02 149 5555 ถึง 60

 

จัดการกับความเครียด รับมือโควิดอีกครั้ง

จัดการกับความเครียด รับมือโควิดอีกครั้ง

จัดการกับความเครียด พร้อมเตรียมจิตใจให้เข้มแข็ง รับมือโควิด-19 ระบาดอีกครั้ง

ในช่วงที่สถานการณ์ของโควิด-19 ที่แพร่ระบาดอีกระลอกอีกครั้ง และยังไม่เห็นทีท่าว่าจะจบลงในเร็ววันนี้ แม้จะมีมาตรการควบคุมโรคในการเดินทางเข้า-ออกพื้นที่ควบคุมสูงสุด 23+5 จังหวัดควบคุมสูงสุดและเข้มงวด ประกอบด้วย สมุทรสาคร ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด จะต้องปฏิบัติ 3 ข้อดังนี้

1. เมื่อไปถึงจังหวัดจะต้องได้รับการตรวจวัดอุณหภูมิ คัดกรองจากเจ้าหน้าที่ด่านตรวจ

2. ติดตั้งแอพพลิเคชั่น "หมอชนะ"

3. สอบถามความจำเป็นในการเดินทาง

แต่ถึงแม้จะมีมาตรการต่างๆ ก็ยังคงต้องเฝ้าระวังกันอย่างต่อเนื่อง โดยที่ยังไม่รู้ว่าจะได้กลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติเมื่อไหร่..

แน่นอนว่าท่ามกลางสถานการณ์เช่นนี้ หลายๆ คนย่อมเกิดความเครียดอย่างหลีกเลี่ยงได้ยาก จนอาจจะส่งผลต่อสุขภาพ ซึ่งในเรื่องนี้ ทางด้าน "แพทย์หญิงอภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้อำนวยการศูนย์จิตรักษ์ โรงพยาบาลกรุงเทพ" ได้ให้ความรู้เอาไว้ว่า ความเครียดเป็นกลไกโดยธรรมชาติที่ช่วยให้มนุษย์เตรียมตัววางแผนและรับมือกับสถานการณ์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ การที่เรารู้สึกเครียดกลัว วิตกกังวล ซึ่งเป็นสิ่งที่ดี เพราะเราจะได้ขวนขวายหาความรู้ หาข้อมูลมาประกอบการตัดสินใจ ให้มีการวางแผนและเตรียมการรับมือกับโรคระบาดที่เกิดขึ้น

ลองสังเกตอาการของตัวเองในสถานการณ์ "โควิด-19" ทาง CDC สหรัฐ ได้แนะนำให้สังเกตอาการ ว่ามีดังต่อไปนี้หรือไม่ อาทิ อารมณ์แปรปรวน กลัว เครียด กังวล หงุดหงิดง่าย นอนไม่หลับหรือหลับไม่สนิทฝันร้ายต่อเนื่องเรื้อรัง พฤติกรรมการกินผิดปกติ บางรายกินไม่ลง บางรายกินมากผิดปกติ รู้สึกไม่กระปรี้กระเปร่า ไม่สดชื่น เฉื่อยชาเบื่อ ไม่อยากทำอะไร สมาธิจดจ่อไม่ดี ทำงานบกพร่อง สูญเสียการตัดสินใจ ผู้ป่วยที่มีโรคทางกาย เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคไต โรคหัวใจ ในระยะนี้อาการอาจกำเริบแปรปรวน เช่น ปวดท้อง ปวดหัว ปวดตามตัวหรือมีผื่นขึ้น ตื่นตระหนก ฯลฯ เริ่มรู้สึกท้อแท้หมดหวัง รู้สึกไร้ค่า ไม่อยากมีชีวิตอยู่ เป็นต้น หลายคนไม่ตระหนักว่ากำลังเกิดความผิดปกติด้านอารมณ์ เมื่อไม่รู้ตัวก็ไม่ได้จัดการอย่างถูกต้อง จนอาจส่งผลกระทบกับประสิทธิภาพในการทำงาน มีปัญหาความสัมพันธ์ ทั้งเรื่องส่วนตัวและกับเพื่อนร่วมงาน ความเครียดสะสมยังอาจนำไปสู่การตัดสินใจผิดพลาดนำชีวิตดิ่งลงได้โดยง่าย

