02 149 5555 ถึง 60

 

อย่าประมาทกลุ่มเสี่ยง!! แพทย์เตือน “พิษโควิด-เครียดเศรษฐกิจ”

อย่าประมาทกลุ่มเสี่ยง!! แพทย์เตือน “พิษโควิด-เครียดเศรษฐกิจ” ทำคนฆ่าตัวตายพุ่งขึ้นแน่!!

เป้าหมายสำคัญที่สุด เราทุกคนจะอยู่ด้วยกันจนจบวิกฤต” จิตแพทย์ แนะวิธีการจัดการสภาพจิตใจ หลังสาวแม่ลูกอ่อนตัดพ้อชีวิต ก่อนตัดสินใจฆ่าตัวตาย ประชดบิ๊กตู่ คาดปีนี้ยอดคนฆ่าตัวตายพุ่งสูงขึ้นแน่นอน!!

ตัดพ้อชีวิต เศรษฐกิจทำพิษ

“เพื่อนเอยฉันอยู่ไหน สุดท้ายไปไม่ถึง เซื่องซึมและสิ้นหวัง ฉันเห็นโลกแปลกหน้า ยาพิษในอาหาร สุสานบนถนน คนบ้าถือกงล้อ เด็กน้อยถือปืนผา อาสาสู้ศึกร้าย เพื่อนเอยฉันอยู่ไหน สุดท้ายก็หลงทาง ได้แต่หวังเพียงกลับบ้าน”

เนื้อเพลงท่อนหนึ่งของบทเพลง “ไกล” ร้องโดย “มาโนช พุฒตาล” ที่สาวแม่ลูกอ่อนรายหนึ่ง เขียนลงบนกระดาษพร้อมภาพวาดรูปใบหน้าของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่เขียนด้วยฝีมือตัวเอง

โพสต์ผลงานชิ้นสุดท้าย เขียนด้วยน้ำตา พร้อมบรรยายความคับแค้นใจ ท้อแท้กับชีวิตที่เป็นอยู่ ตัดพ้อไม่มีแม้เงินซื้อนมให้ลูกกิน ก่อนตัดสินใจฆ่าตัวตาย

ซึ่งในโลกออนไลน์กำลังเป็นที่พูดถึงเป็นอย่างมาก กับเรื่องราวที่หดหู่ใจในครั้งนี้ ทีมข่าว MGR Live จึงติดต่อไปยัง ดร.นพ.วรตม์ โชติพิทยสุนนท์ จิตแพทย์และโฆษกกรมสุขภาพจิต ให้แนะวิธีการจัดการสภาพจิตใจที่อาจทำให้คนฆ่าตัวตายสูง ในช่วงวิกฤต ที่ต้องเผชิญต่อสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19

“ตอนนี้เศรษฐกิจที่กระทบ มันกระทบทุกคน แต่ความหนักเบาไม่เท่ากัน เพราะฉะนั้นเราไม่มีทางที่จะมีสูตรสำเร็จนะครับ จะบอกว่าคุณจะต้องใช้สูตรนี้แล้วคุณจะดีขึ้น ส่วนมากก็ขึ้นอยู่กับตัวเองครับ อย่างแรกเราต้องยอมรับความเป็นจริงให้ได้ก่อนว่าตอนนี้ เรากำลังเผชิญหน้ากับอะไรอยู่ สิ่งที่เราเผชิญหน้าอยู่ เราจัดการได้ระดับไหน”

นอกจากดูแลร่างกาย สุขภาพจิตก็ถือเป็นเรื่องสำคัญมากในช่วงวิกฤต หากป่วยใจ สุดท้ายกายก็จะป่วย เพราะกายและใจสัมพันธ์กัน หากเกิดอาการเครียดมากๆ ก็จะมีอาการปวดหัว ปวดท้องตามมา ฉะนั้นจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องให้ความสำคัญในด้านสุขภาพจิตด้วย

“สำคัญมากๆ ระดับที่ว่าคนให้ความสำคัญกับการใส่หน้ากากอนามัยขนาดไหน ล้างมือบ่อยขนาดไหน ก็ควรจะต้องตระหนักในเรื่องสุขภาพจิตเช่นเดียวกันครับ

ถ้าเกิดเรารู้สึกว่าความคิดเราวกวนมากๆ ดูข่าวแล้วก็เครียด เราก็ควรจะต้องจัดการสิ่งที่เราพอจัดการได้ ก็คืออาจจะต้องดูข่าวน้อยลง ถ้ามันดูแล้วเครียด แต่ถ้ามันคิดวกวนมากๆ ก็ต้องถามตัวเองว่า ความคิดวกวนนั้นมันทำให้เรามีชีวิตอยู่รอดไหม มันทำให้เราผ่านเหตุการณ์นี้ไปได้ไหม

