02 149 5555 ถึง 60

 

หากป่วยใจ อย่ากลัวการไปพบจิตแพทย์

หากป่วยใจ อย่ากลัวการไปพบจิตแพทย์ : หมอเอิ้น-พ.ญ.พิยะดา หาชัยภูมิ

เธอคือบุคคลที่มีความสามารถด้านการแต่งเพลงมาตั้งแต่อายุ 18 ปี โดยวัตถุดิบในการแต่งเพลง มาจากการฟังเรื่องราวของคนใกล้ตัว คนรอบข้าง อีกทั้งสมัยนั้นเรียกได้ว่าเธอเป็นที่ปรึกษาทางใจที่ดีให้กับเพื่อน ๆ ได้ไม่น้อย เหตุนี้จึงทำให้เธออยากเป็นจิตแพทย์

วันนี้ กับประสบการณ์มากกว่า 10 ปี ในการเป็นจิตแพทย์ “หมอเอิ้น พ.ญ.พิยะดา หาชัยภูมิ” ผู้ที่อยากรับฟังเรื่องราวของผู้คน และแนะนำเขาให้ไปในทิศทางที่ถูกต้อง ปัจจุบันเธอทำหน้าที่เป็นจิตเเพทย์ประจำโรงพยาบาลพระรามเก้า ที่ปรึกษาด้านความสัมพันธ์การสื่อสารและการพัฒนาตนเอง วิทยากรและนักแต่งเพลง Love Specialist

เราได้สนทนากับคุณหมอในหลากหลายแง่มุม โดยเฉพาะในสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 ระบาดเช่นนี้ อาจทำให้หลายคนเครียด เป็นกังวล ซึ่งเราจะมีวิธีป้องกัน รับมือ หรือทำอย่างไรบ้าง

แล้วคุณจะได้รู้ว่าการไปพบจิตแพทย์นั้น ไม่ใช่เรื่องน่ากลัวอย่างที่คิด...

มากกว่า 10 ปี ที่ใช้ชีวิตคลุกคลีกับงานด้านจิตแพทย์

เหตุผลที่เลือกเรียนจิตแพทย์ เพราะคิดว่าเป็นด้านที่ยังทำให้ยังเราสามารถเขียนเพลงไปได้เรื่อย ๆ อยู่ และอีกอย่าง เราอยากรู้จักตัวเองให้มากขึ้น อยากรู้ว่าตัวเองจะสามารถมีความสุขมากขึ้นได้ไหม และที่สำคัญเลยก็คือ เราต้องการที่จะรับฟังผู้คน และแนะนำให้เขาไปในทิศทางที่ถูกต้อง ก็เลยเลือกที่จะเรียนจิตแพทย์

การเรียนหมอ ต้องเรียน 6 ปี พอเรียนจบเป็นหมอแล้ว ตามหลักจะต้องออกไปทำงานเป็นแพทย์ ได้ทุนตามโรงพยาบาลต่าง ๆ ก่อนสัก 2-3 ปี หลังจากนั้นจะเป็นช่วงที่หมอทุกคนต้องถามตัวเองว่า อยากเป็นหมอด้านไหน จะเป็นหมอต่างจังหวัดไปตลอดชีวิตไหม หรือจะไปเป็น ผอ.โรงพยาบาลชุมชน หรือจะเป็นหมอผู้เชี่ยวชาญทางด้านใดด้านหนึ่ง แต่เมื่อเลือกแล้ว เราจะต้องเป็นหมอด้านนั้นไปตลอดชีวิต

เหตุนี้จึงทำให้ต้องเลือกว่า ในชีวิตที่เหลือของการเป็นหมอ เราจะเป็นหมอด้านไหน ซึ่งถ้านับรวมตอนที่เรียนด้วย ก็ประมาณ 15 ปี แล้วค่ะ ที่อยู่กับงานด้านจิตแพทย์มา

