02 149 5555 ถึง 60

 

สัมพันธภาพคนข้ามรุ่นสร้างได้

สัมพันธภาพคนข้ามรุ่นสร้างได้/ดร.สรวงมณฑ์ สิทธิสมาน

โดยปกติเจ้าลูกชายคนเล็ก "สิน สิทธิสมาน" มีบุคลิกขี้เล่นที่สุดในบ้าน มักหาเหตุเรื่องฮามาสร้างสีสันให้สมาชิกในบ้าน โดยเฉพาะคุณยายหรืออาม่าจะหัวเราะร่วนเสมอเมื่อหลานชายชอบแหย่ให้หัวเราะ ยิ่งช่วงโควิด-19 ยิ่งทำให้อาม่ากับหลานใกล้ชิดกันมากขึ้น มีกิจกรรมที่ชวนกันเรียนรู้แทบทุกวัน และกลายเป็นที่มาในการถ่ายทอดบทความชิ้นนี้

ครอบครัวของผมมีสมาชิก 5 คน อาม่าผมอายุ 75 ปี มากที่สุด ตามมาด้วยคุณพ่อ คุณแม่ พี่ชาย และก็ผมอายุ 20 ปี น้อยที่สุดในบ้าน แต่กลายเป็นว่าผมกับอาม่ากลายเป็น "คู่หูคู่ฮาช่วงโควิด"

ก็ไม่รู้ว่าเพราะอะไรเหมือนกันครับ ที่ทำให้ผมชอบหยอกล้อกับอาม่าตลอด ทั้งที่ช่วงวัยของเราห่างกันมาก ความสนใจของผมกับอาม่ายิ่งคนละเรื่องกันเลย แต่ผมก็ชอบหาเรื่องเรียกเสียงฮาให้อาม่าได้ทั้งวัน

ยิ่งช่วงกักตัวอยู่บ้านในสถานการณ์โควิด-19 สิ่งหนึ่งที่ทำให้ความสัมพันธ์ของผมกับอาม่ายิ่งแน่นแฟ้นมากขึ้น ก็คงเป็นเพราะเจ้าสมาร์ทโฟนเนี่ยแหละครับ

ต้องยอมรับว่าปัจจุบันโซเชี่ยลเน็ตเวิร์คได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตพวกเราทุกคนไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ไม่ว่าจะเด็ก ผู้ใหญ่ หรือแม้กระทั่งผู้สูงวัย ก็ต่างมีบัญชีโซเชี่ยลมีเดียของตัวเองกันหมด...

ไม่ได้เว้นแม้แต่อาม่าหรือคุณยายวัย 75 ของผม !

อาม่ามีโทรศัพท์มือถือติดตัวมาตั้งนานแล้วครับ แต่ก็จะมีเพื่อเอาไว้โทรออก หรือรับสายเข้าเท่านั้น และแม้อาม่ามีโทรศัพท์มือถือมานานละ แต่ก็ชอบลืมเอาไว้ที่บ้าน ไม่ค่อยพกติดตัวออกไปข้างนอกเท่าไหร่นัก ถ้าโทรศัพท์ไม่พังจนใช้ไม่ได้อาม่าก็คงไม่เปลี่ยนเครื่องเป็นแน่

ครอบครัวผมก็เป็นแบบนี้แหละครับ นิสัยก็จะรักษาของมาก ๆ ใช้อะไรก็ใช้ให้คุ้มกับเงินที่เสียไป ถ้าไม่พังก็คงจะใช้อยู่อย่างนั้นไปเรื่อย ๆ จนกว่าจะพัง

ด้วยความที่ครอบครัวผมเป็นแบบนี้ จึงเป็นเรื่องปกติที่ผมใช้ของต่อจากพี่ชายอยู่ตลอด ตั้งแต่เสื้อ กางเกง ถุงเท้า ไปจนถึง...กางเกงใน...ฮ่า ๆ พอโตขึ้นมาหน่อยก็ลามมาที่เสื้อผ้าของพ่อบ้าง

