02 149 5555 ถึง 60

 

พิชิตซึมเศร้าเครียด-ฆ่าตัว

พิชิตซึมเศร้าเครียด-ฆ่าตัว

พิชิตซึมเศร้าเครียด-ฆ่าตัว - คนจำนวนไม่น้อยที่ไม่รู้ว่าตัวเองกำลังอยู่ในสภาวะ “ซึมเศร้า” ซึ่งมาจากหลายปัจจัย หลักๆ มาจากความเครียดสะสม โดยเฉพาะเรื่องหนี้สินและปัญหาต่างๆ ในชีวิตประจำวัน หรือกรณีโรคระบาด โควิด-19 ในขณะนี้ ล้วนเป็นสาเหตุได้ทั้งสิ้น

ภาวะซึมเศร้า สามารถพัฒนาไปสู่การทำร้ายตัวเอง หรือการฆ่าตัวตายได้ ดังนั้นผู้ป่วยโรคซึมเศร้าจึงต้องได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิดและถูกวิธี สิ่งสำคัญคือกำลังใจ และการมีที่ระบาย อันเป็นการปลดปล่อยความทุกข์ให้คลายลง

“อยากตาย” คือคำตอบแรกที่หลายๆ คนของชาวบ้านที่บ้านห้วย หมู่ 6 ต.ศรีภิรมย์ อ.พรหมพิราม จ.พิษณุโลก มักปริปากออกมาเมื่อทีมผู้ใหญ่บ้านออกเยี่ยมเยียนถามสารทุกข์สุกดิบ

ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 6 นางสายชล สิงห์ตา เมื่อได้ยินลูกบ้านเอ่ยออกมาเช่นนี้ ทำให้ต้องกลับมาคิดมองปัญหาและหาแนวทางแก้ปัญหา โดยได้ทำโครงการ “สร้างเสริมสุขภาพจิต พิชิตความเศร้า” เพื่อดำเนินกิจกรรมแก้ปัญหาลดความเครียด ภาวะซึมเศร้าให้กับลูกบ้าน และขอรับทุนสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

จากนั้นผู้ใหญ่สายชล ได้ใช้ทีมอาสาสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ลงพื้นที่คัดกรองกลุ่มเสี่ยง โดยใช้แบบประเมินความสุขเบื้องต้นของกรมสุขภาพจิต

จึงพบว่าในหมู่บ้านมีผู้ป่วยโรคซึมเศร้าขั้นรุนแรงจำนวน 3 ราย เพราะคำตอบเดิมที่ได้ คืออยากตาย เบื่อ ไม่มีความสุข ส่วนอีก 15 ราย ยังไม่ถึงขั้นซึมเศร้า แต่มีอาการวิตกกังวลจากโรคอื่นที่เป็นอยู่ เช่น เบาหวาน ความดัน

ทำไมถึงอยากฆ่าตัวตายนั้น ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ 6 บอกว่าไม่มีความสุข เหมือนอยู่ตัวคนเดียว ความสัมพันธ์ในครอบครัวไม่ดี บางคนอยู่กัน 4-5 คน ถามคนในครอบครัว คำตอบไม่เหมือนกัน แม่บอกรักลูก แต่ลูกกลับไม่มีความสัมพันธ์กับแม่

บางรายก็มีปัญหาลูกติดยาเสพติดจนอยู่บ้านไม่ได้ เพราะลูกรังควาน ขณะเดียวกันหนี้สิน ก็เป็นปัญหาหลักของทุกครอบครัว ทั้งหนี้ในระบบและนอกระบบที่รัดพันตัว เกิดเป็นความเครียดที่ใช้ชีวิตไม่ปกติสุข

ที่หนักสุด คือมีรายหนึ่งที่กินยาฆ่าตัวตาย เพราะเครียด อยู่ตัวคนเดียว มีโรครุมเร้า และน้อยใจลูกหลาน ส่วน 15 คนที่มีภาวะวิตกกังวล ส่วนใหญ่ก็เรื่องโรคเจ็บป่วย และหนี้สิน แต่ยังไม่มีความคิดอยากฆ่าตัวตาย แต่จัดอยู่ในกลุ่มเสี่ยง

“ถ้าความเครียดมันถึงขีดสุดแล้วหาทางออกไม่ได้ เราก็ไม่แน่ใจว่าจะเกิดอะไร ขึ้นบ้าง” ผู้ใหญ่สายชลกล่าว

เมื่อทุกคนเต็มไปด้วยความเครียด วันๆ เอาแต่เก็บตัวหมกมุ่นอยู่กับปัญหาในบ้าน จนไม่ออกไปไหนมาไหน เผื่อการพูดการคุย และปฏิสัมพันธ์ของคนในชุมชนอาจจะช่วยให้ผ่อนคลายความเครียดลงไปได้บ้างสักนิดก็ยังดี แกนนำชุมชนจึงชักชวนกันออกมาพบปะกันให้มากขึ้น โดยสร้างกิจกรรมต่างๆ ให้เกิดขึ้นชวนทุกคนมาร่วม

