02 149 5555 ถึง 60

 

10 คำถาม "กัญชง-กัญชา" เรื่องน่ารู้จาก "อภัยภูเบศร"

10 คำถาม "กัญชง-กัญชา" เรื่องน่ารู้จาก "อภัยภูเบศร"

เรื่องราวของ “กัญชง-กัญชา” ยังเป็นที่สนใจในสังคมไทย เกี่ยวกับประโยชน์-โทษ และโอกาสที่จะเป็นพืชเศรษฐกิจตัวใหม่ได้จริงหรือไม่

เรื่องราวของ “กัญชง-กัญชา” ยังเป็นที่สนใจในสังคมไทย เกี่ยวกับประโยชน์-โทษ และโอกาสที่จะเป็นพืชเศรษฐกิจตัวใหม่ได้จริงหรือไม่ ทีมข่าว “1/4 Special Report” จึงตั้งคำถาม 10 ข้อ เพื่อขอข้อมูลจาก ดร.ภญ.ผกากรอง ขวัญข้าว และ ภญ.อาสาฬา เชาวน์เจริญ เภสัชกรชำนาญการ โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร จ.ปราจีนบุรี ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีความเชี่ยวชาญทางการแพทย์แผนไทยและสมุนไพรระดับแถวหน้าของประเทศ และมีการนำร่องเรื่อง “กัญชา” ไปก่อนใคร

1. “อภัยภูเบศร” นำกัญชง-กัญชามาศึกษาวิจัยเป็นยา-อาหาร-เครื่องดื่ม ตั้งแต่เมื่อไหร่?

โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศรเป็นหน่วยงานที่ส่งเสริมการใช้สมุนไพรและองค์ความรู้การแพทย์แผนไทยและได้นำร่องการนำกัญชามาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ รวมถึงการพัฒนาต่อยอดการใช้ประโยชน์จากส่วนที่ปลดล็อก ทางโรงพยาบาลเห็นโอกาสในการสร้างมูลค่าเพิ่มในรูปแบบของอาหาร ซึ่งคนไทยมีการใช้กัญชาเป็นเครื่องชูรสในอาหารมาก่อนแล้ว ทำให้กินข้าวได้อร่อยขึ้น ทางอภัยภูเบศรเดย์สปาซึ่งเป็นศูนย์ฝึกอบรมภูมิปัญญาสมุนไพร ได้เริ่มต้นพัฒนาเมนูอาหารจากกัญชาบนพื้นฐานความปลอดภัยตามหลักฐานเชิงประจักษ์ ตั้งแต่วันที่ 6 ม.ค. 64

หลังจากประกาศกระทรวงสาธารณสุข ระบุชื่อยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 พ.ศ. 2563 โดยสาระสำคัญจะมีการยกเว้นพืชกัญชา-

กัญชง ไม่จัดเป็นยาเสพติดให้โทษประเภท 5 โดยมีเงื่อนไข คือ 1. เฉพาะที่ได้รับอนุญาตให้ผลิตในประเทศ ทุกกระบวนการต้องผ่านการขออนุญาตจาก อย.

2.วัตถุดิบมาจากต้นที่ได้รับอนุญาตให้ปลูกอย่างถูกกฎหมาย (พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษฉบับ 7 อนุญาตให้ภาครัฐที่มีภารกิจอาจร่วมกับวิสาหกิจชุมชนได้) 3. ส่วนที่ไม่ถูกจัดเป็นยาเสพติด ประกอบด้วยเปลือก ลำต้น เส้นใย กิ่งก้าน และราก ของกัญชา-กัญชง ใบซึ่งไม่มียอดหรือช่อดอกติดมาด้วย สารสกัดจากกัญชา-กัญชงที่มี CBD เป็นส่วนประกอบและมีสาร THC  ไม่เกิน 0.2% โดยน้ำหนัก รวมทั้งเมล็ดกัญชง น้ำมันจากเมล็ดกัญชง หรือสารสกัดจากเมล็ดกัญชง

