02 149 5555 ถึง 60

 

ครอบครัวสะบั้นเพราะการเมือง

ครอบครัวสะบั้นเพราะการเมือง!/ดร.สรวงมณฑ์ สิทธิสมาน

ด้วยความที่ดิฉันมีลูกชาย 2 คนที่อยู่ในช่วงวัยรุ่นจึงถูกตั้งคำถามบ่อยว่าลูกไปร่วมม็อบหรือเปล่า?

ที่จริงก็เป็นคำถามที่คนเป็นพ่อแม่ผู้ปกครองของลูกวัยรุ่นแทบทุกคนมักถูกถาม

ท่ามกลางสถานการณ์ทางการเมือง ณ ปัจจุบันที่ร้อนฉ่า มีการจัดการชุมนุมทุกวัน และส่วนใหญ่ผู้ชุมนุมคือกลุ่มเยาวชนทั้งในระดับมัธยมศึกษาและมหาวิทยาลัย จากที่เคยแสดงออกทางสัญลักษณ์ภายในรั้วโรงเรียนและรั้วมหาวิทยาลัย ก็ได้ขยับมาสู่ท้องถนนในหลากหลายพื้นที่ และกลายเป็นประเด็นร้อนของสังคม จนกระทั่งรัฐบาลมีการประกาศสภาวะฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร

แน่นอนว่าสำหรับคนเป็นพ่อแม่ผู้ปกครองทั้งหลายย่อมเกิดความไม่สบายใจอย่างมาก เพราะปัญหาเรื่องความขัดแย้งทางความคิดก็เป็นประเด็นที่ยังไม่คลี่คลาย แต่ต้องมีเรื่องความปลอดภัยที่สร้างความกังวลใจให้กับพ่อแม่ที่ลูกไปร่วมชุมนุมอีกต่างหาก

บางครอบครัวไม่เป็นปัญหาก็นับเป็นเรื่องที่ดี แต่บางครอบครัวกลายเป็นความขัดแย้งภายในบ้าน จากเพียงแค่เห็นต่าง ก็เริ่มมีการถกเถียง และขยายผลไม่ฟังกัน จนลุกลามกลายเป็นความขัดแย้งและทะเลาะกันในที่สุด บางคนถึงขนาดเคร่งเครียดไมเกรนขึ้น เพราะมีความรู้สึกว่าลูกคิดไม่เหมือนตัวเอง ไม่เข้าใจว่าทำไมลูกถึงมีความคิดที่ต่างจากตัวเองขนาดนี้ บางคนถึงขั้นทะเลาะกันรุนแรง เพราะห้ามไม่ให้ไปร่วมชุมนุม ลูกก็ไม่ฟัง จนทำให้สัมพันธภาพแย่ลงเรื่อย ๆ และทำท่าจะไปกันใหญ่ ไม่รู้จะแก้ปัญหาอย่างไร

ที่หนักสุดที่ดิฉันถึงกับอึ้งก็คือกรณีที่พ่อแม่ยื่นคำขาดประกาศจะตัดขาดกับลูกถ้าไปร่วมม็อบ ซึ่งสุดท้ายลูกก็เลือกไปร่วมม็อบอยู่ดี !

ดิฉันเชื่อว่าพ่อแม่ผู้ปกครองจำนวนไม่น้อยที่กำลังประสบปัญหากลืนไม่เข้าคลายไม่ออก เพราะปัญหาทางการเมืองที่เกิดขึ้นมันได้ลุกลามเข้ามากระทบถึงความสัมพันธ์ในครอบครัว โดยเฉพาะพ่อแม่ และผู้ปกครองที่รู้สึกเป็นห่วงหรือกังวลใจกับท่าทีและการแสดงออกของบุตรหลาน อีกทั้งช่องว่างระหว่างวัย รวมถึงประสบการณ์ที่แตกต่างกัน ทำให้ความเข้าใจระหว่างเด็กและผู้ปกครองกลายเป็นปัญหา

ดิฉันมีลูกชาย 2 คนอยู่ในช่วงวัยรุ่นตอนปลาย โดยปกติครอบครัวเราพูดคุยกันแทบทุกเรื่อง ทำให้มีพื้นฐานทางความคิดและเข้าใจดีว่าแต่ละคนเป็นอย่างไร หลายเรื่องที่เราคิดเห็นเหมือนกัน และหลายเรื่องก็ต่างกัน ไม่เว้นแม้เรื่องการเมือง ก็มีการพูดคุยและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันแบบออกรส แต่เรามีพื้นที่ทางความคิดของแต่ละคนที่มักไม่ก้าวก่ายกัน ทำให้เรื่องความคิดต่างในหลาย ๆ เรื่องรวมถึงเรื่องการเมือง จึงออกมาในรูปแบบว่า พ่อคิดอย่างไร แม่คิดอย่างไร และลูกทั้งสองคิดอย่างไร

