02 149 5555 ถึง 60

 

ข้อคิดในวันที่ โควิดคร่าชีวิตครบล้านคน

ข้อคิดในวันที่ โควิดคร่าชีวิตครบล้านคน

วันที่ "โควิด-19" คร่าชีวิตผู้คนทั่วโลกนับล้าน ผู้ติดเชื้อก็เพิ่มขึ้นมากขึ้น โดยสหรัฐเป็นประเทศที่มีผู้ติดเชื้อมากที่สุด ซึ่งช่วงที่ผ่านมาวิกฤติครั้งนี้สะท้อนให้เห็นถึงภาพของความเหลื่อมล้ำของบริษัทยักษ์ใหญ่กับขนาดเล็ก รวมถึงการเพิ่มขึ้นของขยะพลาสติก

บทความนี้เขียนเมื่อวันอังคาร (29 ก.ย.) เป็นวันที่สื่อพากันพาดหัวข่าวว่าชาวโลกเสียชีวิตด้วยโรคโควิด-19 ทะลุ 1 ล้านคน และจำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้นจนใกล้ 34 ล้านคนแล้ว ชาวอเมริกันยังนำทั้งในด้านจำนวนผู้เสียชีวิตและผู้ป่วย ทั้งนี้คงด้วย 2 ปัจจัยหลัก นั่นคือนโยบายของรัฐบาลอเมริกันที่มักไม่เป็นไปตามคำแนะนำของฝ่ายวิทยาศาสตร์การแพทย์ และชาวอเมริกันส่วนใหญ่ไม่ค่อยปฏิบัติอย่างจริงจัง ทั้งในด้านการไว้ระยะห่างทางสังคมและด้านการสวมหน้ากากอนามัย อย่างไรก็ดี สมาชิกในหมู่บ้านขนาดขนาดเล็กของผมดูจะปฏิบัติกันจริงจังทั้งใน 2 ด้าน

ในช่วงเวลากว่า 6 เดือนที่ผมไว้ระยะห่างทางสังคมอย่างจริงจัง ผมสังเกตจากหน้าต่างห้องทำงานของผม ว่าสิ่งที่ดูจะเปลี่ยนไปอย่างมีนัยสำคัญ ได้แก่ การเพิ่มขึ้นของจำนวนรถส่งสินค้าและอาหารจำพวกพร้อมรับประทาน ที่วิ่งเข้าหมู่บ้านอย่างต่อเนื่อง ปรากฏการณ์นี้ได้รับการยืนยันจากรายงานของสื่อต่างๆ ว่าเกิดขึ้นโดยทั่วไปในสหรัฐ และอาจมองต่อไปได้ในกรอบของ 2 ประเด็นใหญ่

ประเด็นแรกเกี่ยวกับความเหลื่อมล้ำ ซึ่งเป็นปัญหาทางโครงสร้างที่ยืดเยื้อมานานในสังคมอเมริกัน และคอลัมน์นี้พูดถึงหลายครั้ง รวมทั้งการวิเคราะห์และคำเตือนของนักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบล โจเซฟ สติกลิตซ์ ในหนังสือ The Price of Inequality : How Today’s Divided Society Endangers Our Future รถส่งสินค้าที่วิ่งเข้ามาเพิ่มขึ้นมากที่สุดในหมู่บ้านผมเป็นของบริษัทอะเมซอน ซึ่งตอนนี้ขายดิบขายดีจนหาคนงานเพิ่มแทบไม่ทัน เนื่องจากชาวอเมริกันที่ไม่เคยซื้อของผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ทำกันอย่างจริงจังแล้ว

การสั่งสินค้าเพิ่มขึ้นจากบริษัทยักษ์ใหญ่จำพวกอะเมซอน ส่งผลให้บริษัทขนาดเล็กและขนาดกลางที่ไม่มีศักยภาพมากพอจนสามารถแข่งขันกับพวกเขาได้มีอันต้องเลิกล้มกิจการไปเรื่อยๆ