2. มีสรรพคุณรักษาอาการ หรือรักษาโรคอะไรบ้าง

การใช้กัญชาทางการแพทย์เป็นการใช้เสริมการรักษามาตรฐาน ไม่ได้นำมาใช้ทดแทนการรักษาแผนปัจจุบัน เช่น นำมาใช้เพิ่มคุณภาพชีวิตในผู้ป่วยมะเร็ง โดยมีฤทธิ์ลดปวด ช่วยนอนหลับ ช่วยเจริญอาหาร แต่ไม่มีผลในการรักษาโรคมะเร็ง ยากัญชาที่ให้สาร CBD เด่น ๆ อาจช่วยลดความถี่ในการชักในผู้ป่วยโรคลมชักที่ใช้ยาแผนปัจจุบันแล้วยังคุมอาการชักไม่ได้ หรือกัญชาสูตรแผนไทย นำมาใช้ช่วยนอนหลับ ช่วยเจริญอาหาร ยากัญชาไม่ได้รักษาโรคได้ครอบจักรวาล เพราะในความเป็นจริงไม่มียาใดที่จะทำได้แบบนั้น การใช้กัญชาเป็นอาหาร หวังผลได้ในเรื่องช่วยเจริญอาหาร ช่วยผ่อนคลาย ช่วยนอนหลับ แต่ไม่มีผลรักษาโรค

3. พันธุ์กัญชาที่ใช้-ส่วนใดบ้าง-แหล่งปลูก

ส่วนที่นำมาใช้เป็นยา มีการใช้ใบจากกัญชาสายพันธุ์ไทยในตำรับยาแผนไทย และสกัดยาจากดอกจากสายพันธุ์ไทยหรือต่างประเทศ ในยาน้ำมันกัญชาแผนปัจจุบัน ส่วนที่นำมาใช้ประกอบอาหารคือส่วนใบ ใช้กัญชาสายพันธุ์ไทย สำหรับแหล่งปลูก คือ โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ร่วมกับมูลนิธิโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร

4. ปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์อะไรบ้าง ทั้งที่เป็นยา-อาหาร-เครื่องดื่ม

ปัจจุบันมียากัญชาสูตรที่จ่ายโดยแพทย์แผนปัจจุบัน 2 สูตร คือ  สูตร 1.7% THC จ่ายให้ผู้ป่วยที่มีข้อบ่งใช้ ภาวะคลื่นไส้ และอาเจียน จากยาเคมีบําบัดที่รักษาด้วยวิธีมาตรฐานไม่ได้ผล บรรเทาปวด เบื่ออาหาร นอนไม่หลับ ในมะเร็งระยะสุดท้าย ที่ควบคุมอาการไม่ได้ด้วยยามาตรฐาน และภาวะปวดจากระบบประสาทที่รักษาด้วยวิธีอื่น ๆ แล้วไม่ได้ผล       

สูตร 2.7% THC : 2.5% CBD  จ่ายให้ผู้ป่วยที่มีข้อบ่งใช้  ภาวะคลื่นไส้ อาเจียน จากยาเคมีบําบัด ที่รักษาด้วยวิธีมาตรฐานไม่ได้ผล บรรเทาปวด เบื่ออาหาร นอนไม่หลับ ในมะเร็งระยะสุดท้าย ที่ควบคุมอาการไม่ได้ด้วยยามาตรฐาน ภาวะกล้ามเนื้อหดเกร็ง ในผู้ป่วยโรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง ภาวะปวดจากระบบประสาทที่รักษาด้วยวิธีอื่นแล้วไม่ได้ผล   

ปัจจุบันมียากัญชาสูตรที่จ่ายโดยแพทย์แผนปัจจุบัน 2 สูตร คือ  น้ำมันกัญชาทั้ง 5 ช่วยให้นอนหลับ เจริญอาหาร แก้ลมปะกัง (ไมเกรน) บรรเทาปวดเรื้อรัง แคปซูลศุขไสยาศน์ช่วยให้นอนหลับ เจริญอาหาร โดยผู้ป่วยควรโทรฯ ปรึกษาคัดกรองก่อนเดินทางมารับบริการ ไม่แนะนำให้เดินทางมาโดยไม่ได้นัด สามารถสอบถามได้ที่โทร. 0-3721-1289

