02 149 5555 ถึง 60

 

โควิด กับ การฆ่าตัวตาย : ญี่ปุ่นเคสพุ่ง ส่งสัญญาณอะไรบางอย่าง

โควิด กับ การฆ่าตัวตาย : ญี่ปุ่นเคสพุ่ง ส่งสัญญาณอะไรบางอย่าง

ปี 2020 เป็นครั้งแรกในรอบ 11 ปี ที่อัตราการฆ่าตัวตายในญี่ปุ่นพุ่งสูง โดยอัตราการฆ่าตัวตายของผู้ชายลดลง ขณะที่ผู้หญิงพุ่งสูงขึ้นเกือบ 15 เปอร์เซ็นต์

เฉพาะในเดือนตุลาคมเดือนเดียว พบว่าอัตราที่ผู้หญิงชาวญี่ปุ่นฆ่าตัวตาย พุ่งขึ้นถึงมากกว่า 70 เปอร์เซ็นต์ เปรียบเทียบกับในช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน

สาเหตุที่ทำให้อัตราการฆ่าตัวตายในญี่ปุ่นเพิ่มขึ้น มีนัยสำคัญที่เกี่ยวเนื่องกับการระบาดของโควิด-19 โดยเฉพาะการระบาดในระลอกที่ 2

อัตราการฆ่าตัวตายพุ่งเพราะโควิด-19

ในวิกฤติที่ผ่านๆ มาของญี่ปุ่น ไม่ว่าจะเป็นวิกฤติเศรษฐกิจในปี 2008 หรือภาวะวิกฤติฟองสบู่อสังหาริมทรัพย์ต้นทศวรรษ 1990 ส่วนใหญ่เป็นผู้ชายวัยกลางคนที่ได้รับผลกระทบ และเป็นผู้ชายที่ฆ่าตัวตายมากขึ้นในช่วงนั้น

แต่การระบาดของโควิด-19 ส่งผลต่อคนรุ่นใหม่ โดยเฉพาะผู้หญิงมากกว่า เนื่องจากการระบาดของโควิด-19 กระทบกับอุตสาหกรรมที่ส่วนใหญ่มีผู้หญิงทำงานอยู่ เช่น การท่องเที่ยว ธุรกิจค้าปลีก และธุรกิจอาหาร โดยปัจจุบันผู้หญิงญี่ปุ่นเลือกที่จะครองตัวเป็นโสดเพิ่มขึ้น และมีแนวโน้มที่จะทำอาชีพที่มีความมั่นคงน้อย เมื่อมีอะไรเกิดขึ้น พวกเธอจะเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบอย่างหนัก

ผลการศึกษาจากนักวิจัยของมหาวิทยาลัยฮ่องกงร่วมกับสถาบันผู้สูงอายุในโตเกียว พบว่า อัตราการฆ่าตัวตายในช่วงเดือนกรกฎาคมถึงตุลาคมเพิ่มขึ้นถึง 16 เปอร์เซ็นต์จากช่วงเดียวกันของปีก่อน สวนทางกับช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงมิถุนายน ที่อัตราการฆ่าตัวตายลดลง 14 เปอร์เซ็นต์ เนื่องจากรัฐบาลมีการเยียวยาเพื่อลดความเครียดของประชาชน เช่น การลดเวลาทำงานลง

ขณะที่ ผลการศึกษาจากกระทรวงสาธารณสุขญี่ปุ่นในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2016 - ตุลาคม 2020 ยังพบว่าอัตราการฆ่าตัวตายของเยาวชนก็เพิ่มขึ้นถึง 49 เปอร์เซ็นต์ ในการระบาดระลอก 2 เนื่องจากเป็นช่วงที่โรงเรียนต้องปิดตามมาตรการสกัดกั้นการระบาด ส่งผลต่อสุขภาพจิตของเด็กและเยาวชนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

แม้ญี่ปุ่นจะเคยมีอัตราการฆ่าตัวตายสูงที่สุดในบรรดาประเทศที่พัฒนาแล้ว แต่ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ญี่ปุ่นประสบความสำเร็จในการลดอัตราการฆ่าตัวตายลงถึงราว 1 ใน 3 แต่เมื่อต้องเผชิญกับการระบาดของโควิด-19 โดยเฉพาะในระลอก 2 ส่งผลให้อัตราการฆ่าตัวตายของผู้หญิงสูงขึ้นถึงเกือบ 15 เปอร์เซ็นต์ โดยเดือนตุลาคมปีที่แล้วมีผู้หญิงฆ่าตัวตายถึง 897 ราย ซึ่งถือว่ามากกว่าเดือนเดียวกันของปีก่อนหน้าถึง 70 เปอร์เซ็นต์

การฆ่าตัวตายของคนมีชื่อเสียง

แม้การศึกษาครั้งนี้จะพบว่าการระบาดของโควิด-19 เป็นปัจจัยหลักที่ส่งผลให้เกิดภาวะเครียดทางใจ จนนำไปสู่การคิดสั้น แต่อีกปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลให้อัตราการฆ่าตัวตายในกลุ่มผู้หญิงและเยาวชนสูงขึ้น ส่วนหนึ่งมาจากพฤติกรรมเลียนแบบด้วย เพราะหลังจากที่นักแสดงชื่อดัง ยูโกะ ทาเคยูชิ ฆ่าตัวตายที่บ้านพัก เมื่อ 27 กันยายนปีที่แล้ว ปรากฏว่ามีจำนวนคนฆ่าตัวตายเพิ่มขึ้นราว 10 วัน โดยจากข้อมูลพบว่า การฆ่าตัวตายของนักแสดงคนดังกล่าวนำไปสู่การฆ่าตัวตายของผู้หญิงอีก 207 ราย ในช่วง 10 วันต่อมา ที่น่าตกใจยิ่งกว่านั้นก็คือ กลุ่มผู้หญิงที่อายุใกล้เคียงกับทาเคยูชิ เป็นกลุ่มที่ฆ่าตัวตายมากที่สุด ซึ่งผู้เชี่ยวชาญระบุว่า มีความเชื่อมโยงกันระหว่างการฆ่าตัวตายของบุคคลมีชื่อเสียงและจำนวนผู้ฆ่าตัวตายที่เพิ่มมากขึ้นทันที ซึ่งปรากฏการณ์ลักษณะนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับญี่ปุ่น ทำให้การรายงานข่าวการฆ่าตัวตายของคนดังเป็นเรื่องที่ต้องระมัดระวังเป็นอย่างยิ่ง

ไม่ว่าปัจจัยหลักที่ทำให้อัตราการฆ่าตัวตายสูงขึ้นจะเกิดจากอะไร แต่ผลการศึกษาที่ออกมาในครั้งนี้น่าจะเป็นการส่งสัญญาณเตือนไปยังอีกหลายประเทศทั่วโลก ที่ต้องคำนึงถึงผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 อีกมุมหนึ่ง โดยเฉพาะประเทศที่เผชิญสถานการณ์การระบาดหนักหนาสาหัสกว่าญี่ปุ่น ที่จะต้องดูแลประคับประคองทั้งตัวเลขเศรษฐกิจในประเทศ สุขภาพร่างกายของพลเมือง และยังต้องรวมไปถึงสุขภาพใจของประชาชนไปพร้อมๆ กัน เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่า โควิดจะยังคงอยู่ในโลกนี้ไปอย่างน้อยอีกเป็นปี.

24 March 2564

ที่มา ไทยรัฐ

Posted By Thongpet/kanchana/Maneewan

Views, 1935

 

Preset Colors