เวลาพูดคุยกันจึงออกมาในลักษณะรับฟังความคิดเห็นที่แตกต่างกันมากกว่าที่จะพยายามยัดเยียดว่าต้องให้ใครคิดเหมือนใคร

จริง ๆ อยากจะบอกว่า เรื่องพ่อแม่ลูกคิดไม่เหมือนกันเป็นเรื่องปกติ

เพราะต้องเข้าใจว่ายุคสมัยเปลี่ยน การรับรู้ก็เปลี่ยน วิธีคิดก็เปลี่ยน อีกทั้งยุคนี้ยังเป็นยุคดิจิทัลด้วย ถ้าให้ลูกคิดเหมือนเราสิแปลก !

ฉะนั้น สิ่งที่พ่อแม่ควรทำคือต้องคิดว่าเราเคยผ่านประสบการณ์วัยรุ่นมาก่อนแล้ว เราควรจะโน้มตัวลงเพื่อที่จะพยายามทำความเข้าใจ และเปิดโอกาสให้ลูกได้เรียนรู้บนประสบการณ์ชีวิตของเขา

จะว่าไปแล้ว ปัญหาสำคัญที่สุดในสถานการณ์ความขัดแย้งภายในครอบครัวขณะนี้ คือเรื่องการสื่อสารและท่าทีของทั้งพ่อแม่ลูก

แต่ในฐานะของคนเป็นพ่อแม่ก็อยากให้เริ่มจากตัวเราทำความเข้าใจก่อนว่า วัยรุ่นเป็นวัยที่มีอิสระ มีความคิด และความต้องการเป็นของตนเอง แม้ว่าบางทีอาจขัดต่อแนวทางหรือแนวคิดที่พ่อแม่อยากให้เป็น แต่การคัดค้านหรือห้ามความคิด รวมถึงความไม่เชื่อใจในตัวเขา ก็อาจส่งผลไปในตรงข้าม

ที่ผ่านมา ด้วยความใกล้ชิดของความเป็นครอบครัว อาจทำให้พ่อแม่ผู้ปกครองเกิดความรู้สึกเคยชินในการแสดงออกด้วยการใช้คำสั่งหรือการสอนมากกว่าการพูดคุยแม้ว่าจะเป็นเรื่องทั่วไป พอมาในวันนี้ลูกไม่รับฟังเราเหมือนเดิม จึงทำให้พ่อแม่รู้สึกโกรธ โมโห และอาจมองว่าลูกเปลี่ยนไป

ดร.เฮม จีนอตต์ (Dr.Haim Ginott) นักจิตวิทยาเด็กที่มีชื่อเสียงจาก New York University และ Adelphi University ได้เคยเขียนหนังสือ Between Parents and Teenager (วิธีพูดกับลูกวัยรุ่น) ว่า

"เมื่อยามที่เกิดปัญหากับลูกวัยรุ่น เราต้องรับรู้ว่า ‘ลูกของเราไม่ใช่เด็กอีกต่อไปแล้ว’ เขาย่อมมีตัวตน และมีความเป็นตัวของตัวเอง พ่อแม่ที่ฉลาดจะรู้ว่าการทะเลาะกับลูกวัยรุ่นนั้น เสมือนการพายเรือสู้กับกระแสน้ำ มีแต่จะนำหายนะมาให้ เวลาที่พ่อแม่โกรธ เราอาจพลั้งปากพูดต่อว่ารุนแรงออกไป ซึ่งทำให้เกิดการต่อต้าน หรือทะเลาะเบาะแว้งรุนแรง คำพูดที่ไม่ตั้งใจอาจทำให้เขารู้สึกว่าตัวเองนั้นโง่ หรือความคิดไม่เข้าท่า ซึ่งอาจทำร้ายตัวตนและจิตใจของเขา ผลที่ตามมานั้นบางครั้งร้ายแรงมาก พวกเขาจะโกรธตัวเองและลามไปต่อว่าคนอื่นต่อ จะคิดว่าตัวเองไม่มีค่า หรือไม่รู้จักคุณค่าของคนอื่นอีกด้วย และสิ่งที่เลวร้ายยิ่งกว่านั้นก็คือ สักวันหนึ่ง เขาจะคิดว่าตัวเองเป็นเช่นนั้นจริงๆ"

เราต้องยอมรับว่าสถานการณ์ในปัจจุบันมาถึงจุดที่ผู้คนเลือกที่จะคิด เลือกที่จะฟัง เลือกที่จะเชื่อ เลือกที่จะรับข้อมูล เลือกที่จะคบคนก็เฉพาะกับคนที่คิดเหมือนกัน และปฏิเสธคนที่คิดต่างโดยสิ้นเชิง

