02 149 5555 ถึง 60

 

7 วิธีอยู่ร่วมกับผู้สูงวัยอย่างมีความสุข

7 วิธีอยู่ร่วมกับผู้สูงวัยอย่างมีความสุข

การก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์ (Complete Aged Society) หรือการที่สังคมไทยจะมีประชากรในวัย 60 ปีขึ้นไปมากกว่า 20% ในปีหน้านี้ ประกอบกับความจำเป็นทางเศรษฐกิจและวิถีในการดำเนินชีวิตในปัจจุบัน ทำให้มีแนวโน้มที่จะเกิดครอบครัวขยายที่มีสมาชิกต่างช่วงวัยมาอยู่ร่วมกันเพิ่มมากขึ้น แต่สิ่งที่มักเป็นปัญหาตามมาคือ ความไม่เข้าใจและเกิดเป็นความรู้สึกที่ไม่ดีต่อกันด้วยช่องว่างระหว่างวัย

สภาวะของการมาอยู่ร่วมเป็นครอบครัวเดียวกันแต่ไม่มีใจผูกพันและรู้สึกถึงความเหินห่างต่อกันเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้บ่อยครั้งในครอบครัวที่ประกอบด้วยสมาชิกต่างช่วงวัย ไม่เพียงแต่พ่อแม่กับลูกเท่านั้น แต่ยังรวมถึงปู่ย่ากับหลาน หรือกลุ่มเครือญาติที่มีความโยงใยกันอีกด้วย ซึ่งแต่ละช่วงวัยต่างก็มีคุณลักษณะและคุณค่าที่ยึดถือที่ถูกบ่มเพาะจากการเติบโตในสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจและสังคมที่แตกต่างกันตามยุคสมัย รวมถึงพละกำลังและความสมบูรณ์แข็งแรงของทั้งร่างกายและจิตใจที่ไม่เท่ากันจนอาจเป็นเรื่องยากที่จะเข้าใจ

เมื่อคำนึงถึงประโยชน์และความจำเป็นที่ต้องอยู่ร่วมกัน สิ่งสำคัญคือการที่สมาชิกทุกคนสามารถใช้ชีวิตภายในบ้านได้อย่างราบรื่นและมีความสุข โดยเฉพาะการดูแลเอาใจใส่ผู้สูงวัยภายในบ้านซึ่งถือว่าอยู่ในช่วงบั้นปลายของชีวิต หลังจากที่ต้องเหน็ดเหนื่อยกับการทำงานเพื่อก่อร่างสร้างตัวและเลี้ยงดูลูกให้เติบโตจนสามารถดูแลตัวเองและสร้างครอบครัวของตัวเองต่อไปได้ รวมทั้งกำลังทำหน้าที่สุดท้ายโดยการเป็นที่พึ่งพิงให้กับลูกหลานได้มีโอกาสตอบแทนพระคุณบ้างนั้น จึงเป็นหน้าที่ของสมาชิกที่จะต้องเรียนรู้และปรับตัวเข้าหาผู้สูงวัยด้วย

ด้วยเหตุนี้ ความสุขในที่นี้จึงไม่ได้หมายถึงตัวเราเพียงฝ่ายเดียว แต่ยังรวมถึงความสุขของผู้สูงอายุอันได้แก่ คุณพ่อคุณแม่หรือคุณปู่คุณย่าที่อยู่ภายในบ้านร่วมกันกับเราด้วย การทำความเข้าใจในลักษณะนิสัย ความคิด ทัศนคติและประสบการณ์ที่มีต่อสิ่งต่างๆ ตลอดจนความเสื่อมถอยและเปลี่ยนแปลงทั้งทางร่างกายและจิตใจของผู้สูงวัยจึงเป็นสิ่งจำเป็น เนื่องจากปัจจัยเหล่านี้ย่อมส่งผลต่ออารมณ์ ความรู้สึกและการแสดงออกที่มักเต็มไปด้วยความวิตกกังวลและห่วงใยต่อสิ่งต่างๆมากจนทำให้สมาชิกเกิดความรำคาญใจและถอยห่างออกมา

เพื่อให้บรรยากาศภายในครอบครัวที่ประกอบด้วยสมาชิกจากหลากหลายช่วงวัยเป็นไปด้วยความเรียบร้อยและเป็นพื้นที่ที่น่าอยู่สำหรับสมาชิกทุกคน ไม่เกิดความรู้สึกแปลกแยกและรู้สึกเหินห่างต่อกัน ต่อไปนี้เป็นข้อแนะนำถึง 7 วิธีที่จะทำให้เราสามารถอยู่ร่วมกับผู้สูงวัยภายในครอบครัวได้อย่างมีความสุข

1.ยอมรับและเข้าใจในความต่าง – เนื่องจากผู้สูงวัยเติบโตมาบนพื้นฐานและประสบการณ์ที่แตกต่างออกไป เมื่อใกล้ชิดกับคนรุ่นใหม่ที่มีลักษณะไม่ตรงกันจึงมักวิตกกังวลและคอยกำชับติดตามให้ทำตามที่ตนเองยึดถือ บ่อยครั้งหลงลืมและพูดย้ำหลายครั้งจนสมาชิกรู้สึกไม่เป็นส่วนตัว สิ่งที่ทำได้คือ ตอบรับและทำตามคำแนะนำ หากมีส่วนไหนไม่เป็นความจริงก็ควรให้อภัยและปล่อยผ่านไปโดยไม่จำเป็นต้องโต้เถียงจนรู้สึกไม่ดีต่อกัน

