02 149 5555 ถึง 60

 

โรคเครียด! คนทั่วไป-หมอ น่าห่วงไม่แพ้ "โควิด-19"

โรคเครียด! คนทั่วไป-หมอ น่าห่วงไม่แพ้ "โควิด-19"

ภายใต้สถานการณ์โควิด-19 แพร่ระบาดอีกครั้ง สิ่งที่น่าสนใจนอกเหนือจากการควบคุมโรคและการทำงานหนักของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง คือความเครียดที่คนไทยต้องเผชิญกับวิกฤติโรคระบาด โดยเฉพาะการรับมือกับสภาพจิตใจของตัวเอง ซึ่งเป็นปัญหาที่มองข้ามไม่ได้โดยเด็ดขาด

ภายใต้สถานการณ์โควิด-19 แพร่ระบาดอีกครั้ง และดูเหมือนรอบนี้จะรุนแรงมากกว่าครั้งก่อน สิ่งที่น่าสนใจนอกเหนือจากการควบคุมโรคและการทำงานหนักของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง คือความเครียดที่คนไทยต้องเผชิญกับวิกฤติโรคระบาด โดยเฉพาะการรับมือกับสภาพจิตใจของตัวเอง ซึ่งเป็นปัญหาที่มองข้ามไม่ได้โดยเด็ดขาด

ดังนั้นทีมข่าว “1/4 Special Report” จึงคุยกับ นพ.วรตม์ โชติพิทยสุนนท์ โฆษกกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข เพื่อหาแนวทางรับมือและข้อแนะนำ รวมถึงบุคลากรทางการแพทย์เพราะไม่มีวันรู้ว่าโรคจะอยู่กับเราไปนานแค่ไหน สิ่งสำคัญคือจะรับมือกับความเครียดที่เกิดจากปัญหาดังกล่าวได้อย่างไร

ความเครียดจาก “โควิด” พุ่งสูงขึ้น

นพ.วรตม์เปิดเผยว่าวิกฤติโควิด-19 นำไปสู่ความเครียดของคนเป็นจำนวนมาก เพราะมีผลกระทบหลายอย่าง บางคนมีความเครียดสงสัยว่าตัวเองติดเชื้อหรือยัง บางคนเครียดเพราะค้าขายไม่ได้ นายจ้างลดการจ้างงาน บางคนเครียดเดินทางไม่ได้ ครอบครัวมีลูกอยู่บ้าน ทำงานที่บ้านจนทะเลาะกันมากยิ่งขึ้น ปัญหาเหล่านี้ทำให้ทุกคนเปลี่ยนไปหมด บางครั้งมันสะกิดแผลเดิมที่ผู้คนมีความเครียดอยู่ก่อนแล้ว พอเจอโควิด-19 ยิ่งไปสะกิดแผลมากยิ่งขึ้น

ที่ผ่านมาสถิติประชาชนโทรศัพท์มาสายด่วน 1323 เพื่อรับฟังคำแนะนำจากกรมสุขภาพจิตในเรื่องโควิด-19 จะสูงมากในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโรค โดยเดือน มี.ค. 63 ที่เริ่มแพร่ระบาดมีตัวเลขอยู่ที่ 600 ครั้งต่อเดือน เดือน เม.ย. สถิติลดลงไป เพราะมีการงดเทศกาลสงกรานต์ งดขายแอลกอฮอล์ จึงอยู่ที่ 539 ครั้ง ส่วนเดือน พ.ค. ตัวเลขคนมาปรึกษาเรื่องโควิดสูงถึง 687 ครั้ง ก่อนที่จะเริ่มลดในเดือน ต.ค.

