02 149 5555 ถึง 60

 

ครูทำร้ายเด็ก : จิตแพทย์แนะวิธีผู้ปกครองรับมืออย่างไร เมื่อทราบว่าลูกถูกทำร้ายในโรงเรียน

ครูทำร้ายเด็ก : จิตแพทย์แนะวิธีผู้ปกครองรับมืออย่างไร เมื่อทราบว่าลูกถูกทำร้ายในโรงเรียน

คลิปวิดีโอครูทำร้ายนักเรียนชั้นอนุบาลแห่งหนึ่งที่แพร่ทางสื่อสังคมออนไลน์จนกลายเป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในสังคม และมีข้อสังเกตว่าเรื่องนี้สามารถเกิดขึ้นกับลูกใครก็ได้ แล้วผู้ปกครองจะมีวิธีการปฏิบัติตัวอย่างไร หากว่าต้องเผชิญกับปัญหาดังกล่าว

บีบีซีไทยพูดคุยกับจิตแพทย์ที่ทำงานเกี่ยวกับเด็กเกี่ยวกับข้อเสนอแนะผู้ปกครอง ว่าควรทำอย่างไรเพื่อลดผลกระทบทางจิตใจที่เด็กได้รับและกลับเข้าสู่ภาวะปกติอย่างปลอดภัย

"ที่จริงข่าวในลักษณะนี้ เราก็เห็นมาโดยตลอดที่เห็นเด็กถูกครูทำโทษแรง ๆ แต่การทำร้ายร่างกายจะเห็นเป็นเรื่องปกติไม่ได้ เพราะเป็นสิ่งที่ผิดไม่ว่าจะเกิดขึ้นกับใครก็ตาม เพียงแต่ว่าเมื่อเราเห็นแล้วเราจะจัดการเรื่องนี้อย่างไรตั้งแต่เข้าไปคุยเข้าไปห้ามอย่างละมุนละม่อม ยิ่งถ้าเป็นกรณีของเด็กก็จำเป็นจะต้องรีบจัดการ" พญ.วิมลรัตน์ วันเพ็ญ จิตแพทย์จากสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์บอกกับบีบีซีไทย

กรณีรังแกเด็ก 8 ขวบ : ไทยมีการรังแกกันในโรงเรียนสูงเป็นอันดับ 2 ของโลก

เลี้ยงลูกอย่างไรให้เป็นอัจฉริยะ?

ฟังเสียงเด็กกำพร้าจากความรุนแรงชายแดนใต้: ความแค้น ความหวัง และอนาคต

การศึกษาฟินแลนด์: "ยิ่งประเทศมีความเสมอภาคมากเท่าใด ประชากรก็ยิ่งมีการศึกษา และสุขภาพจิตดีมากขึ้น"

พญ.วิมลรัตน์ อธิบายเพิ่มเติมว่า ผลกระทบต่อเด็กมีหลายระดับ ตั้งแต่ไม่กระทบเลย จนถึงกระทบอย่างมาก ขึ้นอยู่กับว่าเราจะช่วยเหลือเด็กอย่างไร

สิ่งแรกที่จะต้องทำตอนนี้คือ จะต้องทำให้เขาจะต้องรู้สึกว่าเขาปลอดภัยและได้รับการจัดการเรื่องความกลัว หากว่าเด็กมีพื้นฐานในการปรับตัวดีอยู่แล้ว ครอบครัวก็ต้องคอยสนับสนุนให้เขาอยู่ในที่ปลอดภัย

จิตแพทย์หญิงรายนี้ยังแนะนำผู้ปกครองอีกด้วยว่า อย่าทำให้เด็กอยู่ในภาวะระแวดระวังความปลอดภัยมากเกินไปจนทำให้เด็กรู้สึกว่าโลกนี้น่ากลัวเกินเหตุ

หลีกเลี่ยงภาวะถูกรังแกซ้ำซาก

"ส่วนกลุ่มที่รู้สึกว่าดูแลตัวเองไม่ได้ อ่อนแอ คนอื่นรังแกได้ พยายามหลีกเลี่ยงจากสภาวะเช่นนี้ซ้ำ ๆ เป็นระยะเวลานาน เพราะนี่จะทำให้เขามีแนวโน้มที่จะรังแกคนอื่นต่อ เพราะว่าเขาเรียนรู้ว่าการใช้ความรุนแรงเป็นการแสดงออกอย่างหนึ่งที่ทำได้ เพราะเขาก็ถูกกระทำ และเขาก็สามารถทำคนอื่น ๆ ได้เช่นกัน" เธออธิบายต่อ

การแกล้งกันในโรงเรียน

Photofusion/UIG via Getty Images

"ช่วงนี้เด็กอาจจะกลัว เป็นเรื่องปกติ ผู้ปกครองต้องให้ความมั่นใจกับเด็กจากการให้ความรุนแรงไม่ว่าจะเป็นจากวาจา หรือ การกระทำต้องลดลงหรือไม่มี"

