02 149 5555 ถึง 60

 

อย่าพะวง‘ไวรัสอู่ฮั่น จนละเลย‘ไวรัสใจ

อย่าพะวง‘ไวรัสอู่ฮั่น’ จนละเลย‘ไวรัสใจ’ !/

คุณเคยติดตามข่าวสารจน “เครียด” บ้างไหม ?

คุณคย “จิตตก” เมื่อคิดว่าเรื่องนั้นๆ อาจเกิดกับคุณหรือเปล่า?

ถ้าคุณเป็นมนุษย์ที่อ่อนไหวต่อสถานการณ์รอบข้างเสมอ และมักชอบวิตกกังวล จิตตก และต้องติดตามเรื่องนั้นๆ ตลอดเวลา จนส่งผลให้เกิดภาวะความเครียดแล้วล่ะก็ - ไม่ดีแน่ค่ะ

ช่วงนี้ผู้คนเข้าสู่ห้วงความเครียดมากขึ้นๆ แบบทั้งที่รู้ตัวและไม่รู้ตัว หลังจากที่ต้องเผชิญปัญหามากมายในการเสพข่าวสารที่ประสบปัญหากันมากมายจากทั่วโลก

เริ่มต้นปีชวดด้วยข่าวไฟไหม้ป่าที่ออสเตรเลีย ภาวะตึงเครียดระหว่างสหรัฐกับอิหร่าน แผ่นดินไหวที่ตุรกีฝุ่นพิษ PM2.5 ในบ้านเรา ฯลฯ

และล่าสุดก็เรื่องไวรัสโคโรนาที่อู่ฮั่น!

เรียกว่าช่วงนี้ผู้คนต่างตกอยู่ในสภาวะอารมณ์ร่วมกัน ต้องพยายามหาทางป้องกันตัวเองจากสารพัดปัญหา โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องไวรัสโคโรนาที่อู่ฮั่น ถึงขนาดต้องตามติดความเคลื่อนไหวผ่านช่องทางทุกสื่อ ซึ่งบางสื่อก็กลายเป็น Fake News เสียอีก

ความวิตกกังวลแผ่ซ่านไปทั่ว บางคนไม่กล้าออกไปไหน เก็บตัวอยู่กับบ้าน บางคนที่ทำการค้าก็ถึงขนาดปิดชั่วคราว บางคนจมปลักอยู่กับการติดตามข่าวสาร เพราะกลัวว่าจะตกข่าว และอาจมีภัยได้

บางคนกลัวว่าภัยจะมาถึงตัว ถึงขนาดแสดงความรังเกียจผู้อื่นอย่างน่าเกลียดหรือเกือบ ๆ จะน่าเกลียด เพียงเพราะคิดว่าผู้นั้นมีความเสี่ยง ฯลฯ

เวลาจะเดินทางไปไหนก็จะระมัดระวังตัวเองใส่หน้ากากอนามัย และมักแสดงความหงุดหงิดทุกครั้งเวลาเห็นผู้คนที่มีความเสี่ยงและไม่ใส่หน้ากากอนามัย ได้ยินคนไอคนจามทีก็ขวัญผวา

ปัญหาเหล่านี้ล้วนแต่สร้างความเครียดให้กับผู้คน

เพราะเป็นห่วงว่าผลกระทบนั้นอาจกระทบกับสุขภาพ “กาย” แต่แท้จริงแล้ว ลืมคำนึงไปว่าภาวะแห่งความตึงเครียดนั่นแหละที่ส่งผลต่อสุขภาพ “ใจ” ด้วย

อ้างอิงความเครียดตามทฤษฎีของมิลเลอร์และคีนส์(Miller & Keane) ได้แบ่งประเภทของความเครียดเป็น 2 ชนิด

หนึ่ง - ความเครียดทางร่างกาย (Physical Stress) หมายถึง เหตุการณ์ที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงทางสภาพร่างกายแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือความเครียดชนิดเฉียบพลัน (Emergency Stress)เป็นสิ่งคุกคามชีวิตที่เกิดขึ้นทันทีทันใดเช่น การได้รับบาดเจ็บ การเกิดอุบัติเหตุฯลฯและความเครียดชนิดต่อเนื่อง (Continuing Stress) เป็นสิ่งคุกคามชีวิตที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องเช่น การเปลี่ยนแปลงของร่างกายในวัยต่าง ๆ การเจ็บป่วยเรื้อรัง เป็นต้น

