02 149 5555 ถึง 60

 

จะทำอย่างไร เมื่อความรุนแรงไม่ใช่เรื่องไกลตัว และบ้านไม่ใช่ Safe Zone ของทุกคน

จะทำอย่างไร เมื่อความรุนแรงไม่ใช่เรื่องไกลตัว และบ้านไม่ใช่ Safe Zone ของทุกคน

ในช่วงสงกรานต์ ซึ่งเป็นวันครอบครัวของไทย เรื่องความรุนแรงในครอบครัวเป็นกระแสให้พูดถึงมากขึ้นในโลกออนไลน์ จากกรณีของ มีล่า-จามิล่า พันธ์พินิจ นักร้อง อดีตสมาชิกในสังกัดกามิกาเซ่ ที่ออกมาเปิดเผยเรื่องราวเมื่อ 2 ปีที่แล้วว่าถูกน้องชายทำร้ายร่างกายจนได้รับบาดเจ็บสาหัส โดยที่คนในครอบครัวพยายามรักษาความเป็น “ครอบครัว” ไม่ให้เธอแจ้งความดำเนินคดีกับน้องชายที่ก่อเหตุ

เรื่องราวของเธอ ทั้งการโดนทำร้ายร่างกาย และการที่คนในครอบครัวไม่ปกป้องเธอที่เป็นเหยื่อ ทั้งยังโน้มเอียงไปปกป้องผู้ก่อเหตุ กลายเป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในสังคม และนำไปสู่การถกพูดคุยแลกเปลี่ยนเรื่อง “ความรุนแรงในครอบครัว” มากขึ้น

ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในครอบครัว ทำให้บ้านไม่ใช่พื้นที่ปลอดภัยในชีวิตของทุกคน ประเด็นความสัมพันธ์ในครอบครัวถือเป็นเรื่องละเอียดอ่อน ความไม่เข้าใจกัน ความกดดันจากความคาดหวัง การบังคับข่มเหง หลากหลายสาเหตุที่นำไปสู่ความรุนแรงในครอบครัว ซึ่งเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นทั่วโลก

“ดีไลฟ์-ประชาชาติธุรกิจ” อยากชวนทำความเข้าใจปัญหาความรุนแรงที่เกิดขึ้นในครอบครัว ผลกระทบ แนวทางการป้องกัน เพื่อยับยั้งความรุนแรงที่จะเกิดขึ้นในครอบครัว และในสังคมของเรา

ความรุนแรงในครอบครัว ปัญหาที่ทั่วโลกกำลังเผชิญอยู่

ความรุนแรงในครอบครัว (domestic violence) คือการทำร้ายร่างกาย จิตใจ บังคับข่มเหง จากบุคคลในครอบครัว อันเกิดมาจากหลายสาเหตุ ไม่ว่าจะเป็นสภาพแวดล้อม การติดการพนัน สุรา ยาเสพติด หรือความเครียดจากเศรษฐกิจ ทำให้ก่อความรุนแรง สร้างความเจ็บปวด ทุกข์ทรมานต่อร่างกายและจิตใจของผู้ที่ถูกกระทำ

ปัญหาความรุนแรงในประเทศไทยไม่ใช่ปัญหาที่เพิ่งเกิดขึ้น แต่เป็นปัญหาที่มีมานาน และคนในสังคมอาจจะเพิกเฉยต่อความรุนแรงเหล่านี้ โดยมองว่าเป็นเรื่องภายในครอบครัว

จากข้อมูลของศูนย์ปฏิบัติการสถานการณ์ความรุนแรงในครอบครัว เปิดเผยสถิติความรุนแรงที่เกิดขึ้นในครอบครัวตั้งแต่ปี 2559-2563 มีแนวโน้มสูงขึ้นคิดเป็น 1,400 ราย/ปี และความรุนแรงในครอบครัวส่วนใหญ่มักเกิดขึ้นกับเด็กและสตรี จากผลการสำรวจในช่วงเดือนตุลาคม 2562-เมษายน 2563 พบว่า 87% เป็นความรุนแรงทางร่างกาย 9% เป็นความรุนแรงทางเพศ และ 4% เป็นความรุนแรงทางจิตใจ