นั่นหมายความว่า นับวันการค้าจะยิ่งไปตกอยู่ในมือของบริษัทขนาดยักษ์มากขึ้น จนในที่สุดนำไปสู่ภาวะผูกขาดที่ผู้บริโภคไม่สามารถหาทางเลือกได้ จำเป็นต้องใช้สินค้าตามราคาที่บริษัทผูกขาดตั้งขึ้น

เปรียบเทียบประกันสุขภาพง่ายๆ คลิกเลย

การเลิกล้มกิจการขนาดกลางและขนาดเล็ก ย่อมทำให้สัดส่วนของชนชั้นกลางลดลง ส่งผลให้ความเหลื่อมล้ำเลวร้ายขึ้นไปอีกทอดหนึ่ง ก่อนการระบาดของไวรัสก่อโรคโควิด-19 ปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคมอเมริกันยังหาทางแก้ไม่ได้ ทำให้มันใกล้จะระเบิดเป็นวิกฤติทางสังคมอย่างกว้างขวางอยู่แล้ว โควิด-19 จึงเป็นเสมือนตัวเร่งให้เกิดเร็วขึ้น

ประเด็นที่สองเกี่ยวกับภาชนะที่ภัตตาคารบรรจุอาหารพร้อมรับประทานไปส่งตามบ้าน ภาชนะส่วนใหญ่ทำด้วยโฟมและพลาสติกที่ไม่สามารถนำไปใช้ต่อ หรือใช้เป็นวัตถุดิบเพื่อผลิตสิ่งอื่นได้ ยังผลให้ต้องนำไปทิ้งเพื่อฝังกลบในบ่อเก็บขยะ ตามธรรมดาสังคมอเมริกันมีปัญหาเรื่องการขาดสถานที่เหมาะสมสำหรับใช้ทำเป็นบ่อขยะอยู่แล้ว การเพิ่มขึ้นของขยะใหม่ย่อมทำให้ปัญหากลายเป็นวิกฤติร้ายแรงเร็วขึ้น

สังคมอเมริกันไม่สามารถแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำได้ด้วยการใช้แนวคิดเศรษฐกิจกระแสหลัก ตรงข้ามมันกลับทำให้ปัญหาเลวร้ายได้ง่ายขึ้น เพราะความคิดเบื้องต้นของคนอเมริกัน ซึ่งล้วนใฝ่ฝันที่จะมีจะใช้เพิ่มขึ้นไปแบบไม่มีวันสิ้นสุด พวกเขาถกเถียงกันมานานว่าจะทำอย่างไร แต่ยังหาทางออกไม่ได้ เพราะยังไม่ยอมละทิ้งความใฝ่ฝันดังกล่าว ซึ่งนับวันจะยิ่งทำให้ปัญหาร้ายแรงขึ้น เนื่องจากทรัพยากรโลกลดลงอย่างต่อเนื่อง

ในช่วงเวลาราว 100 ปีที่สหรัฐเป็นมหาอำนาจของโลก ประเทศกำลังพัฒนาพยายามเดินตามสหรัฐในหลากหลายด้าน มาถึงวันนี้ โรคโควิด-19 น่าจะชี้ให้เห็นแล้วว่าทางที่สหรัฐนำไปนั้นเป็นทางตันแน่นอน ชาวอเมริกันส่วนใหญ่ยังมองไม่เห็น ส่วนประเทศอื่นที่ไม่เคยมีความคิดเช่นเขาฝังรากอยู่ในวัฒนธรรมของตนมาก่อน น่าจะมองเห็นได้ไม่ยาก

แต่ ณ วันนี้ดูจะยังไม่มีสังคมใดมองเห็นและหยุดเดินตาม พร้อมกับพยายามหาทางเดินของตัวเอง ยกเว้นสังคมไทย แต่น่าเสียดายที่คนไทยส่วนใหญ่ดูจะยังพยายามเดินตามสหรัฐ

5 October 2563

ที่มา กรุงเทพธุรกิจ

Posted By Nitayaporn/thongpet/kanchana/Maneewan

Views, 1639

 

Preset Colors