โดย 4 สาเหตุหลักในผู้ป่วยที่มาพบจิตแพทย์ ระบุว่า โควิด-19 ทำให้เกิดความเครียด คือ

-กลัวการติดเชื้อ เพราะไม่แน่ใจได้ว่าที่ไหนจะปลอดภัย ทุกที่สามารถเกิดการแพร่เชื้อได้หมด เกิดอาการรู้สึกหวาดระแวงคนรอบข้างคนใกล้ตัว หรือแม้แต่คนที่ดูปกติแข็งแรงก็สามารถกลายเป็นผู้ติดเชื้อแบบไม่มีอาการและสามารถแพร่เชื้อได้

-สถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงรายวันมีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น นโยบายรัฐบาลปรับเปลี่ยนตามสถานการณ์เกือบทุกวัน วันนี้อาจไปทำงานปกติ วันรุ่งขึ้นที่ทำงานอาจถูกปิด

-ความกังวลเรื่องหน้าที่การงาน บางคนโดนสั่งพักงานหรือที่ทำงานต้องปิดตัว

-สิ่งสำคัญที่ทำให้เกิดความเครียดมากคือการที่ไม่มีทางรู้ว่าสถานการณ์นี้จะยาวนานเพียงใด ผลกระทบทางเศรษฐกิจจะยาวนานแค่ไหนแม้หลายคนจะให้ความร่วมมือกับนโยบายเว้นระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) หรือปฏิบัติตามรายงานของภาครัฐอย่างเคร่งครัด แต่การแพร่ระบาดก็อาจจะยังไม่ยุติในระยะเวลาอันใกล้

การรับมือกับสถานการณ์ COVID-19 อย่างเข้าใจ

-อย่าทำให้สถานการณ์เลวร้ายลง ความเครียดระยะยาวอาจทำให้เกิดภาวะท้อถอย หมดหวัง นำไปสู่การตัดสินใจที่ผิดพลาดได้ง่าย เช่น การทำร้ายตัวเอง การฆ่าตัวตาย การลาออกจากงาน เป็นต้น อารมณ์ที่ไม่เป็นปกติ ทำให้มีโอกาสตัดสินใจทำสิ่งใด ๆ โดยไม่รอบคอบ คำแนะนำเบื้องต้นคือ ระหว่างนี้ไม่ควรมีการตัดสินใจในเรื่องใหญ่ ๆ ทั้งสิ้น เพียงประคับประคองให้ผ่านสถานการณ์แต่ละวัน รักษาตัวให้ดี ระวังอย่าให้ติดเชื้อ COVID-19

-ติดตามข่าวสารเท่าที่จำเป็น เลือกรับข่าวสารจากแหล่งข่าวที่เชื่อถือได้ เช่น ประกาศของรัฐบาลและกระทรวงสาธารณสุข เป็นต้น ลดการเสพโซเชียลมีเดีย ระมัดระวังข่าวปลอม

-ปฏิบัติตามคำแนะนำจากกระทรวงสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด ทั้งการเว้นระยะห่างทางสังคม กินร้อนช้อนกลาง ล้างมือ สวมหน้ากากอนามัย หลีกเลี่ยงการสัมผัส

-ตรวจสอบอาการทางร่างกาย จิตใจ และอารมณ์ของตัวเองสม่ำเสมอ เฝ้าระวังอาการซึมเศร้า การนอนที่ผิดปกติ การดื่มแอลกอฮอล์มากขึ้น หากมีอาการเหล่านี้จนถึงขั้นกระทบศักยภาพ หน้าที่การงาน หรือความสัมพันธ์ ควรพบแพทย์โดยเร็ว