ถามว่าเป็นจิตแพทย์ สนุกไหม หมอว่ามันอยู่ที่คนชอบนะ ถ้าเป็นคนที่สนุกกับการเรียนรู้ชีวิต มันจะสนุก อย่างหมอสนุกกับการเรียนรู้ชีวิต อาจจะไม่ใช่แค่ชีวิตเรานะ แต่เป็นชีวิตของคนอื่นที่เราได้รับฟัง ได้เข้าใจ ได้สะท้อนมุมมองของเขา ซึ่งการรับฟังมันทำให้เราได้ประสบการณ์ใหม่ ๆ ด้วยเสมอ และพอเราเจอกับตัวเองบ้าง เราจะสามารถนำไปใช้ได้

ปัจจุบัน หลัก ๆ หมอทำหน้าที่เป็นจิตเเพทย์ประจำโรงพยาบาลพระรามเก้า ที่ปรึกษาด้านความสัมพันธ์การสื่อสารและการพัฒนาตนเอง วิทยากรและตรวจอยู่ที่คลินิกส่วนตัวของตัวเองที่จังหวัดเลย สัปดาห์ละ 1 ครั้ง ค่ะ

นอกจากการทำหน้าที่ด้านจิตแพทย์แล้ว กิจกรรมเพื่อสังคมก็ทำไม่เคยขาด

ก่อนหน้านี้หลังจากที่เรียนจบจิตแพทย์จากโรงพยาบาลรามาฯ หมอก็ได้เลือกมาใช้ทุนที่จังหวัดเลย และมาช่วยกิจการครอบครัว โดยการกลับมาบริหารโรงแรมที่ชื่อว่า “เลยพาวิลเลี่ยน” ซึ่งคอนเซ็ปต์ของเราก็คือ อยากสร้างโรงแรมให้เป็นพื้นที่แห่งการเรียนรู้ในสิ่งที่เรารัก เช่น เรารักในการทำเกษตรอินทรีย์ ปลูกผัก เรามีเครือข่ายเกษตรอินทรีย์ของเรา มันก็เลยมีโอกาสที่ได้ช่วยจังหวัดในการทำงานในภาคประชาชน เหมือนเราเป็นเซ็นเตอร์ในการเชื่อมโยงระหว่างผู้เชี่ยวชาญ ผู้รู้ เพื่อนของเราในกรุงเทพฯ เชื่อมโยงในทางราชการ เชื่อมโยงในภาคเกษตรกร ส่วนใหญ่ก็จะมาเจอ หรือมาทำกิจกรรมดี ๆ ที่โรงแรมค่ะ

นอกจากนี้แล้วหมอเป็นคนที่รักและหลงใหลกาแฟมาก คือเราเป็นหมอ เราก็เลยรู้สึกว่ากาแฟ ถ้ากินให้ถูก ก็มีประโยชน์นะ เหตุนี้หมอก็เลยจะมาลงลึกเรื่องกาแฟ เรื่องสุขภาพ ซึ่งก็เปิดร้านกาแฟในโรงแรม จนสามีเห็นความชอบของเรา เขาก็ไปศึกษา จนตอนนี้เขาเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการคั่วกาแฟ ได้ใบเซอร์จากสถาบันกาแฟพิเศษนานาชาติ ( SCA : Specialty Coffee Association) ให้เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการคั่วกาแฟ และตอนนี้ก็เป็นเซ็นเตอร์เรื่องกาแฟ ช่วยเหลือจังหวัด ในส่วนการอบรม การให้ความรู้ การฝึกเกษตรกรให้เขารู้ว่ากาแฟที่ดีเป็นอย่างไร ให้เขาคั่วเองเป็น ชิมเองเป็น

