02 149 5555 ถึง 60

 

ไวรัสมหาภัยสายพันธุ์อังกฤษ โควิดระลอก 3 ลามไทย

ไวรัสมหาภัยสายพันธุ์อังกฤษ โควิดระลอก 3 ลามไทย

ไวรัสสายพันธุ์อังกฤษนี้มีการแพร่ระบาดแทนที่เชื้อโควิด-19 ชนิดเดิมอย่างรวดเร็ว ซึ่งต่างจากอาการผู้ติดเชื้อโควิดแบบเดิมที่มีอาการ มีไข้ ไอ เจ็บคอ จมูกไม่ได้กลิ่น ลิ้นไม่รับรส

โควิด-19 ที่กลายพันธุ์ซึ่งเป็นไวรัสสายพันธุ์อังกฤษ B.1.1.7 พบครั้งแรกในประเทศอังกฤษ เมื่อเดือน ก.ย. 63 มีการแพร่ระบาดส่วนใหญ่ในอังกฤษ และต่อมามีการแพร่ระบาดในประเทศอเมริกา และประเทศอื่น ๆ ในยุโรป ปัจจุบันมีการแพร่ระบาดไปทั่วโลกกว่าร้อยประเทศ ซึ่งตำแหน่งที่กลายพันธุ์เป็นตำแหน่งพิเศษ อยู่บนผิวไวรัส ทำให้ไวรัสมีคุณสมบัติจับผิวเซลล์มนุษย์ได้ดีขึ้น ไวรัสสายพันธุ์อังกฤษนี้มีการแพร่ระบาดแทนที่เชื้อโควิด-19 ชนิดเดิมอย่างรวดเร็ว

นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยา คลินิกภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ให้ข้อมูลว่า ประเทศไทยพบเชื้อโควิดสายพันธุ์อังกฤษครั้งแรก เมื่อวันที่ 3 ม.ค. 64 ซึ่งเป็นครอบครัวชาวอังกฤษที่อยู่ในสถานที่กักกันตัวที่รัฐจัดให้ (Alternative State Quarantine) ที่โรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่งที่มีมาตรการควบคุมเป็นอย่างดีไม่ให้มีเชื้อแพร่กระจายออกมา

จากการแพร่ระบาดของโควิด เมื่อปลายเดือน มี.ค. 64 ในสถานบันเทิงที่กรุงเทพฯ หลายแห่งย่านซอยทองหล่อและย่านซอยเอกมัย ฯลฯ ผลการตรวจสอบในห้องปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์พบว่าเป็นการแพร่ระบาดโควิดสายพันธ์ุอังกฤษที่จะทำให้เกิดการระบาดได้รวดเร็วขึ้นมากกว่าโควิด-19 สายพันธุ์เดิม 1.7 เท่า โดยมีปริมาณไวรัสในผู้ป่วยมากถึงแม้จะไม่มีอาการ และยังพบว่าเป็นไวรัสสายพันธุ์อังกฤษเช่นเดียวกับการแพร่ระบาดที่กัมพูชาที่มีการแพร่ระบาดหนักตั้งแต่เดือน ก.พ. 64 เป็นต้นมา การแพร่ระบาดในครั้งนี้เป็นเพราะมีการเคลื่อนย้ายประชากรข้ามแดนระหว่างกัน อาการผู้ติดเชื้อโควิดสายพันธุ์อังกฤษจะมีอาการตาแดง น้ำมูกไหล ไม่มีไข้ บางรายมีผื่น ซึ่งต่างจากอาการผู้ติดเชื้อโควิดแบบเดิมที่มีอาการ มีไข้ ไอ เจ็บคอ จมูกไม่ได้กลิ่น ลิ้นไม่รับรส

สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิดระลอก 3 ในครั้งนี้ มีการลุกลามขยายตัวอย่างรวดเร็วทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด ผู้ที่ติดเชื้อกระจายไปทั่วทุกสาขาอาชีพในทุกวงการ ซึ่งผู้ที่ได้รับเชื้อมีทั้งทางตรงและทางอ้อมที่เกิดจากกลุ่มก้อนสถานบันเทิง ไม่ว่าจะเป็นนักการเมือง ข้าราชการ นักร้อง นักดนตรี นักแสดง พิธีกร นักกีฬา พ่อค้า นักธุรกิจ นักศึกษา ตลอดจนนักเที่ยวทั่วไป