สอง - ความเครียดทางด้านจิตใจ (Psychological Stress) หมายถึง สถานการณ์ที่เป็นผลกระทบให้เกิดความคับข้องใจและขัดแย้งในจิตใจเป็นปฏิกิริยาตอบสนองที่เกิดขึ้นทันทีทันใดเมื่อคิดว่าจะเกิดอันตราย

และความเครียดก็มีระดับด้วย

ระดับแรก เป็นความเครียดขั้นต้นที่ทุกคนก็มีความเครียดด้วยกันทั้งนั้น เป็นความเครียดในชีวิตประจำวัน ยังไม่ก่อให้เกิดอาการใดๆ

ระดับที่สอง เป็นความเครียดระดับปานกลาง ความเครียดระดับนี้จะส่งผลต่อร่างกาย เช่น ปวดหัว นอนไม่หลับ กินข้าวไม่ลง ฯลฯ ซึ่งเป็นการส่งผลต่อร่างกายโดยตรง

ระดับที่สาม เป็นความเครียดระดับสูง กรณีนี้จะส่งผลกระทบต่อจิตใจด้วย เป็นผลสืบเนื่องจากกระทบทางกายและส่งผลมาถึงจิตใจ เริ่มตัดพ้อ แยกตัว ไม่อยากสุงสิงกับใคร บางคนถึงขั้นภาวะซึมเศร้า

ฉะนั้น เมื่อเกิดความเครียดก็ต้องรีบจัดการกับภาวะความเครียดตั้งแต่ระดับเริ่มต้นให้ได้ก่อน

กรณีที่เมื่อเกิดภาวะความเครียดแล้ว ไม่สามารถจัดการกับตัวเองได้ ก็มีความจำเป็นที่จะต้องมีตัวช่วย หรือไปพบแพทย์

ต้องยอมรับว่าสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงนี้ ส่งผลกระทบที่ทำให้เกิดภาวะความเครียดกันได้อย่างมาก คนที่สามารถรับมือกับปัญหา ก็สามารถจัดการกับความเครียดได้ แต่สำหรับบางคนที่ไม่สามารถจัดการกับความเครียดได้ ก็มีความจำเป็นที่จะต้องได้รับความช่วยเหลือ ซึ่งคนในครอบครัวก็ควรจะต้องสังเกตสมาชิกในครอบครัว และดูแลในเบื้องต้น เมื่อเห็นสถานการณ์ไม่ดี ก็ควรจะต้องมี “ตัวช่วย” ด้วย

ประการแรก- รับข้อมูลอย่างมีสติ

เป็นเรื่องที่ต้องมีการพูดคุยกันในครอบครัว เพราะในช่วงที่เกิดเหตุการณ์วิกฤตเรื่องใดเรื่องหนึ่ง หรือแม้แต่มีเหตุการณ์วิกฤตซ้อนวิกฤตในช่วงนี้ มักจะมีข่าวลือและข่าวปลอมเกิดขึ้นมากมาย จึงเป็นเรื่องที่ต้องระมัดระวังในการเสพรับข้อมูลข่าวสาร ต้องมีสติในการรับข้อมูล และเช็คที่มาของข้อมูลด้วยว่าถูกต้องหรือไม่ มิใช่รับข้อมูลทุกช่องทางและเลือกที่จะเชื่อ หรือเชื่อทั้งหมดโดยไม่แยกแยะ

ประการที่สอง - ไม่ต้องติดตามตลอดเวลา

การรับข้อมูลตลอดเวลา เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดความวิตกกังวล และนำไปสู่ความเครียด ควรจะทำกิจกรรมอื่นๆ โดยไม่ต้องติดตามสถานการณ์ตลอดเวลาก็ได้ ยิ่งถ้าคุณเป็นคนที่มีภาวะความเครียดง่าย ยิ่งควรหลีกเลี่ยงการติดตามข่าวสารหรือข้อมูลตลอดเวลา