-ใช้ชีวิตอย่างปกติและมีคุณค่า แม้อยู่ในสถานการณ์ที่ไม่ปกติ เราก็จำเป็นต้องดำเนินชีวิตให้เป็นปกติ แม้จะต้องหยุดงานกักตัวอยู่บ้าน 14 วัน ก็สามารถจัดการกิจวัตรแต่ละวันให้มีสุขภาพดีได้ อย่ามัวแต่จดจ่ออยู่กับข่าวจนป่วยทั้งใจและกาย

เทคนิคใช้ชีวิตให้ปกติ (Healthy Routine)

-กินให้เป็นปกติ ทำอาหารง่าย ๆ เช่น หุงข้าว ทอดไข่ เป็นต้น แม้ไม่หิวถึงเวลาก็ต้องกิน สั่งดิลิเวอรีบ้างได้ พยายามรับประทานอาหารที่หลากหลายและมีประโยชน์

-นอนให้ปกติ การนอนหลับให้เพียงพอเป็นภูมิคุ้มกันชั้นดี ป้องกันไวรัสและป้องกันภาวะซึมเศร้าได้ ปิดโทรศัพท์และปิดเสียงเตือนก่อนเข้านอน พยายามผ่อนคลาย สังเกตลมหายใจเข้าและออกก่อนนอน

-เชื่อมต่อกับผู้คน แม้จะเจอเพื่อนฝูงผู้คนเหมือนเมื่อก่อนไม่ได้ แต่ยังสามารถเชื่อมต่อ พูดคุยปรึกษาหารือกันได้ โดยใช้เทคโนโลยีเชื่อมต่อถึงกัน หรือจะโทรฯ หากัน การแยกตัวโดดเดี่ยวอาจทำให้เกิดความเครียดมากขึ้น

-หากิจกรรมทำอย่าให้ว่าง แม้จะ Work From Home ก็ควรทำตัวเหมือนปกติ ตื่นเช้า อาบน้ำ แต่งตัว ออกกำลังกายตามยูทูบแทนการไปฟิตเนส ทำงานบ้าน ทำอาหาร รดน้ำต้นไม้ การเคลื่อนไหวเป็นยาดี ป้องกันภาวะซึมเศร้า เช่น เดินขึ้นลงบันได กระโดดตบ ทำท่ากายบริหาร เป็นต้น

-ทำสิ่งที่สนใจและงานอดิเรกที่ชอบ เรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ ออกกำลังกายสมอง ใช้ความคิดสร้างสรรค์และจินตนาการ ทำกิจกรรมในเงื่อนไขสถานการณ์ที่จำกัด เช่น ลองวาดรูปภาพด้วยอุปกรณ์เท่าที่มี อบขนมหรือทำอาหารง่าย ๆ ฟังเพลงหรือลองแต่งเพลง เล่นดนตรี ต่อจิ๊กซอว์ ทำงานประดิษฐ์ ฝึกโยคะ หัดเรียนภาษาอื่น ๆ เป็นต้น

