02 149 5555 ถึง 60

 

เทคนิคดู แผนที่โควิด-19 รู้ให้ถูกจุดถึงจะรอด!!!

เทคนิคดู แผนที่โควิด-19 รู้ให้ถูกจุดถึงจะรอด!!!

จากการที่กรมควบคุมโรค (คร.) กระทรวงสาธารณสุข จะจัดทำ "แผนที่แสดงจำนวนผู้ป่วยโควิด-19 ในแต่ละพื้นที่" ทั้งกรุงเทพมหานคร (กทม.) และต่างจังหวัด ให้สามารถประเมินความเสี่ยงตัวเองได้ และไม่ใช่ "แผนที่แส้นทางเดินทางของผู้ป่วย"!!!

นายแพทย์ธนรักษ์ ผลิพัฒน์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค อธิบายว่า ความเสี่ยงที่เราจะติดเชื้อ พิจารณาจาก 2 ส่วน คือ 1.ชีวิตประจำวันของเรา สัมผัสใกล้ชิดกับคนอื่นมากน้อยแค่ไหน ถ้าทุกวันทำงานกับคนจำนวนมากเป็นร้อยคน ก็จะเสี่ยงมากว่าคนที่ทำงานอยู่บ้าน หรือคนไม่ออกจากบ้านเลย ความเสี่ยงแทบเป็นศูนย์ และ 2.คนที่เราไปเจอ มีโอกาสเป็นผู้ป่วยมากน้อยแค่ไหน การที่เราบอกว่า แต่ละพื้นที่พบผู้ป่วยมากน้อยแค่ไหนแล้ว จะช่วยให้เราสามารถประเมินตัวเองได้ว่า ในพื้นที่ในเขตแถวบ้านเรามีผู้ป่วยประมาณเท่าไร จะได้มาประเมินตัวเองได้ว่ามีความเสี่ยงมากน้อยแค่ไหน และพิจารณาว่าจะลดความเสี่ยงของตัวเราเองหรือไม่

"การทำแผนที่ว่าพื้นที่ไหนมีผู้ป่วยมากน้อยแค่ไหน ไม่ได้ทำเพื่อให้ตกใจ แต่เพื่อให้รู้ความเสี่ยงและจัดการความเสี่ยงที่เหมาะสม ถ้าสมมติวันนี้แถวบ้านเราเพิ่งเจอผู้ป่วยคนเดียว แล้วแต่ละวันเราเจอคนแค่ 1-2 คนเท่านั้น ความเสี่ยงเราต่ำมาก ถ้าอาชีพเราเจอคนเป็นร้อยเป็นพัน และเขตบ้านเรามีผู้ป่วยแล้วหลักพัน หลักหมื่นคน แสดงว่าโอกาสเจอผู้ป่วยจะสูงขึ้นตาม ก็ต้องพิจารณาว่าจะลดเสี่ยงได้อย่างไร” นายแพทย์ธนรักษ์ กล่าว

การจัดทำแผนที่พื้นที่แสดงจำนวนผู้ป่วยโรคโควิด-19 เพื่อเป็นการสร้างความตระหนักให้แก่ประชาชนในการดูแลตัวเอง เพราะความเสี่ยงของแต่ละคนไม่เท่ากัน และธรรมชาติในการใช้ชีวิตประจำวันไม่เหมือนกัน เนื่องจากการสัมผัสใกล้ชิดผู้คน และการไปอยู่ในแต่ละพื้นที่ไม่เหมือนกัน ฉะนั้น แผนที่ดังกล่าวจะเป็นการช่วยให้ทุกคนประเมินตัวเองว่าแถวบ้านของเรามีความเสี่ยงมากน้อยขนาดไหน มีโอกาสในการติดเชื้อมากน้อยขนาดไหน และสิ่งที่ทุกคนต้องทำคือ การปฎิบัติตัวในการป้องกันตัวเอง เช่น ถ้าไม่จำเป็นก็อย่าไปพบปะผู้คนให้มากนัก ถ้าต้องเจอจริงๆ จะป้องกันตัวเอง สวมหน้ากากผ้า ล้างมือบ่อยๆ อย่าเอามาโดนใบหน้า กินร้อน ช้อนกลางหรือช้อนตัวเองก็ทำได้ อย่างไรก็ตาม “แผนที่แสดงจำนวนผู้ป่วยในพื้นที่” ไม่ใช่ “แผนที่แสดงเส้นทางการเดินทางของผู้ป่วย” ซึ่งมีความต่างกัน แผนที่จำนวนผู้ป่วยในพื้นที่จะแสดงว่าในพื้นที่หรือจุดๆนั้นมีผู้ป่วยมากน้อยแค่นั้น ส่วนแผนที่เส้นทางผู้ป่วย จะแสดงว่าผู้ป่วย 1 คน เคยเดินทางไปในสถานที่ใดมาบ้าง ในส่วนนี้จะมีประโยชน์ต่อทีมสอบสวนโรคเพื่อตามไป”ตะครุบ”ผู้สัมผัสผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงสูงให้ทันและเร็วที่สุด เพื่อป้องกันไม่ให้มีการแพร่เชื้อต่อไป

