02 149 5555 ถึง 60

 

แพทย์ผู้เชียวชาญแนะวิธีสังเกตอาการหลังฉีดวัคซีนโควิด-19

แพทย์ผู้เชียวชาญแนะวิธีสังเกตอาการหลังฉีดวัคซีนโควิด-19

วัคซีนป้องกันโควิด-19 ความหวังซึ่งเป็นสุดยอดปรารถนาของผู้คนทั่วโลก เพื่อหลุดพ้นจากวงจรของโรคระบาดที่คร่าชีวิตผู้คน ทำลายเศรษฐกิจ และเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตให้กลายเป็นแบบนิวนอร์มอล

บรรดาประเทศในกลุ่มอาเซียน ประเทศไทยเป็นประเทศที่ 6 ที่เริ่มมีการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ในภูมิภาคอาเซียน

โดยเริ่มฉีดวันแรก เมื่อวันที่ 28 ก.พ. จนล่าสุดเมื่อวันที่ 14 มี.ค.2564 ประเทศไทยฉีดวัคซีนโควิด-19 ของบริษัทซิโนแวคไปแล้วจำนวน 46,598 คน จากจำนวนวัคซีนที่จัดเตรียมไว้ 92,600 โดส คิดเป็นร้อยละ 50.0 โดยกระจายลงพื้นที่เป้าหมายที่มีการแพร่ระบาดสูง และจังหวัดท่องเที่ยว รวม 13 จังหวัด

จนถึงวันนี้เป็นเวลากว่า 2 สัปดาห์แล้วหลายจังหวัด เช่น เชียงใหม่ ตาก ราชบุรี ชลบุรี ภูเก็ต สุราษฎร์ธานี สมุทรสงคราม ฉีดวัคซีนเข็มแรก ได้ครบตามเป้าหมายเรียบร้อยแล้ว ขณะที่ จ.สมุทรสาคร ซึ่งเป็นพื้นที่สูงสุดและเข้มงวด ฉีดไปแล้วกว่าร้อยละ 53.5 ขณะที่กรุงเทพมหานคร ฉีดไปแล้วร้อยละ 13.5

หลังการฉีดวัคซีนซิโนแวค มีรายงานอาการไม่พึงประสงค์ จากการรายงานการติดตามอาการผ่านไลน์หมอพร้อม โดยกรณีที่สร้างความตกใจให้กับประชาชนคือ กรณีแพทย์หญิง ที่ จ.สมุทรสาคร มีประวัติแพ้ยาเพนิซิลลินในวัยเด็ก เกิดอาการความดันตก แต่มีอาการท้องเสียร่วมด้วย ภายหลังได้รับการยืนยันว่า ไม่เกี่ยวข้องกับวัคซีนที่ฉีด สามารถรับเข็มที่สองได้ แต่ต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด ขณะที่มีรายงานอาการไม่พึงประสงค์ที่ไม่รุนแรงอื่นๆ เช่น ปวดเมื่อยตัว ปวดหัว คลื่นไส้ อาเจียน เป็นต้น จำนวน 4,229 คน คิดเป็นร้อยละ 9.0

ล่าสุดที่กระทรวงสาธารณสุขได้ประกาศชะลอการฉีดวัคซีนแอสตราเซเนกา เนื่องจากมีรายงานจากหลายประเทศในยุโรป ชะลอการฉีดเพราะพบผู้ป่วย เกิดลิ่มเลือดในหลอดเลือดดำ เสียชีวิต 1 คน เรื่องนี้ นพ.ทวี โชติพิทยสุนนท์ ผู้ทรงคุณวุฒิ คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ และแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดเชื้อกล่าวว่า “โรคลิ่มเลือดอุดตันมักเกิดขึ้นใน 1.ผู้สูงอายุ 50 ปีขึ้นไป เพราะยิ่งอายุมากเคลื่อนไหวร่างกายน้อย ทำให้เลือดไหลช้า 2.เชื้อชาติโดยคนยุโรปและแอฟริกันมีโอกาส เกิดมากกว่าเอเชีย 3-5 เท่า 3.โรคเบาหวาน ทำให้เส้นเลือดฝอยมีการเปลี่ยนแปลง และ 4.โรคหัวใจ ความดันโลหิต มะเร็ง โรคติดเชื้อต่างๆ และหญิงตั้งครรภ์มีโอกาส ได้ง่าย ส่วนเอเชียและไทยพบน้อยมาก”

แน่นอนสิ่งที่เกิดขึ้นย่อมนำมาซึ่งความสับสนของประชาชน ที่จะแยกแยะว่า อาการใดที่เรียกว่าอาการไม่พึงประสงค์ หรืออาการแพ้วัคซีน นั้น ศ.นพ.วิปร วิประกษิต ผู้เชี่ยวชาญด้านชีวเวชศาสตร์ ระดับโมเลกุล คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล อธิบายว่า “โดยปกติวัคซีน หรือยา หรือ สารเคมีใดๆที่เราใช้กับร่างกายทุกชนิด ถือว่าเป็นสิ่งแปลกปลอมที่ร่างกายของเราไม่รู้จัก ซึ่งแน่นอนว่าร่างกายจะต้องมีปฏิกิริยาหรือ รีแอ็กชัน เกิดขึ้น โดยแบ่งออกได้เป็น 2 กลุ่ม