ส่วนอาหารจากกัญชา ทางอภัยภูเบศรเดย์สปาจะเปิดให้บริการอีกครั้งในวันที่ 1 เม.ย.64 จะมีเมนูอาหารไทย เช่น ผัดกะเพราสุขใจ ต้มยำไก่ แกงเขียวหวาน น้ำกัญชาคั้นสด

5. กระแสการตอบรับจากอาหาร “กัญชา” 

อาหารจากกัญชาได้รับกระแสตอบรับที่ดี อาจเป็นเพราะมีการส่งต่อข้อมูลกันผ่านสื่อโซเชียล ส่วนเรื่องการรับยากัญชา กลุ่มผู้ป่วยส่วนใหญ่จะเป็นผู้ป่วยมะเร็ง ซึ่งมักเข้าใจผิดว่ากัญชารักษามะเร็งได้ จึงอยากให้ผู้ป่วยรักษาแผนปัจจุบันเป็นหลัก เว้นแต่แพทย์ลงความเห็นว่าเป็นผู้ป่วยระยะประคับประคอง อาจพิจารณาใช้ยากัญชาเพื่อเพิ่มคุณภาพชีวิตได้ เพราะผู้ป่วยระยะท้าย ๆ มักมีปัญหาเรื่องความปวด เบื่ออาหาร นอนไม่หลับ อย่างไรก็ตามหากมีความปวดรุนแรง อาจไม่สามารถบรรเทาได้ด้วยยากัญชา ควรให้แพทย์พิจารณาปรับยาแก้ปวดให้

6.เสียงท้วงติง หรือข้อคิดเห็นอะไรบ้างนอกเหนือจากที่อภัยภูเบศรกำลังทำอยู่

ส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องของความรู้ ความเข้าใจในการใช้ยากัญชาและไม่ทราบว่าจะไปขอรับยากัญชาจากสถานพยาบาลใด ความเข้าใจเรื่องใบกัญชาที่บางคนอาจคิดว่าไม่มีประโยชน์ แต่จากที่เก็บข้อมูลคนไทยใช้จริงและมีหลักฐานสนับสนุนว่าน่าจะมีประโยชน์ มีสารกลูตามิกที่ทำให้การรับรสอร่อยขึ้น

7. ผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ที่จะทำในอนาคตจากกัญชา-กัญชง

ทางโรงพยาบาลมีแผนดำเนินการพัฒนายากัญชาในรูปแบบที่หลากหลายขึ้นและเก็บข้อมูลทำวิจัยต่อยอดสาร THC ประมาณเดือน มิ.ย. 64 โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศรจะมียากัญชารูปแบบทาภายนอก จ่ายให้กับกลุ่มผู้ป่วยโรคสะเก็ดเงิน หรือกลุ่มผู้ป่วยที่มีอาการปวดเรื้อรัง รวมถึงพัฒนาเมนูอาหารจากกัญชาให้หลากหลายขึ้น และในอนาคตโรงพยาบาลอาจพัฒนาผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางด้วยน้ำมันจากเมล็ดกัญชง

8. มองภาพรวมในเชิงธุรกิจ/สุขภาพ/สิ่งเสพติด

กัญชา-กัญชง มีศักยภาพในการต่อยอดเป็นพืชเศรษฐกิจในอนาคต แต่ต้องมีความรู้ความเข้าใจในการใช้ หรือทราบรายละเอียดในตัวบทกฎหมายต่าง ๆ ซึ่งอาจมีการเปลี่ยนแปลงในอนาคต แต่ในระดับอุตสาหกรรมอาจพิจารณาเลือกใช้กัญชงดีกว่า เพราะมีเงื่อนไขหรือข้อจำกัดน้อยกว่ากัญชา