วันที่ 9 เม.ย. 64 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) มีคำสั่งปิดสถานบันเทิง ผับ บาร์ คาราโอเกะ และอาบอบนวด 41 จังหวัด ซึ่งมีการพิจารณาจากจังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อเกี่ยวข้องกับสถานบันเทิง และจังหวัดที่มีความเสี่ยง เป็นเมืองทางผ่าน หรือ เมืองใหญ่ที่มีสถานบันเทิง โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 10 เม.ย. 64 ตั้งแต่ 00.01 น. เป็นต้นไป เป็นเวลา 14 วัน ส่วนที่เหลืออีก 36 จังหวัด ได้มอบอำนาจให้ผู้ว่าราชการจังหวัดในฐานะประธานคณะกรรมการโรคติดต่อของแต่ละจังหวัดเป็นผู้สั่งปิดได้หากพบพื้นที่เสี่ยง

สำหรับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิดในประเทศไทยเมื่อวันที่ 14 เม.ย.64 พบผู้ป่วยรายใหม่ 1,335 ราย ผู้ป่วยยืนยันสะสม 35,910 ราย หายป่วยแล้ว 28,322 ราย เสียชีวิตสะสม 97 ราย โดยประเทศไทย อยู่ในอันดับที่ 112 ของโลก ในขณะนี้มีการแพร่ระบาดไปทั่วประเทศอย่างก้าวกระโดดรวม 73 จังหวัด ยกเว้น 4 จังหวัด ได้แก่ ปัตตานี พังงา กระบี่ ระนอง ที่ยังไม่มีรายงานผู้ติดเชื้อ…..

เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อการรับรู้ถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิดในปัจจุบัน ให้สามารถดำเนินชีวิตได้อย่างเป็นปกติสุขด้วยความมีเหตุมีผล ไม่สับสน กับข้อมูลข่าวสารต่างๆ ที่ไม่มีคุณภาพและไม่สร้างสรรค์ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพจิตและไม่รู้ว่าจะมีแนวทางการดำเนินชีวิตอย่างไรให้ถูกต้องและเหมาะสม จึงขอนำข้อมูลและข่าวสารจากองค์กรภาครัฐมาให้ได้รับรู้กันดังนี้

กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข มีข้อแนะนำแนวทางในการดูแลจิตใจตน ประพฤติปฏิบัติตนด้วยหลัก 5 ร. ดังต่อไปนี้

1. รู้อารมณ์ หาวิธีผ่อนคลายความเครียดแบบที่ตนเองชอบ เช่น ดูหนัง ฟังเพลง ฝึกสมาธิ และอย่าใช้การดื่มสุรา สูบบุหรี่ เสพสารเสพติดเพื่อมาช่วยผ่อนคลายความเครียดที่เกิดขึ้น

2. รับสื่ออย่างมีสติไม่หมกมุ่นเกินไป ลดการดู การอ่าน หรือการฟังข่าวที่ทำให้ คุณรู้สึกวิตกกังวลเกินไป ฟังข่าวแค่วันละ 1-2 ครั้งเท่านั้นถ้ารู้สึกเครียดให้หยุดติดตามข่าวทันที และควรอ่านข้อมูลจากแหล่งที่เชื่อถือได้เท่านั้น

3. รักษาสุขภาพ ดูแลร่างกายให้แข็งแรง นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ ออกกำลังกาย

อย่างสม่ำเสมอ ดูแลและป้องกันตนเองอย่างเคร่งครัด

4. รีบปรึกษาถ้ากังวลใจโทรฯ สายด่วนสุขภาพจิต 1323 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง

5. ระมัดระวังไม่แสดงท่าทีรังเกียจ ไม่ตอกย้ำ ไม่ล้อเลียนคนที่เสี่ยงหรือ ป่วยโควิด-19 ว่าเป็น “ตัวเชื้อโรค” เพราะพวกเขาเป็นเพียง “คนที่ป่วยด้วย โควิด” เท่านั้น ซึ่งหลังจากหายป่วยจาก โควิด แล้วพวกเขาก็จะใช้ชีวิตได้ตามปกติ สามารถไปทำงาน และอยู่กับครอบครัวรวมถึงคนที่รักได้ สิ่งสำคัญคือ เราไม่ควรสร้างตราบาปให้คนที่ป่วยด้วยโรคนี้