จนกระทั่งเดือน ธ.ค. ที่ผ่านมา สถิติเก็บถึงสัปดาห์แรกพบว่ามีคนโทรฯ มาขอคำปรึกษา 48 รายด้วยกัน ซึ่งอิงกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่สูงมากขึ้น

ทั้งนี้กรมสุขภาพจิตเห็นแนวโน้มมาตั้งแต่ปี 62 ว่าคนจะมีความเครียดและฆ่าตัวตายสูงมากในหลายปีนี้ จึงเปิดคู่สายเพิ่มขึ้น 2 เท่า จากเดิมมีเจ้าหน้าที่รับสาย 10 คน ก็จัดให้มีเยอะขึ้น แน่นอนว่าทำให้ตัวเลขคนโทรฯเข้ามาปรึกษาสูงขึ้นจากปีก่อนด้วย โดยขอแนะนำว่าในช่วงเวลาเลิกงาน หรือก่อนนอนนั้น คนจะโทรฯมาเยอะมาก อาจต้องรอสาย แต่ระยะเวลาการรอน้อยลงกว่าปีก่อน เพราะเรามีคนรับโทรศัพท์เพิ่มขึ้น

รับฟัง-คุยกับตัวเอง-เข้าใจปัญหาคืออะไร

นพ.วรตม์เผยด้วยว่า คำแนะนำสำคัญสำหรับคนที่เครียดจากโควิด-19 เวลาโทรฯ สายด่วนมา เจ้าหน้าที่จะรับฟังเพื่อพยายามหาว่าปัญหาคืออะไร บางคนมีปัญหาเยอะมาก เวลาโทรฯ มา ก็ต้องดูว่าปัญหาที่สำคัญสุดที่เผชิญอยู่คืออะไรกันแน่ หลายครั้งคนโทรฯมาเพียงต้องการให้คนรับฟัง สำหรับตัวเขาถือว่าดีเพียงพอแล้ว เพราะต้องการใครสักคนที่ต้องการระบาย

สิ่งต่อมา คือปัญหาที่คนเผชิญอยู่เป็นปัญหาที่แก้ได้หรือไม่ได้ ถ้าแก้ได้ เช่นเรื่องหนี้สิน ก็อาจจะคุยว่าต้องทำอย่างไร กรมสุขภาพจิตจะพูดคุยช่วยประสานหาข้อมูลให้ หรือเรื่องทะเลาะกับคนในบ้านหลังจากต้องล็อกดาวน์ตัวเองกับคนในครอบครัว ทำให้มีปากเสียงกันบ่อย เราต้องบอกให้ใจเย็น ค่อย ๆ คุยกัน

ส่วนปัญหาที่แก้ไขไม่ได้ เช่น บางคนเจอเรื่องคนรู้จักเสียชีวิตจากโควิด-19 ตรงนี้เราแก้ไขอะไรไม่ได้ ก็ต้องรับฟังเขา ต้องดูว่าคนที่โทรฯมานั้นมีสัญญาณแนวโน้มขอบเขตความเครียดอยู่ระดับไหน ถึงขั้นต้องไปพบแพทย์หรือไม่ ถ้ารับฟังแล้วพบว่าคนที่โทรฯมาต้องพบแพทย์ ต้องให้คำแนะนำเขาไปด้วย

“ทุกครั้งที่สังคมเจอวิกฤติ เช่น วิกฤติต้มยำกุ้งปี 40 มีคนก่อเหตุฆ่าตัวตายสูงถึง 25% จากปีก่อน และอัตรานี้จะคงอยู่ไป 3-4 ปี กว่าจะเข้าสู่ภาวะปกติ วิกฤติที่เกิดขึ้นในสังคมทุกครั้งนั้น มันส่งผลเปลี่ยนแปลงต่อคนจำนวนมาก เพราะสร้างบาดแผลใหม่ไปกระทบบาดแผลเก่าในจิตใจผู้คน ดังนั้นคนที่มีปัญหาสุขภาพจิตจะยิ่งเครียดมากกว่าเดิม บางคนปรับตัวไม่ได้อาการจะหนักขึ้น สิ่งเหล่านี้ขึ้นอยู่กับว่าเราจะดูแลตัวเองอย่างไร มีแรงยืดหยุ่นทางจิตใจแค่ไหน บางคนล้มแล้วลุกแต่บางคนล้มแล้วลุกไม่ได้”