ในช่วงที่มีการระบาดของโควิด-19 ความรุนแรงในครอบครัวของประเทศไทยเพิ่มสูงขึ้นถึง 66% ซึ่งสาเหตุส่วนใหญ่มาจากเรื่องความเครียดทางเศรษฐกิจที่ส่งผลต่อรายได้ในครอบครัวและการใช้สารเสพติด ยังมีข้อมูลจากองค์การสหประชาชาติที่ระบุอีกว่า ประเทศไทยติด 1 ใน 10 ของประเทศที่มีสถิติความรุนแรงต่อเด็กและสตรีมาอย่างต่อเนื่อง

ขณะที่การใช้ความรุนแรงในประเทศไทยเพิ่มสูงขึ้นในช่วงที่มีการระบาดของโควิด-19 ในต่างประเทศเองก็เช่นเดียวกัน

Wan Fei ผู้ก่อตั้งองค์กรต่อต้านความรุนแรงในเมืองจิงโจว มณฑลหูเป่ย์ ประเทศจีน ได้ให้สัมภาษณ์กับนิตยสาร Sixth Tone ว่า นับตั้งแต่จีนล็อกดาวน์ประเทศ ความรุนแรงในครอบครัวเพิ่มขึ้นถึงสองเท่า และแฮชแท็ก #AntiDomesticViolenceDuringEpidemic ก็ได้รับความนิยมอย่างมากบน Sina Weibo แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียของจีน

จากรายงานของ The National Coalition Against Domestic Violence’s Vision (NCADV) พบว่า ในทุก 1 นาทีจะมีผู้หญิงสหรัฐอเมริกาถูกทำร้ายร่างกายจากคนในครอบครัว 20 คน และผู้หญิง 1 ใน 4 ผู้ชาย 1 ใน 9 เป็นเหยื่อที่ได้รับความรุนแรงทั้งร่างกายและจิตใจ และขั้นร้ายแรง

ที่สุของความรุนแรงในครอบครัว คือ มีการใช้อาวุธ ซึ่งคิดเป็น 19%

ในระหว่างการล็อกดาวน์ในสหราชอาณาจักรช่วงที่ผ่านมา The New York Times เผยว่า ผู้หญิง 1.6 ล้านคนต้องประสบปัญหาความรุนแรงในครอบครัวมากขึ้นกว่าปกติ เพราะเหยื่อไม่มีช่องว่างที่จะติดต่อเพื่อนหรือหน่วยงานภาครัฐในการขอความช่วยเหลือ เนื่องจากต้องอยู่กับผู้กระทำความรุนแรงตลอดเวลาในที่พักอาศัย

องค์การสหประชาชาติ (UN) ระบุว่า ในระหว่างการล็อกดาวน์มีเด็กและผู้หญิงจำนวนมากต้องอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ไม่ปลอดภัย มีความเสี่ยงที่จะประสบกับความรุนแรงจากคู่ของตนเองหรือคนใกล้ชิด โดย 1 ใน 3 ของผู้หญิงทั่วโลกต้องเผชิญกับความรุนแรงทางร่างกายและทางเพศจากคู่ของตนเอง และในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา 18% ของผู้หญิงต้องเผชิญกับความรุนแรงที่เป็นอันตรายถึงชีวิต จากสถิติในทุกวันจะมีผู้หญิงประมาณ 137 คน เสียชีวิตจากการทำร้ายร่างกายโดยคู่หรือคนในครอบครัว

องค์กรยูนิเซฟ (UNICEF) ได้ออกแถลงการณ์เมื่อ 24 มีนาคม 2020 ว่า ในช่วงการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 มีเด็กทั่วโลกหลายร้อยล้านคนกำลังเผชิญความเสี่ยงจากการถูกละเมิด ความรุนแรง การถูกแสวงหาประโยชน์ การถูกกีดกันจากสังคม รวมถึงการถูกแยกจากผู้ปกครอง ซึ่งส่งผลต่อความปลอดภัยของเด็ก ๆ

