาน ร่าเริง พร้อมเรียนรู้สิ่งต่างๆ แต่หากวันหนึ่งเด็กมีลักษณะอาการตรงกันข้าม นั่นเป็นสัญญาณเตือนภาวะ "โรคซึมเศร้า" ลักษณะอาการที่พ่อแม่สามารถสังเกตได้ พญ.อัญชุลี ระบุ ดังนี้

1. ไม่ร่าเริงเหมือนแต่ก่อน

2. เก็บตัว ชอบแยกตัวจากทุกคน ไม่เว้นแต่พ่อแม่

3. อ่อนไหว ร้องไห้บ่อยโดยไม่มีสาเหตุ

4. หงุดหงิด โกรธ โมโหฉุนเฉียวง่าย

5. น้ำหนักลดหรือเพิ่มขึ้นมาก กินมากขึ้น จุ๊บจิ๊บทั้งวัน หรือกินน้อยลง

6. นอนไม่หลับ นอนหลับยาก หรือนอนทั้งวันมากไป

7. อ่อนเพลีย ไร้เรี่ยวแรง

8. กระวนกระวาย อยู่ไม่สุข หรือเชื่องช้าลง ไม่มีสมาธิ ทำสิ่งใดได้ไม่นาน

9. มีความสนใจในกิจกรรมต่างๆ ลดลง เคยชอบทำอะไรมากๆ กลับไม่ชอบ ไม่อยากทำ

10. มีอารมณ์ซึมเศร้า เห็นคุณค่าในตนเองน้อยลง พร่ำพูดถึงความตาย หรืออยากฆ่าตัวตาย

“เด็กแต่ละคนจะมีอาการแตกต่างกัน เพราะเด็กไม่สามารถบอกได้ว่าตัวเองซึมเศร้า ตัวเองไม่สบายใจ หรือเป็นทุกข์ บางคนก็ขี้น้อยใจ แต่พฤติกรรมอย่างหนึ่งที่เห็นได้ชัดเจน คือ การไม่ทำในสิ่งที่ชอบ เช่น เมื่อก่อนเคยชอบปั่นจักรยานทุกเย็นก็ไม่ชอบ ไม่ทำ พฤติกรรมแสดงให้รู้ว่าเริ่มมีอาการรุนแรง คือ ทำร้ายตัวเอง ดึงผม กัดเล็บ กรีดข้อมือ ทุบตีตัวเอง หรือมีความคิดฆ่าตัวตาย”

หมอแอร์ให้ความรู้ และอธิบายต่อว่าโรคซึมเศร้าเป็นโรคที่ไม่ใช่การเจ็บป่วยทางร่างกาย แต่เป็นโรคทางอารมณ์ชนิดหนึ่งที่เกิดจากสารเคมีเซโรโทนิน (Serotonin) ในสมองลดลง ส่งผลให้จิตใจหดหู่ มีอารมณ์ซึมเศร้ามากกว่าปกติ ติดต่อกันเกือบทั้งวันนานเกิน 2 สัปดาห์ โรคซึมเศร้าเกิดขึ้นได้จากหลายๆ สาเหตุ และสามารถเป็นได้โดยไม่รู้ตัว เพราะฉะนั้นพ่อแม่จึงควรหมั่นดูแลตัวเอง และลูก เพราะโรคซึมเศร้าเป็นกรรมพันธุ์ ถ่ายทอดคนในครอบครัวได้ด้วย

พ่อแม่รังแกฉัน ผลักดันลูกป่วย "โรคซึมเศร้า" โดยไม่รู้ตัว

ปัจจัยอื่นที่เป็นสาเหตุของโรคซึมเศร้าในเด็ก หมอแอร์ระบุ คือ สาเหตุทางจิตใจ ซึ่งพ่อแม่บางคนทำร้ายลูกโดยไม่รู้ตัว จากการเลี้ยงดูที่เข้มงวดมากจนเกินไป ใช้ความรุนแรงทั้งคำพูดและการกระทำ รวมถึงการถูกละเลยหรือขาดความอบอุ่น ไม่ได้รับการเอาใจใส่จากคนในครอบครัว นอกจากนี้ความเครียด ความกดดัน จากการเรียน หรือผลการเรียนไม่เป็นไปตามที่ตัวเอง หรือพ่อแม่คาดหวังก็ส่งผลให้เกิดภาวะโรคซึมเศร้าได้

“โรคซึมเศร้าเกิดได้ในหลายสาเหตุ เด็กที่อยู่ในสิ่งแวดล้อมเครียด พอ่แม่ทะเลาะตบตีกันทุกวัน เด็กที่ถูกทารุณกรรม ถูกทุบตี ถูกใช้อารมณ์ในการเลี้ยงดู หรือถูกล่วงละเมิดทางเพศ รวมถึงเด็กที่ถูกพ่อแม่ยัดเยียดให้เรียนหนังสือมากเกินไป เพราะกลัวลูกเรียนไม่เก่ง เด็กจะเกิดความเครียดก็ทำให้เกิดเป็นโรคซึมเศร้าได้”

