02 149 5555 ถึง 60

 

ดื่มสุราเพิ่มความเสี่ยงต่อการติดเชื้อแบคทีเรีย และไวรัส 3 - 7 เท่า

ดื่มสุราเพิ่มความเสี่ยงต่อการติดเชื้อแบคทีเรีย และไวรัส 3 - 7 เท่า

สธ. เผย คนไทย 18 ปีขึ้นไปดื่มสุรา 2.7 ล้านคน ดื่มแบบอันตราย 1.8 ล้านคน ดื่มแบบติด 9 แสนคน ผู้ที่มีปัญหาการดื่มสุราเข้าถึงการรักษาเพียง 9.83% ชี้ดื่มสุราเพิ่มความเสี่ยงต่อการติดเชื้อแบคทีเรีย/ไวรัส 3 -7 เท่า มีโอกาสเข้าไอซียู 60%

วันนี้ (18 พฤษภาคม) สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข แพทย์หญิงพันธุ์นภา กิตติรัตนไพบูลย์ ผู้ทรงคุณวุฒิกรมสุขภาพจิต กล่าวถึงสถานการณ์และผลกระทบต่อพฤติกรรมการดื่มสุราในยุคโควิก-19 ว่า ปัญหาพฤติกรรมดื่มสุรา ก่อให้เกิดการสูญเสียปีสุขภาวะจากภาวะบกพร่องทางสุขภาพ เป็นอันดับหนึ่งในเพศชาย โดยเฉพาะในช่วงวัยรุ่นและวัยผู้ใหญ่ตอนตน โดยคนไทยอายุ 18 ปีขึ้นไป มีปัญหาพฤติกรรมดื่มสุรา 2.7 ล้านคน ดื่มแบบอันตราย 1.8 ล้านคน และดื่มแบบติด 9 แสนคน

ทั้งนี้ จากฐานข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า มีผู้ที่มีปัญหาการดื่มสุราเข้ารับการรักษาเพียง 265,540 คน ผู้มีปัญหาการดื่มสุราที่ควรได้รับการดูแลรักษาได้รับการรักษาจริงเพียง 9.83% แสดงว่า มีผู้ที่มีปัญหาการดื่มสุรา อีกจำนวนมากกว่า 90% ที่ยังไม่ได้รับการดูแลรักษา อย่างไรก็ตาม ปัยหาพฤติกรรมการดื่มสุรา ติดสุรา สามารถรักษาได้

สำหรับพฤติกรรมการดื่มสุราของคนไทย แบ่งเป็น ไม่ดื่ม ซึ่งมีกว่า 60% อย่างไรก็ตาม ยังมีกลุ่มที่น่ากังวลคือ ดื่มแบบเสี่ยง ทำให้มีความเสี่ยงด้านพฤติกรรม เช่น เมาขับรถ ปัญหาสุขภาพ และกลุ่มที่ดื่มแล้วอันตราย ทั้งต่อตนเอง ต่อสังคม ทำให้เกิดความรุนแรง นอกจากนี้ ยังมีกลุ่มที่ดื่มแบบติด และดื่มแบบติดรุนแรง ซึ่งทั้งหมดนี้ต้องได้รับการดูแล

“ความเสี่ยงการติดเชื้อในผู้ที่ดื่มสุรา พบว่า การดื่มสุราให้ภูมิคุ้มกันลดลง เพิ่มความเสี่ยงต่อการติดเชื้อแบคทีเรียและไวรัสกว่า 3 - 7 เท่า มีโอกาสเข้าไอซียู มากกว่าปกติ 60% หากป่วยเป็นโรคปอดบวม ทั้งนี้ ในกลุ่มผู้สูงอายุมากกว่า 60 ปี ยังเพิ่มความเสี่ยงในการติดเชื้อและป่วยเป็นหวัดได้ 30% หญิงตั้งครรภ์ ที่ดื่มสุรา เพิ่มความเสี่ยงติดเชื้อในปอดของทารกแรกเกิดถึง 2.9 เท่า” แพทย์หญิงพันธุ์นภา กล่าว