เหตุผลที่ผู้ถูกกระทำยอมอดทน

ความรุนแรงในครอบครัวของประเทศไทยที่เพิ่มขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นเพราะคนไทยส่วนใหญ่ไม่นิยมแจ้งความเมื่อพบหรือประสบกับความรุนแรงในครอบครัว โดยมีเพียง 17% เท่านั้นที่กล้าออกมาเปิดเผยเรื่องราวและร้องขอความช่วยเหลือ ซึ่งเรื่องนี้ มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล ได้เปิดเผยเหตุผลส่วนใหญ่ที่ผู้หญิงในฐานะที่เป็นผู้ถูกกระทำต้องทนต่อความรุนแรงที่เกิดขึ้นในครอบครัว 5 ข้อด้วยกัน

1.ความรักความผูกพัน หลังก่อความรุนแรงฝ่ายชายมักจะขอโอกาสเพื่อกลับตัวและจะไม่ใช้ความรุนแรงอีก ด้วยความรักความผูกพันที่มีให้จึงยอมที่จะทน หวังว่าฝ่ายชายจะปรับปรุงตัว

2.อดทนเพื่อลูก ฝ่ายหญิงมักจะคิดว่าถ้าลูกไม่มีพ่อ ลูกจะมีปมด้อย ขาดความอบอุ่น ส่งผลต่อการดำเนินชีวิตของลูกในอนาคต

3.พยายามรักษาความเป็นครอบครัว ด้วยสภาพสังคมที่ปลูกฝังความเป็นครอบครัวที่สมบูรณ์แบบ ซึ่งต้องประกอบไปด้วย พ่อ แม่ ลูก ทำให้ผู้หญิงต้องยอมอดทนต่อความรุนแรง

4.คิดว่าความรุนแรงเป็นเรื่องส่วนตัว ค่านิยมที่ว่า ไฟในอย่านำออก ไฟนอกอย่านำเข้า เป็นอีกหนึ่งเหตุผลที่ทำให้ผู้หญิงอดทนต่อความรุนแรงที่เกิดขึ้น

5.ปัญหาเศรษฐกิจ ผู้หญิงหลายคนเมื่อแต่งงานมีลูกแล้ว ลาออกจากงานเพื่อมาดูแลลูก เมื่อเกิดความรุนแรงขึ้นในครอบครัว หากจะเลิกรากับสามีก็กลัวจะไม่มีงานทำ ไม่มีเงินเลี้ยงดูตัวเองและลูก จึงต้องทนต่อความรุนแรง

แม้ว่าปัจจุบันสภาพสังคมจะเอื้อให้ผู้หญิงสามารถประกอบอาชีพเลี้ยงดูตัวเองและครอบครัวได้ แต่ปัญหาความรุนแรงในครอบครัวที่เกิดขึ้นยังมีปัจจัยในเรื่องความสัมพันธ์ และอีกหลายปัจจัยเข้ามาเกี่ยวข้อง ผู้หญิงในฐานะที่เป็นทั้งแม่และเมียจึงอาจจะถูกคาดหวังจากสังคมให้เป็นผู้แก้ปัญหาความรุนแรงในครอบครัว

บาดแผลทางจิตใจที่สร้างความเจ็บปวดจนยากจะลืม

ข่าวความรุนแรงในครอบครัวพบเห็นได้บ่อยมากขึ้นตามหน้าหนังสือพิมพ์หรือรายการข่าว ความรุนแรงที่เกิดขึ้นล้วนสร้างผลกระทบต่อผู้ถูกกระทำทั้งร่างกายและจิตใจ รวมถึงผลกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างสมาชิกในครอบครัว ไม่มีความไว้วางใจซึ่งกันและกัน ขาดการดูแลเอาใจใส่กัน และในท้ายที่สุดอาจจะต้องแยกทางกัน

