02 149 5555 ถึง 60

 

"ลงโทษเชิงบวก" ปรับพฤติกรรม เลี่ยงอันตรายจากภัยสุขภาพซ่อนเร้น

"ลงโทษเชิงบวก" ปรับพฤติกรรม เลี่ยงอันตรายจากภัยสุขภาพซ่อนเร้น

การลงโทษควรตักเตือนโดยใช้ภาษา ท่าทางที่เป็นมิตร ถึงจะก่อให้เกิดความร่วมมือในการแก้ไขเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม ส่วนการการตี เป็นการลงโทษเด็กที่ทั่วโลกไม่ยอมรับว่าจะสามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมได้จริง แต่จะสร้างความเจ็บปวดและความก้าวร้าวให้ไปลงกับคนอื่นต่อ

ในรอบเดือนที่ผ่านมาเกิด 2 เหตุการณ์ “ลงโทษเด็ก” เกินกว่าพละกำลังของผู้ถูกลงโทษจะรับไหว ทำให้เกิดการสูญเสียชีวิตตามมา กรณีแรกคือเหตุการณ์รุ่นพี่สั่งให้รุ่นน้องด้วยการให้วิ่งระยะทางหลายกิโลเมตร ท่ามกลางแดดร้อนจัด อีกเหตุการณ์คือครูสั่งให้เด็กนักเรียนลุก นั่งสลับกันกว่า 100 ครั้ง ทำให้ถูกตั้งคำถามเป็นการลงโทษที่เกินกว่าเหตุหรือไม่

จริงๆ เรื่องแบบนี้เกิดขึ้นมานานแล้ว และก็ถูกตั้งคำถามถึงความสมเหตุสมผลมานานแล้วเช่นกัน โดยเฉพาะประเด็นการใช้กำลังในการลงโทษเด็กควรถูกยกเลิกไปหรือไม่ แล้วถ้าเช่นนั้นการลงโทษเมื่อเขากระทำผิดควรทำอย่างไรเพื่อทำให้เด็กรู้ว่าผิดและเรียนรู้ในสิ่งที่ถูกต้อง เรื่องนี้ นพ.ยงยุทธ วงศ์ภิรมย์ศานติ์ ที่ปรึกษากรมสุขภาพจิต ให้ข้อมูลว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเชื่อว่าไม่มีใครตั้งใจให้เกิด แต่มันคือเรื่องสุดวิสัย แต่ก็เป็นบทเรียน

ทั้งนี้การลงโทษเด็กไม่ใช่การทำให้ทุกข์ทรมานกายอย่างเดียวเพราะอาจจะมีบางคนที่ร่างกายสู้ไม่ไหว แต่การลงโทษมีหลายรูปแบบ ซึ่งเด็กเล็ก กับเด็กโตก็จะมีวิธีการที่แตกต่างกัน ซึ่งการลงโทษควรตักเตือนโดยใช้ภาษา ท่าทางที่เป็นมิตร ถึงจะก่อให้เกิดความร่วมมือในการแก้ไขเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม เมื่อเด็กๆ มีการปรับตัวที่ดีขึ้นก็ควรได้รับคำชมกลับไป

เช่น ถ้าเด็กเล็กอยู่ไม่นิ่งอาจจะให้มานั่งแถวหน้า แล้วคอยสัมผัสตัวเขา หรืออาจจะลงโทษด้วยการ Time Out โดยอาจจะให้ผู้ที่ทำผิดยืนอยู่ในมุมหนึ่ง หรือออกไปอยู่นอกห้องเป็นระยะเวลาหนึ่ง เช่น เด็กเล็กก็ใช้เวลาสั้นๆ ราวๆ 2 นาที ส่วนเด็กโตอาจจะใช้เวลาประมาณ 10-15 นาที แต่ต้องย้ำถึงความเป็นเหตุเป็นผล และปรารถนาดี ไม่ใช่การขับไล่ หรือทำให้เด็กอับอาย เพราะจะทำให้เกิดความรู้สึกโมโหตอบ รู้สึกไม่แฟร์และไม่รู้สึกสำนึกผิด ยิ่งเป็นเด็กโตมากเท่าไหร่จะต้องใช้การพูดคุยมากขึ้น ไม่ใช่ดุด่าอย่างเดียว แต่ควรมีการตกลงกติการ่วมกัน ก็จะควบคุมพฤติกรรมได้ดีขึ้น