การดื่มสุราฆ่าเชื้อโควิดไม่ได้

แพทย์หญิงพันธุ์นภา อธิบายต่อไปว่า ที่ผ่านมา ไม่เคยมีข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ใดๆ ว่าการดื่มแอลกอฮอล์ช่วยป้องกันหรือฆ่าเชื้อไวรัสได้ ในทางกลับกัน การดื่มสุราจะยิ่งทำให้ตับถูกทำลาย ลดภูมิต้านทานต่อเชื้อโรค เพิ่มความเสี่ยงและความรุนแรงของการติดเชื้อ ลดการตอบสนองต่อยารักษาภาวะติดเชื้อโควิด-19

“นอกจากนี้ ในช่วงกักตัวคนเดียว ไม่ควรดื่มสุราปริมาณมาก หรือดื่มติดต่อกันเป็นเวลานาน เพราะอาจดื่มมากเกินขนาด ทำให้มึนเมา หกล้ม บาดเจ็บ หรือแอลกอฮอล์กดการหายใจ จนหมดสติ และอาจเสียชีวิตได้ เพราะไมได้รับการช่วยเหลืออย่างทันท่วงที”

จากมาตรการงดขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ในวันที่ 12 เมษายน – 30 เมษายน 2563 ศูนย์วิจัยปัญหาสุรา หน่วยระบาดวิทยา คณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ร่วมกับศูนย์วิจัยเพื่อการพัฒนาสังคมและธุรกิจ ทำการสำรวจประชาชนใน 15 จังหวัดทั่วประเทศ โดยการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ จากกลุ่มตัวอย่าง 1,566 คน ระหว่างวันที่ 18 – 19 เมษายน 2563 พบว่า ประชาชนไม่ดื่มเลย 48.5% ดื่มน้อยลง 33.0% ดื่มเท่าเดิม 18.2% ดื่มบ่อยขึ้น 0.3%

โดยเหตุผลหลักที่ทำให้นักดื่มเหล่านี้หยุดดื่มหรือดื่มน้อยลง คือ หาซื้อไม่ได้/หาซื้อยาก , กลัวเสี่ยงติดเชื้อ , รายได้น้อยลง/ไม่มีเงินซื้อ และ ต้องการรักษาสุขภาพให้แข็งแรง ขณะที่ ความเดือดร้อนในช่วงห้ามขายสุรา มีประชาชนที่ไม่ได้รับความเดือนร้อนใดๆ กว่า 90.5% ถัดมา คือ เดือดร้อนจากการไมได้ดื่มสังสรรค์ 5.9% เสียรายได้จากการขาย/ปิดร้าน 3.6% และ มีอาการขาดสุรา (5 ราย) 0.3%

สุรินทร์ พบผู้ขาดสุรา 181 ราย

จากกรณีศึกษา สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสุรินทร์ ผลการออกติดตามประเมินมาตรการงดขายเหล้า ในประเทศ สถานการณ์ฉุกเฉินจากการแพร่ระบาดโควิด-19 ระหว่างวันที่ 2 – 30 เมษายน 2563 พบว่ามีประชาชนมีภาวะถอนพิษหรือลงแดง ต้องเข้ารับการรักษา 181 ราย แบ่งเป็น อายุ 20-29 ปี 11 ราย อายุ 30-39 ปี 56 ราย อายุ 40-49 ปี 60 ราย อายุ 50 – 59 ปี 31 ราย และ อายุ 60 ปีขึ้นไป 23 ราย

แพทย์หญิงพันธุ์นภา กล่าวต่อไปว่า สำหรับบทเรียนจากมาตรการงดขายสุรา ในช่วง 1 เดือน พบว่า สามารถลดการรวมกลุ่มดื่มสุรา รักษาระยะห่างทางสังคม ลดการแพร่ระบาดเชื้อโควิด เพิ่มโอกาสให้ผู้ดื่มสุราได้ลดการดื่มสุราลง ผู้ติดสุราสามารถลดและหยุดดื่มได้ ส่งผลดีต่อสุขภาพกายและสุขภาพจิต ของผู้ดื่มสุรา และครอบครัว ชุมชน ขณะที่มาตรการที่ยาวนาน ช่วยให้ผู้ดื่มสุรา ปรับตัวคุ้นชินกับพฤติกรรมใหม่ที่ไม่ดื่มสุรา สมองและร่างกายมีเวลาพัก ฟื้นฟูสุขภาพ และสามารถหยุดดื่มสุราได้อย่างถาวรในที่สุด