-ฝึกปรับทัศนคติ "อย่าตระหนก อย่ากังวล" เพราะความรู้สึกแย่เหล่านี้เกิดขึ้นโดยอัตโนมัติ ยิ่งพยายามไม่คิด ความคิดจะเกิดขึ้นเอง วกวนอยู่แต่กับความรู้สึกลบ ๆ ตามหลักการ Cognitive Behavioral Therapy (CBT) วิธีจัดการ คือ "ทุกครั้งที่มีความรู้สึกแย่ ๆ เกิดขึ้นต้องรู้สึกตัว" ให้รู้ว่าวันนี้รู้สึกไม่ดี จิตใจหดหู่กังวล หรือรู้สึกโกรธไม่พอใจ ลองใช้เวลาสักวันละ 5 นาที สำรวจ ทบทวนความคิด ความรู้สึก หรือการตอบสนองทางร่างกาย หรือถ้าไม่แน่ใจลองถามคนรอบข้างและคนใกล้ชิดได้ "เมื่อรับรู้ถึงความรู้สึกลบ ไม่ต้องพยายามปรับให้เป็นบวก" อยู่บนพื้นฐานความจริง อยู่แบบกลาง ๆ เมื่อรู้สึกแล้วก็แค่รับรู้ว่ามันเป็นความรู้สึก ไม่ต้องไปหงุดหงิดซ้ำซ้อน "ยอมรับว่าความผิดพลาด" ความล้มเหลวเป็นสิ่งที่อาจจะหลีกเลี่ยงไม่ได้ เราต้องยอมรับว่า แม้เราพยายามอย่างเต็มที่ก็ยังอาจเกิดข้อผิดพลาด สิ่งที่เกิดขึ้นเหล่านี้ไม่ใช่ความผิดของใครคนใดคนหนึ่ง ไม่ใช่เวลาที่จะมาตำหนิตัวเอง หรือสำรวจว่าใครบกพร่อง ณ เวลานี้ทุกคนต้องการกำลังใจ แม้ผลลัพธ์จะออกมาอย่างไร เราจะไม่เสียดาย เพราะเราตระหนักว่าในสถานการณ์ที่ข้อจำกัดต่าง ๆ มีมากมาย เราได้พยายามอย่างดีที่สุดแล้ว

"Mindfulness ช้าลงช่วยให้เร็วขึ้น" เหตุการณ์นี้ยังคงจะดำเนินไปอีกสักระยะใหญ่ คล้ายการวิ่งมาราธอน ดังนั้นการที่เราพยายามเร่งสปีดเพื่อให้จบไว ๆ อยากเห็นผลเร็ว ๆ สุดท้ายอาจสะดุดล้มไปไม่ถึงเส้นชัย เมื่อรู้ว่าจะต้องรับมือกับความเครียดระยะยาว เราต้องผ่อนแรงวิ่งแค่พอเหยาะ ๆ ประคับประคองไปเรื่อย ๆ ใช้ชีวิตให้ช้าลงสักนิด "Sharing is Caring คงความสัมพันธ์ไว้ให้มั่น" แม้จะห่างกายตามนโยบาย Social Distancing แต่ไม่จำเป็นต้องห่างกัน สามารถโทรฯ คุยกัน หรือจะ VDO Call ให้เห็นหน้ากันบ้าง พยายามอย่าคุยกันเรื่อง Covid-19 การที่เราต่างคนต่างมีความทุกข์ วิตกกังวล และได้มีพื้นที่ที่สามารถระบายออกมาได้บ้าง และยังได้รับการตอบสนองในลักษณะที่ทำให้เรารับรู้ได้ว่าเขาก็ลำบากเหมือนกัน แม้จะไม่รู้จักกันเป็นการเยียวยา ช่วยให้มีความหวังและเกิดกำลังใจที่จะเดินหน้าร่วมสู้ไปด้วยกัน พลังของการพูด การหัวเราะ การให้กำลังใจเป็นยาสำคัญที่ทุกคนต้องการอย่างมากที่สุดในช่วงนี้

ในช่วงสถานการณ์เช่นนี้ หลายๆ คนย่อมมีความเครียดสะสมและกดดันอย่างมาก แต่การมีพื้นที่แลกเปลี่ยนความรู้สึกกันบ้าง แม้การแพร่ระบาดจะยังไม่จบลงในเร็ววันนี้ แต่การได้ระบายความเครียดที่มีลงไปบ้าง ก็เป็นการเยียวยาและเพิ่มกำลังใจที่ดีที่สุดที่ เราจะฝ่าฟันวิกฤติโควิด-19 ไปด้วยกันนะคะ......

11 January 2564

ที่มา เดลินิวส์

Posted By Thongpet/kanchana/Maneewan

Views, 2577

 

Preset Colors