02 149 5555 ถึง 60

 

พิษเศรษฐกิจจาก “โควิด” ยังลากยาว หวั่นทำครอบครัวเครียด แนะสร้างภูมิคุ้มกันครอบครัว

พิษเศรษฐกิจจาก “โควิด” ยังลากยาว หวั่นทำครอบครัวเครียด แนะสร้างภูมิคุ้มกันครอบครัว

กรมสุขภาพจิต ห่วงผลกระทบเศรษฐกิจจาก “โควิด” ยังลากยาว ทำครอบครัวเครียด เสี่ยงเกิดความรุนแรง ต้องเสริมภูมิคุ้มกัน สำรวจพบครอบครัวเปราะบางมีความสุขน้อย ห่างเหินกันมากขึ้น แต่ยังมองบวก เชื่อจะผ่านพ้นวิกฤต แนะชุมชน อสม. สร้างกิจกรรมเสริมครอบครัวเข้มแข็ง

วันนี้ (3 มิ.ย.) นพ.จุมภฏ พรมสีดา รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า แม้สถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 จะดีขึ้น แต่ว่าผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจและสังคมมีแนวโน้มที่อาจจะคงอยู่สักระยะหนึ่ง ซึ่งกรมสุขภาพจิตต้องการให้ทุกคนผ่านวิกฤตสุขภาพจิตไปได้อย่างไม่มีปัญหา โดยเน้นการสร้างภูมิคุ้มกันทางใจ 3 ประเภท คือ 1. วัคซีนใจระดับบุคคลหรือพลังอึด ฮึด สู้ 2. วัคซีนครอบครัว และ 3. วัคซีนชุมชน คือ ทำให้ชุมชนเข้มแข็งจับมือกันก้าวผ่านวิกฤตนี้ไปได้ แต่ที่จะเน้นย้ำในครั้งนี้ คือ เรื่องวัคซีนครอบครัว เพราะครอบครัวเป็นพลังเล็กๆ ที่สำคัญ ในการขับเคลื่อนสังคมและชุมชนในภาพรวม

นพ.จุมภฏ กล่าวว่า ผลกระทบจากการระบาดของโควิดที่มีต่อครอบครัว คือ สมาชิกในครอบครัวเครียดจากการกลัวติดโรค เครียดจากความไม่แน่ใจไม่แน่นอนว่า โรคนี้เป็นอย่างไร อันตรายจริงหรือไม่ติดง่ายหรือไม่ และความเครียดจากปัญหาเศรษฐกิจ ถ้าครอบครัวภูมิต้านทานไม่ดีก็จะเกิดความเครียดในครอบครัว ส่งผลให้เกิดความรุนแรงในครอบครัว การหย่าร้าง และความรุนแรงมักเกิดกับเด็ก สตรี คนชรา ทั้งนี้ จากการสำรวจความสุขของครอบครัวไทย แบ่งเป็นการสำรวจทางออนไลน์ และการลงพื้นที่สำรวจในครอบครัวเปราะบาง ที่น่าจะมีปัญหาได้รับผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจ ช่วง เม.ย.- พ.ค.ที่ผ่านมา โดยผู้นำชุมชนและ อสม. พบว่า แม้ครอบครัวไทยจะมีความสุขระดับมาก แต่ถ้าเปรียบเทียบครอบครัวทั่วไปกับครอบครัวที่เปราะบาง พบว่า ครอบครัวที่เปราะบางจะมีความสุขน้อยหรือน้อยมาก ประมาณ 17.2% เป็นสัดส่วนที่มากกว่าครอบครัวทั่วไปที่มีประมาณ 10.9%

ส่วนความอบอุ่นและความใกล้ชิดของครอบครัว ส่วนใหญ่จะบอกว่าเท่าเดิม แต่จะเห็นว่า ครอบครัวที่เปราะบางจะมีความอบอุ่นใกล้ชิดน้อยลง มีความห่างเหินกัน 7% เมื่อเทียบกับครอบครัวทั่วไปที่มี 3% อาจจะเกิดจากความรับผิดชอบที่มากขึ้นของสมาชิกครอบครัวในสถานการณ์นี้ ทำให้ความใกล้ชิดกันเหมือนเดิมลดน้อยลง ขณะที่ความเครียดของครอบครัวจากโควิด ทั้งครอบครัวทั่วไปและครอบครัวเปราะบางมีความเครียดระดับปานกลาง ความเครียดสูงกับสูงมากไม่แตกต่างกัน ส่วนความเชื่อมั่นของครอบครัวในการก้าวผ่านโควิด พบว่า ส่วนใหญ่เชื่อมั่น อาจเกิดจากการช่วยเหลือของภาครัฐ การที่พวกเราทุกคนช่วยเหลือกัน อย่างตู้ปันสุข

นพ.จุมภฏ กล่าวว่า วัคซีนครอบครัวมีอยู่ 3 พลัง คือ 1. พลังบวก มองเห็นข้อดีหรือทางออกในทุกปัญหา 2. พลังยืดหยุ่น เมื่อถึงเวลาหนึ่งต้องปรับเปลี่ยนเป้าหมาย ปรับเปลี่ยนบทบาททำงาน แก้ปัญหา หากมีความขาดแคลน รู้สึกเป็นทุกข์ ก็ต้องรู้จักหาแหล่งสนับสนุนหรือขอความช่วยเหลือ ส่วนคนที่มีมากพอแล้วก็ต้องแบ่งปันเกื้อกูลซึ่งกันและกัน และ 3. พลังความร่วมมือ ต้องเป็นทีมเดียวกันในการสู้ปัญหา ไม่ทะเลาะเบาะแว้ง จับมือกันก็จะสู้ปัญหาไปได้

ด้าน พญ.ดุษฎี จึงศิรกุลวิทย์ ผอ.สถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ กล่าวว่า จากการทำกิจกรรมบ้านพลังใจ ตอน บ้านเล็กจอมพลัง กับครอบครัวกลุ่มเปราะบาง 30 ครอบครัว จาก 3 ตำบล ในจังหวัดอุบลราชธานี ผลพบว่า เดิมสัดส่วนครอบครัวที่มีความเครียดสูงมาก หลังทำกิจกรรมมีแนวโน้มลดลง มีความสุขมากขึ้นจากการเสริมสร้างพลังบวกให้กัน สมาชิกในครอบครัวได้ขอบคุณกัน ชื่นชมกัน รู้สึกใกล้ชิดกัน และร่วมมือกันมากขึ้น ดังนั้น ครอบครัวหรือชุมชนอาจพัฒนากิจกรรมอื่นๆ เพื่อเสริมสร้างพลังบวก พลังยืดหยุ่น และพลังร่วมมือ หรือกิจกรรมจากวัฒนธรรมหรือภูมิปัญญาท้องถิ่น เป็นเวลา 3 ชั่วโมง เป็นต้น โดยเฉพาะกลุ่มที่มีความเปราะบางทางสังคมจำเป็นอย่างยิ่งที่ผู้นำชุมชน อสม. ต้องเข้าไปให้ความช่วยเหลือ ช่วยในการทำกิจกรรมต่างๆ

4 June 2563

ที่มา ผู้จัดการ ออนไลน์

Posted By Nitayaporn/thongpet/kanchana/Maneewan

Views, 1751

 

Preset Colors