นอกจากนี้แล้ว ก็จะมีโปรเจ็กต์ใหญ่ที่หมอทำต่อเนื่องมาหลายปีแล้ว แต่ว่าตอนนี้หยุดไปแล้วนะคะ ก็คือการทำคอนเสิร์ตการกุศลเพื่อช่วยเหลือกองทุนผู้ป่วยจิตเวชยากไร้ ซึ่งโปรเจ็กต์นี้เกิดจากการที่พอหมอได้กลับมาอยู่ที่จังหวัดเลย เราได้เห็นความแตกต่างอย่างมหาศาล เราได้เห็นความยากไร้ เราได้ดูแลคนไข้ที่มีความยากจน หรืองบประมาณที่ไม่พอสำหรับการรักษา รวมถึงการเป็นอยู่ของพวกเขา ก็เลยคิดว่าเราน่าจะจัดกิจกรรมอะไรสักอย่าง ซึ่งเรามีเพื่อน เราทำงานในวงการบันเทิงมาเป็นปี เหตุนี้จึงได้จัดคอนเสิร์ต Love at Loei Charity Concert ขึ้นมา โดยแต่ละปีเราจะมีพ่องาน เช่น ปีนี้เป็น ว่าน ธนกฤต ปีนี้เป็นเป้ วงมายด์ ปีนี้เป็นสิงโต นำโชค อะไรประมาณนี้ค่ะ แล้วเราก็จะใช้สถานที่ของโรงแรมจัดงาน ส่วนอาหารใครอยากนำมาทำบุญก็สามารถนำมาได้ พี่คนนี้มีเครื่องเสียง เอาเครื่องเสียงมาทำบุญ อะไรอย่างนี้ค่ะ ส่วนเราก็จะขายบัตรเข้า รายได้ทั้งหมดก็จะนำไปมอบให้กับโรงพยาบาล ประมาณนี้ค่ะ

จิตแพทย์นักแต่งเพลง นำเพลงมาบำบัดจิตใจ

การเป็นจิตแพทย์ของหมอ อาจจะเริ่มต้นจากการที่เราเป็นนักแต่งเพลงมาตั้งแต่อายุ 18 ปี ก่อนที่จะเป็นนักศึกษาแพทย์ แล้วการที่เราเป็นนักแต่งเพลง กว่าจะได้วัตถุดิบในการแต่งเพลงมา เราต้องฟังเรื่องราวของผู้คน ฟังเรื่องราวของเพื่อน อย่างเวลาถ้าใครมีความทุกข์ร้อนใจ จะชอบวิ่งมาหาเราก่อน อาจจะเป็นเพราะว่าเราให้คำปรึกษากับเขาได้ด้วยมั้งคะ

การแต่งเพลงสามารถนำมาใช้บำบัดจิตใจได้นะคะ อย่างเพลงบางเพลง เป็นเพลงที่ให้ความเข้าใจ บางทีเราพูดออกมาไม่ได้ เราสับสน อึดอัด ไม่รู้จะพูดอย่างไร เพลงบางเพลงก็สามารถแทนความรู้สึกในใจ แทนการระบายได้ หรือเพลงบางเพลงก็ให้กำลังใจได้ อยู่ที่วัตถุประสงค์ของการใช้ค่ะ

หมอเป็นนักเเต่งเพลง Love Specialist ด้วย หมอจึงนำเพลงที่หมอแต่ง มาใช้การประกอบการรักษาด้วย ยกตัวอย่างเช่น เพลง “จดหมายกับความเหงา” เป็นเพลงที่สอนให้มองความเหงาในอีกมุมหนึ่ง เพราะบนโลกใบนี้มีทั้งด้านบวกและด้านลบ ความเหงาก็เช่นกันมีทั้งข้อดีและข้อเสีย

หรือว่าเพลง “มือซ้ายกับมือขวา” ที่แต่งให้ "พี่จุ้ย ศุ บุญเลี้ยง" ร้อง เพลงนี้ก็พูดถึงความจริงของความรักแท้ นั่นคือ ต่อให้เรารักกันมากแค่ไหน เราก็ไม่อาจหลีกเลี่ยงความขัดแย้งหรือการสร้างความเดือดร้อนให้กันและกันได้ แต่เราสามารถให้อภัยกันได้ ซึ่งความรักดี ๆ จะเกิดขึ้นได้ ต้องมีการให้อภัยซึ่งกันและกัน อะไรประมาณนี้ค่ะ

เคล็ดลับการดูแลสุขภาพจิตใจ ในสถานการณ์ที่มีไวรัสโควิด-19 แพร่ระบาด

ในเรื่องของสุขภาพจิต ถ้าเป็นผลกระทบของโควิด-19 จะต้องแบ่งเป็น 2 ช่วง ซึ่งในข้อมูลตอนนี้เรามาถึงในช่วงที่ 2 แล้ว