แต่สำหรับประชาชนทั่วไป การรับรู้แผนที่เส้นทาง เพื่อหลีกเลี่ยงที่จะไม่ไปในสถานที่นั้นๆ ทั้งที่สถานที่ต่างๆที่ผู้ป่วยเคยไป ได้รับการทำความสะอาดและฉีดพ่นฆ่าเชื้อแล้ว อาจไม่ได้มีนัยยะต่อการช่วยป้องกันการติดโรค มากไปกว่า “การมีพฤติกรรมส่วนบุคคลที่จะป้องกันตัวเองหรือไม่แพร่เชื้อ”

กลับกันจะสร้างความเดือดร้อนและกระทบต่อคนที่อยู่ในสถานที่ต่างๆตามเส้นทางนั้น ทั้งที่ สถานที่นั้นไม่ได้มีความผิดอะไรเลย เพราะหากรู้ “สถานที่”ที่ผู้ป่วยเคยไป แล้วคนไม่ไปสถานที่แห่งนั้น ขณะที่คนยังมีพฤติกรรมเสี่ยงต่อการติดเชื้อหรือแพร่เชื้อ แล้วไปในสถานที่อื่น ก็ยังมีโอกาสติดเชื้อและแพร่เชื้อเช่นเดิม

ยกตัวอย่าง รู้ว่าร้านอาหารเอ ผู้ป่วยเคยไป เราก็จะไม่ไปร้านเอ แล้วไปร้านอาหารบีแทน แต่ยังมีพฤติกรรมเสี่ยงต่อการแพร่เชื้อ และไม่ป้องกันตัวเองเหมือนกัน การไม่ไปร้านเอแต่ไปร้านบีก็มีโอกาสเสี่ยงเช่นกัน ดังนั้น “รู้สถานที่” ไม่ได้ดีไปกว่า “รู้วิธีป้องกัน”

นายแพทย์โสภณ เอี่ยมศิริถาวร ผู้อำนวยการกองโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค(คร.) กล่าวว่า ทีมสอบสวนโรคจะแจ้งให้เจ้าของสถานที่ต่างๆที่ผู้ป่วยเคยไปทราบทุกครั้งเพื่อทำความสะอาด แต่การที่ประชาชนรู้สถานที่นั้น ไม่ได้สำคัญไปกว่าการบอกให้ประชาชนรับทราบถึงพฤติกรรมเสี่ยงที่จะทำให้เกิดการแพร่ระบาดของโรค หรือการป้องกันตัวเองของประชาชน ยกตัวอย่าง การรู้ชื่อสถานบันเทิงที่ผู้ป่วยเคยไป ก็ไม่ได้แปลว่าการไปสถานบันเทิงอื่นแล้วจะปลอดภัย หากยังมีพฤติกรรมเสี่ยงของการแพร่เชื้อ เพราะฉะนั้น สิ่งสำคัญคือต้องบอกให้รู้ถึงพฤติกรรมที่จะทำให้แพร่โรค ไม่ใช่บอกให้รู้สถานที่ที่ผู้ป่วยเคยไป

17 March 2563

ที่มา กรุงเทพธุรกิจ

Posted By Nitayaporn/thongpet/kanchana

Views, 1123

 

Preset Colors