02 149 5555 ถึง 60

 

จัดการกับเด็กชอบกรี๊ด

จัดการกับเด็กชอบกรี๊ด

คงมีคุณพ่อคุณแม่น้อยคนที่ไม่ต้องเจอกับเรื่องน่าหงุดหงิดใจที่ลูกๆกรีดร้องเสียงดังอยู่บ่อยครั้งและไม่มีวี่แววที่จะยุติลงได้ง่ายๆ จะบอกว่าเป็นความโชคดีก็อาจไม่ใช่เสียทีเดียว เพราะหากทำความเข้าใจโดยแท้จริงแล้วพฤติกรรมดังกล่าวนับเป็นส่วนหนึ่งของพัฒนาการที่เด็กๆจะต้องเรียนรู้และสามารถรับมือได้ไม่ยากเลยหากได้รับการปฏิบัติอย่างเหมาะสม

พฤติกรรมชอบกรี๊ดที่กำลังกล่าวถึงอยู่นี้เป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นได้กับเด็กเล็กในช่วงราวๆ 3ขวบปีแรก เนื่องจากพัฒนาการของสมองจะค่อยๆเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมจากการแสดงออกตามสัญชาตญาณไปสู่การตอบสนองไปตามอารมณ์และความรู้สึก คุณพ่อคุณแม่ที่ต้องเลี้ยงดูเด็กในช่วงวัยนี้จึงมักต้องพบเจอพฤติกรรมหุนหันพลันแล่นและเอาแต่ใจตัวเอง จนก้าวเข้าสู่ปีที่ 4 เด็กจะเริ่มเข้าใจเหตุผลต่อสิ่งต่างๆมากขึ้น สามารถจัดการอารมณ์และความรู้สึก รวมถึงพฤติกรรมให้เป็นไปในทิศทางที่เหมาะสมได้ดีขึ้นเรื่อยๆ

เด็กในวัยกรี๊ดมักยึดถือตัวเองเป็นศูนย์กลางและต้องการเป็นตัวของตัวเองอย่างเต็มที่ ในบางครั้งอาจเรียกว่าเป็นวัยต่อต้านก็ได้ เนื่องจากต้องการอิสระที่จะทำอะไรตามใจตัวเองและชอบการเอาชนะ แต่ด้วยข้อจำกัดในการใช้ภาษาที่ทำให้การสื่อสารขาดความชัดเจน การกรีดร้องในเด็กเล็กเมื่อถูกกระตุ้นด้วยการขัดใจหรือแม้แต่ตามใจ จึงเป็นวิธีการอย่างหนึ่งในการส่งสัญญาณเพื่อบ่งบอกให้คนอื่นรับรู้ถึงอารมณ์และความรู้สึกไม่พอใจ ผิดหวังหรือเสียใจ รวมทั้งเป็นวิธีการที่ได้ผลในการเรียกร้องความสนใจเสมอ

แม้จะเป็นพฤติกรรมที่เกิดขึ้นได้สำหรับในช่วงวัยนี้ แต่ก็คงดีกว่าหากคุณพ่อคุณแม่สามารถจัดการกับเสียงกรี๊ดของลูกๆให้ค่อยๆลดน้อยลงและช่วยเสริมสร้างพัฒนาการที่ช่วยกระตุ้นให้เกิดการเรียนรู้ทั้งเรื่องการใช้เหตุผล การควบคุมอารมณ์ รวมถึงทักษะในการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อเด็กในระยะยาวได้มากกว่าการมองข้ามและปล่อยให้เป็นเรื่องของเวลา โดยมีคำแนะนำในการรับมือกับเด็กชอบกรี๊ด ดังนี้

1.เข้าใจความต้องการ ลำดับแรกคุณพ่อคุณแม่ต้องให้ความสำคัญกับการดูแลเอาใจใส่และมีเวลาให้กับลูกให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ความใกล้ชิดและการสังเกตพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปได้อย่างรวดเร็วจะนำไปสู่การพิจารณาหาสาเหตุเพื่อเข้าใจถึงอารมณ์ ความรู้สึกและความต้องการของเด็กได้อย่างถูกต้องซึ่งจะทำให้สามารถเตรียมการรับมือและหาทางออกได้อย่างเหมาะสม ด้วยเหตุนี้ คุณพ่อคุณแม่จึงพึงตระหนักอยู่เสมอว่าการไม่ตามใจไม่ได้หมายถึงการไม่สนใจแต่อย่างใด

