02 149 5555 ถึง 60

 

“อารมณ์มั่นคง” สำคัญยิ่งในยุคดิจิทัล!

“อารมณ์มั่นคง” สำคัญยิ่งในยุคดิจิทัล!

“ยิ่งเร็วยิ่งดี” กลายเป็นค่านิยมของเด็กยุคดิจิทัลไปเสียแล้ว !

ท่ามกลางสภาพสังคมในปัจจุบันที่เน้นเรื่องความเร็ว หรือ Speed แทบทุกเรื่อง ประเภทยิ่งเร็วยิ่งดี ยิ่งเร็วยิ่งเก่ง ยิ่งเร็วยิ่งเจ๋ง กลายเป็นสิ่งที่เด็กรุ่นใหม่ต้องการไปซะแล้ว

วิถีชีวิตที่เสพติดความเร็วมาพร้อมกับเทคโนโลยี และสภาพสังคมที่เน้นความเร็วตั้งแต่ในระดับครอบครัว พ่อแม่มีทัศนคติอยากให้ลูกเดินได้เร็ว พูดได้เร็ว มีพัฒนาการทุกอย่างรุดหน้าเร็ว พอเข้าสู่โรงเรียน ก็อยากให้ลูกเรียนเร็ว โตเร็ว ทำงานเร็ว ฯลฯ จนกลายเป็นวงจรของความเร็วที่ทำให้เด็ก ๆ ซึมซับไปสู่วิถีปฏิบัติในชีวิต และนำไปสู่วิถี “ยิ่งเร็วยิ่งดี” คิดเร็ว ทำเร็ว อยากได้สิ่งต่าง ๆ เร็ว หาเงินได้เร็ว และอื่น ๆ ที่เน้นเรื่องความเร็ว

หารู้ไม่ว่าเพราะความเร็วนี่แหละที่ทำให้ทักษะชีวิตที่สำคัญหลายประการหล่นหายไป

โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องความมั่นคงทางอารมณ์ !

เด็กยุคนี้เติบโตมาในโลกแห่งเทคโนโลยี ผู้คนเน้นเรื่องความเร็วในทุกมิติของวิถีชีวิต เพราะผู้คนก็ถูกปลูกฝังให้สามารถเข้าถึงข้อมูลด้วยความรวดเร็วเพียงใช้ปลายนิ้วมือ ทุกอย่างรวดเร็วทันใจ อยากได้ต้องได้ อยากทำต้องได้ทำ อยากกินต้องได้กิน ฯลฯ ซึ่งเป็นความต้องการจากภายใน และเมื่อไม่ได้ดั่งใจ ก็จะหงุดหงิด ไม่พอใจ อารมณ์โกรธ ฉุนเฉียว จนกระทั่งนำไปสู่การสูญเสียความควบคุม

เด็กบางคนควบคุมอารมณ์ได้ก็ไม่มีปัญหา แต่เด็กบางคนเมื่อควบคุมอารมณ์ตัวเองไม่ได้ ก็อาจทำให้เกิดปัญหาตามมาได้มากมาย

แต่ที่ปฏิเสธไม่ได้ก็คือ เด็กยุคนี้จำนวนไม่น้อยมีความไม่มั่นคงทางอารมณ์มากขึ้นเรื่อย ๆ

พ่อแม่ผู้ปกครองต้องลองเหลียวกลับมามองว่าครอบครัวเป็นส่วนหนึ่งของปัญหานี้ด้วยหรือเปล่า ถ้าใช่ ก็ลองปรับวิถีชีวิตของตัวเองและสมาชิกในครอบครัว เพื่อสร้างภูมิต้านทานทางอารมณ์ให้กับลูก รวมไปถึงพยายามหาทางช่วยเหลือลูกเมื่อเขากลายเป็นเด็กไม่มั่นคงทางอารมณ์ด้วย