วิธีการแก้ปัญหาความเครียด คือ เราต้องคุยกับตัวเองก่อน ทุกวันนี้คนคุยกับตัวเองน้อยมาก เราต้องถามว่าวันนี้เราไหวไหม มีปัญหาอะไรไหม จากนั้นก็ไปคุยกับคนใกล้ชิด ให้เขารับฟังว่าเรามีปัญหาอะไร ปัญหาบางอย่างแก้ได้ ก็หาคำแนะนำ จากนั้นค่อยไปหาผู้เชี่ยวชาญ กรมสุขภาพจิตย้ำและออกโครงการเสมอให้มีการรับฟังกัน กระตุ้นให้คนตรวจเช็กสภาพจิตใจตัวเองบ่อย ๆ อยู่เสมอ

“ขอแนะนำว่า เราควรดูข่าวสารเรื่องโควิด เพื่อไม่ให้ประมาทและรู้เข้าใจสถาน การณ์ แต่ควรดูข่าวสารเพื่อให้เราตระหนัก แต่ไม่ใช่ตระหนก เดี๋ยวนี้คนรับข่าวสารจากทางการแล้วไปหาข้อมูลในอินเทอร์เน็ต ซึ่งมีอัลกอริทึ่มหาเรื่องมาให้เรา บังคับให้เราอ่านข่าวโรคระบาดโดยเฉพาะ มันทำให้คนเครียดยิ่งขึ้น บางคนเครียดมากถึงกับใช้ชีวิตปกติไม่ได้ ไม่คุยกับใคร พฤติกรรมเปลี่ยนไป ก็ขอแนะนำให้หยุดรับรู้ข่าวสารเรื่องนี้สัก 2-3 วัน”

อย่างไรก็ตาม โดยส่วนตัวยังแนะนำว่าเราควรรับฟังข่าวสารทุกวัน การไปหาข้อมูลในอินเทอร์เน็ตต้องระวังการหลงอยู่ในฟองสบู่ข้อมูลข่าวสาร จนออกจากลูปไม่ได้ สังคมออนไลน์แฝงด้วยอารมณ์จากคนมาแสดงความคิดเห็น ล้อเลียน เสพแล้วอาจเครียดได้ จากไม่ตระหนักเรื่องนี้อาจเริ่มตระหนกยิ่งขึ้น ดังนั้นสิ่งที่น่ากลัวและติดต่อง่ายกว่าโควิด-19 คืออารมณ์ในทางลบ ทำให้คนเครียดได้จากอารมณ์คนหมู่มากที่แฝงมาในข่าวสารที่เราเสพ

ดูแลบุคลากรทางการแพทย์รับมือภาวะหมดไฟ

นพ.วรตม์บอกว่า ในช่วงโควิด-19 กรมสุขภาพจิตมีการเฝ้าระวังบุคลากรทางการแพทย์กับการเผชิญสภาวะหมดไฟ อันเกิดจากการทำงานหนักอย่างต่อเนื่องในช่วงโควิด-19 เพราะคนเหล่านี้ก็เป็นมนุษย์เหมือนกัน ทุกคนมีความกลัว ตระหนกว่าจะพาโรคไปติดครอบครัวหรือไม่ ในช่วงโควิดระบาดเดือน มี.ค.-พ.ค. 63 บุคลากรทางการแพทย์เจอภาวะนี้เยอะมาก แต่ค่อย ๆ ลดลงเมื่อโรคซาลงไป