หรือว่าบางคนอยู่เฉยๆ โดยที่ไม่พยายามหาช่องทางสร้างความสุขได้บ้าง หรือออกกำลังกายบ้าง อันนี้ก็จะทำให้คุณเครียดมากขึ้น หรืว่าไม่อยากคุยกับใคร หรือว่าไม่พยายามไปคุยกับใคร ความเครียดมันก็จะสะสมมากขึ้นเรื่อยๆ

ตรงนี้ไม่มีใครบังคับคุณได้ ไม่มีใครจะช่วยได้ จิตแพทย์สามารถให้คำแนะนำได้ คนรอบตัวสามารถดูได้ แต่ตัวเราเองต้องมีสติ แล้วดึงตัวเองออกมาว่าฉันก็มีความสุขได้ ในสถานการณ์ที่มันบีบคั้นแบบนี้”

ขณะเดียวกัน จิตแพทย์ยังย้ำอีกว่า แม้วิกฤตโควิด-19 จะหยุดการแพร่ระบาดทั่วโลกแล้ว หลังจากนี้ก็ยังมีคนที่ได้รับผลกระทบเรื่องสุขภาพจิตอยู่พอสมควร ไม่ว่าจะเป็นคนที่สูญเสียสมาชิกในครอบครัวไป คนที่งาน หรือธุรกิจส่วนตัวอาจจะยังไม่สามารถกลับได้เหมือนเดิม คนที่มีปัญหาทะเลาะเบาะแว้งกันอย่างรุนแรงในช่วงที่มีการระบาดโควิด

“ผลกระทบทางจิตใจยังมีอยู่ เพราฉะนั้นเริ่มตั้งแต่แต่ตอนนี้ครับ ถ้าเกิดอารมณ์เราโกรธ หงุดหงิดมากๆ ลองหันมาดูตัวเองนิดนึงว่าเราอยู่กับอารมณ์นี้แล้วเรามีความสุขไหม หรือเราไม่สามารถเลือกสถานการณ์บางอย่างได้ แต่ว่าเรายังสามารถเลือกได้ว่าเราจะคิดแบบไหน เลือกได้ว่าจะหาความสุขเข้าหาตัวเองยังไงบ้าง”

แม้ทุกปัญหาอาจจะไม่มีทางออกเสมอไป แต่เป้าหมายที่สำคัญคือ ทุกคนจะต้องอยู่รอดท่ามกลางวิกฤตนี้ไปด้วยกันให้ได้

“ถ้าพูดว่าทุกปัญหามีทางออกมันก็พูดเอาเท่ มันไม่ใช่ทุกปัญหามีทางออกทั้งหมด คุณตกงาน บริษัทคุณปิด มันไม่มีทางออกที่จะกลับไปทำงานได้เหมือนเดิม แต่ว่าเรายังมีทางอื่นอีก เราของานคนอื่นเขาได้ไหม เราทำงานที่มันอาจจะลงระดับที่เราอาจจะไม่ได้ถนัดมา ลองดูอย่างอื่นดู

เราสามารถอยู่กับความเป็นจริงในปัจจุบัน อย่างที่สภาพใจเรามันไม่ป่วย มันอาจจะมีความสุขบ้าง ไม่มีความสุขบ้าง แต่เราอยู่ได้ แล้วเราอยู่รอด จนสถานการณ์นี้จบ อันนี้เป็นเป้าหมายสำคัญ

กรมสุขภาพจิตไม่บอกว่าคุณต้องมีความสุข แฮปปี้ ยิ้มแย้ม ทุกวันแจ่มใสนะครับ มันเป็นไปไม่ได้ ความเป็นจริงคือเราต้องหาความสุขได้บ้างให้ตัวเอง มันจะมีความทุกข์บ้าง ความเครียดบ้างก็มันต้องมี เพราะสถานการณ์มันเป็นแบบนี้ แต่ว่าเป้าหมายสำคัญที่สุด เราทุกคนจะอยู่ด้วยกันจนจบวิกฤตนี้ และทุกคนจะกลับมามีความสุขได้มากกว่าตอนนี้ที่เป็นอยู่”

คาดการณ์คนฆ่าตัวตายเพิ่มช่วงวิกฤต

“สิ่งที่สำคัญที่สุดที่ยับยั้งการฆ่าตัวตายได้ก็คือ ความร่วมมือกับประชาชน เพราะว่าคุณคือคนที่ใกล้ที่สุดกับคนที่เสี่ยง เราคาดการณ์ไว้ครับว่าปีนี้จะสูงขึ้นจริงๆ”