หลักป้องกัน “โรคซึมเศร้า” ในเด็ก ก่อนสาย โตเป็นผู้ใหญ่คิด “ร้ายๆ”

นอกจากนี้ หมอแอร์ ชี้ผลกระทบเพิ่มเติมกับเด็กตั้งแต่แบเบาะจนถึงระดับอนุบาล หากป่วยเป็น “โรคซึมเศร้า” ที่มีอาการเครียดต่อเนื่องยาวนานอย่างน้อย 2 อาทิตย์ เมื่อเครียดมากๆ สมองจะหลั่งสารบางอย่าง ทำให้เซลล์สมองฝ่อ ส่งผลต่อพัฒนาการล่าช้า ความจำไม่ดี ส่งผลกระทบต่อการเรียน หากเด็กไม่ได้รับการรักษาจะส่งผลระยะยาวป่วยซึมเศร้าเรื้อรัง ทุกด้านจะแย่ลงๆ พัฒนาไปเป็นผู้ใหญ่ที่มีบุคลิกภาพมองโลกในแง่ลบ แต่หากได้รับการช่วยเหลือ แก้ไข ปรับสิ่งแวดล้อม ได้รับการรักษาเร็ว เด็กก็หายจากโรคซึมเศร้าได้

พ่อแม่ที่กำลังคิดว่าลูกเป็นโรคซึมเศร้า ควรปรับทัศนคติตัวเอง เพราะคนไทยยังรู้สึกปิดกั้น ไม่ยอมรับ จากนั้นรีบพาลูกไปปรึกษาจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่นซึ่งเป็นวิธีที่ดีที่สุด เนื่องจากอาการของโรคซึมเศร้าแต่ละคนแตกต่างกัน บางกรณีจำเป็นต้องรักษาโดยการใช้ยา การไปพบจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น จะช่วยให้ได้รับการรักษาที่เหมาะสม และได้รับคำแนะนำที่ถูกต้องทั้งเด็กและพ่อแม่ในการปฏิบัติตัวระหว่างรับการรักษาด้วย

“จริงๆ ปัญหาด้านสุขภาพจิต ทางอารมณ์ จิตใจ เป็นการเจ็บไข้ได้ป่วยอย่างหนึ่ง บางครั้งลูกอาจแค่เครียด กังวล หรือไม่มั่นใจตัวเอง อาจไม่เป็นโรคซึมเศร้า การมาพบจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น ได้รับการปรับ แก้ไข รักษาเร็ว ก็จะหายเร็วด้วย หากผู้ปกครองเข้าใจ เด็กบางคนหายแล้วกลับดีขึ้นกว่าเดิม เพราะเข้าใจโลก เข้าใจตัวเอง มีทัศนคติบวกกับตัวเองมากขึ้น ทำให้ชีวิตเปลี่ยนไป สมองพัฒนาการทันเพื่อน กลับมาเรียนเก่ง เข้าสังคมได้เหมือนเดิม ทำให้เขาเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีสุขภาพจิตดี มีความสุขในชีวิต”

อย่าชะล่าใจอาการป่วยทางกาย ส่อเค้า “โรคซึมเศร้า” ภัยเงียบที่น่ากลัว

จากประสบการณ์จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่นมาหลายสิบปี หมอแอร์ เผยการรักษาโรคซึมเศร้าในเด็กที่เป็นภัยเงียบจากที่เคยให้การรักษา พบเด็กบางคนมาด้วยอาการปวดหัว ปวดท้อง แขนขาอ่อนแรง มีอาการเหมือนโรคลมชัก ซึ่งอาการเหล่านี้เป็นอาการอย่างหนึ่งของโรคซึมเศร้า และเด็กซึมเศร้ามานาน แต่พ่อแม่ไม่รู้ ไม่ยอมรับจนอาการพัฒนาไปด้านร่างกาย เจ็บป่วย ไม่สบาย รักษาร่างกายไม่หาย เมื่อส่งมารักษาจิตแพทย์เด็ก พบมีอาการของโรคซึมเศร้า เมื่อได้รับการรักษาโรคซึมเศร้า อาการทางกายก็หายปลิดทิ้ง

