02 149 5555 ถึง 60

 

เมื่ออาหารต้าน ซึมเศร้า ได้ เช็คด่วนอะไรควรกิน-ไม่ควรกิน?

เมื่ออาหารต้าน ซึมเศร้า ได้ เช็คด่วนอะไรควรกิน-ไม่ควรกิน?

รู้หรือไม่? การรับประทานอาหารที่มีคุณค่าและเหมาะสม สามารถต้านอาการ “ซึมเศร้า” ได้ และช่วยให้ผู้ป่วย “โรคซึมเศร้า” มีอาการดีขึ้นได้ และต้องทำควบคู่ไปกับการรับประทานยาตามแพทย์สั่ง

ในอดีต.. โรคร้ายที่เคยเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับต้นๆ คงหนีไม่พ้นโรคหัวใจและหลอดเลือดตีบตัน แต่ยุคนี้อาจจะไม่ใช่อย่างนั้นอีกต่อไป เมื่อ WHO พยากรณ์ไว้ว่าในราวปี 2030 “โรคซึมเศร้า” จะขึ้นมาเป็นโรคที่เป็นภาระด้านสาธารณสุขให้กับทุกประเทศทั่วโลก และอาจส่งผลให้เป็นสาเหตุการเสียชีวิต (ฆ่าตัวตาย) พุ่งสูงเป็นอันดับ 2 ในกลุ่มคนอายุ 15-29 ปี

สาเหตุส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะหลายคนยังขาดความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับโรคนี้ ส่วนผู้ป่วยโรคซึมเศร้าที่เข้ารับการรักษาอย่างจริงจังก็ยังมีแค่ในวงแคบๆ และอีกหลายคนก็อาจไม่รู้ตัวว่ามีภาวะนี้อยู่ อย่างไรก็ตาม โชคดีที่วิทยาศาสตร์การแพทย์สมัยนี้ก้าวหน้าไปไกล คนสมัยนี้สามารถหาข้อมูลได้ง่ายกว่าสมัยก่อน หากพบว่าตนเองมีความเสี่ยงที่จะเป็น “ซึมเศร้า” ก็สามารถเช็คอาการตัวเองได้ง่ายขึ้น และยังมีวิธีการรักษาใหม่ๆ วิธีดูแลตัวเองใหม่ๆ ที่น่าสนใจมากมาย

นอกจากการรับประทานยาตามแพทย์สั่งอย่างสม่ำเสมอแล้ว การรับประทานอาหารที่มีคุณค่าและเหมาะสมเพื่อต้านอาการ “ซึมเศร้า” ก็สามารถช่วยให้ผู้ป่วย “โรคซึมเศร้า” มีอาการดีขึ้นได้อีกทาง

เรื่องนี้ยืนยันโดย นายแพทย์ดรูว์ แรมซีย์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์คลินิกจิตเวชศาสตร์ที่วิทยาลัยแพทย์ มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย งานหลักของเขามุ่งเน้นไปที่การรักษาภาวะซึมเศร้าและความวิตกกังวล หมอดรูว์เป็นผู้ริเริ่มในการแนะนำปรับอาหารการกินให้เหมาะสำหรับผู้ป่วย “โรคซึมเศร้า” เพื่อช่วยปรับสมดุลของอารมณ์ เพิ่มการทำงานของสมอง และปรับปรุงสุขภาพจิต ซึ่งงานวิจัยชิ้นนี้ถูกตีพิมพ์ในวารสารวิชาการ World Journal of Psychiatry เมื่อประมาณต้นปี 2019 อีกด้วย

เตือนโรคซึมเศร้าจะครองโลกปี 2030

'ซึมเศร้า-เบิร์นเอาท์' พิษร้ายเมืองใหญ่? เมื่อคนไทยป่วยด้วยโรคจิตเวชเพิ่มขึ้น

จูนความสัมพันธ์ในบ้านต้านโควิด สร้างภูมิคุ้มใจ ไม่แพ้ภัย “ซึมเศร้า”

หมอดรูว์อธิบายอีกว่า โรคซึมเศร้าสามารถเกิดขึ้นได้ทั้งวัยเด็ก วัยรุ่น วัยผู้ใหญ่ และความจริงที่ใกล้ตัวกว่าที่คิดก็คือ เราทุกคนมีความเสี่ยงต่อการเจ็บป่วยทางสมองอย่าง “โรคซึมเศร้า” ได้ง่ายเช่นเดียวกับที่เรามีความเสี่ยงต่อโรคหัวใจและมะเร็ง และเขาได้ศึกษาวิจัยเรื่อง Eat To Beat Depression จนพบว่าอาหารที่คนเรากินนั้น ส่งผลต่ออารมณ์และสามารถช่วยต่อสู้กับภาวะซึมเศร้าได้ โดยหมอดรูว์ได้ให้สัมภาษณ์ผ่านเว็บไซต์ Wellinsiders.com เอาไว้ว่า