บาดแผลทางร่างกายที่เกิดจากความรุนแรงในครอบครัวยังสามารถรักษาหายได้ แต่บาดแผลในจิตใจที่ฝังลึกจะต้องใช้เวลาหลายเดือนหรือหลายปีในการรักษา หลายคนที่ผ่านเหตุการณ์ความรุนแรงในครอบครัวอาจเกิดภาวะป่วยทางจิตจากเหตุรุนแรง หรือที่เรียกกันว่า โรค PTSD (Post-Traumatic Stress Disorder) เป็นสภาวะจิตใจของผู้ป่วยที่ได้รับการกระทบกระเทือนจากการถูกทำร้ายร่างกาย การถูกข่มขืน ภาวะนี้เกิดขึ้นได้ทั้งผู้ที่ประสบกับเหตุการณ์โดยตรงและผู้ที่ได้รับผลกระทบทางอ้อม

สำหรับอาการในระยะแรกของโรค PTSD ผู้ป่วยจะเห็นภาพเหตุการณ์นั้นซ้ำ ๆ จนทำให้เกิดภาพหลอน ฝันร้าย เกิดความตื่นกลัว ไม่มีความสุขในการใช้ชีวิต ส่งผลต่อสภาวะทางจิตใจของผู้ป่วยจนนำไปสู่โรคภาวะทางจิตอื่น ๆ เช่น โรคซึมเศร้า โรคกลัว โรควิตกกังวล รวมไปถึงมีพฤติกรรมที่เป็นอันตราย การทำร้ายตนเอง หรือหันไปใช้สารเสพติด

เหยื่อความรุนแรงจะหันไปทางไหน ใครช่วยได้บ้าง

ปัญหาเรื่องความรุนแรงในครอบครัว เป็นเรื่องที่หลายองค์กรทั้งในประเทศและต่างประเทศต่างตระหนักถึง และร่วมกันหาแนวทางในการแก้ปัญหา

ในเบื้องต้นหากเกิดการกระทบกระทั่งกันกับบุคคลในครอบครัว ควรพูดคุยกันด้วยเหตุผล ไม่ใช้อารมณ์นำ หลีกเลี่ยงการพูดจาด้วยถ้อยคำที่หยาบคาย ทำกิจกรรมร่วมกันภายในบ้านหรือนอกบ้านระหว่างสมาชิกในครอบครัว เป็นวิธีที่จะช่วยเพิ่มความสามัคคีและลดปัญหาความรุนแรงได้

ความรุนแรงในครอบครัวเมื่อเกิดขึ้นแล้วควรทำอย่างไร ปัญหานี้ไม่ใช่เรื่องของครอบครัวใดครอบครัวหนึ่ง แต่เป็นปัญหาที่ทุกคนในสังคมจะต้องช่วยกันยับยั้งไม่ให้เกิดขึ้น สำหรับผู้ถูกกระทำพยายามหาคนที่สามารถช่วยเหลือได้ในยามฉุกเฉิน หรือติดต่อหน่วยงานใกล้บ้านที่พร้อมช่วยเหลือ ทั้งสถานีตำรวจ โรงพยาบาล

หากพบเห็นความรุนแรงในครอบครัวสามารถติดต่อหน่วยงานรัฐหรือมูลนิธิต่าง ๆ เพื่อให้หน่วยงานเหล่านี้เข้าไปช่วยเหลือ เช่น สายด่วน 191 หรือสายด่วน 1300 ซึ่งเป็นศูนย์ช่วยเหลือสังคม One Stop Crisis Center (OSCC) ของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.)

องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้เขียนรายงานเกี่ยวกับการแก้ปัญหาความรุนแรงในผู้หญิงช่วงการระบาดของโควิด-19 ว่า รัฐและผู้กำหนดนโยบายจำเป็นจะต้องเตรียมพร้อมรับมือกับความรุนแรงในครอบครัวที่จะเกิดขึ้น มีหน่วยบริการที่คอยช่วยเหลือรับเรื่องร้องเรียนของประชาชน ซึ่งคนในสังคมควรตระหนักถึงความรุนแรงที่เกิดขึ้นในครอบครัว และผู้ที่ถูกกระทำเองควรติดต่อขอความช่วยเหลือจากหน่วยงานต่าง ๆ

27 April 2564

ที่มา ประชาชาติธุรกิจ

Posted By Thongpet/kanchana/Maneewan

Views, 58899

 

Preset Colors