ในส่วนอาม่าก็เช่นกันครับ มักใช้โทรศัพท์ต่อจากคุณแม่ตลอด แม้แต่ตอนที่คุณแม่ผมเปลี่ยนเบอร์โทรศัพท์ อาม่ายังใช้เบอร์เก่าของแม่เลยครับ ผมบอกแล้ว คุ้มจริง ๆ ฮ่า ๆ

ประเด็นมันอยู่ตรงนี้ครับ เมื่อโลกเราพัฒนามาเรื่อย ๆ จนถึงช่วงที่แทบจะไม่มีโทรศัพท์แบบรุ่นกดปุ่มให้ใช้อีกแล้ว แทบทุกร้านโทรศัพท์มีแต่ “สมาร์ทโฟน” ให้เห็นเกือบทั้งหมด ทั้งครอบครัวผมก็ใช้สมาร์ทโฟนกันหมดแล้ว คงเหลือแต่เพียงอาม่าเท่านั้นแหละครับที่ยังใช้โทรศัพท์กดปุ่มรุ่นเก่าอยู่ และแล้ววันนั้นก็มาถึง วันที่คุณแม่ผมเปลี่ยนโทรศัพท์ใหม่ และนั่นแหละครับ เครื่องเดิมของคุณแม่ก็ได้กลายเป็นของอาม่าในทันที ก็คงต้องใช้คำศัพท์ให้คล้องจองกับสถานการณ์ช่วงนี้หน่อยละกันครับ

และนี่ก็คือ “New Normal” ของอาม่าผมครับ

อาม่าต้องเริ่มใช้โทรศัพท์รุ่นใหม่แบบที่ไม่เคยใช้มาก่อน ปุ่มกดเก่า ๆ ล้วนกลายเป็นหน้าจอกระจกที่ทั้งใสทั้งลื่น สำหรับคนอย่างรุ่นเรา ๆ คงดีใจที่ได้ใช้อะไรที่มันดีและใหม่ขึ้นใช่ไหมครับ แต่สำหรับอาม่านั้น ถ้าพูดถึงตอนแรก ๆ อาม่าคงไม่รู้สึกปลื้มเจ้าโทรศัพท์สมาร์ทโฟนตัวนี้ซักเท่าไหร่

แรกๆ เวลามีโทรศัพท์มือถือของอาม่าดังขึ้น มันจะดังอย่างนั้นจนดับไป ทุกคนคงคิดว่าอาม่าไม่ยอมรับโทรศัพท์ใช่ไหมครับ แต่เปล่าเลยครับ ช่วงแรกอาม่าพยายามรับโทรศัพท์ครับ แต่ทำไม่ได้เพราะท่านไม่รู้วิธีรับโทรศัพท์สมาร์ทโฟน ส่วนมากสมาร์ทโฟนเกือบทุกรุ่นจะต้องเลื่อนในการรับใช่ไหมครับ แต่อาม่าผมก็คงพยายามกดตรงแสงสีเขียว ๆ อยู่อย่างนั้น กดเท่าไหร่ก็ไม่รับ จนต้องวิ่งมาหาผมให้กดรับให้ทุกที

เรียกว่าถึงแม้จะเป็นโทรศัพท์สมาร์ทโฟน แต่อาม่าก็ยังพกมันไว้แค่โทรออกกับรับโทรศัพท์เท่านั้น แถมเวลาออกนอกบ้านก็ยังชอบลืมไว้อยู่ที่บ้านเหมือนเคย

แต่แล้วจุดเปลี่ยนสำคัญก็เกิดขึ้นกับอาม่า...