“โรคซึมเศร้าเป็นปัญหาด้านสาธารณสุขที่ใหญ่ที่สุดในโลก โรคนี้ดูดพลังงานของคนเรามากกว่าอาการเจ็บป่วยอื่นๆ และผู้ป่วยเองก็ต้องการเอาชนะ ภาวะซึมเศร้า ซึ่งสิ่งหนึ่งที่หลายคนหลงลืมไปก็คือเรื่องอาหารการกิน รู้หรือไม่ว่าโภชนาการที่เหมาะสมสามารถปรับปรุงสุขภาพสมองและสุขภาพจิตได้ โดยมีงานวิจัยและการทดลองทางคลินิกโดยใช้อาหารเพื่อรักษาภาวะซึมเศร้า และผลการทดลองก็พบว่าการรับประทานอาหารสไตล์เมดิเตอร์เรเนียนช่วยพัฒนาการรักษาอาการซึมเศร้าในระดับปานกลางถึงรุนแรงให้ดีขึ้นได้

การขาดสารอาหารบางอย่าง เช่น วิตามินบี 12, โฟเลต, ธาตุเหล็ก อาจทำให้เกิดภาวะซึมเศร้า พลังงานตำ่ และมีจิตใจหม่นหมอง นอกเหนือจากความผิดปกติของสารเคมีในสมองแล้ว อีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้คุณเสี่ยงต่อภาวะซึมเศร้าก็คือรูปแบบการบริโภคอาหารของคุณ โดยรวมแล้วการรับประทานอาหารสไตล์ตะวันตกและอาหารแปรรูปบ่อยๆ จะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นโรคซึมเศร้าในขณะที่หากรับประทานอาหารญี่ปุ่นหรืออาหารเมดิเตอร์เรเนียนจะช่วยลดความเสี่ยงโรคซึมเศร้าได้ถึง 30%-50%” และเขาได้แสดงผลการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับประเภทของอาหารที่สามารถช่วยลดอาการ “ซึมเศร้า” ได้นั้น มีดังนี้

- การบริโภคผัก ผลไม้ ปลา และเมล็ดธัญพืชในปริมาณที่สูงขึ้น สามารถลดภาวะ “ซึมเศร้า” ในผู้ใหญ่ได้

- งานวิจัยพบว่าอาหารเมดิเตอร์เรเนียนอุดมไปด้วยอาหารจากพืชและปลาที่มีสีสัน ซึ่งสามารถลดความเสี่ยงภาวะซึมเศร้าได้ถึง 30%

- การบริโภคอาหารที่มีไขมันอิ่มตัว คาร์โบไฮเดรต และอาหารแปรรูปในปริมาณที่สูงขึ้น ทำให้เด็กและวัยรุ่นมีสุขภาพจิตที่แย่ลง

- งานวิจัยพบว่ามีสารอาหารที่จำเป็น 12 ชนิดที่ช่วยต้านอาการซึมเศร้าได้ นั่นคือ เหล็ก, กรดไขมันโอเมก้า 3, แมกนีเซียม, โพแทสเซียม, ซีลีเนียม, วิตามินบีหลายชนิด: ไทอามีนโฟเลตบี 6 และบี 12, วิตามินเอ, วิตามินซี, สังกะสี

- เนื้อสัตว์ที่มีสารต้านอาการซึมเศร้าสูง ได้แก่ หอยนางรม หอยลาย หอยแมลงภู่ และปลาทะเลน้ำลึก

ส่วนผักต่างๆ ที่มีสารต้านอาการซึมเศร้าสูง และสามารถวัดผลออกมาเป็นตัวเลขค่า Antidepressant Food Score (AFS) ได้แก่

- วอเตอร์เครสหรือผักสลัดน้ำ มีค่าต้านอาการซึมเศร้า 127%

- สปิแนชหรือผักปวยเล้ง มีค่าต้านอาการซึมเศร้า 97%

- หัวผักกาด หัวผักเทอนิปส์ มีค่าต้านอาการซึมเศร้า 76% -93%

- ผักสลัดเขียว ผักสลัดแดง มีค่าต้านอาการซึมเศร้า 74% -99%

- ผักสวิสชาร์ด มีค่าต้านอาการซึมเศร้า 90%

- สมุนไพรสด (ผักชี ใบโหระพา พาสลีย์) มีค่าต้านอาการซึมเศร้า 73%-75%

- คะน้า ผักเคล มีค่าต้านอาการซึมเศร้า 48% -62%

- ดอกกะหล่ำ มีค่าต้านอาการซึมเศร้า 41% -42%

- บรอกโคลี มีค่าต้านอาการซึมเศร้า 41%

- กะหล่ำดาว มีค่าต้านอาการซึมเศร้า 35%

สำหรับประเทศไทย ก็มีการศึกษาเรื่องนี้และมีการแนะนำผู้ป่วยโรคซึมเศร้าให้หันมาปรับเปลี่ยนอาหารการกินเช่นกัน โดย จิรัฐิติกาล ดวงสา นักโภชนาการและหัวหน้ากลุ่มงานโภชนาการ ประจำโรงพยาบาลจิตเวชนครราชสีมาให้ข้อมูลว่า อาหารที่ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าควรรับประทานเพื่อช่วยเสริมประสิทธิภาพการรักษาของแพทย์ให้ดียิ่งขึ้นมี 5 กลุ่ม ได้แก่

