02 149 5555 ถึง 60

 

93 วันสู่สังคม"คนชรา" 5 จังหวัด? คนแก่เยอะสุด-น้อยสุด

93 วันสู่สังคม"คนชรา" 5 จังหวัด? คนแก่เยอะสุด-น้อยสุด

ความจริงประเทศไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ตั้งแต่ปี 2548 แล้ว ตอนนั้นเรามีผู้สูงอายุ 10.4% และปีหน้า 2564 จะเข้าสู่ “สังคมสูงอายุโดยสมบูรณ์” ตามหลักเกณฑ์ที่ว่า คือมี “คนแก่” อายุ 60 ปีขึ้นไป มากกว่า 20% ของประชากรทั้งประเทศ

"1 ตุลาคม" ของทุกปี ถูกกำหนดให้เป็น "วันผู้สูงอายุสากล" ...และนับถอยหลังจากวันนี้ไปอีก 93 วัน จะเข้าสู่ปี พ.ศ.2564 (ค.ศ.2021) ประเทศไทยจะก้าวเข้าสู่ “สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์” เราจะมี “ผู้สูงอายุ” หรือ “คนแก่” มากถึง 20% ของประชากรทั้งประเทศ

นิยามคำว่า “ผู้สูงอายุ” (Older person) ขององค์การสหประชาชาติ หมายถึง ประชากรทั้งเพศชายและหญิงที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป ซึ่งก็ตรงกับนิยามผู้สูงอายุของประเทศไทย ตามพระราชบัญญัติผู้สูงอายุ พ.ศ.2546

องค์การสหประชาชาติ แบ่งการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ เป็น 3 ระดับ ได้แก่

1. ระดับการก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ (Aging society) หมายถึง มีคนอายุ 60 ปีขึ้นไปมากกว่า 10% หรือมีคนอายุ 65 ปีขึ้นไปมากกว่า 7% ของประชากรทั้งประเทศ

2. ระดับสังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ (Aged society) หมายถึง มีอายุ 60 ปีขึ้นไปมากกว่า 20% หรือมีคนอายุ 65 ปีขึ้นไปมากกว่า 14% ของประชากรทั้งประเทศ

3. ระดับสังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มที่ (Super-aged society) หมายถึง มีคนอายุ 65 ปีขึ้นไปมากกว่า 20% ของประชากรทั้งประเทศ

ความจริงประเทศไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ตั้งแต่ปี 2548 แล้ว ตอนนั้นเรามีผู้สูงอายุ 10.4% และปีหน้า 2564 จะเข้าสู่ “สังคมสูงอายุโดยสมบูรณ์” ตามหลักเกณฑ์ที่ว่า คือมี “คนแก่” อายุ 60 ปีขึ้นไป มากกว่า 20% ของประชากรทั้งประเทศ และคาดการณ์ว่าในปี 2574 เราจะเข้าสู่ “สังคมสูงอายุระดับสุดยอด”

แต่รัฐบาลบอกว่า ไม่ต้องห่วง เพราะกำหนดเรื่องนี้เป็น “วาระแห่งชาติ” และสานต่อแผนปฏิบัติการด้านผู้สูงอายุ (พ.ศ.2545-2565) ไว้แล้ว ...พูดง่าย ๆ มีมาตรการดูแลช่วยเหลือไว้เรียบร้อย คร่าวๆ ก็แน่นอน จ่ายเบี้ยคนชรา ,จ้างงาน ,สร้างที่พักอาศัยให้ ,ให้สินเชื่อที่อยู่อาศัยและบูรณาการระบบบำเหน็จบำนาญ

แต่รู้หรือไม่ว่า สรุปแล้วประเทศไทยมี “ผู้สูงอายุ” ทั้งหมดเท่าไหร่? มีเพศชายหรือหญิงมากกว่ากัน? ภาคไหนและจังหวัดไหนมีผู้อายุมาก และน้อยที่สุด ....วันนี้ “เดลินิวส์ Exclusive” มีคำตอบให้

ข้อมูลกรมกิจการผู้สูงอายุ กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ อ้างอิงข้อมูลกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ณ วันที่ 31 ธ.ค.2562 ระบุว่า

ประเทศไทย

-มีประชากรทั้งหมด 66,558,935 คน เป็นเพศชาย 32,605,100 คน เพศหญิง 33,953,835 คน

-มีผู้สูงอายุ 11,136,059 คน (16.73%) เป็นเพศชาย 4,920,297 คน เพศหญิง 6,215,762 คน

ภาคกลาง

-มีประชากร 18,089,552 คน เป็นเพศชาย 8,677,164 คน เพศหญิง 9,412,388 คน

-มีผู้สูงอายุ 3,215,275 คน (17.77%) เป็นเพศชาย 1,365,388 คน เพศหญิง 1,849,887 คน

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (ภาคอีสาน)