“ส่วนการลงโทษด้วยวิธีทางกายภาพ เช่นการสั่งให้วิ่ง การลุกนั่ง การตี แทบจะเป็นวิธีท้ายๆ เลย แต่ปัญหาคือเรากระโดดข้ามหมด ไม่ได้ใช้วิธีอื่นๆ ก่อน มาถึงก็ตี ทรมานร่างกายให้วิ่ง ให้วิดพื้น ซึ่งไม่ได้แปลว่าทำไม่ได้เลย แต่สิ่งเหล่านี้เราไม่รู้ว่าเด็กแต่ละคนสภาพร่างกายเป็นอย่างไร บางคนอาจจะมีโรคหัวใจแฝงอยู่หรือไม่”

นพ.ยงยุทธ ระบุว่า การตี เป็นการลงโทษเด็กที่ทั่วโลกไม่ยอมรับว่าจะสามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมได้จริงแต่จะสร้างความเจ็บปวดและความก้าวร้าวให้ไปลงกับคนอื่นต่อ แต่หัวใจสำคัญของการลงโทษโดยไม่ตีคือจำเป็นจะต้องให้เขาเรียนรู้พฤติกรรมที่ถูกต้องด้วย ซึ่งถือเป็นปัญหาให้ของไทยเหมือนกัน เพราะพอบอกว่าไม่ให้ตี แล้วก็ไม่ได้ฝึกหรือพัฒนาครูให้มีความสามารถในการพัฒนาพฤติกรรมเชิงบวกของเด็กต่อ ดังนั้นจึงเป็นเรื่องที่ต้องเพิ่มเรื่องเหล่านี้ให้กับครูด้วย

ด้าน “นพ.สุระ บุญรัตน์” นายแพทย์ชำนาญการสาขาอายุรกรรมโรคหัวใจ สถาบันโรคทรวงอก ให้ข้อมูลว่า การใช้พละกำลังมากๆ ในคนที่มีสุขภาพดี แล้วจะเกิดภาวะช็อค หัวใจล้มเหลว เสียชีวิต ถือว่าน้อยมาก แต่ก็ใช้ว่าจะไม่มีโอกาส กรณีที่จะเกิดขึ้นได้ อาจจะเป็นเพราะอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสม เช่น วิ่งกลางแดดนานๆ ขาดน้ำ อาจจะพักผ่อนไม่เพียงพอ ซึ่งเป็นได้ทุกช่วงวัย แม้จะเป็นวัยรุ่นก็ตาม หากวิ่งในขณะที่ร่างกายไม่พร้อมก็เกิดอันตรายได้

“แต่สิ่งสำคัญคือในกลุ่มคนที่เราเห็นว่าเขาสุขภาพดีนั้นดูแข็งแรงนั้น จริงๆ แล้วอาจจะมีโรคประจำตัวซ่อนอยู่เพียงแต่ยังไม่ได้ตรวจสุขภาพจึงยังไม่เจอก็ได้ เพราะฉะนั้นถึงมีการรณรงค์ให้คนตรวจสุขภาพประจำปี เพื่อให้รู้ถึงสถานะสุขภาพ และใช้ชีวิตได้อย่างปลอดภัย และไม่ควรจะใช้พละกำลังเกินตัว” นพ.สุระ ระบุ. ...

17 September 2563

ที่มา เดลินิวส์

Posted By Nitayaporn/thongpet/kanchana/Maneewan

Views, 1651

 

Preset Colors