2.มองเห็นคุณค่าและความสำคัญ – ผู้สูงวัยส่วนมากที่พ้นจากชีวิตการทำงานแล้วอาจรู้สึกหมดคุณค่าที่ไม่สามารถทำประโยชน์ให้กับใครได้อีก จนไปบั่นทอนสภาพจิตใจและส่งผลกระทบต่อสุขภาพร่างกายตามมา ซึ่งคนในครอบครัวสามารถช่วยได้ด้วยการให้ความสำคัญโดยการขอคำแนะนำ รับฟังความเห็นหรือให้มีส่วนร่วมในการตัดสินใจในเรื่องต่างๆ รวมทั้งแสดงออกต่อกันด้วยความเคารพเพื่อสร้างบรรยากาศที่ดีให้กับครอบครัว

3.ให้ความดูแลเอาใจใส่ – ความต้องการของผู้สูงวัยคือการได้รับความดูแลเอาใจใส่จากคนรอบตัว ซึ่งสมาชิกในครอบครัวสามารถเพิ่มพูนความรู้สึกและความสัมพันธ์ที่ดีได้โดยการถามไถ่สารทุกข์สุกดิบและชวนพูดคุยถึงเรื่องต่างๆ คอยดูแลใกล้ชิดไม่ปล่อยให้อยู่โดยลำพัง ดูแลเรื่องอาหารการกิน ความสะอาดและการออกกำลังกาย พาไปตรวจสุขภาพและพบแพทย์ตามนัดหมาย รวมทั้งส่งมอบรอยยิ้มและเสียงหัวเราะให้กันเสมอ

4.นำเสนอสิ่งที่เป็นประโยชน์ – นอกจากสมาชิกจะคอยรับฟังคำแนะนำจากผู้สูงวัยในฐานะที่เคยอาบน้ำร้อนมาก่อนแล้ว คนรุ่นใหม่ก็สามารถให้คำแนะนำดีๆกลับคืนไปให้ได้ด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะองค์ความรู้สมัยใหม่ที่เกี่ยวข้องกับการดูแลรักษาสุขภาพร่างกายและจิตใจให้แข็งแรงอยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็นการดูแลช่วยเหลือตัวเองและการพักผ่อนอย่างเหมาะสม การเลือกกินอาหารที่มีประโยชน์ หรือแม้แต่การใช้เทคโนโลยีเพื่อคลายเงา

5.สนับสนุนการมีชีวิตที่ดี

– หน้าที่สำคัญอย่างหนึ่งของสมาชิกคือ การสนับสนุนให้ผู้สูงวัยได้มีโอกาสริเริ่มทำกิจกรรมใหม่ๆที่สร้างความรู้สึกที่ดีและมีคุณค่าต่อทั้งตนเองและผู้อื่นเพื่อไม่ให้จมอยู่กับตัวเอง เรื่องในอดีตหรือกังวลกับอนาคตที่ยังมาไม่ถึงมากจนเกินไป ซึ่งทำได้โดยการอำนวยความสะดวกในการเดินทางไปพบปะญาติและเพื่อนฝูง การท่องเที่ยวหรือปฏิบัติธรรม รวมทั้งกิจกรรมอื่นๆที่สามารถทำร่วมกันได้ทั้งครอบครัว

6.ไม่นำปัญหามารบกวนจิตใจ – เป็นเรื่องปกติที่ผู้สูงวัยซึ่งมักไม่มีภาระใดๆให้ต้องกังวลแล้วนอกจากสุขภาพร่างกายจะหันมาให้ความสนใจกับความเป็นไปของลูกหลานได้อย่างเต็มที่ หากเป็นไปได้สมาชิกจึงควรดูแลจัดการชีวิตของตัวเองให้ดีเพื่อไม่ให้ผู้สูงอายุต้องวิตกกังวลและเข้ามายุ่งเกี่ยวกับปัญหาต่างๆ โดยเฉพาะเรื่องความขัดแย้งในครอบครัวและการแย่งชิงมรดกหรือสมบัติที่กระทบกระทั่งจนเกิดความไม่พอใจต่อกัน

7.หมั่นแสดงความรักให้กัน – การแสดงความรักในครอบครัวมีหลายวิธีด้วยกัน ตั้งแต่วิธีที่ไม่มีค่าใช้จ่ายและสามารถทำได้ทุกวันอย่างการพูดคุยและบอกรัก การสัมผัสและโอบกอดเป็นประจำ หรือการดูแลเอาใจใส่ในการจัดเตรียมอาหารการกิน เครื่องมือเครื่องใช้ที่ช่วยอำนวยความสะดวก พาไปท่องเที่ยวหรือทานอาหารในโอกาสพิเศษต่างๆ รวมถึงการทำตัวเป็นลูกหลานที่ดีด้วยการเชื่อฟัง เคารพและให้เกียรติซึ่งกันและกันเสมอ

หากเลือกได้คงไม่มีใครต้องการให้ความสูงวัยเข้ามาเปลี่ยนแปลงสิ่งดีๆที่คุ้นเคยมาตลอด 60 ปีในชีวิต แต่เมื่อไม่มีใครฝืนกฎธรรมชาติข้อนี้ได้ก็เป็นหน้าที่ของคนในครอบครัวที่จะต้องยอมรับและเข้าใจ พยายามที่จะปรับตัวเองเข้าหาความเปลี่ยนแปลงเพื่อที่จะทำให้ทุกคนสามารถใช้ชีวิตร่วมกันได้อย่างมีความสุข

13 July 2563

ที่มา ผู้จัดการ ออนไลน์

Posted By Nitayaporn/thongpet/kanchana/Maneewan

Views, 2704

 

Preset Colors