ยอมรับว่ามีการคาดการณ์ว่าในช่วงวิกฤตเช่นนี้ ในปีนี้จะมียอดผู้เสียชีวิตจากการฆ่าตัวตายเพิ่มขึ้น แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ต้องติดตามตัวเลขจากใบมรณบัตรอีกที

“ผู้เสียชีวิตจากการฆ่าตัวตาย แต่ละวันอยู่ที่ประมาณ 10-12 รายต่อวันอยู่แล้ว ข่าวที่เราเห็นหนึ่งรายต่อวันก็เป็นตัวแทนของคนกลุ่มนี้ แต่ถามว่าตัวเลขจริงๆ เราคงต้องติดตามจากตัวเลขที่เป็นมรณบัตร ว่าตัวเลขมันมากน้อยขนาดไหน คือช่วงนี้แน่นอนว่าคนให้ความสนใจมากขึ้น

แต่ว่าถ้าเราสังเกตดีๆ ก็จะมีความสนใจจากสื่อเป็นช่วงๆ เช่นเดียวกัน จะมีช่วงปีที่แล้วจะเห็นข่าวรมควันกันเยอะๆ ก็จะออกข่าวฆ่าตัวตายตอนนี้เยอะมากเลย แต่พอเช็กตัวเลขจริงๆ ถามว่าเดือนนั้นแตกต่างจากเดือนอื่นไหม ก็ไม่”

ด้านกรมสุขภาพจิตเองก็กังวลใจ แต่ไม่ใช่กังวลใจจากที่เป็นข่าวออกมาเยอะ แต่เป็นการกังวลใจที่รับรู้ถึงความทนทุกข์ยากของประชาชน รู้ว่าทุกคนกำลังฝ่าฟันความกลัวเรื่องการติดเชื้อ ฝ่าฟันความลำบาก ทั้งในเรื่องเศรษฐกิจ และการทำงาน

“เรารู้ว่าสถานการณ์แบบนี้โอกาสเสี่ยงที่จะทำให้คนเสียชีวิตสูงขึ้น ไม่ใช่แค่ประเทศไทยนะครับ ทั่วโลกจะสูงขึ้นอยู่แล้ว เป็นที่คาดการณ์ว่ามันจะสูงขึ้น ทำให้เราต้องทำงานอย่างหนัก ซึ่งถามว่าสูงขึ้นขนาดไหน ตอนนี้เนื่องจากว่าสถานการณ์ค่อนข้างเปลี่ยนแปลงค่อนข้างรายวัน รายสัปดาห์ เราก็อาจจะตอบไม่ได้ชัดเจน

แต่เราคาดการณ์ในกรณีที่รุนแรงที่สุดก่อนอยู่แล้ว รุนแรงที่สุด เช่น วิกฤตต้มยำกุ้ง ตอนนั้นมีผู้เสียชีวิตจากการฆ่าตัวตายเพิ่มรายวันประมาณ 30 กว่าเปอร์เซ็นต์จากค่าเฉลี่ย เพราะฉะนั้นเราเองไม่ได้นิ่งนอนใจเลย ตอนนี้ลงพื้นที่มากขึ้น เราดูแลมากขึ้น เรามีการติดต่อประสานจากหน่วยงานต่างๆ มากขึ้น”

นอกจากนี้ จิตแพทย์รายเดิม เผยถึงยอดผู้เสียชีวิตจากการฆ่าตัวตาย โดยในช่วงปีที่ผ่านมา พบว่ามีประมาณ 4,000-4,500 รายต่อปี

“จริงๆ ตัวเลขฆ่าตัวตายอยู่กับเรามานานแล้วนะครับ ไม่ใช่แค่ว่าเกิดช่วงนี้ ถ้าบอกว่าต้องทำยังไง ต้องรู้สาเหตุก่อน ว่าสาเหตุของการเสียชีวิตจากการฆ่าตัวตาย ปัจจัยสำคัญเบอร์หนึ่งที่พบบ่อยที่สุดคือ เรื่องการทะเลาะเบาะแว้ง ปัญหาเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างเพื่อน ระหว่างคนสนิท คนรัก และคนในครอบครัว เป็นเบอร์หนึ่ง

ปัญหารองลงมาหลังจากนั้นก็คือเรื่องเกี่ยวกับการดื่มสุรา ของมึนเมา ปัญหาเศรษฐกิจ ปัญหาโรคประจำตัวทางร่างกาย แล้วก็ปัญหาเรื่องสุขภาพจิตตามมา ถ้าถามว่าเราควรจะจัดการปัญหายังไง เราก็ต้องดูปัจจัยต่างๆ ว่าถ้าเกิดเรากังวล เราอาจจะมีโอกาสเสี่ยงนะ เราก็ต้องดูว่ามีระบบที่อยู่ใกล้ตัวเรายังไงบ้าง มีครอบครัว มีคนใกล้ชิดช่วยยังไงบ้าง