เมื่อเจ้าสมาร์ทโฟนเครื่องเก่าหมดสภาพ คุณเเม่ผมเลยถือโอกาสไปซื้อเครื่องใหม่ให้อาม่าเลยละกัน และคงเป็นเครื่องใหม่เครื่องแรกของอาม่า วันนั้นผมก็ไปด้วยครับ ด้วยความที่เป็นโทรศัพท์เครื่องใหม่ มันจึงทำให้ต้องลงข้อมูลหรือโหลดแอพพลิเคชั่นต่าง ๆ ลงใหม่เกือบทั้งหมด พอผมช่วยอาม่าดูไปดูมาก็เริ่มสอนท่านพิมพ์ข้อความไลน์ ไปจนถึงการถ่ายรูป พออยู่บ้านกันไปสักพักคนในครอบครัวทั้งแม่ทั้งผมก็เริ่มสอนอาม่าเล่นอะไรต่าง ๆ มากขึ้น ทั้ง Facebook, YouTube หรือเกมเล็ก ๆ น้อย ๆ ในเครื่อง เวลาที่ทุกคนออกไปข้างนอกบางทีก็จะเห็นอาม่าโพสต์อะไรแปลก ๆ อยู่เสมอ ผมก็ไม่รู้ว่าอาม่าผมกดไปโดนอะไร

แต่เท่าที่ผมจำได้มีอยู่โพสต์นึงผมขำกลิ้งไปทั้งวัน ข้อความน่าจะประมาณว่า

“ไอ้บอล

แทง 4 จ่าย ”

ผมเห็นข้อความนี้ก็เข้าใจทันทีว่าอาม่าคงน่าจะกดไปโดนอะไรซักอย่างนี่แหละครับ แต่ก็จะมีข้อความอะไรแบบนี้อยู่เสมอ

จนมาถึงช่วงกักตัวโควิด-19 ผมกับอาม่าก็มีโอกาสได้ใกล้ชิดกันมากยิ่งขึ้น เลยได้สอนอาม่าเพิ่มเติมไปบ้าง เช่น การส่งรูปในไลน์เอย หรือการเสิร์จหาเพลงในYouTube เอย อาม่าก็จำได้บ้างไม่ได้บ้าง ก็ต้องสอนกันอยู่หลายทีเหมือนกัน แต่มันก็เป็นความสุขของผมนะครับที่ได้เห็นอาม่าได้ลองทำอะไรใหม่ ๆ และเอนจอยกับมัน

ทุกวันนี้ผมก็จะเจออาม่าอยู่ทุกเช้าครับ ทุกตี 4 อ้อ อย่าเข้าใจผิดว่าผมตื่นตี 4 พร้อมอาม่านะครับ

หากแต่เป็นตัวผมนั้นที่เพิ่งดูบอลคู่ดึกจบ ขณะที่อาม่าก็จะตื่นมาเพื่อออกกำลังกายในทุกเช้า เราสองคนจะทักกันตลอดครับ อาม่าจะทักผมว่า ”ยังไม่นอนอีกเร้ออออ!!!” ส่วนผมก็จะทักอาม่าด้วยเสียงง่วงๆว่า “อรุณสวัสดิ์ครับอาม่า”

ช่วงบ่าย ๆ อาม่าก็มักนอนที่โซฟาตัวโปรดพร้อมหัวเราะน้อยใหญ่จากคลิปในโทรศัพท์มือถือ เวลาเจออะไรตลก ๆ หน่อยก็จะรีบวิ่งเอามาให้ผมดูอยู่เสมอ

ตอนนี้ผมก็เขียนไปนั่งยิ้มไป มันก็เป็นอะไรที่เจ๋งเหมือนกันนะครับที่ได้เห็นอาม่าผมเริ่มสนุกกับสมาร์ทโฟน

ผมว่าแม้ผมกับอาม่าจะเป็นคนละเจเนอเรชั่น แต่ก็สร้างพันธภาพที่ดีร่วมกันได้

และนี่แหละครับก็คือเรื่องราวของอาม่าของผมด้วยวัย 75 กับโทรศัพท์คู่ใจ

15 July 2563

ที่มา ผู้จัดการ ออนไลน์

Posted By Nitayaporn/thongpet/kanchana/Maneewan

Views, 1101

 

Preset Colors