02 149 5555 ถึง 60

 

เตือน 4 กลุ่มเสี่ยงเครียดจาก “โควิด” แนะโหลดแอปฯ เช็กด่วน ตั้งเป้าลดฆ่าตัวตาย ไม่ให้เหมือนวิกฤตต้มยำกุ้ง

เตือน 4 กลุ่มเสี่ยงเครียดจาก “โควิด” แนะโหลดแอปฯ เช็กด่วน ตั้งเป้าลดฆ่าตัวตาย ไม่ให้เหมือนวิกฤตต้มยำกุ้ง

สธ.ห่วงคนไทย 4 กลุ่ม รับผลกระทบ “โควิด” ทำเครียด หวั่นจัดการไม่ดีสะสมจนเป็นซึมเศร้า ฆ่าตัวตาย ตั้งเป้าลดอัตราฆ่าตัวตายไม่เกิน 1 คนต่อวัน ไม่ให้เป็นเหมือนวิกฤตต้มยำกุ้ง แนะโหลดแอปฯ เช็กความเครียดด่วน

วันนี้ (22 เม.ย.) นายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) แถลงข่าวการดูแลสุขภาพจิตของคนไทยและบุคลากรทางการแพทย์ ว่า แม้ตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิด-19 จะลดลง แต่ขออย่าประมาท เพราะในต่างประเทศก็เห็นแล้วว่า หากประมาทตัวเลขผู้ป่วยก็เพิ่มขึ้นได้ ดังนั้น การเว้นระยะห่าง สวมหน้ากาก ล้างมือบ่อยๆ ยังจำเป็น อย่างไรก็ตาม ช่วงต่อสู้กับโควิด-19 มีทั้งผลกระทบด้านจิตใจ ปัญหาสุขภาพจิต ผลกระทบที่มาจากเศรษฐกิจ และอาจเกิดภาวะหมดไฟได้ ที่สำคัญคือ เชื่อว่าทุกคนมีความเครียด หากไม่จัดการจะนำไปสู่ภาวะซึมเศร้า และนำไปสู่การฆ่าตัวตายได้ อย่างไรก็ตาม ขณะนี้มีการสำรวจผู้รับผลกระทบสุขภาพจิต แบ่งเป็น 4 กลุ่ม คือ

1. กลุ่มผู้ที่กักกันเชื้อโควิด โดยผู้ถูกกักจะมีความเครียดระดับหนึ่ง 2. กลุ่มเสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพจิต ในทุกผลกระทบไม่ว่าจะเป็นคนใกล้ตัวหรือคนในสังคม 3. บุคลากรทางการแทพย์ที่ปฏิบัติการด้านการติดเชื้อ อย่างแพทย์ท่านหนึ่งออกมาระบาย พยายามรักษาคนไข้ที่มีอาการหนัก แม้จะมีโอกาสน้อยแต่หวังรักษาแล้วหาย แต่คนไข้ที่ดูแลก็เสียชีวิต ก็เป็นความเครียดของหมอจากความรับผิดชอบและรู้สึกผิดหวัง คือ ความวิตกกังวลและเครียดของบุคลากร หรือความเครียดที่ต้องปฏิบัติหน้าที่โดยพื้นฐานที่มีความกลัว 4. ประชาชนทั่วไป บางคนติดตามสถานการณ์ดูทีวี จากปกติไม่ค่อยได้ดู ซึ่งพบว่าติดตามเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 2-3 ชั่วโมง ซึ่งหากมีความเครียดเรื้อรัง อาจซึมเศร้า และไปถึงฆ่าตัวตายได้ในที่สุด

นายสาธิต กล่าวว่า สำหรับการรับมือด้านุสขภาพจิต กรมสุขภาพจิตได้เพิ่มคุ่สาย 1323 ขึ้นเป็น 20 คู่สาย ซึ่งข้อมูลพบว่า คนโทร.ปรึกษาเพิ่มขึ้น โดยช่วง ม.ค.มี 20 ราย ก.พ.เพิ่มเป็น 39 ราย ส่วน มี.ค.ที่โควิดเพิ่มขึ้นหนัก ก็เพิ่มเป็น 600 ราย ส่วน เม.ย.ตอนนี้ 315 รายแล้ว โดยพบว่า 51.85% ปรึกษาเรื่องเครียดวิตกกังวล รองลงมา 37.99% กลุ่มจิตเวชเดิม นอกจากนี้ ยังได้เพิ่มเบอร์ 41 หมายเลข เพื่อรับคำปรึกษา และเปิดแนวรุกให้เจ้าหน้าที่โทร.หาประชาชนที่มีความเครียดว่ารู้สึกอย่างไร ทั้งนี้ ขอให้ยึดหลักเรื่อง 4 สร้าง 2 ใช้ คือ 1. สร้างให้เกิดความปลอดภัย 2. สร้างความสงบ 3. สร้างความหวัง 4. สร้างความเข้าใจเห็นใจซึ่งกันและกัน 5. ใช้ศักยภาพให้เต็มที่ 6. ใช้สายสัมพันธ์สร้างความเข้มแข็ง

“ถ้าเราปล่อยให้ความเครียดอยู่กับตัวเรา โดยที่ไม่ได้ศึกษาหรือเข้าใจ จะอยู่กับตัวเราและสะสม จะเกิดโรคเครียด เป็นปัญหาสุขภาพจิต พัฒนาไปสู่โรคซึมเศร้า จึงต้องเรียนรู้ ทำความเข้าใจ และขอคำปรึกษาทางด้านจิตแพทย์” นายสาธิต กล่าว

นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า ผลกระทบจากโควิดจะมาเป็นระลอกคลื่น โดยการระบาดคือคลื่นลูกที่ 1 ตามด้วยปัญหาด้านสุขภาพอื่นๆ เป็นลูกที่ 2 กลุ่มโรคเรื้อรังที่ห่างหมออาจมีปัญหาเป็นคลื่นลูกที่ 3 และสุดท้ายลูกที่ 4 หลังจากติดเชื้อสักระยะหนึ่ง 1-2 เดือนจะมีปรากฏการณ์ด้านสุขภาพจิต ซึ่งมีทั้งปัญหาเรื่องด้านจิตใจ โรคทางจิตเวช ปัญหาที่มากับเศรษฐกิจทำให้เกิดความเครียด และภาวะหมดไฟ เหนื่อยล้าของคนที่ทำงานเผชิญความเครียดมายาวนาน ซึ่งที่ผ่านมา กรมสุขภาพจิตทำการสำรวจความเครียดของกลุ่มต่างๆ 3 รอบ รอบล่าสุดคือ 13-19 เม.ย. พบว่า คนเครียดลดลงจากการสำรวจ 2 รอบแรก เพราะปรับตัวได้ แต่ก็มีประมาณ 10% ที่ปรับตัวไม่ได้ ซึ่งปัญหาหนึ่งที่ทำให้คนเครียดมากคือการตีตรา

นพ.เกียรติภูมิ กล่าวว่า ทั้งนี้ กรมสุขภาพจิตวางเป้าหมายในการดูแล 2 ประการ คือ 1. ลดผลกระทบด้านสุขภาพจิตระดับบุคคล ต้องเข้าถึงบริการ ต้องได้รับการดูแล 2. การเพิ่มศักยภาพของครอบครัวและชุมชนเพื่อร่วมกันดูแลสุขภาพจิต หลักการคือ ประชาชนต้องรู้สภาวะเครียดกังวลของตัวเองว่าอยู่ขั้นไหน เพราะถ้าเครียดนาน เครียดมากจะนำไปสู่ภาวะซึมเศร้า และฆ่าตัวตาย ยิ่งผลพวงจากการระบาดของโควิด-19 ทำให้เราไปไหนมาไหนไม่ได้ ปัญหารอบด้านที่เข้ามามีผลต่อตัวเลขการฆ่าตัวตาย ซึ่งในสมัยต้มยำกุ้ง ประเทศไทยมีอัตราการฆ่าตัวตายเพิ่มขึ้นถึง 2 ต่อแสนประชากร หรือ 2 คน ต่อวัน และทำให้อัตราการการฆ่าตัวตายเฉลี่ยในช่วงนั้นไปถึง 8.59 ต่อแสนประชากร รอบนี้จะต้องช่วยกันไม่ให้มีการฆ่าตัวตายเพิ่มเกิน 1 คนต่อวัน และไม่ให้อัตราการฆ่าตัวตายเฉลี่ยไปถึง 8.59 ต่อแสนประชากรเหมือนตอนนั้น ซึ่งตอนนี้อัตราการฆ่าตัวตายของไทยอยู่ที่ 6.31 ต่อแสนประชากร

นพ.เกียรติภูมิ กล่าวว่า ดังนั้น วิธีการคือให้อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) เคาะประตูบ้านกลุ่มเสี่ยงเพื่อคัดกรองสุขภาพจิต หากมีปัญหาก็ส่งต่อจิตแพทย์ดูแล ดังนั้นอย่าแปลกใจหากมีบุคลากรทางด้านจิตเวชโทรไปหา ส่วนคนที่ยังไม่เสี่ยงการเคาะประตูบ้านยังไปไม่ถึงสามารถโหลดแอปพลิเคชัน Mental Health Check Up เพื่อวัดระดับความเครียดของตัวเองก่อนได้ หากมีปัญหาให้รีบปรึกษาจิตแพทย์ หรือ โทร. 1323 รวมถึงการสร้างวัคซีนใจ โดยคนในครอบครัว ชุมชนดูแลซึ่งกันและกัน มี 4 หลัก คือ 1. ทำให้สงบด้วยการมีสติ รับรู้ข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้อง 2. รู้จักวิธีป้องกันตัวเองได้ สร้างพื้นที่ปลอดภัยในบ้าน ในชุมชน 3. มีความหวัง สร้างความหวังเตรียมพร้อมเรื่องการประกอบอาชีพหลังมีการผ่อนปรนมาตรการ 4. ห่างกายเพื่อควบคุมโรคแต่ให้มีการพูดคุยกันได้อย่างสม่ำเสมอ ระหว่างญาติมิตร ทั้งโทรศัพท์ อินเทอร์เน็ต เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร และดูแลสภาพจิตใจกันได้ และขอให้ยึดคาถา “อึด ฮึด สู้” ประเทศไทยเคยผ่านศึกมานับไม่ถ้วน อย่างน้ำท่วมปี 2554 คนได้รับผลกระทบกว่า 10 ล้านคนเราก็ผ่านมาได้ นี่ก็เป็นอีกศึกหนึ่งที่เราต้องอึด ฮึด สู้ ให้ได้

23 April 2563

ที่มา ผู้จัดการ ออนไลน์

Posted By Nitayaporn/thongpet/kanchana/Maneewan

Views, 1164

 

Preset Colors