อย่างในช่วงแรก คนจะมีความทุกข์ มีความกังวล ซึ่งเป็นความกังวลในความปลอดภัยทางด้านร่างกาย ในเรื่องของการอยู่รอด อีกทั้งต้องปรับตัวไปกับสถานการณ์ ซึ่งสิ่งนี้จะเป็นความเครียดในช่วงแรก

ตอนนี้ผ่านมา 2-3 เดือนแล้ว ปัญหาในเรื่องสุขภาพจิต ก็จะเริ่มเปลี่ยน บางคนอาจจะสะสม เพราะฉะนั้น ถ้าเรายังปรับตัวไม่ได้ สิ่งที่จะตามมาก็คือ ความเบื่อหน่าย ความท้อแท้ ความหดหู่ รู้สึกซึมเศร้า เป็นโรควิตกกังวลได้

ตอนนี้ต้องดึงสติกลับมา ต้องยอมรับปัญหาภายนอกให้ได้ว่า มันมีปัญหาอยู่จริง ๆ มันมีปัญหาเกิดขึ้นมาแล้ว เราต้องเข้าใจในจุดนี้ก่อน พอเราเข้าใจแล้ว เราต้องแยกระหว่างสิ่งที่เราจัดการได้ สิ่งที่เราจัดการไม่ได้ก็ต้องปล่อยมันไป และกลับมาลองมีความสุขกับสิ่งเล็กๆ ง่ายๆที่เกิดขึ้นได้ในชีวิต ยกตัวอย่างเช่น เราเคยมีความสุขที่ได้ออกไปเที่ยวไกล ๆ ได้ไปเที่ยวต่างประเทศ แต่ปีนี้เราได้ไปเที่ยวข้ามจังหวัด เราก็มีความสุขได้ หรืออย่างแต่ก่อนเราอาจจะใช้เงินวันละ 1,000 บาท ลองตั้งชาเลนจ์ใหม่ว่าเราจะใช้เงินแค่ 300 บาท เราทำได้ เราก็มีความสุขได้แล้ว หรือบางคนตั้งแต่ผ่านมาเจอสถานการณ์โควิด-19 นอนไม่ค่อยหลับ แต่วันนี้ไหว้พระสวดมนต์ นั่งสมาธิ ขอให้คืนนี้นอนหลับฝันดี พรุ่งนี้ตื่นเช้ามาสดใส ก็อาจจะมีความสุขได้แล้ว

เพราะฉะนั้นเราก็แค่ยอมรับว่ามันมีปัญหาเกิดขึ้นจริง ๆ เราอยู่ในสถานการณ์ที่ไม่ปกติจริง ๆ สิ่งที่เราจะทำได้ตอนนี้ก็คือ อะไรที่เป็นความสุขง่าย ๆ ที่สามารถทำได้ด้วยตัวเราเอง ก็ทำเลย เพราะถ้าไม่ทำก็จะอยู่แค่ในความคิดอย่างเดียว ยิ่งคิดก็จะยิ่งไปกันใหญ่ ยุคนี้เป็นยุคของการรู้ตัวแล้วทำเลย ทำแล้วไม่ดีก็ปรับ เราอาจจะต้องปรับตัวทุกวัน เราลืมตาตื่นขึ้นมา ก็ต้องปรับตัวให้ได้แล้ว เพราะชีวิตคือการเปลี่ยนแปลง และตอนนี้ยิ่งเปลี่ยนแปลงเร็วขึ้น

วิธีป้องกันไม่ให้ป่วยใจ คำแนะนำจากหมอเอิ้น

วิธีป้องกัน อย่างที่บอกคือ เราอาจจะต้องมองเห็นโลกตามความเป็นจริง ว่าทุกอย่างบนโลกใบนี้ มีทั้งข้อดีและข้อเสียเสมอ ซึ่งหมออยากจะแนะนำ 4 ข้อหลัก ๆ ดังนี้ค่ะ

1. มองโลกตามความเป็นจริงให้ได้

2. ฝึกที่จะยอมรับสิ่งที่เกิดขึ้นในชีวิต บางทีเรามีปัญหาสุขภาพจิตเพราะเราไม่อยากยอมรับความจริง เช่น ถ้าเราตกงานแล้วรู้สึกเศร้า ก็ยอมรับว่า “โอเค ฉันเศร้า”รู้สึกท้อแท้ “โอเค ฉันท้อแท้” แล้วถามตัวเองต่อว่า “แล้วจะทำอย่างไรให้ความเศร้า ความท้อแท้ดีขึ้น