แต่รอบปัจจุบันยังไม่แน่ว่าภาวะนี้จะสูงแค่ไหน ซึ่งส่งผลเป็นทอด ๆ เพราะงานวิจัยต่างประเทศเผยว่าหากบุคลากรทางการแพทย์ล้าหมดไฟ เจองานหนัก ท้อแท้ สมาธิจะเสีย ศักยภาพการทำงานจะลดลง เสี่ยงต่อการป่วยติดเชื้อ ทำให้ทรัพยากรในการดูแลประชาชนเสียหาย ที่ผ่านมากรมสุขภาพจิตได้ตั้งสายด่วนเฉพาะพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศ ให้บุคลากรทางการแพทย์ได้ติดต่อปรึกษาพูดคุยระบายปัญหา เพราะเราต้องดูแลสนับสนุนพวกเขาด้วย ในฐานะด่านหน้าการรับมือโควิด-19 หากพวกเขาแย่ ทุกอย่างจะแย่ไปหมด

ทั้งนี้บุคลากรทางการแพทย์ที่ต้องเผชิญกับความเครียดจากโควิด-19 จะประกอบด้วย การทำงานที่ไม่รู้ว่าปัญหาจะจบลงเมื่อไหร่ ขาดการติดต่อกับคนในครอบครัว ขาดความเข้าใจในโรค ปัญหานี้มักจะเกิดในช่วงแรกของการแพร่ระบาด ปัจจุบันส่วนนี้หายไปแล้ว สิ่งสำคัญคือบุคลากรทางการแพทย์ขาดกำลังใจจากคนรอบข้าง และจากคนที่มาใช้บริการ ซึ่งทุกฝ่ายต่างเครียดกันทั้งคู่จนทะเลาะกัน ดังนั้นอยากฝากว่าขอให้พูดจาดี ๆ กับบุคลากรทางการแพทย์

“กรมสุขภาพจิตได้เฝ้าระวังบุคลากรทางการแพทย์กับการฆ่าตัวตาย ตอนนี้ยังไม่มีแต่ต้องจับตามองอย่างใกล้ชิด เพราะเราให้ความสำคัญกับบุคลากรทางการแพทย์ ประชาชน และผู้ป่วยจิตเวชอย่างเท่าเทียมกันหมด”

ทำตัวให้เสี่ยงน้อยสุด-ไม่รู้ “โควิด” ไปเมื่อไหร่

นพ.วรตม์ย้ำว่า เราจะต้องอยู่กับโควิด-19 ไปจนกว่าจะมีวัคซีนฉีดอย่างทั่วถึงประชาชนในประเทศ 50-60% จนกว่าจะเกิดการสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ขึ้นได้ เพราะมีคนได้รับวัคซีนมากพอ จนเชื้อโรคไม่สามารถติดต่อกับคนอื่น ๆ ได้ ซึ่งตรงนี้ขอย้ำสำหรับคนที่เครียดกับโรคว่า มันจะหายไปเมื่อไหร่ ขอชี้แจงว่าเป็นปัญหาที่แก้ไขไม่ได้ ไม่มีวันรู้ว่าจะหายไปตอนไหน ถามใครก็ตอบไม่ได้ บางโรคระบาดหายไปเองเฉย ๆ ก็มี ดังนั้นจึงไม่แน่นอน แต่ตอนนี้เราต้องระวังโควิด-19 ที่มีสายพันธุ์ใหม่แพร่ระบาดในอังกฤษ แล้วไม่รู้ว่าวัคซีนที่ผลิตทดลองออกมาจะใช้ได้หรือไม่ ทั้งหมดเป็นเรื่องที่เราควบคุมไม่ได้ทั้งสิ้น

แต่สิ่งที่เราควบคุมได้ คือต้องอยู่กับปัจจุบัน ต้องป้องกันตัวเองให้มีความเสี่ยงน้อยสุดในการติดเชื้อ เราอาจป้องกันการติดเชื้อไม่ได้ 100% แต่ก็ทำให้เสี่ยงน้อยที่สุดได้....

5 January 2564

ที่มา เดลินิวส์

Posted By Thongpet/kanchana/Maneewan

Views, 1908

 

Preset Colors