และเป็นการปฏิเสธชนิดที่พร้อมจะเลิกคบและไม่แคร์ว่าจะเกิดอะไรขึ้นตามมา

ยิ่งทำให้เห็นชัดเจนว่า ผู้คนในยุคนี้ มีสิ่งที่ขาดหายไป คือ Empathy ทักษะการเห็นอกเห็นใจผู้อื่น การเอาใจเขามาใส่ใจเรา เป็นการนึกถึงความรู้สึกและพยายามทำความเข้าใจผู้อื่น คือการที่เราสามารถเข้าใจและเอาความคิด ความรู้สึก อารมณ์และมุมมอง ของอีกฝ่ายมาอยู่ในมุมมองของเราเองได้

เมื่อมาถึงจุดนี้ที่การเมืองลามเข้ามาในบ้าน ก็ต้องคำนึงด้วยว่า เราจะยอมให้ครอบครัวแตกร้าวเพราะปัญหาเหล่านี้จริงหรือ ถ้าคำตอบคือไม่ ก็เป็นเรื่องที่คนเป็นพ่อแม่ผู้ปกครอง ต้องเป็นฝ่ายโน้มตัวลงด้วยท่าทีที่จริงใจให้ลูกเห็นว่า พ่อแม่ไม่ต้องการให้ครอบครัวสะบั้นเพราะการเมือง

พ่อแม่ต้องเป็นฝ่ายเริ่มด้วยการนำทักษะ Empathy การเห็นอกเห็นใจผู้อื่น ด้วยการยอมรับฟังลูกด้วยท่าทีที่จริงใจ ต้องเปิดใจกว้าง วางอคติ และพยายามทำความเข้าใจ อาจตั้งคำถามเพื่อให้ลูกอธิบายถึงเหตุผลและความคิดเห็นของเขา เพื่อเป็นตัวอย่างและให้คำแนะนำลูกด้วยว่าควรเป็นนักฟังที่ดีด้วย การฟังอย่างรอบด้านมีความสำคัญมาก ไม่ใช่เลือกที่จะฟัง หรือฟังเฉพาะคนที่เราชอบ ควรบอกลูกว่าการฟังเป็นพื้นฐานของทุกเรื่อง โดยเฉพาะท่ามกลางความขัดแย้ง การรับฟังอย่างรอบด้านมีความสำคัญมาก

จากนั้นจึงค่อยชี้ให้ลูกเห็นว่าสิ่งที่ลูกทำในวันนี้มันอาจจะส่งผลกระทบในอนาคต อาจยกตัวอย่างข่าวสารในอดีตที่เคยเกิดขึ้นว่าบางคนก็โดนอดีตตามไปหลอกหลอนปัจจุบันจนทำให้เสียโอกาสอะไรบ้างในชีวิต พยายามให้ลูกใช้ทักษะรอบด้านทั้งเรื่องการฟัง ดู อ่านอย่างรอบด้านแล้วก็จะนำมาสู่ขั้นคิดวิเคราะห์ได้ เพราะเรื่องบางเรื่องเป็นเรื่องที่ต้องใช้ข้อมูล ข้อเท็จจริง มิใช่ความรู้สึก หรือความคิดเห็น

สุดท้ายถ้าลูกไม่รับฟัง หรือมีท่าทีอยากไปร่วมชุมนุม ก็ควรปล่อยให้ลูกได้เรียนรู้ด้วยตัวเอง ผู้เป็นพ่อแม่ต้องทำใจให้ได้ไม่ว่าลูกจะตัดสินใจอย่างไร ถ้าเราได้ทำหน้าที่ในการแนะนำและประคับประคองแล้ว ก็ต้องเคารพการตัดสินใจของลูก และบอกลูกว่าถ้าจะไปชุมนุมต้องคำนึงถึงเรื่องความปลอดภัยด้วย เพื่อให้เขารับรู้ว่าพ่อแม่เป็นห่วงลูกเสมอ รวมถึงลูกก็ต้องรับผลของการกระทำที่อาจจะตามมาด้วย

การเอาใจใส่ความรู้สึกกันและกัน การแสดงความเข้าใจ และพยายามหาทางออกร่วมกัน คือการแบ่งเบาทุกข์ของกันและกัน

ท่ามกลางสถานการณ์ร้อนยิ่งต้องแสดงออกซึ่งความเอาใจใส่ความรู้สึกของกันและกัน เพราะสุดท้ายไม่ว่าสถานการณ์ทางการเมืองจะเดินไปสุดที่จุดไหน แต่ก็อย่าให้ครอบครัวต้องมามีรอยร้าวทำร้ายความรู้สึกกันเลย

การเมืองเป็นเรื่องมายา ครอบครัวสิของจริง !

22 October 2563

ที่มา ผู้จัดการ ออนไลน์

Posted By Thongpet/kanchana/Maneewan

Views, 1511

 

Preset Colors