3. ที่สำคัญอย่าทำให้ใครเดือดร้อน แล้วก็ระวังความคิดตัดสินตัวเอง และคนอื่น เช่น บางคนมักจะว่าตัวเองทำอย่างนี้ไม่ได้ ทำอย่างนั้นไม่ดี คนอื่นทำได้ ทำดีกว่า หรือว่าไปตัดสินคนอื่น

4. เรียนรู้ที่จะเคารพความแตกต่าง พอเราไปเจออะไรที่แตกต่าง แล้วเรารู้สึกไม่เคารพ มันจะทำให้การเรียนรู้ การเชื่อมโยงของสังคมไม่เกิดขึ้น แล้วการที่เราพยายามให้ใครคนหนึ่งคิดตามเรา อันนี้ก็เป็นที่มาของปัญหาความสัมพันธ์เยอะเหมือนกัน น่าจะเป็น 4 ข้อ ที่เป็นภูมิคุ้มกันทางจิตใจ ถ้าเราฝึกได้

ถ้าถามว่าปัญหาทางสุขภาพจิตเกิดจากอะไร จริง ๆ มีสาเหตุหลายปัจจัยมากนะคะที่ทำให้เสี่ยงต่อสุขภาพจิต จะมีทั้งเรื่องของสารเคมีที่อยู่ในสมอง เรื่องพันธุกรรม สุขภาพพื้นฐานหรือบุคลิกภาพพื้นฐาน เรื่องสังคม สิ่งแวดล้อม การงาน และความเครียดต่าง ๆ

ซึ่งวิธีเช็กว่าเรามีปัญหาสุขภาพจิตหรือไม่ สามารถทำได้ดังนี้ค่ะ

1. เราเริ่มรู้สึกว่าตัวเองเปลี่ยนแปลงหรือเปล่า อันนี้เป็นจุดแรก อย่างเช่น วันนั้นเรามีความสุขกับการทำอะไร แล้ววันนี้เรายังมีความสุขกับสิ่งนั้นอยู่หรือเปล่า เราเคยมีสมาธิกับการทำงาน แต่วันนี้มันยากมากเลยที่เราจะมีสมาธิหรือเปล่า

2. เราเปลี่ยนไปอย่างไร บางคนอาจจะเป็นในเรื่องของร่างกายที่เปลี่ยนไป เช่น ปวดเมื่อย ตึงกล้ามเนื้อ นอนไม่ค่อยหลับ การกินเปลี่ยนไป ผู้หญิงอาจจะมีประจำเดือนเลื่อนได้ อันนี้แปลว่าความเครียดเริ่มลามมีผลต่อร่างกายแล้ว

3. มันลามไปเป็นปัญหาทางด้านความคิดและสภาพจิตใจด้วยหรือเปล่า เช่นเรารู้สึกเศร้ามากขึ้น เราต้องดูว่าเศร้าตลอดเวลาไหม ถ้าเกิดเราเศร้าแต่เรารู้ว่าเราเศร้าเพราะอะไร เราคิดเรื่องนี้แล้วเศร้า เราคิดเรื่องอื่นแล้วยังเศร้าอยู่ไหม ถ้าเราคิดเรื่องอื่นแล้วเรายังเศร้าอยู่ แสดงว่าความเศร้าของเราน่าจะมีความผิดปกติ

ไปพบจิตแพทย์ ไม่ได้แปลว่า...บ้า

จริง ๆ แล้วจิตแพทย์ไทยไม่ได้เป็นหมอที่น่ากลัวขนาดนั้น และคนไทยก็โชคดีมาก ๆ ที่สามารถเข้าถึงจิตแพทย์ได้ง่าย โรงพยาบาลรัฐมีเยอะ และยังมีสวัสดิการของรัฐที่ยังรองรับ หรืออย่างในโรงพยาบาลเอกชนก็มีหมอจำนวนไม่น้อย ที่เราสามารถไปขอคำปรึกษา พูดคุยเป็นการส่วนตัวได้ ต่างจากในต่างประเทศที่ค่าปรึกษาจิตแพทย์ เขานับเป็นนาทีที่แพงมาก