ประการที่สาม - ตรวจสอบข้อมูลก่อนแชร์

ท่ามกลางสถานการณ์คุกรุ่น การได้รับข้อมูลมากมายผ่านสารพัดช่องทาง โดยเฉพาะอย่างยิ่งทางโซเชียลมีเดียควรจะเช็คด้วยว่าเป็นข้อมูลที่มีที่มาหรือไม่ ถ้าไม่มีที่มาก็สันนิษฐานไว้ก่อนว่ายังไม่น่าเชื่อถือ ไม่ควรจะแชร์ข้อมูลนั้นต่อและถ้าจะให้ดี ควรหยุดคิดสักนิดว่าการแชร์ข้อมูลนั้นๆ เกิดประโยชน์หรือไม่ หรือไปช่วยเพิ่มความวิตกกังวลเข้าไปอีก

สี่ - รู้เท่าทันสื่อ

ถือโอกาสท่ามกลางวิกฤตของสารพัดสถานการณ์ โลกโซเชียลมีเดียส่งผลอย่างมากในกลุ่มเด็กรุ่นใหม่ เพราะฉะนั้นพ่อแม่ผู้ปกครองอาจถือโอกาสนี้ในการสอนให้ลูกรู้เท่าทันสื่อด้วย ให้รู้ว่าจะแยกแยะอย่างไร ไหนข่าวเท็จ ข่าวจริง ข่าวลวง โดยอาจจะยกตัวอย่างจากสถานการณ์ปกติก็ได้ เช่น ชวนพูดคุยเรื่องโฆษณา เพื่อให้เขาเห็นว่าการโฆษณาก็หลอกได้ โลกของข่าวสารก็มีทั้งข้อมูลเท็จข้อมูลจริง และข้อมูลที่ทำร้ายกันก็ได้ สิ่งสำคัญคือต้องฝึกให้ลูกตั้งคำถาม และไม่หลงเชื่อทันที ควรสอนให้วิเคราะห์ให้เป็น ไม่ตกเป็นเครื่องมือของใครแต่ข้อสำคัญที่สุดคือพ่อแม่ ผู้ปกครองก็ควรรู้เท่าทันสื่อก่อนด้วย

ห้า - ปรับวิกฤตเป็นโอกาส

ถือโอกาสปรับวิกฤตเป็นโอกาสในการสร้างการเรียนรู้ร่วมกันในครอบครัวจากสถานการณ์จริง ยกตัวอย่างเช่น สถานการณ์ไวรัสโคโรนาอู่ฮั่น อาจจะชวนคุยว่าลูกรู้สึกอย่างไรกับเหตุการณ์นี้ และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างกัน ซึ่งสามารถสอดแทรกเรื่องการดูแล และป้องกันตัวเองอย่างไร หรือตัวอย่างฝุ่น PM2.5 อาจชวนคุยว่ามันเกิดขึ้นได้อย่างไรผลที่ตามมาจะเป็นอย่างไร และมันจะแก้ไขได้อย่างไร เรียกว่าเป็นการชวนกันคิดชวนกันคุย เพื่อให้ลูกเห็นภาพ และจะเป็นการดีด้วย เพราะเราอาจได้เห็นมุมมองที่คาดไม่ถึงของเด็กก็ได้

หก- หาทางผ่อนคลายให้ตัวเอง

ถ้าสมาชิกในครอบครัวตกอยู่ในสภาวะความเครียดแล้ว ก็จำเป็นที่จะต้องหาทางช่วยเหลือทางใดทางหนึ่ง เพื่อให้รู้สึกผ่านคลาย ต้องเริ่มจากสมาชิกในครอบครัวมองเห็นปัญหา ก็จะได้เข้าไปช่วยเหลือได้ทันท่วงที

สารพัดปัญหาในช่วงเวลานี้ จำเป็นที่เราต้องดูแลสุขภาพทั้ง “กาย” และ “ใจ” ของคนที่เรารักอย่างใกล้ชิด เพราะร่างกายและจิตใจมีความสัมพันธ์กัน แม้เราจะรอดพ้นจาก “โรคภัยไข้เจ็บ” ก็จริง

7 February 2563

ที่มา ผู้จัดการ ออนไลน์

Posted By Nitayaporn/thongpet/kanchana

Views, 831

 

Preset Colors