02 149 5555 ถึง 60

 

วัยรุ่น 2020 รู้จักป้องกันท้อง ป้องกันโรค

วัยรุ่น 2020 รู้จักป้องกันท้อง ป้องกันโรค

สถานการณ์สุขภาวะทางเพศวัยรุ่นยังน่าห่วง พบป่วย 5 โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ 124.6 ต่อประชากรแสนคน

กรมควบคุมโรค กรมอนามัย สสส. P2H Access ชี้สถานการณ์สุขภาวะทางเพศวัยรุ่นยังน่าห่วง พบป่วย 5 โรคติดต่อทางเพศ 124.6 ต่อประชากรแสนคน ด้าน 1663 เผยเหตุผู้หญิงมักไว้ใจคนรัก ขณะที่ชายจำนวนหนึ่งรับไม่ได้มีคู่แค่คนเดียวเสี่ยงติดโรค เร่งสร้างทัศนคติใหม่ ส่งเสริมใช้ถุงยางอนามัย

ศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ สสส. กรมควบคุมโรค กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) มูลนิธิแพธทูเฮลท์ (P2H) มูลนิธิเข้าถึงเอดส์ (Access) และสถาบันยุวทัศน์แห่งประเทศไทย จัดงานแถลงข่าวส่งเสริมการมีสุขภาวะทางเพศ “วัยรุ่น 2020 รู้จักป้องกันท้อง ป้องกันโรค” เนื่องในวันถุงยางอนามัยสากล (International Condom Day 2020) โดยมีการเสวนาสถานการณ์สุขภาวะทางเพศ พร้อมเปิดตัวสื่อรณรงค์สร้างเสริมสุขภาวะทางเพศในกลุ่มวัยรุ่น

พญ.มณฑินี วสันติอุปโภคากร รองผู้อำนวยการกองโรคเอดส์ และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า สถิติปี 2562 พบเยาวชนอายุ 15 – 24 ปี ป่วยด้วยโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ 5 โรคได้แก่ หนองใน ซิฟิลิส หนองในเทียม แผลริมอ่อน และกามโรคของต่อมและท่อน้ำเหลือง สูงถึง 124.6 ต่อประชากรแสนคน หากแยกรายโรคพบว่า โรคหนองในสูงถึง 69.7 และซิฟิลิส สูงถึง 39.3 ต่อประชากรแสนคน ตามลำดับ ส่วนอัตราการคลอดของแม่วัยรุ่น ที่แม้ขณะนี้เริ่มมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง

แต่เมื่อเทียบกับประเทศที่มีระดับการพัฒนาที่ใกล้เคียงกัน การคลอดของวัยรุ่นไทยก็ยังคงอยู่ในอัตราที่สูง โดยพบอัตราการคลอดในวัยรุ่นอายุ 15 – 19 ปี เท่ากับ 35 ต่อจำนวนประชากรหญิง 1,000 คน กรมควบคุมโรคจึงพัฒนาร่างยุทธศาสตร์ด้านถุงยางอนามัย พ.ศ. 2563 - 2573 ภายใต้ยุทธศาสตร์แห่งชาติว่าด้วยการยุติปัญหาเอดส์ พ.ศ. 2560-2573

โดยขับเคลื่อนการดำเนินงานผ่านยุทธศาสตร์ 5 ยุทธศาสตร์ ได้แก่ (1) การส่งเสริมให้การใช้ถุงยางอนามัย เป็นวิถีชีวิตประจำวันของประชาชน (2) การส่งเสริมให้ประชาชนสามารถเข้าถึงถุงยางอนามัย (3) การพัฒนาระบบบริหารจัดการและควบคุมคุณภาพถุงยางอนามัย (4) การพัฒนานโยบายและเสริมสร้างกลไกการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ถุงยางอนามัย และ (5) การควบคุม กำกับ ติดตาม และประเมินผลยุทธศาสตร์ถุงยางอนามัย

นายชาติวุฒิ วังวล ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ สสส. กล่าวว่า สสส. ขับเคลื่อนงานสร้างเสริมสุขภาวะทางเพศ เพราะประเด็นด้านสาธารณสุขพื้นฐานที่ต้องให้ความสำคัญ ซึ่งที่ผ่านมา สสส. พัฒนาจังหวัดต้นแบบขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น โดยประสานกับคณะทำงานท้องวัยรุ่นจังหวัด จัดทำหลักสูตรพัฒนาผู้นำเยาวชนในการเป็นผู้พิทักษ์สิทธิ ตามมาตรา 5 ของ พ.ร.บ.การป้องกันและแก้ไขการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น พ.ศ.2559 โดยทำงานกับเยาวชน มีการพัฒนาชุดความรู้การสร้างเสริมสุขภาวะทางเพศ