กลุ่มที่หนึ่งเรียกว่า อาการไม่พึงประสงค์ เกิดขึ้นได้จากยา หรือวัคซีนทุกชนิด แบ่งได้เป็น 2 ประเภท คือ อาการที่เกิดขึ้นเฉพาะที่ เช่น ปวดบวมแดง เจ็บในตำแหน่งที่ฉีด สามารถใช้ผ้าชุบน้ำเย็นประคบช่วยบรรเทาอาการได้ และอาการแทรกซ้อนไม่พึงประสงค์ที่เกิดขึ้นทั่วร่างกาย ได้แก่ มีไข้ต่ำๆ เหนื่อย คลื่นไส้ อาเจียน อ่อนเพลีย ส่วนใหญ่อาการเหล่านี้จะดีขึ้นภายใน 1-2 วัน

กลุ่มที่สอง เรียกว่า อาการแพ้วัคซีน ซึ่งมีหลายระดับ หากแพ้รุนแรงเรียกว่า anaphylaxis ซึ่งมีจำนวนน้อยมาก อาจมี 1 ในล้าน ซึ่งเกิดได้หลายรูปแบบ เช่น ผื่นแดงบนผิวหนัง ที่สังเกตได้ง่ายคือ ลมพิษ เป็นผื่นนูน มีขอบเขตชัดเจน อาจคันหรือไม่ก็ได้ ส่วนอาการแพ้ที่รุนแรง อาจมีอาการหลอดลมตีบทำให้หายใจลำบาก ไข้ขึ้นสูง ปวดศีรษะรุนแรง ปากเบี้ยว กล้ามเนื้ออ่อนแรง เกล็ดเลือดต่ำ มีจุดเลือดออกตามร่างกาย ผื่นขึ้นทั้งตัว อาเจียนมากกว่า 5 ครั้ง ชัก หมดสติ ซึ่งต้องรีบพบแพทย์ทันที...

“ในวัคซีนนอกจากมีไวรัสทั้งตัวที่ทำให้ตายแล้ว หรือชิ้นส่วนของดีเอ็นเอ หรืออาร์เอ็นเอ ของไวรัส ที่ใช้ในการกระตุ้นภูมิต้านทานแล้ว ในวัคซีนยังมีองค์ประกอบอื่นๆอีกนับสิบชนิด เช่น สารแขวนลอย สารกันบูดเพราะวัคซีนต้องมีการขนส่ง ผลิตลอตหนึ่งอาจต้องใช้เวลาหลายเดือน มีการส่งจากประเทศหนึ่งไปอีกประเทศหนึ่ง หรือสารเคมีที่ผู้ผลิตวัคซีนนั้นใช้เพื่อทำให้เราสามารถกระตุ้นภูมิต้านทานได้ดียิ่งขึ้น ดังนั้นการแพ้วัคซีนนั้น อาจจะไม่ได้แพ้ตัวไวรัส หรือชิ้นส่วนไวรัส แต่เราอาจจะแพ้องค์ประกอบอื่นๆที่อยู่ภายในตัววัคซีนนั้นก็ได้ โดยคนส่วนใหญ่ที่ไม่มีประวัติเรื่องการแพ้ อาการไม่พึงประสงค์ มักจะเกิดขึ้นภายใน 30 นาทีแรกหลังรับวัคซีน ถ้ามีปฏิกิริยาที่ชัดๆ จะเห็นได้ภายใน 10 นาทีแรก ส่วนคนที่มีประวัติการแพ้มาก่อน อาจจะเกิดขึ้นหลัง 30 นาทีก็ได้ แต่คนที่มีอาการรุนแรง ก็มักจะมีการดูแลตัวเองอยู่แล้ว จะมียาแก้แพ้ยาฉีด และคนกลุ่มนี้พบไม่มากในประเทศไทย แต่สำหรับประชาชนโดยทั่วไปแล้ว โอกาสที่จะแพ้แบบรุนแรงจะมีน้อยมาก” ศ.นพ.วิปร ให้ข้อมูลเพิ่มเติม

“ทีมข่าวสาธารณสุข” ฝากย้ำเตือนประชาชนที่รับวัคซีนแล้ว จะต้องสังเกตอาการตนเอง และรายงานผ่านระบบไลน์หมอพร้อม หลังการฉีด 1 วัน 7 วัน และ 30 วัน การบันทึกนี้จะเป็นประโยชน์ทั้งต่อตัวเราเอง และจะเป็นข้อมูลระดับประเทศที่ใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ต่อไป

และที่สำคัญที่สุดคือ แม้จะฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 แล้ว แต่ต้องไม่ละเลย ด่านแรกในการสร้างเกราะส่วนตัว ด้วยการสวมหน้ากาก ล้างมือ เว้นระยะห่างเพื่อร่วมแรงร่วมใจสร้างสังคมไทยปลอดภัยจากโควิด-19 อย่างเต็มรูปแบบ.

17 March 2564

ที่มา ไทยรัฐ

Posted By Thongpet/kanchana/Maneewan

Views, 1543

 

Preset Colors