9. คิดว่าความนิยมเกี่ยวกับกัญชา-กัญชง จะไปได้นานแค่ไหน

มุมมองส่วนตัวมองว่ากัญชาเหมือนสมุนไพรตัวหนึ่ง ในช่วงแรกที่ประชาชนเริ่มสามารถเข้าถึงกัญชาได้ ไม่ว่าจะในรูปแบบยา หรืออาหาร ก็จะให้ความนิยมสนใจ แต่ในอนาคตกระแสความนิยมน่าจะลดลงไม่หวือหวา การใช้เป็นยาจะเป็นไปอย่างสมเหตุสมผล เพราะประชาชนที่เคยใช้ยากัญชาใต้ดินในบางโรค จะพบว่ามันไม่ได้ช่วยรักษาได้ครอบจักรวาล

10. คำแนะนำ หรือข้อเสนอแนะประชาชนทั่วไปและภาครัฐ

ผู้ป่วยที่สนใจรับยากัญชา ปัจจุบันมีการกระจายยาไปหลายรพ.ทั่วประเทศ โดยเฉพาะรพ.จังหวัด สามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดได้ที่ รพ.ใกล้เคียง ถึงวันเวลาที่เปิดคลินิกกัญชา เอกสารที่ต้องเตรียม และเงื่อนไขการรับยาเป็นไปตามดุลพินิจแพทย์ผู้สั่งจ่ายยากัญชา สำหรับประชาชนที่สนใจปลูกกัญชาหรือกัญชง ควรศึกษารายละเอียดก่อนได้ที่เว็บไซต์ของ อย. https://cannabis.fda.moph.go.th

1. การปลูกกัญชา เกษตรกรต้องรวมกลุ่มกันเป็นวิสาหกิจชุมชน ต้องมีความร่วมมือกับภาครัฐ กระบวนการแปรรูปของกัญชาจะกลาย ไปเป็นยา ซึ่งยังมีความต้องการไม่สูงมาก ส่วนใบ ราก ลำต้น เกษตรกรสามารถนำมาใช้เพื่อประโยชน์ของตนได้ ทั้งนี้ขึ้นกับข้อตกลงของ

ภาครัฐ

2. การปลูกกัญชง คนทั่วไป นิติบุคคล ภาครัฐ สามารถปลูกได้ แต่เพื่อป้องกันความเสียหายในอนาคต ควรหาผู้รับซื้อให้ชัดเจนแต่แรก กัญชงสามารถแปลงไปเป็นผลิตภัณฑ์ได้หลากหลาย แต่ต้องติดตามแนวทางการขึ้นทะเบียนผลิตภัณฑ์จาก อย.อย่างใกล้ชิด (ข้อมูล ณ ตอนนี้อนุญาตให้นำน้ำมันจากเมล็ดกัญชง และสารสกัดจากเมล็ดกัญชงไปใส่ในเครื่องสำอางได้)

ส่วนการลงทุนปลูกกัญชา-กัญชง  ต้องคำนึงถึงความคุ้มค่าในการลงทุนอย่างละเอียด ตั้งแต่สายพันธุ์ (ถ้าจะปลูกกัญชงเลือกสายพันธุ์ที่ THC ต่ำเข้าไว้ แสงแดดในประเทศไทยอาจทำให้ THC สูงขึ้นได้) สถานที่ปลูก  ถ้าจะปลูกเอาดอกเพศเมีย ต้องระวังเกสรตัวผู้ อาจปลิวมาผสมกับเกสรตัวเมียภายในระยะทางตั้งแต่ 16-50 กิโลเมตร แต่ทาง อย.จะมีข้อมูลพื้นที่ใกล้เคียงมีใครปลูกกัญชา กัญชงบ้าง ก่อนตัดสินใจดูให้ดี สภาวะการปลูก (กลางแจ้ง หรือโรงเรือน) และความต้องการของลูกค้าที่จะซื้อ (ดอกแห้ง ใบสด เมล็ดกัญชง ราก)

ทั้งนี้ประเทศไทยยังมีสมุนไพรที่มีศักยภาพดีอีกมาก ดังนั้นจึงควรเลือกลงทุนให้เข้ากับกลไกตลาดและศักยภาพของเรา...

26 March 2564

ที่มา เดลินิวส์

Posted By Thongpet/kanchana/Maneewan

Views, 6255

 

Preset Colors