ประการแรก – พ่อแม่ต้องมีความมั่นคงในอารมณ์

เรื่องนี้สำคัญที่สุด ถือเป็นกระดุมเม็ดแรกที่ต้องกลัดให้ถูก คือต้องเริ่มจากพ่อแม่ที่ต้องสำรวจตัวเองว่า ชอบแสดงอารมณ์ที่ไม่เหมาะสมกับลูกหรือสมาชิกในครอบครัวหรือไม่ ต้องเข้าใจด้วยว่าลูกจะซึมซับพฤติกรรมและอารมณ์จากสิ่งที่เห็น ดังนั้น พ่อแม่ต้องมีความมั่นคงในอารมณ์ต่อสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลง ไม่ว่าจะโกรธหรือไม่พอใจต่อการกระทำของลูก ก็ต้องพยายามเตือนตัวเองตลอดเวลาให้ควบคุมอารมณ์ตัวเองให้ได้

ประการที่สอง – ทำชีวิตให้ช้าลง

พ่อแม่ต้องพยายามใช้ชีวิตในกิจวัตรประจำวันให้เหมาะสม มีการจัดการบริหารเวลาอย่างเหมาะสม มิใช่เร่งรีบไปซะทุกเรื่อง ถ้ารู้ว่าต้องเร่งรีบ ก็บริหารเวลาให้เผื่อมากขึ้น ไม่ใช่วางกิจกรรมแน่นตลอดเวลา ควรฝึกให้ลูกได้ใช้เวลากับสิ่งแวดล้อมรอบตัว มีเวลาในการทำกิจกรรมที่เหมาะสม ไม่เร่งรีบจนเกินไป

ประการที่สาม – ให้เวลาอยู่กับตัวเอง

เรื่องนี้ควรแบ่งเวลาและปฏิบัติกันทุกคนในครอบครัว ให้ทุกคนมีเวลาส่วนตัวของตัวเอง ได้อยู่คนเดียวนิ่ง ๆ เพื่อครุ่นคิด หรืออาจใช้เวลากับสิ่งที่สนใจ เช่น อ่านหนังสือ หรือกิจกรรมที่ช่วยเพิ่มสมาธิ มิใช่กิจกรรมที่เป็นตัวเร่งความเร็ว เช่นติดหน้าจอมือถือ

ประการที่สี่ – พ่อแม่ต้องเข้าใจพื้นฐานอารมณ์ของลูก

ถ้าพ่อแม่ใกล้ชิดลูกและเลี้ยงลูกเองส่วนใหญ่จะเข้าใจพื้นฐานอารมณ์ของลูกและเข้าใจลูก รู้ว่าลูกชอบอะไร พื้นฐานลักษณะนิสัยลูกเป็นอย่างไร และรู้วิธีที่จะช่วยให้ลูกจัดการอารมณ์ของตัวเองได้ด้วย

ประการที่ห้า – สัมพันธภาพที่ดี

ความรัก ความเอาใจใส่ เป็นการสร้างเกราะคุ้มภัยให้ลูก รวมไปถึงการสื่อสารด้วยช่วงเวลาคุณภาพจะทำให้ลูกได้มีการสร้างตัวตน ผ่านความรู้สึกนึกคิดของแต่ละคนในครอบครัว การสื่อสารผ่านภาษาทั้งทางภาษาพูด และภาษาท่าทาง น้ำเสียงที่เป็นมิตร จะเป็นการให้คุณค่าและสร้างตัวตนของลูก และทำให้ลูกมีความมั่นคงทางอารมณ์

ในยุคดิจิทัลที่เต็มไปด้วยค่านิยมยิ่งเร็วยิ่งดี ยิ่งมีความสำคัญในการสร้างให้เด็กมีอารมณ์ที่มั่นคง

11 March 2564

ที่มา ผู้จัดการ ออนไลน์

Posted By Thongpet/kanchana/Maneewan

Views, 953

 

Preset Colors