02 149 5555 ถึง 60

 

ดูแล‘ใจ’รับวิกฤตโควิด ภารกิจหนักกรมสุขภาพจิต : หลาก&หลาย

ดูแล‘ใจ’รับวิกฤตโควิด ภารกิจหนักกรมสุขภาพจิต : หลาก&หลาย

ดูแล‘ใจ’รับวิกฤตโควิด - การระบาดของโรคโควิด-19 เริ่มบรรเทาเบาบางลง และมาตรการล็อกดาวน์เริ่มมีการผ่อนปรนลงบ้างแล้ว แม้พ.ร.ก.ฉุกเฉินยังมีผลต่อไปถึงวันที่ 31 พ.ค.

นอกจากการเยียวยาชีวิตความเป็นอยู่ให้ฟื้นคืนสู่ภาวะปกติแล้ว เรื่องของจิตใจที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 มายาวนานและทำท่าจะต้องมีต่อไปอีก พักใหญ่

กรมสุขภาพจิตเป็นหน่วยงานหลักที่รับหน้าที่ในเรื่องนี้

ดร.นพ.วรตม์ โชติพิทยสุนนท์ โฆษกกรมสุขภาพจิต กล่าวในงาน “พลังใจ พลังฮีโร่ สู้โควิด-19” งานอีเวนต์ออนไลน์ที่เผยแพร่ทางเพจข่าวสด ว่า สุขภาพจิตจะเป็นประเด็นใหญ่หลังจากนี้ โควิด-19 เป็น อีกวิกฤตหนึ่งที่เรียกได้ว่าท้าทายกรมสุขภาพจิตมาก เราไม่เคยเจอวิกฤตที่หนักแบบนี้แล้วก็มีการแพร่กระจายไปทั่วโลกขนาดนี้ นี่คือรูปแบบที่ใหม่ ฉะนั้นตำราที่เราหยิบยกมาจึงใช้ได้แค่บางส่วนไม่ใช่ทั้งหมด

ดร.นพ.วรตม์ โชติพิทยสุนนท์

ต่อข้อถามว่า ปัญหาที่หนักใจที่สุดของกรมสุขภาพจิตกับโควิดคืออะไร ดร.นพ.วรตม์ กล่าวว่า เรื่องหนักใจคงเป็นความเป็นห่วงมากกว่า เรารู้สึกเป็นห่วงประชาชนเพราะว่าวิกฤตครั้งนี้มันใหญ่โตมโหฬารมากๆ คือย้อนกลับไป เราเคยเจอวิกฤตเศรษฐกิจใหญ่ๆ แล้วส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจภาพรวม ก่อนหน้านี้เราก็จะเจอวิกฤตเศรษฐกิจบ้าง แต่ว่าอันนี้มันเป็นสองเรื่องที่มาคู่กัน

ฉะนั้นเรามีความเป็นห่วงประชาชนอยู่ในรูปแบบที่ว่าไม่รู้ว่าสถานการณ์จะเป็นอย่างไรต่อไป และเรารู้คร่าวๆ ว่ามันจะต้องมีโรคระบาดแบบนี้ต่อไปประมาณ 6 เดือนถึง 1 ปีขึ้นไป แต่ไม่มีใครรู้ 100 เปอร์เซ็นต์ ไม่มีใครบอกได้ว่าต้องจบวันที่เท่านี้เดือนนี้ เพราะฉะนั้นการทำนายทั้งหมดรวมถึงการใช้ชีวิตของประชาชนอยู่บนความไม่แน่นอน

“การใช้ชีวิตแบบนี้อยู่บนความไม่แน่นอน นี่คือความน่าเป็นห่วงครับ เนื่องจากมันทำให้หลายๆ คนวางแผนไม่ได้ โดยเฉพาะคนในยุคปัจจุบันที่เรายึดติดกับการวางแผนค่อนข้างเยอะ เดือนนี้ฉันจะต้องไปเที่ยวแล้วเดือนนี้ฉันจะต้องพักผ่อน ปลายปีนี้ต้องผ่อนบ้าน ผ่อนรถ ให้เสร็จทุกอย่าง คือเป็นระบบระเบียบหมด เมื่อบริษัทต่างๆ ห้างร้านต่างๆ ไม่ได้วางแผนเกี่ยวกับวิกฤตในครั้งนี้ล่วงหน้า เพราะเราไม่รู้อนาคต การไม่รู้ตรงนั้นมันทำให้เกิดความกลัวความวิตกกังวลและผลกระทบอื่นๆ ด้านสุขภาพจิตตามมา”

ฉะนั้นสิ่งนี้ถือเป็นบทบาทสำคัญของกรมสุขภาพจิตที่ต้องดูแลตรงนี้ แต่ทีนี้คุณหมอมีช่องว่างอยู่ว่ามันเกิดโรคระบาดอันนี้ขึ้นมา ด้านหนึ่งมันเป็นหน้าที่ของหน่วยงานทางการแพทย์ล่ะที่ต้องดูแล แต่ความที่มันเกิดแบบปุบปับขึ้นมา วิธีการรับมือมันอาจจะยังไม่ทั่วถึงในช่วงแรก จึงกลายเป็นช่องว่างให้คนบางกลุ่มที่เราเรียกว่า “ไลฟ์โค้ช” เข้ามา บางคำแนะนำมันอาจจะไม่ถูกต้องจึงมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์