การช่วยเหลือ และป้องกัน ไม่ให้เด็กเป็น “โรคซึมเศร้า” ทำได้ไม่ยาก หมอแอร์ให้คำแนะนำว่า พ่อแม่ต้องเลี้ยงลูก 3 ด้าน” คือ 1. ให้ร่างกายแข็งแรง 2. จิตใจเข้มแข็ง รักตัวเอง 3. ให้มีความรู้ ความคิด แยกแยะผิดชอบชั่วดี ซึ่งทำได้โดยสื่อสารด้วยหัวใจ 3 ขั้นตอน คือ เปิดใจ เข้าใจ รับฟัง เพราะเด็กเป็นโรคซึมเศร้าได้ การเลี้ยงดุ สิ่งแวดล้อมมีส่วนสำคัญกับชีวิตเด็กมากๆ ในยุคนี้ที่เป็นสังคมก้มหน้า ให้เวลาโลกโซเชียลมากเกิน

รักมากไปคือทำลาย จากลูกกินยาก ไม่ยอมกินข้าว กลายเป็น "โรคซึมเศร้า"

อีกทั้งพ่อแม่ ควรปรับพฤติกรรม มีเวลาใส่ใจ พูดคุย ทำกิจกรรมลูกมากขึ้น แสดงออก โอบกอด หอม ลูบหัวด้วยท่าทีอบอุ่น ห่วงใย ให้ความรักและกำลังใจ รับฟังความรู้สึกของลูก เลี้ยงดูลูกไปตามพัฒนาการแต่ละวัย โดยไม่นำไปเปรียบเทียบกับลูกคนอื่น เพราะเด็กแต่ละคนไม่เหมือนกัน ซึ่งจริงๆ แล้ว เด็กมีความเก่งในตัว แต่พ่อแม่ต่างหากไม่รู้ว่าลูกเก่งด้านใด อย่าวัดความเก่งของลูกเฉพาะด้านการเรียนเพียงอย่างเดียว

สิ่งสำคัญพ่อแม่ อย่ากดดัน คาดหวัง บีบคั้น บังคับลูกเพราะนั่นเป็นหนทางให้ลูกป่วยเป็น “โรคซึมเศร้า” โดยหมอแอร์ยกกรณีตัวอย่างของการรักษาเด็กอนุบาลรายหนึ่งว่า มารักษาด้วยปัญหากินยาก ไม่ยอมกินข้าว น้ำหนักลดจนผอม ตรวจอย่างละเอียดพบว่าเป็นโรคซึมเศร้า สาเหตุจากถูกพ่อดุ บังคับให้กินข้าว เมื่อไม่กินข้าวก็ถูกตี เด็กต้องฝืนกินแล้วอ้วก หรือไม่กินข้าว

หลังได้รับการรักษาโดยไม่ให้กินยา เพียงแค่ปรับตัวทั้งสองฝ่าย โดยให้พ่อแม่มีความรู้ความเข้าใจในพัฒนาการเด็ก และปรับพฤติกรรมเด็กให้เหมาะสม หลังพ่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมได้ ทำให้ครอบครัวกลับมามีความสุข เพราะพ่อรู้และเข้าใจแล้วว่า ความรักที่มีให้ลูกอย่างท่วมท้นนั้นคือสิ่งที่กำลังทำร้าย รังแกลูก

“เด็กเล็กเรียนรู้ผ่านการเล่น พ่อแม่ยังเข้าใจผิด บังคับลูก เรียนก่อนเกณฑ์ทั้งๆ ที่พัฒนาการยังไม่พร้อม จับเด็กไปอยู่ห้องสี่เหลี่ยม ให้ฝึกคัดลายมือ ให้อ่าน ให้เขียน มันเร็วเกินไป และเต็มไปด้วยคาดหวัง เพราะเสียเงินจำนวนมากแล้ว ต้องอ่านออก เขียนได้ สร้างความกดดันให้เด็ก ระบบการสอบเข้าเรียนอนุบาล กำลังทำร้ายเด็ก ทำให้เด็กเครียด เด็กที่สอบไม่ได้ก็กลายเป็นตราบาป เป็นเด็กโง่ ไม่เก่ง ในประเทศที่พัฒนาแล้วไม่มีการสอบเข้า เมื่อเด็กเครียดมากๆ ก็พัฒนาเป็นโรคซึมเศร้า” พญ.อัญชุลี ธีระวงศ์ไพศาล กล่าวทิ้งท้าย

ภัยเงียบของ “โรคซึมเศร้าในเด็ก” อันตรายกว่าที่คิด เด็กจะมีโลกที่สดใส สวยงามอย่างไร อยู่ที่ พ่อ แม่ สร้างให้เพราะฉะนั้นพ่อแม่จงอย่ารักลูกอย่างพอดี อย่าทำร้ายลูกทางอ้อมเพราะความรักที่มากล้น ควรสร้างสุขภาวะทางจิตให้ลูกร่าเริงแจ่มใสสมวัย เพื่อครอบครัวทีสุขสันต์

15 January 2563

ที่มา ไทยรัฐ

Posted By Nitayaporn/thongpet/kanchana/Maneewan

Views, 3061

 

Preset Colors