ถ้าเราคิดว่าเหินห่างจากคนอื่นมาก ช่วงนี้อาจจะต้องพูดคุยกับคนอื่นมากขึ้น ติดต่อกับคนอื่นมากขึ้น มีอะไรก็หาคนที่พอรับฟังเราได้ ให้เราระบายได้บ้าง”

ทั้งนี้ จิตแพทย์ยังบอกอีกว่า ครอบครัวก็มีส่วนช่วยสำคัญ ต้องดูแลคนที่อยู่ใกล้ชิด อย่าพึ่งประมาทว่าไม่มีความเสี่ยง ทุกคนในตอนนี้อยู่ในภาวะเครียด ความเสี่ยงบางคนจะน้อยจะมากไม่เท่ากัน แต่ยังไงก็ตาม ก็ต้องตระหนักว่าเรื่องฆ่าตัวตาย หรือปัญหาเรื่องสุขภาพจิตใกล้ตัวมากๆ ในช่วงนี้

“ครอบครัวก็ต้องพูดคุยกันมากขึ้น รับฟังกันมากขึ้น ถามไถ่กันได้ การถามไถ่ความรู้สึกว่ารู้สึกยังไง อยากทำร้าตัวเองหรือเปล่า เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ถามกันได้

แล้วก็ปัจจัยรองลงมาที่เราได้ยินบ่อยก็คือเรื่องของการดื่มสุรา สารเสพติด ตอนนี้ก็ดีครับ มีการงดการขายสุราไป หลายๆ ท่านปัจจัยเสี่ยงตรงนี้ก็จะลดลง”

ส่วนปัจจัยเรื่องเศรษฐกิจนั้น เดิมทีอาจจะไม่เป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุด แต่ในช่วงที่เป็นภาวะวิกฤตเศรษฐกิจร่วมด้วย ปัจจัยเศรษฐกิจจะขึ้นมาเป็นที่ค่อนข้างสำคัญ อาจจะไม่ถึงกับล้ำหน้าปัจจัยเรื่องความสัมพันธ์ แต่สภาวะเช่นนี้ต้องยอมรับว่ากลายเป็นเรื่องสำคัญอย่างมาก

“เรื่องเศรษฐกิจแน่นอนว่า มันคงแก้ได้ยาก เพราะว่าถ้าเกิดตกงาน ทุกคนก็คงจะเริ่มดูเรื่องเกี่ยวกับการใช้จ่ายของตัวเอง มีอะไรที่แบ่งเบากันได้ก็แบ่งเบา มีอะไรที่แบ่งปันกันได้ ก็พยายามแบ่งปัน

แล้วก็ถ้าเกิดว่าตัวเองมีปัญหาเรื่องเศรษฐกิจตอนนี้ อาจต้องลองพูดคุยกับคนที่ใกล้ชิดดู พูดให้คนในครอบครัวเข้าใจว่าไม่ใช่ความผิดของคุณนะ บางคนพ่อเป็นเสาหลักในบ้านแล้วก็เริ่มหาเงินไม่ได้ ตรงนี้ควรจะต้องพูดคุยกับคนในบ้านให้เข้าใจว่า มันมีปัญหาจริงๆ อย่างนี้เกิดขึ้น ดีกว่าเก็บปัญหาทุกอย่างไว้คนเดียว

สุดท้ายปัญหาเรื่องสุขภาพจิต ทำให้คนเครียด กังวลมากขึ้น จึงจำเป็นอย่างยิ่งต้องดูแลตัวเอง หากใครยังป่วยทางด้านสภาพจิตใจเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว อย่าให้ขาดยา แต่ช่วงนี้ไม่กล้าไปโรงพยาบาล ไม่กล้าไปรับยา สามารถโทร.ปรึกษาคุณหมอได้ เพราะหลายๆ พื้นที่ใช้ระบบออนไลน์ในการส่งยาได้แล้ว

“คนใกล้ชิดก็พยายามดูแลกันหน่อย ดูแลใกล้ชิด พยายามให้กำลังใจกันหน่อย ตรงนี้ก็คือเราก็ดูตามปัจจัยครับ แล้วนี่ก็คือวิธีการทั้งหมด

ข้อมูลข่าวจากผู้จัดการออนไลน์

สนใจรายละเอียดเพิ่มเติม อ่านจากแหล่งข่าวต้นฉบับได้ที่ลิงกฺ์นี้ค่ะ https://mgronline.com/live/detail/9630000045463

1 May 2563

ที่มา ผู้จัดการ ออนไลน์

Posted By nitayaporn.m

Views, 964

 

Preset Colors