โดยประสานกับชุมชน ท้องถิ่นและโรงเรียน มีระบบพัฒนาทักษะผู้ปกครองให้สามารถสื่อสารเชิงบวกกับบุตรหลานในเรื่องเพศได้ โดยประสานกับพ่อแม่ผู้ปกครอง และสถานประกอบการ อีกทั้งยังมีการสื่อสารรณรงค์ในระดับประเทศเพื่อสร้างความรับรู้ใหม่ในประเด็นเรื่องเพศและการติดเชื้อเอชไอวี ซึ่งต้องเร่งดำเนินการรับมือให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมที่รวดเร็ว

นางสาวพรนุช สถาผลสวัสดิ์ ผู้จัดการโครงการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น กรุงเทพมหานคร มูลนิธิแพธทูเฮลท์ กล่าวว่า ทางมูลนิธิแพธฯ ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน โรงเรียนในสังกัดกรุงเทพมหานคร สสส. และภาคีเครือข่าย เผยแพร่หลักสูตร e-Learning เพศวิถีศึกษาให้ครูผู้สอน ร่วมกับการทำงานเชิงรุกกับผู้บริหารสถานศึกษาในเขตกรุงเทพมหานคร เพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงทางนโยบาย โดยส่งเสริมให้มีการเรียนการสอนเพศวิถีศึกษา 16 คาบ/ปี อาทิ สอนให้นักเรียนรู้จักความสัมพันธ์รูปแบบต่างๆ

รู้จักสังเกตความเปลี่ยนแปลงทางร่างกายและจิตใจ รู้จักวิธีป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์และตั้งครรภ์ รู้จักช่องทางการเข้าถึงบริการสุขภาพที่พึงได้รับตามสิทธิ รวมถึงสร้างความเข้าใจกับสมาคมผู้ปกครอง แต่ทั้งหมดยังมีอุปสรรคเรื่องทัศนคติของผู้ใหญ่ ครูและพ่อแม่หลายคนไม่เข้าใจธรรมชาติของเด็ก มีความพยายามยับยั้งการมีแฟนมีความรัก ทั้งที่เป็นเรื่องธรรมชาติ ขณะที่หลายโรงเรียนให้ความสำคัญกับการสอบแข่งขันมากกว่าการสอนทักษะที่จำเป็นในการใช้ชีวิตอย่างมีสุขภาวะที่ปลอดภัย ทำให้เด็กขาดภูมิคุ้มกันดูแลตัวเอง

นายสมวงศ์ อุไรวัฒนา รองผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ (Access) และผู้รับผิดชอบโครงการสายด่วนปรึกษาเอดส์และท้องไม่พร้อม 1663 กล่าวว่า สถิติจากสายด่วน 1663 ปี 2562 พบว่าร้อยละ 80 ของผู้ที่โทรศัพท์เข้ามาขอคำปรึกษาเพราะกังวลเรื่อง HIV/ AIDs เป็นเพศชาย มีอายุระหว่าง 25-45 ปี ซึ่งมากกว่าเพศหญิงซึ่งยังไม่ได้กังวลเรื่องโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ และทั้งเพศหญิงและชายมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ใช้ถุงยางอนามัย เพราะไว้ใจคู่รัก และน่ากังวลยิ่งขึ้นเมื่อพบว่าเพศชายที่โทรมาจำนวนหนึ่งมีคู่นอนหลายคนและไม่พร้อมเปิดเผยความเสี่ยงกับคู่รักของตนเอง

นอกจากนี้สถิติยังพบเพศหญิงวัยทำงานร้อยละ 70 และเพศหญิงอายุต่ำกว่า 20 ปี ร้อยละ 30 โทรเข้ามาขอคำปรึกษาเรื่องการตั้งครรภ์ไม่พร้อม อันเป็นผลมาจากการมีเพศสัมพันธ์แบบไม่ป้องกัน ทั้งหมดนี้จึงเป็นที่มาของการรณรงค์ส่งเสริมให้คนทุกเพศทุกวัย โดยเฉพาะวัยรุ่นมีความรับผิดชอบ พกและใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์ เพื่อป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์และตั้งครรภ์ไม่พร้อม

14 February 2563

ที่มา โพสต์ทูเดย์

Posted By Nitayaporn/thongpet/kanchana

Views, 2934

 

Preset Colors