-มีประชากร 22,014,248 คน เป็นเพศชาย 10,932,109 คน เพศหญิง 11,082,139 คน

-มีผู้สูงอายุ 3,532,115 คน (16.04%) เป็นเพศชาย 1,600,641 คน เพศหญิง 1,931,474 คน

ภาคเหนือ

-มีประชากร 12,119,572 คน เป็นเพศชาย 5,938,482 คน เพศหญิง 6,181,090 คน

-มีผู้สูงอายุ 2,287,470 คน (18.87%) เป็นเพศชาย 1,032,601 เพศหญิง 1,254,869 คน

ภาคใต้

-มีประชากร 9,493,757 คน เป็นเพศชาย 4,674,592 คน เพศหญิง 4,819,165 คน

-มีผู้สูงอายุ 1,382,155 คน (14.56%) เป็นเพศชาย 606,548 คน เพศหญิง 775,607 คน

ภาคตะวันออก

-มีประชากร 4,841,806 คน เป็นเพศชาย 2,382,753 คน เพศหญิง 2,459,053 คน

-มีผู้สูงอายุ 719,044 คน เป็นเพศชาย 315,119 คน เพศหญิง 403,925 คน

5 จังหวัดที่มีจำนวนผู้สูงอายุมากที่สุด (นับจำนวนคน)

อันดับ 1 กรุงเทพมหานคร มีผู้สูงอายุ รวม 1,063,871 คน เป็นผู้ชาย 441,903 คน ผู้หญิง 621,968 คน

อันดับ 2 นครราชสีมา มีผู้สูงอายุ รวม 453,388 คน เป็นผู้ชาย 202,231 คน ผู้หญิง 251,157 คน

อันดับ 3 เชียงใหม่ มีผู้สูงอายุ รวม 333,692 คน เป็นผู้ชาย 149,919 คน ผู้หญิง 183,773 คน

อันดับ 4 ขอนแก่น มีผู้สูงอายุ รวม 312,933 คน เป็นผู้ชาย 141,834 คน ผู้หญิง 171,099 คน

อันดับ 5 อุบลราชธานี มีผู้สูงอายุ รวม 276,628 คน เป็นผู้ชาย 127,031 คน ผู้หญิง 149,597 คน

5 จังหวัดที่มีจำนวนผู้สูงอายุน้อยที่สุด (นับจำนวนคน)

อันดับ 1 ระนอง มีผู้สูงอายุ รวม 26,964 คน เป็นผู้ชาย 12,716 คน ผู้หญิง 14,248 คน

อันดับ 2 แม่ฮ่องสอน มีผู้สูงอายุ รวม 33,067 คน เป็นผู้ชาย 16,206 คน ผู้หญิง 16,861 คน

อันดับ 3 ตราด มีผู้สูงอายุ รวม 39,413 คน เป็นผู้ชาย 18,096 คน ผู้หญิง 21,317 คน

อันดับ 4 สตูล มีผู้สูงอายุ รวม 40,896 คน เป็นผู้ชาย 18,586 คน ผู้หญิง 22,310 คน

อันดับ 5 สมุทรสงคราม มีผู้สูงอายุ รวม 43,019 คน เป็นผู้ชาย 17,776 คน ผู้หญิง 25,243 คน

บทสรุป

1.ประเทศไทย มีจำนวนผู้สูงอายุ 11,136,059 คน

2.ผู้สูงอายุเพศหญิง มีจำนวนมากกว่าผู้สูงอายุเพศชาย 1,295,465 คน

2.ภาคอีสาน เป็นภาคที่มีจำนวนผู้สูงอายุมากที่สุดในประเทศไทย

3.ภาคตะวันออก เป็นภาคที่มีจำนวนผู้สูงอายุน้อยที่สุดในประเทศไทย

4.กรุงเทพมหานคร เป็นจังหวัดที่มีจำนวนผู้สูงอายุมากที่สุดในประเทศไทย

5.ระนอง เป็นจังหวัดที่มีจำนวนผู้สูงอายุน้อยที่สุดในประเทศไทย

ถ้ายึดฐานข้อมูลนี้ เท่ากับปีหน้า 2564 คาดการณ์ว่าประเทศไทยจะมีผู้สูงอายุ เพิ่มจาก 11,136,059 คน (16.73%) เป็น 13,311,787 คน (20.00%)

องค์การสหประชาชาติ คาดการณ์ว่า ช่วงปี 2001-2100 ( พ.ศ.2544-2643 ) จะเป็นศตวรรษแห่งผู้สูงอายุ โลกจะก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ แต่ละประเทศจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุแตกต่างกันไป ตามสภาพแวดล้อม เช่น การพัฒนาด้านการแพทย์ ความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ และโภชนาการทางด้านอาหาร ฯลฯ

แต่ไม่ว่าจะมี “ผู้สูงอายุ-คนแก่-คนชรา” อะไรก็แล้วแต่ที่เราใช้เรียก เพิ่มขึ้นมามากมายเท่าไหร่ สิ่งที่พวกเราซึ่งเป็นลูกหลานต้องทำก็คือ การให้ความรัก ความห่วงใย ดูแลเอาใส่พวกท่าน อย่าให้ต้องรู้สึกอ้างว้าง เปล่าเปลี่ยว เหมือนถูกทอดทิ้งไว้เพียงลำพัง

เพราะนี่ไม่ใช่เรื่องตัวเลขทางเศรษฐกิจที่ต้องมาคิดคำนวณว่า ในอนาคตคนหนุ่มสาววัยทำงาน 1 คน ต้องเลี้ยงดูครอบครัวปู่ย่าตายายพ่อแม่ที่แก่ชรากี่คน แต่นี่เป็นเรื่องของ “หัวใจ” ล้วน ๆ และ “ความรัก-ความห่วงใย” ที่จะเป็นน้ำทิพย์ช่วยหล่อเลี้ยงจิตใจให้พวกท่านมีชีวิตอยู่กับเราไปอีกนาน

1 October 2563

ที่มา เดลินิวส์

Posted By Nitayaporn/thongpet/kanchana/Maneewan

Views, 63993

 

Preset Colors