“ไลฟ์โค้ชมีมานานแล้วทั่วโลก และหลายท่านผมเองก็รู้จัก ก็เข้าใจในความปรารถนาดีของเขา แต่มันก็ต้องบอกว่าต้องมีความแตกต่างจากการดูแลด้านสุขภาพจิต ถ้าเกิดเป็นการดูแลตัวต่อตัวน่าลองครับ เราสามารถจัดการสิ่งที่เราจะให้ เรามอบสิ่งที่ให้เนี่ยด้วยความเหมาะสมกับตัวของคนที่ได้รับ แต่การที่เรามอบคำแนะนำบางอย่างออกไปโดยที่เราไม่ค่อยรู้จักพวกเขาดีนัก บางคนก็อาจจะเป็นผลประโยชน์หรือบางคนก็อาจจะเกิดโทษได้ เพราะว่าสิ่งที่เขารับไปเขาอาจจะไม่ได้เข้าใจอย่างแท้จริง แล้วแต่ไลฟ์สไตล์ของเขา”

ตรงนี้ก็จะเป็นความน่าเป็นห่วงในอีกรูปแบบหนึ่งที่เห็นว่าทำไมช่วงนี้เราถึงต้องโปรโมตจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยาเยอะ เพราะว่าจริงๆ แล้วในการทำงานด้านสุขภาพจิตเมื่อเทียบกับตัวเราเอง สมมติว่าเราไปปรึกษาเพื่อนสักคนหนึ่งแล้วเพื่อนยังไม่ถามอะไรแต่เราบอกว่าเราอกหัก แล้วเพื่อนแนะนำเป็นชุดเลยอยู่ครึ่งชั่วโมงแล้วเราก็รู้สึกว่า เธอยังไม่เข้าใจฉันเลยอ่ะ มันจะต้องมีการเข้าใจก่อน เข้าใจแล้วเราถึงจะอธิบายอย่างถูกต้องได้ว่าเขาควรจะใช้ชีวิตแบบไหน

สิ่งที่สำคัญคือในวิกฤตแบบนี้คุณต้องการ คนใดคนหนึ่งที่รับฟังคุณ ฉะนั้นจิตแพทย์กับ นักจิตวิทยาจึงมีบทบาทกับช่วงนี้มาก จิตแพทย์หรือนักจิตวิทยาได้รับการฝึกมาให้เป็นผู้รับฟังที่ดี และบางครั้งถ้าเราได้ระบายสิ่งที่ระบายออกมามันทำให้คุณได้พูดกับตัวเอง บางทีเขาไม่ต้องการคำแนะนำเขาแค่ต้องการระบาย ช่วงที่เกิดวิกฤตมากมาย คนส่วนใหญ่พูดแต่ไม่มีใครรับฟัง การเข้าไปรับฟังเป็นสิ่งที่ดี แต่การรับฟังต้องใช้เวลา เราไม่สามารถรับฟังได้ทีเดียวเป็นสิบคนพร้อมกัน เราต้องรับฟังอย่าง ต่อเนื่อง ถือเป็นเรื่องสำคัญ

ตอนนี้เรามีโรงพยาบาลประจำจังหวัดเกือบทุกโรงพยาบาลแล้วโรงพยาบาลในเครือ กรมสุขภาพจิต 20 แห่ง แต่ตอนนี้เรามีปัญหาอาจจะไม่สะดวกในการเดินทางไปโทร.สายด่วนสุขภาพจิต 1323 โทร.ได้ฟรีตลอด 24 ชั่วโมง

ดร.นพ.วรตม์กล่าวว่า เราเชื่อว่าทุกคนสามารถแก้ปัญหาด้วยตัวเองได้ถ้าเขาได้รับการชี้นำอย่างถูกต้องแล้วเราก็จะไม่ดึงปัญหาออกมาจากตัวเขา การทำแบบนั้นมันคือการไม่ไว้ใจ แต่เราเชื่อมั่นในประชาชนว่าประชาชนชาวไทยทุกคนมีศักยภาพเป็นของตัวเอง ขอให้อารมณ์มันนิ่ง ความเครียดมันน้อย แล้วมีคนรอบข้างคอยสนับสนุน ตรงนี้แหละครับที่เราแก้ปัญหาได้ด้วยตัวเองในระยะยาวหลังจากนี้ เพราะเราคิดว่าหลังจบเหตุการณ์โควิดไป มันจะมีผลร้ายระยะยาวต่อเนื่องในเรื่องของเศรษฐกิจ

การแก้ปัญหาไม่ใช่การแก้ให้มันจบๆ ไป เราต้องสร้างศักยภาพให้คนแก้ปัญหาเองได้ในระยะยาว เราต้องฟังให้เข้าใจก่อนเราจะไม่ดึงปัญหามาจากเขา ให้เขาเป็นคนแก้ปัญหาเอง แล้วคนที่อยู่ข้างๆ จะคอยให้กำลังใจหรือเรียกว่าสร้างภูมิคุ้มกันให้ใจ ซึ่งเรารอวัคซีนกันตอนนี้