อย่างน้อยเวลาที่เรารู้สึกว่าตัวเราเองไม่เหมือนเดิม หมออยากให้ไปพบจิตแพทย์นะคะ ไม่อยากให้ชะล่าใจไป เพราะมันอาจจะลุกลามจนกลายเป็นโรคได้และถึงตอนนี้จะเกินการควบคุมของเรา

หรืออย่างถ้ามีคนในครอบครัวเข้าข่ายว่าจะมีปัญหาทางจิต การที่จะพูดให้เขามาหาหมอ อย่างแรกคนพูดต้องเคลียร์ตัวเอง ดูแลความกังวลและความคิดของตัวเองให้ชัดเจนก่อน ว่าเรากังวลเรื่องอะไรบ้าง เพราะว่าถ้าเกิดว่าเราจัดการความคิด อารมณ์ ปัญหาที่เกิดขึ้นไม่ได้ เราจะสื่อสารออกไปลำบาก มันจะสื่อสารได้ไม่ตรงกัน หมอเคยเจอคนที่เวลาจะพูดแล้วชักแม่น้ำทั้งห้าอ้อมโลก กว่าจะเข้าประเด็นได้ คนฟังจะยิ่งหงุดหงิด

ยกตัวอย่างเช่น เราเห็นคุณพ่อคุณแม่ของเรามีบุคลิกภาพที่เปลี่ยนแปลงไป เขาเก็บตัว เขาเศร้า เขาหงุดหงิดง่าย เราต้องถามตัวเองก่อนค่ะว่า เรากังวลอะไร เรากลัวอะไร เราเห็นอะไร สิ่งนี้แหละค่ะที่เราจะสื่อสารกับเขา เช่น หนูสังเกตมา 2-3 เดือนแล้วว่าพ่อนอนไม่หลับเลย แล้วอารมณ์พ่อดูเปลี่ยนไป เรารู้สึกกังวลยังไง รู้สึกเป็นห่วงยังไง กลัวว่าพ่อจะเป็นเยอะกว่านี้ ไปหาหมอกันไหม ให้เราบอกถึงพฤติกรรมของเขา ไม่ได้ไปต่อว่าเขา ซึ่งมันจะทำให้คนที่ฟัง รู้สึกว่าเขาไม่ได้เป็นตัวปัญหา เขารู้สึกว่าเราห่วงเขา เพราะฉะนั้นเขาก็อยากจะร่วมมือ อยากที่จะรักษา เพื่อจะทำให้ชีวิตเขาดีขึ้น และเพื่อที่จะทำให้เราไม่เป็นทุกข์

หมออยากบอกว่าการพบจิตแพทย์ไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิดนะคะ แต่ก็ไม่แปลกใจที่เราจะรู้สึกกลัว หรือรู้สึกกังวล เพราะทัศนคติของสังคมบอกกับเราแบบนั้น อย่างในละครทุกเรื่อง ถ้าตัวร้ายไม่ฆ่าตัวตาย ก็เป็นบ้า มันคือการเรียนรู้ที่ทำให้เราสร้างกรอบความคิดของเรา ซึ่งการสร้างกรอบตรงนี้ มันอาจจะทำให้เราเสียเวลาชีวิต เราไม่ควรปล่อยความเศร้าทำให้เราเป็นโรคซึมเศร้า เพราะเราไปตรวจจริง ๆ แล้วเราอาจเป็นแค่ภาวะเศร้าก็ได้ ไม่ได้เป็นโรคซึมเศร้า แต่เราจะได้แนวทางในการดูแลความเศร้าที่ถูกต้องกลับมา แล้วทำให้เราใช้ชีวิตง่ายขึ้น มีความสุขง่ายขึ้น ประสบความสำเร็จเร็วขึ้น เพราะไม่ยึดติดกับกรอบที่ว่า ไปพบจิตแพทย์คือคนบ้าเพียงเท่านั้น

19 June 2563

ที่มา ผู้จัดการ ออนไลน์

Posted By Nitayaporn/thongpet/kanchana/Maneewan

Views, 1793

 

Preset Colors