1. กรดไขมันที่ดีต่อสุขภาพ (โอเมกา 3)

กรดไขมันดีหรือ โอเมกา 3 มีส่วนช่วยลดอาการซึมเศร้า ซึ่งมีอยู่ในเนื้อสัตว์จำพวกปลา ได้แก่ เนื้อปลาต่างๆ เช่น ปลาแซลมอน ปลาซาร์ดีน ทูน่า ปลาช่อน ปลาดุก ปลาสวายเนื้อขาว เป็นต้น

2. ไข่ไก่

มีกรดอะมิโนที่สำคัญโดยเฉพาะทริปโตเฟนและไทโรซีน เป็นสารต้านอนุมูลอิสระ จะช่วยสร้างสารซีโรโทนินทำให้อารมณ์ดี และยังเปลี่ยนให้เป็นเมลาโทนิน ช่วยให้นอนหลับดีขึ้น

3. กล้วยชนิดต่างๆ

มีแร่ธาตุโพแทสเซียมและมีสารทริปโตเฟน ช่วยบรรเทาให้ความดันโลหิตกลับสู่ภาวะสงบ ลดการเกิดภาวะเครียดและวิตกกังวล

4. คาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อน

ข้าวกล้อง ลูกเดือย ข้าวโพด ถั่วเมล็ดแห้ง เป็นต้น จะช่วยสร้างสารซีโรโทนินในสมอง ช่วยให้ผ่อนคลาย

5. เห็ดทุกชนิด

เห็ดชนิดต่างๆ จะมีธาตุเซเลเนียมสูง ช่วยกระตุ้นฮอร์โมนแห่งความสุขลดอารมณ์ขุ่นมัวได้

ส่วนเครื่องดื่ม 2 ชนิดเป็นเครื่องดื่มสมุนไพร ได้แก่ “น้ำดอกอัญชัน” ในดอกอัญชันจะมีสารแอนโทไซยานิน มีฤทธิ์กระตุ้นความจำ ช่วยผ่อนคลายความเครียด ลดความกังวล และช่วยให้นอนหลับ และ “น้ำลำไย” ซึ่งมีกรดแกลลิก ทำให้อารมณ์ดี ผ่อนคลาย และมีสารกาบาช่วยผ่อนคลายความเครียด และช่วยให้นอนหลับได้ดีขึ้น

นอกจากนี้ยังมีกลุ่มอาหารที่ผู้ป่วย "ซึมเศร้า" ไม่ควรรับประทาน ต้องหลีกเลี่ยง เนื่องจากจะซ้ำเติมอาการป่วยหรือขัดขวางการดูดซึมยา มี 2 ประเภท และเครื่องดื่มอีก 3 ชนิด ได้แก่

1. อาหารที่มีน้ำตาลสูง หวานจัด : ร่างกายจะดูดซึมได้เร็วกว่าปกติ ส่งผลให้น้ำตาลในเลือดสูงอย่างรวดเร็ว ร่างกายเกิดภาวะเครียด อาจจะนำมาสู่อาการหดหู่ซึมเศร้าได้

2. อาหารประเภทไส้กรอกและถั่วปากอ้า : มีสารไทรามีนสูงทำปฏิกิริยากับยารักษาโรคซึมเศร้าบางชนิด เช่น ยาเซเลจิลีน ส่งผลให้ความดันโลหิตสูงได้

3. เครื่องดื่มที่มีกาเฟอีนสูงและน้ำตาลสูง : เครื่องดื่มประเภทนี้ก็ส่งผลให้เสี่ยงต่อการเกิดโรคซึมเศร้า ได้แก่ ชา-กาแฟ เพราะมีกาเฟอีนสูง ทำให้นอนไม่หลับ กระสับกระส่าย / น้ำอัดลมประเภทสีดำ มีกาเฟอีนและน้ำตาลสูง และมีงานวิจัยจากสถาบันการศึกษาด้านประสาทวิทยาในต่างประเทศพบว่า กลุ่มผู้บริโภคเครื่องดื่มที่มีสารให้ความหวานแทนน้ำตาล 4 กระป๋อง หรือ 4 แก้วต่อวัน จะมีความเสี่ยงเกิดโรคซึมเศร้าได้มากกว่าคนปกติ 3 เท่า / น้ำผลไม้รสเปรี้ยวบางชนิด เช่น ส้ม เสาวรส น้ำองุ่น เป็นต้น อาจทำปฏิกิริยากับยาที่ใช้รักษาทำให้ตัวยาไม่เกิดผลสัมฤทธิ์

26 August 2563

ที่มา กรุงเทพธุรกิจ

Posted By Nitayaporn/thongpet/kanchana/Maneewan

Views, 15721

 

Preset Colors