02 149 5555 ถึง 60

 

ยกให้เป็นวิกฤติของมนุษยชาติที่แผลงฤทธิ์อย่างร้ายเหลือกันโดยแท้

ยกให้เป็นวิกฤติของมนุษยชาติที่แผลงฤทธิ์อย่างร้ายเหลือกันโดยแท้

สำหรับ วิกฤติการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 หรือโควิด-19 ที่โลกเรากำลังเผชิญหน้า ณ ชั่วโมงนี้

เพราะนอกจากทำพิษต่อระบบสาธารณสุขโลกแล้ว ก็ยังสำแดงเดชทุบเศรษฐกิจประเทศต่างๆ จนอ่วมอรทัยไปตามๆ กันถ้วนหน้า

ใช่แต่เท่านั้น พิษไวรัสโควิดฯ ยังพ่นใส่ต่อสุขภาพจิตของผู้คน จนมีอารมณ์ขึ้งเครียด กระทั่งถึงขั้นเกิดอาการป่วยทางจิตก็มีจำนวนไม่น้อย ในประเทศที่กำลังเกิดวิกฤติการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสร้ายกันอย่างหนัก

ยกตัวอย่าง ใน “สหรัฐอเมริกา” ประเทศทีได้ชื่อว่า มีผู้ป่วยติดเชื้อสะสมมากเป็นอันดับ 1 ของโลก ด้วยจำนวนกว่า 8.6 ล้านคน เช่นเดียวกับ ผู้ป่วยที่เสียชีวิต ก็ปรากฏว่า สหรัฐฯ มีจำนวนราว 2.3 แสนคน มากเป็นอันดับ 1 ของโลกเช่นกัน

ถูกเล่นงานจนงอมพระรามกันเยี่ยงนี้ ก็ส่งผลต่อสภาพจิตใจของประชาชีชาวถิ่นลุงแซมหาน้อยไม่ จากการเข้าไปสำรวจความคิดเห็นในหมู่ชาวอเมริกันครั้งล่าสุด เมื่อช่วงเดือน ต.ค.นี้

โดยทาง “สมาคมจิตวิทยาชาวอเมริกัน” หรือ “เอพีเอ (APA : American Psychological Association) เปิดเผยในผลสรุปของการสำรวจความคิดเห็นออกมาว่า ชาวอเมริกันจำนวนเกือบ 8 ใน 10 หรือเกือบร้อยละ 80 เลยทีเดียว ที่มีปัญหาเรื่องสุขภาพจิต โดยมีความเครียด จากการได้รับผลกระทบของโรคโควิดด-19 ที่กำลังแพร่ระบาดอย่างหนักในสหรัฐฯ ณ เวลานี้

ในการสำรวจความคิดเห็นของเอพีเอ ยังดำเนินการสำรวจแยกย่อยไปในกลุ่มตัวอย่างของคนช่วงรุ่นอายุต่างๆ อีกด้วย ตั้งแต่ช่วงก่อนรุ่น “เบบี้บูม” ไปจนถึงรุ่น “เจนแซด” ที่มีปัญหาเรื่องสุขภาพจิต จากการที่มีความครียด เพราะผลพวงของการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ข้างต้น

โดยผลสำรวจฯ ระบุว่า ร้อยละ 34 ของกลุ่มตัวอย่างที่เป็นวัยผู้ใหญ่ของคนรุ่น “เจนแซด (Gen Z)” คือ คนที่เกิดตั้งแต่ปี 1996 (พ.ศ. 2539) เป็นต้นมา

ร้อยละ19 เป็นของกลุ่มตัวอย่างที่เป็นคนรุ่นยุค “มิลเลนเนียล (Millennial)” ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่เกิดระหว่างช่วงปี 1977 – 1995 (พ.ศ. 2520 – 2538)

ส่วนกลุ่มคนรุ่น “เจนเอ็กซ์ (Gen X)” ที่เกิดระหว่างช่วงปี 1965 – 1976 (พ.ศ. 2508 - 2519) มีจำนวนร้อยละ 21

ทางด้าน กลุ่มคนรุ่น “เบบี้บูม (Baby Boom)” ที่เกิดระหว่างช่วงปี 1946 – 1964 (พ.ศ. 2489 – 2507) มีจำนวนร้อยละ 12

ขณะที่ กลุ่มตัวอย่างที่เป็นคนรุ่นที่แก่ไปกว่านั้น คือ เกิดก่อนปี 1946 (พ.ศ. 2489) มีจำนวนร้อยละ 8

ทั้งนี้ ทั้งหมดของกลุ่มตัวอย่างล้วนต่างตอบว่า พวกเขามีความเครียดมากยิ่งกว่าช่วงปีที่แล้ว เมื่อเปรียบเทียบกัน

เมื่อสอบถามแยกย่อยไปในรายละเอียดเกี่ยวกับสุขภาพจิตว่า มีปัญหาด้านใดนั้น ทาง “เอพีเอ” ก็ได้รับคำตอบที่ทำให้ทางสถาบันผู้ดำเนินการสำรวจความคิดเห็น แทบไม่เชื่อกับผลที่ปรากฏออกมา เพราะกลับกลายเป็นกลุ่มคนรุ่น “เจนแซด” ที่ยังเป็นหนุ่ม เป็นสาว ดูจะหนักหนาสาหัสยิ่งกล่าวกลุ่มคนรุ่นเจนอื่นๆ ที่สูงวัยกว่า จากการได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิดฯ ต่อสุขภาพจิตของพวกเขา

โดยมีรายละเอียดของการสำรวจความคิดเห็น ระบุว่า อาการสุขภาพจิตข้างต้นของเหล่าคน “เจนแซด” จากเหตุปัจจัยดังกล่าว ก็มีทั้งจิตใจแปรปรวน รวมถึงภาวะซึมเศร้า ตลอดจนวิตกกังวล

ในการสำรวจของเอพีเอ ยังพบด้วยว่า กว่า 7 ใน 10 หรือกว่าร้อยละ 70 ของกลุ่มตัวอย่าง มีอาการไม่ปกติทางจิตหลากหลายแตกต่างกันไป ได้แก่ ความเหนื่อหน่ายจิตใจท้อแท้ การที่มีจิตใจไม่อยากทำอะไร หรือคิดว่าไม่มีอะไรทำ การมีอาการกระสับกระส่าย รวมไปถึงการไม่สามารถขบคิดเรื่องราวต่างๆ อะไรได้ ตลอดจนการไม่มีสมาธิจดจ่อกับการคิด หรือการทำอะไรสิ่งใดสิ่งหนึ่ง

นอกจากนี้ กลุ่มตัวอย่างของคน “เจนแซด” หลายราย ก็มีอาการรู้สึกว่าเหงา อ้างว้าง เดียวดาย การรู้สึกอเนจอนาถใจ และรู้สึกว่าไม่มีความสุขกับชีวิตในสภาพที่เป็นอยู่

ทางด้าน บรรดาผู้เชี่ยวชาญได้เสนอแนะจากปัญหาทางจิตต่อผู้คนที่บังเกิดขึ้นด้วยว่า นอกจากการส่งทีมแพทย์ พยาบาล ไปรักษาผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสโควิดฯ แล้ว ก็ยังต้องเตรียมทีมจิตแพทย์ สำหรับการให้คำปรึกษาปัญหาทางจิตต่อผู้คนที่รอดเป็นเหยื่อไวรัสร้ายชนิดนี้ด้วย

27 October 2563

ที่มา สยามรัฐ

Posted By Thongpet/kanchana/Maneewan

Views, 1182

 

Preset Colors