2.ควบคุมสถานการณ์ หากปล่อยเวลาให้เนิ่นนานออกไปอาจยิ่งทำให้เด็กรู้สึกแย่มากขึ้นไปอีกและเกิดการต่อต้านจนยากที่จะแก้ไข การควบคุมสถานการณ์ให้สามารถคลี่คลายได้โดยเร็วเป็นเรื่องจำเป็น สิ่งสำคัญคือ การควบคุมอารมณ์ของตัวคุณพ่อคุณแม่เองให้เป็นปกติและรู้จักเลือกจังหวะเวลาในการเข้าหาเด็กอย่างใจเย็นเพื่อสื่อถึงความเข้าใจและแสดงถึงความห่วงใยอย่างแท้จริง ซึ่งจะได้ผลดีมากกว่าการเพิกเฉยไม่สนใจหรือการใช้คำพูดว่ากล่าวและมีท่าทีที่ดูเป็นการคุกคาม

3.รู้จักวิธีการรับมือ การรับมือกับการกรีดร้องขึ้นอยู่กับสาเหตุและช่วงวัยของเด็กเป็นสำคัญ ในเด็กที่ยังเล็กมาก การอธิบายด้วยเหตุผลมักไม่ได้ผลเพราะยังขาดทักษะทางภาษาและความเข้าใจในเหตุและผล สิ่งที่ต้องทำคือการสื่อสารด้วยคำพูดที่กระชับและชัดเจนและค่อยๆเบี่ยงเบนความสนใจไปยังสิ่งอื่นแทน แตกต่างกับเด็กที่โตขึ้นจะเริ่มมีความเข้าใจในเหตุผลซึ่งสามารถใช้วิธีการอธิบายและพูดคุยให้เข้าใจได้ โดยคุณพ่อคุณแม่สามารถชักจูงหรือกระตุ้นให้เด็กคิดหาทางเลือกอื่นๆที่จะทำให้ตัวเองรู้สึกพอใจได้เช่นกัน

4.เรียนรู้กฎเกณฑ์ การลดทอนพฤติกรรมที่ยึดถือตัวเองเป็นใหญ่นั้นสามารถทำได้โดยการส่งเสริมให้เด็กได้มีโอกาสเข้าสังคมหรือกลุ่มเพื่อนในวัยใกล้เคียงกันเพื่อเรียนรู้ถึงการวางตัวและปรับตัว รวมถึงทำความเข้าใจคนอื่นเพื่อให้สามารถดำเนินกิจกรรมร่วมกันได้นอกจากนี้ คุณพ่อคุณแม่สามารถกำหนดระเบียบภายในบ้านถึงข้อจำกัดในการส่งเสียงดังเพื่อให้คุ้นเคยและเกิดความระมัดระวังในการใช้เสียง รวมทั้งอาจมอบหมายหน้าที่ความรับผิดชอบในงานที่เหมาะสมเพื่อเรียนรู้กฎเกณฑ์และรู้จักทำงานเพื่อส่วนรวม

5.รู้เท่าทันตัวเอง แม้จะยังเป็นเด็กแต่คุณพ่อคุณแม่ก็สามารถให้ความรู้และความเข้าใจถึงสภาวะทางอารมณ์ในลักษณะต่างๆ ทั้งใบหน้าและท่าทางที่แสดงถึงความดีใจ เสียใจ โกรธและอื่นๆผ่านทางตัวการ์ตูนหรือนิทานที่ลูกชอบ ซึ่งจะทำให้สามารถแยกแยะได้ว่าควรแสดงออกอย่างไรระหว่างสภาวะอารมณ์ที่น่าเข้าใกล้กับที่ควรถอยห่าง รวมทั้งสนับสนุนให้ลูกรู้จักช่วยเหลือดูแลตัวเองในกิจวัตรประจำวันได้ ซึ่งจะทำให้เด็กเกิดความมั่นใจในตัวเองที่จะลงมือทำสิ่งต่างๆและไม่พยายามเรียกร้องความสนใจหรือขอให้คนอื่นช่วยโดยไม่จำเป็น

เด็กชอบกรี๊ดมักถูกมองด้วยความเข้าใจผิดว่าเป็นเด็กเอาแต่ใจและเป็นปัญหาที่การเลี้ยงดูของคุณพ่อคุณแม่อาจมีความจริงอยู่บ้างบางส่วนแต่ก็ไม่ใช่เรื่องน่าหนักใจแต่อย่างใดเพราะในสาระสำคัญแล้วการจัดการกับสิ่งนี้ถือเป็นหน้าที่ของผู้ใหญ่ที่จะต้องเอาใจใส่และเข้าใจถึงความต้องการที่แท้จริงเพื่อส่งเสริมให้เด็กสามารถพัฒนาทักษะการใช้เหตุผลและมีพฤติกรรมไปในทิศทางที่พึงประสงค์ได้ในที่สุด

22 June 2563

ที่มา ผู้จัดการ ออนไลน์

Posted By Nitayaporn/thongpet/kanchana/Maneewan

Views, 17857

 

Preset Colors