พลิกวิกฤต ให้เป็นโอกาส

แพทย์หญิงพันธุ์นภา กล่าวว่า หลังจากวันที่ 3 พ.ค. ซึ่งมีการอนุญาตให้ขายสุราได้ กลับพบมีการกระทำผิดเนื่องจากการดื่มสุราเกิดขึ้น เช่น เมาแล้วขับ สะท้อนให้เห็นว่า การดื่มสุราซึ่งสอดคล้องกับปัญหาสุขภาพจิต โดยการดื่มสุราอาจช่วยให้ลืมปัญหาไปได้ชั่วขณะแต่พอหยุดดื่มก็จะเครียดมากขึ้นมาอีก ทำให้อยากดื่มอีกเพื่อลืมปัญหาต่อ นอกจากนั้น แอลกอฮอล์ ยังออกฤทธิ์กดสมอง ลดความสามาถในการคิดอ่าน ยิ่งทำให้ปัญหาหนักขึ้นและไม่ได้รับการแก้ไข

นอกจากนี้ การดื่มหนักและการดื่มเป็นประจำ ทำให้อาการซึมเศร้าแย่ลง และผลจากแอลกอฮอล์ ที่มีต่อความสมดุลของสารสื่อนำประสาทในสมอง ทำให้เกิดโรคซึมเศร้าได้ ขณะเดียวกันแอลกอฮอล์ ทำให้ขาดความยับยั้งชั่งใจ การตัดสินใจเสีย เสี่ยงทั้งการเกิดความรุนแรง และการทำร้ายตัวเอง คนที่ทำร้ายตัวเองมากกว่าครึ่งระบุว่า ดื่มสุราก่อนลงมือทำร้ายตัวเอง

ทั้งนี้ การจะหยุดการดื่มแอลกอฮอล์ จะทำให้สมองค่อยๆ กลับมาทำงานเป็นปกติ ทำให้คิดถึงสิ่งต่างๆ ได้ชัดเจนยิ่งขึ้น รู้สึกซึมเศร้าลดลง และยังทำให้คนรอบข้างเข้ามาให้ความช่วยเหลือได้ง่ายขึ้น อย่างไรก็ตามหากรู้สึกซึมเศร้า คิดฆ่าตัวตาย สามารถปรึกษาสายด่วนสุขภาพจิต 1323 หรือ ต้องการหยุดดื่มเหล้า สามารถโทรปรึกษา 1413

“ตามประกาศของจังหวัดต่างๆ ห้ามจำหน่ายสุรา ทั้งปลีกและส่ง เราสามารถพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาส เลิกเหล้า ได้ ถือเป็นโอกาสทองของชีวิต ร้านเหล้าปิด ชีวิตมีภูมิคุ้มกัน โดยสามารถค่อยๆ ลดปริมาณการดื่มลงทีละน้อย จนสามารถหยุดได้ ไม่ควรหักดิบเอง ญาติต้องสอดส่อง ดูแล และควรพาไปพบแพทย์ ตั้งเป้าหมายเลิกเพื่ออะไร เพื่อใคร และไม่ตกเป็นเหยื่อของการโฆษณาเครื่องดื่ม ไม่ควรดื่มปริมาณมากหรือดื่มติดต่อกันเป็นเวลานาน เมื่ออยู่คนเดียว ไม่ควรดื่มเพื่อจัดการกับความเครียดหรือความเบื่อที่ต้องแยกตัวจากสังคม และหยุดดื่มเพื่อสุขภาพกายและใจคนรอบข้าง จะดีขึ้นอย่างชัดเจน” แพทย์หญิงพันธุ์นภา กล่าว

19 May 2563

ที่มา กรุงเทพธุรกิจ

Posted By Nitayaporn/thongpet/kanchana/Maneewan

Views, 1327

 

Preset Colors