“หลายคนบอกว่าอีกซักประมาณหนึ่งปีแต่ว่ามันมีวัคซีนที่ดีกว่านั้นและเร็วกว่านั้นคือวัคซีนทางใจ เพราะว่าใจกับกายมันสัมพันธ์กัน ปัจจุบันไม่มีใครเถียงนะครับว่าใจกับกายไม่สัมพันธ์กัน อย่างเช่นเรารู้สึกไม่สบายใจเราก็ไม่อยากไปทำงานทุกอย่างมันสัมพันธ์กันหมด เพราะฉะนั้นใจกับกายสัมพันธ์กันแน่นอน ฉีดวัคซีนที่ใจก่อนนะครับฉีดวัคซีนที่ใจตัวเองแล้วอย่าลืมฉีดให้คนรอบข้างด้วย ฉีดให้ครอบครัวและฉีดต่อไปที่ชุมชน”

ดร.นพ.วรตม์เล่าถึงประสบการณ์ในฐานะจิตแพทย์ ว่ามีคนรอบตัวเข้ามาปรึกษาช่วงนี้เยอะมากจากเดิมก็เยอะอยู่แล้ว แต่คนส่วนหนึ่งจะค่อนข้างเกรงใจ บางครั้งถ้าเป็นคนใกล้ตัวมากๆ ก็รู้สึกว่าบางทีอาจจะไม่ได้ให้คำปรึกษาที่ดีนัก ปัญหาคือบางครั้งที่มีคนใกล้ตัวมากๆ ซึ่งเราจะเผลอคิดว่าเราเข้าใจในตัวเขา

“เวลาที่เราจะคุยกับคนในครอบครัวคือเราคิดว่าเราเข้าใจเขาอย่าง 100 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งจริงๆ แล้วมันไม่ใช่ มันไม่มีใครในโลกนี้ที่สามารถเข้าใจผู้อื่นได้อย่าง 100 เปอร์เซ็นต์ เช่น คุณพ่อคุณแม่คิดว่าเราเข้าใจลูก 100 เปอร์เซ็นต์ จึงให้คำแนะนำรัวๆ โดยไม่รับฟังลูกก่อน นี่คือหลุมพรางที่สำคัญที่สุดต้องระวัง”

โฆษกกรมสุขภาพจิตแนะด้วยว่า ถึงตอนนี้เราจะได้ยินบ่อยมากขึ้นว่า ลูกโดนพ่อแม่บ่นมากขึ้น หรือลูกบ่นพ่อแม่มากขึ้น จริงๆ แล้ว ช่วงนี้คือโกลเด้นไทม์ ครอบครัวมีเวลาอยู่ด้วยกันมากขึ้น ถ้าเราปรับให้เวลานั้นกลายเป็นเวลาที่มีคุณค่าที่มันมีประโยชน์ แล้วสนทนากันดีๆ สุดท้ายเวลาอาจเป็นเวลาที่มีคุณค่าเพื่อใช้ในการปกป้องตัวเรา เป็นวัคซีนจิตใจอย่างหนึ่งที่ปกป้องเราทุกคนให้ผ่านสถานการณ์นี้ไปได้

กรณีโรคซึมเศร้าที่ทำให้เกิดเหตุสลดบ่อยครั้งช่วงเวลานี้ ดร.นพ.วรตม์กล่าวว่า กลุ่มที่มีปัญหาด้านสภาพจิตเองก็เป็นกลุ่มที่เราต้องดูแลอยู่แล้ว ยิ่งมีวิกฤตมีปัจจัยอื่นเข้ามาเสริม เราก็ต้องดูแลใกล้ชิดมากขึ้น

สิ่งที่สำคัญสำหรับผู้ป่วยด้านสุขภาพจิตคือไม่มีปัจจัยใดปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เกิดผลกระทบ อย่างคนที่ฆ่าตัวตายไม่เคยมีปัจจัยเดียว ส่วนมากมีหลายๆ ปัจจัยที่มาประสานกันร่วมกัน ทำให้เกิดผลกระทบอย่างรุนแรงต่อด้านสุขภาพจิต ถ้าคุณจัดการปัจจัยหลายๆ ปัจจัยที่ควรจัดการได้ สุดท้ายจะเป็นเกราะป้องกันไม่ให้เกิดปัญหา

ถ้าเรารู้ว่าการมีครอบครัวเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้คนหนึ่งเป็นโรคซึมเศร้ามากขึ้น แน่นอนว่าเราควรทำให้ดี ทำให้เป็นตัวช่วยที่ดีที่สุด ไม่ว่าจะเกิดวิกฤตอะไร ปัจจัยเรื่องครอบครัวจะเป็นตัวช่วยทำให้คนที่ป่วยเป็นโรคซึมเศร้าอาการไม่หนักขึ้น หรือว่าเบาลงในที่สุด

8 May 2563

ที่มา ข่าวสด

Posted By Nitayaporn/thongpet/kanchana/Maneewan

Views, 1019

 

Preset Colors