หากมีความเครียดเกี่ยวกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด อยากรู้ว่าตนเองมีความเครียดในระดับใด ให้เข้าไปทำแบบประเมิน MENTAL HEALTH CHECK IN ที่เว็บไซต์ https://checkin.dmh.go.th เพื่อประเมิน SBSD คือ ความเครียด (Stress) ภาวะหมดไฟ (Burnout) เสี่ยงฆ่าตัวตาย (Suicide) ซึมเศร้า (Depression) ซึ่งเป็นเครื่องมือประเมินสุขภาพจิตเบื้องต้น และคัดกรองความเสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพจิตจากสถานการณ์ COVID-19 โดยจะทราบผลการประเมินทันทีและมีคำแนะนำในการปฏิบัติตัว พร้อมมีช่องทางการขอรับการปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญทางออนไลน์พัฒนาโดยศูนย์สุขภาพจิตที่ 1-13 กรมสุขภาพจิต

หากมีความกังวลใจว่าตนอาจจะได้รับเชื้อโควิดหรือไม่นั้น ให้เข้าไปทำแบบประเมินความเสี่ยงทางออนไลน์ได้ที่เว็บไซต์ BKK COVID-19 ซึ่งเป็นการประเมินตามเกณฑ์การเฝ้าระวังและสอบสวนผู้ป่วยโรคปอดอักเสบจากเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 1019 (Patient Under Investigation : PUI) เช่นเดียวกันกับที่แพทย์ใช้ในการสอบถามอาการเบื้องต้นเพื่อคัดกรองผู้ที่มีความเสี่ยงในการติดเชื้อโควิด-19 มีรายละเอียดการประเมินดังต่อไปนี้

1.ประเมินประวัติเสี่ยง ได้แก่ เดินทางมาจากพื้นที่ที่มีการระบาดอย่างต่อเนื่อง สัมผัสใกล้ชิดบุคคลที่มาจากพื้นที่ที่มีการระบาด สัมผัสใกล้ชิดผู้ป่วยที่เข้าข่ายหรือได้รับการยืนยันการติดเชื้อโควิด-19 หรือเดินทางไปในพื้นที่เสี่ยงภายในประเทศ

2.ประเมินอุณหภูมิหรือประวัติว่ามีไข้

3.ประเมินอาการทางเดินหายใจ ได้แก่ ไอ มีน้ำมูก เจ็บคอ และหายใจเหนื่อยหรือหายใจลำบาก

เมื่อทำแบบประเมินแล้วเสร็จ ระบบจะทำการประเมินและจัดกลุ่มว่าอยู่ในกลุ่มเสี่ยงระดับใด พร้อมให้ความรู้ในการปฏิบัติตนตามระดับความเสี่ยงนั้น ๆ โดยระบบจะจัดเจ้าหน้าที่เข้าไปให้คำความรู้และประเมินอาการทุกวัน เป็นเวลา 14 วัน สำหรับผู้ใกล้ชิดกลุ่มเสี่ยง จากนั้นระบบจะรวบรวมข้อมูล และบันทึกสถิติเป็น Open Data เพื่อให้ทุกคนได้ทราบถึงสถานการณ์ โดยสามารถดูรายละเอียดในแต่ละเขตว่ามีผู้ป่วยในเกณฑ์เสี่ยงจำนวนเท่าใด และมีผู้ป่วยที่เฝ้าระวังจำนวนเท่าใด เพื่อให้ผู้ที่ต้องทำงานเกี่ยวกับการออกนโยบายในการรับมือกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 สามารถออกนโยบายที่สอดคล้อง ถูกจุด และถูกพื้นที่ ซึ่งระบบ BKK COVID-19 นี้ จะสงวนสิทธิ์ในการติดตามและประเมินอาการผู้ป่วยเฉพาะผู้ที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพมหานครเท่านั้น

กรณีผู้ที่ได้รับการตรวจพบว่าติดเชื้อโควิดให้ติดต่อไปที่โครงการแพทย์ กระทวงสาธารณสุข โทรฯ สายด่วน 1668 และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ โทร.1330 เพื่อช่วยหาเตียงรองรับจากโรงพยาบาลสังกัดกรมการแพทย์ สังกัดกรุงเทพมหานคร โรงพยาบาลของมหาวิทยาลัย โรงพยาบาลสังกัดกองทัพ และโรงพยาบาลเอกชนต่างๆ ทั่วประเทศ

16 April 2564

ที่มา เดลินิวส์

Posted By Thongpet/kanchana/Maneewan

Views, 2570

 

Preset Colors