ผู้ใหญ่สายชลเล่าว่า ดึงคนในชุมชนเข้ามารวมกลุ่ม หากิจกรรมทำร่วมกันโดยใช้วันหยุดเสาร์-อาทิตย์ อย่างเช่น กวนกระยาสารท ส่งเสริมให้ผู้สูงอายุ หรือปราชญ์ชาวบ้านได้ใช้ภูมิปัญญาที่มีถ่ายทอดให้กับคนในชุมชน

นอกจากนี้ยังมีสวนสาธารณะกลางหมู่บ้าน ก็ช่วยกันพัฒนาขึ้นใหม่ ให้เป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ พาลูกหลานมาเล่น มาออกกำลังกาย มีเต้นแอโรบิก ส่วนหนึ่งมีพื้นที่แปลงผัก ก็ชวนคนมาช่วยกันปลูกผัก ใครมาที่สวนก็มาช่วยดูแลรดน้ำ จะเก็บไปกินก็ได้

“แค่เขาได้ออกจากบ้าน มาพูดมาคุย มาทำกิจกรรมร่วมกัน ก็ได้ระบายความทุกข์ออกไปบ้าง หากมีคนรับฟัง คนเครียดก็จะสบายใจขึ้นอย่างน้อยเขาก็ไม่ต้องเก็บความทุกข์ไว้ตลอดเวลา” ผู้ใหญ่สายชลบอก

จากการเริ่มดำเนินการ ชาวชุมชนเริ่มมีรอยยิ้มมากขึ้น ช่วงเย็นของทุกวันก็หอบหิ้วคนในครอบครัว กระเตงลูกหลานมาวิ่งเล่นที่สวนสาธารณะ ทุกคนกล้าออกมาจากบ้าน ทิ้งความทุกข์ไว้ที่บ้านแล้วมามีความสุขที่นอกบ้าน

ผู้เฒ่าผู้แก่ที่ไม่มีแรงออกมาก็ให้คนไปรับ เพราะอยากมีส่วนร่วม ส่วน 3 รายที่ป่วย ซึมเศร้ารุนแรง ก็มีอาการดีขึ้น ได้รับยากินปกติโดยมีลูกหลานเข้าใจมากขึ้นและดูแลอย่าง ใกล้ชิด

ด้าน น.ส.มยุรี อินเถื่อน พี่เลี้ยงโครงการ “สร้างเสริมสุขภาพจิต พิชิตความเศร้า” บอกว่าความเครียดจากหนี้สินเป็นสาเหตุหลักๆ เพราะชาวบ้านห้วยก็มีหนี้สินไม่น้อยกว่าครัวเรือนละ 15,000 บาท ยิ่งคนไหนทำอาชีพเกษตรก็จะมีหนี้มากกว่าคนอื่นๆ

เมื่อเกิดภัยแล้ง น้ำท่วม ผลผลิตไม่ได้ดั่งที่หวัง ก็ไม่มีเงินไปใช้หนี้ พอจะทำรอบใหม่ก็ต้องกู้มาอีกทั้งที่ของเดิมก็ยังไม่ได้คืน หนี้ก็เพิ่มพูน ก็เกิดความเครียด

“เราไม่รู้หรอกว่าที่เขาเครียดนั้น มันเครียดอยู่ในระดับไหน ดังนั้นโครงการสร้างเสริม สุขภาพจิต พิชิตความเศร้า มีเป้าหมาย คืออยากให้ชุมชนจัดการปัญหาของตัวเองได้ หาทางออกได้ด้วยคนในชุมชนและครอบครัว โดยใช้วิธีการพูดคุย ทำกิจกรรมร่วมกัน พอให้ผ่อนคลายความเครียด มีคนพูด มีคนฟัง ก็จะช่วยได้บ้าง” มยุรีกล่าว

“ซึมเศร้า” แม้ในทางการแพทย์ถือเป็นโรคจิตเวชชนิดหนึ่ง แต่ก็สามารถรักษาให้ หายได้ เพียงลดคลายความเครียด ความ กังวลใจ รวมถึงการปล่อยวางความทุกข์ไว้ อาการก็จะดีขึ้น และที่สำคัญคือกำลังใจ คนรอบข้างและคนในสังคมหนักก็จะกลายเป็นเบา

14 May 2563

ที่มา ข่าวสด

Posted By Nitayaporn/thongpet/kanchana/Maneewan

Views, 1719

 

Preset Colors