ในกลุ่มเด็กที่ปรับตัวยังไม่ได้ ผู้ปกครองก็ควรที่จะหลีกเลี่ยงการให้เด็กกลับไปอยู่ในสถานที่นั้นเป็นการชั่วคราว เช่น อาจจะย้ายห้องเรียน พร้อมกับให้เขาอยู่ในกลุ่มคนที่ปลอดภัยและรับฟังอย่างเข้าใจว่าในภาวะเช่นนี้เด็กอาจจะแสดงพฤติกรรมบางอย่างออกมาเช่น พฤติกรรมถดถอย เช่นปัสสาวะรดที่นอนทั้ง ๆ ที่ก่อนหน้าที่ไม่เคยมี หรือว่า งอแงมากขึ้นคล้ายกับเด็กเล็ก คุณพ่อคุณแม่ก็จะต้องอดทนมากขึ้นและต้องให้เวลาเขาปรับตัวกับเหตุการณ์เหล่านี้สักพัก

จำเป็นหรือไม่ที่จะต้องให้เด็กพักการเรียนไปก่อน แพทย์หญิงรายนี้บอกว่า ขึ้นอยู่กับสภาพของเด็กแต่ละคน

"หมอเชื่อว่าเด็กทุกคนได้รับผลกระทบแตกต่างกัน ถ้าบางคนไม่พร้อมจริง ๆ หยุดเรียนก่อนก็ไม่ใช่ปัญหา แต่หากใครไม่ได้เป็นเช่นนั้น เราก็ต้องถามเขาเช่นกันว่าเขาต้องการอย่างไร เด็กบางคนอาจจะบอกว่าไม่เป็นไรเพราะอยากอยู่กับเพื่อนก็ได้"

ความวิตกกังวลของพ่อแม่ก็เป็นปัจจัยสำคัญ

เมื่อเจอกรณีเหมือนกับที่เป็นข่าว พญ.วิมลรัตน์ บอกว่าพ่อแม่บางคนอาจจะวิตกกังวลเกินไปแล้วก็รู้สึกผิด ยิ่งทำให้บรรยากาศภายในบ้านไม่ดีขึ้น

"แทนที่ภายในบ้านจะมีการพูดกันอย่างสนุกสนานผ่อนคลายความเครียด แต่กลับเป็นว่า พ่อก็เครียด แม่ก็เครียด ลูกก็พลอยเครียดไปด้วย"

หากว่าพ่อแม่คิดว่าที่ผ่านมาได้ทำดีที่สุดให้ลูกแล้วไม่ได้ผิดอะไร ก็ต้องเดินหน้าด้วยการเลี้ยงลูกอย่างมีความสุข อย่างปลอดภัย ส่วนกระบวนการอื่น ๆ เช่น การสอบสวนก็ปล่อยให้ดำเนินไปตามระบบ ไม่ใช่เลี้ยงลูกอย่างระมัดระวัง แต่กลับมาหงุดหงิดเองและเครียดเอง

เด็กที่ถูกกระทำ ควรได้รับ "ความยุติธรรม" และ "การเยียวยา"

พญ.จิราภรณ์ อรุณากูร กุมารแพทย์เวชศาสตร์วัยรุ่น คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี เจ้าของเฟซบุ๊กแฟนเพจ "เลี้ยงลูกนอกบ้าน" ได้โพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊กแฟนเพจเมื่อวันที่ 26 ก.ย. ที่ผ่านมา แนะนำผู้ปกครองรับมือต่อเรื่องดังกล่าวหากว่า สุดท้ายเรื่่องมักจะจบลง ด้วยการยอมๆ กันไป เพราะไม่อยากมีปัญหา และครูเค้าบอกว่า "เค้าก็หวังดี" หลังจากมีคนถามจากผู้ปกครองสอบถามมา

ข้อความดังกล่าวยังแนะนำว่า ไม่มีใครมีสิทธิทำร้ายใคร แม้ในนามของความรักและหวังดี ไม่มีใครควรตกเป็นเครื่องระบายอารมณ์ของใคร นั่นไม่ใช่ความรับผิดชอบของเด็กๆ และเด็กที่ถูกกระทำ ควรได้รับ "ความยุติธรรม" และ "การเยียวยา" เป็นต้น

เธอยังเน้นย้ำอีกว่า "ครูที่เห็นความรุนแรงแต่ไม่ทำอะไร เป็นส่วนหนึ่งของครูผู้กระทำความผิด และควรได้รับการตรวจประเมินด้านแนวคิด หรือปัญหาทางสุขภาพจิตด้วย" พร้อมกับฝากไว้ว่า "อย่าเกรงใจใคร จนลืมเกรงใจลูก" และการยินยอมให้ความรุนแรงเกิดขึ้นแบบไม่ทำอะไร เรากำลังเป็นส่วนหนึ่งของการก่อร่างสร้างความรุนแรง

29 September 2563

ที่มา ข่าวสด

Posted By Nitayaporn/thongpet/kanchana/Maneewan

Views, 1282

 

Preset Colors